แนะนําตัวสัมภาษณ์งานให้ประทับใจ HR เล่าครบจบใน 3 นาที by Find Your Job

แนะนําตัวสัมภาษณ์งานให้ประทับใจ HR เล่าครบจบใน 3 นาที!

ใครเล่าเรื่องเก่ง…คนนั้นชนะ! เรียนรู้เทคนิคการตอบคำถามสัมภาษณ์งานเมื่อถูกขอให้ ‘แนะนำตัวเอง’ เล่าประวัติงานยังไงให้ดูไม่น่าเบื่อดีนะ

อย่าเพิ่งตาย…ชั้นเพิ่งเริ่ม! เหมือนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในการสัมภาษณ์งานไปแล้ว ที่เราทุกคนต้องโดนยิงคำถามให้แนะนำตัวเพื่อเปิดหัวข้อสนทนาอย่างเป็นทางการ ทำไมคำถามนี้จึงสำคัญนัก? ในมุมมองของผู้สัมภาษณ์แล้ว การแนะนำตัวเองเป็นการดึงเอาข้อมูลที่จำเป็นออกมาคุยกัน กลั่นกรองจากประสบการณ์การทำงานบนเรซูเม่ที่ยืดยาว สิ่งที่คุณพูดถึงจะกลายเป็นหัวข้อสนทนาหัวข้อต่อไป พูดง่ายๆ ก็คือ ช่วยกรอบแนวทางการสัมภาษณ์และช่วยผู้สัมภาษณ์ยิงคำถามที่สงสัยในเรื่องเล่าