8 คำถามสัมภาษณ์ที่ต้องเจอแน่ๆ
การสัมภาษณ์งานก็เหมือนรอบตอบคำถามในเวทีประกวดนางงาม จะได้หรือไม่นั้น ไม่ได้อยู่ที่โปรไฟล์คุณดูไร้ที่ติเสมอไป เพราะการตัดสินส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับวิธีการตอบคำถามหน้างานในรอบสุดท้าย คุณคงไม่อยากพลาดกลับไปเตะฝุ่นหางานอีกครั้ง
จะดีกว่าไหมที่เราเตรียมคำตอบเอาไว้สำหรับคำถามยอดฮิตที่ถูกใช้ในขั้นตอนการสัมภาษณ์งาน ภาพการตอบคำถามด้วยประโยคเด็ด จบแบบสวยๆ คงไม่ไกลเกินฝัน
เลือกอ่านเฉพาะหัวข้อ
“ไหนลอง แนะนำตัวเอง สักนิดนึง”
โดยปกติแล้ว ผู้สัมภาษณ์งานจะทำการบ้านด้วยการอ่านเรซูเม่มาก่อน แล้วจึงยิงคำถามในประเด็นที่ไม่ได้ระบุบนเรซูเม่หรือมีความชัดเจนไม่มากพอ แต่ในบางกรณีการให้เจ้าตัวแนะนำตัวเองก่อนเริ่มสัมภาษณ์เป็นการทำความรู้จัก และเริ่มเปิดหัวข้อสนทนาโดยยึดจากไทม์ไลน์ที่เราพูดก่อน-หลัง ดังนั้นทักษะการเล่าเรื่อง (Storytelling) สำคัญมากในคำถามนี้
ผู้สัมภาษณ์ไม่ได้คาดหวังให้คุณเล่าประวัติส่วนตัวแบบละเอียดยิบตั้งแต่เริ่มทำงานหลังเรียนจบ แต่จะเลือก ‘ยิงคำถาม’ จากสิ่งที่คุณเล่าออกมาเสียมากกว่า ดังนั้น เพื่อเป็นการคุมเกมส์ ให้เน้นพูดเฉพาะสิ่งที่คุณมั่นใจหรือมีความเกี่ยวข้องกับตำแหน่งงานที่จะสมัครมากที่สุด อย่างการทำงานในที่ปัจจุบัน ตำแหน่งที่ทำมีรายละเอียดงานใดบ้างที่ตรงกับสิ่งที่บริษัทกำลังค้นหารวมไปถึงเหตุผลว่าทำไมคุณถึงสมัครงานในตำแหน่งดังกล่าว
🔗 อ่านเพิ่ม แนะนําตัวสัมภาษณ์งานให้ประทับใจ HR เล่าครบจบใน 3 นาที
“ทำไมถึงอยากทำงานที่นี่”
คำถามนี้จะใกล้เคียงกับ “คุณรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับบริษัทนี้” ซึ่งผู้สัมภาษณ์มักใช้ทดสอบการ ‘ทำการบ้าน’ ของผู้สมัคร การตอบคำถามด้วยการดึงข้อดีของบริษัท ไม่เพียงแต่ช่วยให้ผู้สัมภาษณ์เห็นถึงความตั้งใจจริง ยังเป็นการบอกใบ้ให้รู้ ว่า เพราะข้อดีมากมายเหล่านั้น เราถึงอยากเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทที่น่าหลงใหลแห่งนี้
นอกจากนี้ การรู้ข้อมูลเชิงลึก (Insights) ที่ต้องตั้งใจหาข้อมูลจริงๆ ถึงจะเจอ สามารถเรียกคะแนนความประทับใจเพิ่มเติม คุณจึงต้องใช้เวลาศึกษาข้อมูลบริษัท ประวัติความเป็นมา รวมข่าวอัพเดทจากสื่อต่างๆ ด้วย
🔗 อ่านเพิ่ม ตอบคำถาม “ทำไมถึงอยากมาทำงานที่นี่” ให้น่าประทับใจ
ใครเล่าเรื่องเก่ง คนนั้นชนะ
“ทำไมถึงต้องการงานตำแหน่งนี้”
ถ้าผู้สัมภาษณ์ต้องวัดว่าคุณมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตำแหน่งงานที่สมัครมากน้อยแค่ไหน จะยิงคำถามนี้ รวมไปถึงคำถามใกล้เคียงอย่าง “คุณคาดหวังอะไรจากตำแหน่งที่สมัคร” โดยหลักการตอบให้ได้คะแนนไม่ใช่บอกเหตุผลสวยหรูว่าคุณรักงานและอยากได้งานนี้ขนาดไหน แต่เป็นความสามารถในการเชื่อมโยงสิ่งที่คุณมีกับสิ่งที่บริษัทกำลังค้นหาอยู่ต่างหาก
คุณอาจอ่านรายละเอียดประกาศรับสมัครงานอีกครั้งเพื่อแยกคีย์เวิร์ด อะไรที่ ‘ต้องมี’ กับอะไรที่ ‘ไม่มีก็ไม่เป็นไร’ ออกจากกัน แล้วนำมาเปรียบเทียบกับโปรไฟล์ของคุณ สาธยายเหมือน Tie-in โฆษณาว่า ความสามารถที่คุณมีดันประจวบเหมาะกับสิ่งที่บริษัทกำลังค้นหาอยู่ คุณคิดว่าคุณสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนบริษัทไปสู่เป้าหมายได้
“ทำไมถึงอยากลาออกจากที่เก่า”
ไม่ใช่แค่กับผู้สัมภาษณ์ที่คุณต้องตอบคำถามวัดทัศนคตินี้ แต่รวมไปถึงคนรอบข้างที่อยู่ๆ ก็รู้ข่าวมาว่าคุณกำลังมองหางานใหม่ สิ่งสำคัญในการตอบคำถามลักษณะนี้ คือ การแสดงทัศนคติเชิงบวกที่มีต่อตัวเองและต่อองค์กรไม่ว่าในความเป็นจริงจะสวนทางและดูเลวร้ายมากก็ตาม
การตอบถึงข้อดีที่ดูสมเหตุสมผล ยกตัวอย่าง เช่น…
- รู้สึกอิ่มตัวในการทำงานเพราะเรียนรู้ทุกอย่างหมดแล้ว อยากพัฒนาศัยกภาพของตัวเอง มองหาความท้าทายใหม่ๆ ที่ที่เก่าให้ไม่ได้ (แม้ความจริงจะเป็นการที่คุณรู้สึกไม่มีความสุขกับการทำงาน หมดไฟในการทำงานแล้ว)
- วัฒนธรรมองค์กรไม่ตอบโจทย์ ชอบทำบริษัทเล็กที่ทุกคนมีอิสระในการแสดงความคิดเห็นได้อย่างเท่าเทียมมากกว่าบริษัทที่มีลำดับขั้นซึ่งทำให้การทำงานค่อนข้างยุ่งยาก (ตัดภาพไปที่ความเป็นจริงคือ หัวหน้าแกล้งคุณสารพัดและคุณคุยกับใครไม่ได้ เพราะไม่มีใครเชื่อ)
เราไม่ได้สนับสนุนให้คุณโกหก แต่ให้เลือกโฟกัสด้านดีๆ ให้กับทุกปัญหาที่เจอ เพราะทุกที่ล้วนมีปัญหาด้วยกันทั้งสิ้น หากคุณเอาแต่โทษสิ่งต่างๆ รอบตัว ผู้ให้สัมภาษณ์คงไม่อยากรับคุณเข้ามาทำงานให้ปวดหัว จริงไหม?
“บอกเหตุผลว่า ทำไมเราถึงต้องจ้างคุณ”
ผู้สัมภาษณ์ต้องการทราบว่าอะไรที่ผู้สมัครคนอื่นทำไม่ได้..แต่คุณทำได้ ซึ่งการจะรู้ได้นั้น คุณต้องรู้จักตัวเองอย่างแท้จริง สามารถบอกจุดอ่อน-จุดแข็งของตัวเองเสียก่อน โดยเราอาจคุ้นชินกับคำถามประเภทนี้ในรูปแบบคำถามอื่นอย่าง “ข้อดี-ข้อเสียของคุณ คืออะไร?” “ยกตัวอย่าง 3 คำที่จะให้กับตัวเอง” หรือ “ถ้าเราถามเพื่อนร่วมงานคุณว่า ‘คุณเป็นคนยังไง’ พวกเขาจะตอบว่าอะไร”
จุดแข็งที่คุณรู้สึกมั่นใจที่สุดว่าเหนือกว่าผู้เข้าสมัครท่านอื่นจะเป็นตัวกำหนดว่าคุณรู้จักตัวเองมากน้อยแค่ไหน ผู้สมัครที่ไม่มั่นใจในคำตอบเลยสะท้อนให้เห็นถึงระดับความเชื่อมั่นในตัวเองที่ต่ำ (Low self-esteem) แล้วคุณคิดว่าเขาจะจ้างไหม
“คุณเห็นตัวเองเป็นอย่างไรในอีก 5 ปีข้างหน้า”
คนที่มีเป้าหมายในชีวิตชัดเจนมักจะมีแรงกระตุ้นมากกว่าคนปกติธรรมดาทั่วไป ดังนั้นคำถามนี้จึงใช้วัดพาสชั่นในการทำงานของคุณได้ หากคำตอบยังเป็นการใช้ชีวิตไปวันๆ โดยไม่มีจุดมุ่งหมาย DNA ของคุณก็คงไปไม่ได้ด้วยกันกับบริษัทที่ต้องการเติบโตในระยะเวลาอันสั้น ในยุคที่ทุกอย่างมาไวไปไว ผู้สมัครที่ไม่มีการปรับตัวหรือมีแผนตั้งรับกับตัวเองในอนาคตอาจถูกคัดทิ้งไว้ ‘ข้างหลัง’ ไปอย่างน่าเสียดาย
“ยกตัวอย่างเหตุการณ์แย่ๆ ที่เกิดขึ้นในที่ทำงาน คุณรับมืออย่างไร”
เป็นการยากที่จะวัดความสามารถของผู้สมัครผ่านการสัมภาษณ์ในเวลาที่จำกัด คำถามนี้จึงถูกใช้เพื่อวัดกระบวนความคิด ทักษะการเอาตัวรอดในสถานการณ์จริงซึ่งไม่มีถูกหรือผิด 100% เพราะขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้ให้สัมภาษณ์ ดังนั้น คุณต้องเตรียมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในอดีตไว้ 1-2 เหตุการณ์ที่คุณมั่นใจมากว่ามีการรับมือและแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างดีที่สุด สิ่งสำคัญ คือ การวิเคราะห์ปัญหาโดยภาพรวม การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การมีสติรับมือกับปัญหา และวิธีจัดการปัญหานั้นอย่างเหมาะสม
“เงินเดือนที่คาดหวัง?”
เมื่อผู้สัมภาษณ์สนใจในตัวผู้สมัครอย่างมาก มักจะลงเอยด้วยการเช็ค ‘ราคาที่ต้องจ่าย’ เสมอ ดูเหมือนเป็นคำถามที่ตอบเป็นตัวเลขง่ายๆ ก็จบ แต่ทั้งที่ทั้งนั้น ก็ขึ้นอยู่กับงบประมาณที่บริษัทตั้งเอาไว้ว่ามีเพดานที่จ่ายไหวอยู่ที่เท่าไหร่ เพราะถ้าหากคุณตั้งเป้าหมายเอาไว้สูงมากเกินไปใบสมัครก็อาจไปไม่ถึงฝั่งฝัน
คุณสามารถตอบกลับด้วยประโยคทำนองเดียวกันอย่าง “ผมค่อนข้างเปิดใจเรื่องตัวเลขเงินเดือนว่าเราสามารถตกลงกันได้เมื่อเวลานั้น (Job Offer) มาถึง ไม่แน่ใจว่า โดยปกติแล้วฐานเงินเดือนที่บริษัทจ่ายให้ใครสักคนที่มีโปรไฟล์เหมือนกันกับผมอยู่ที่ช่วงไหนครับ” เป็นการโยนหินถามทางแบบสุภาพ
Jitkarn Sakrueangrit
Graphic & Web Designer, Content Creator,
Copywriter, Marketing Specialist
คุณน่าจะชอบเรื่องเหล่านี้
ผู้ชายแต่งตัวไปสัมภาษณ์ยังไง
จะถึงวันสัมภาษณ์งานแล้วแต่ไม่รู้จะแต่งตัวยังไงไปสัมภาษณ์ดี กลัวว่าเสื้อผ้าที่ใส่จะผลต่อการตัดสินใจรับเข้าทำงานของคณะกรรมการจนอาจไม่ได้งาน
โดนรั้งด้วย Counter Offer ควรรับหรือไม่
กำลังทำเรื่องลาออกจากที่ทำงานเพื่อไปเริ่มต้นชีวิตใหม่กับที่ทำงานใหม่ โดนรั้งด้วย Counter Offer ขึ้นเงินเดือนให้ชุดใหญ่ไฟกระพริบ รับดีมั้ย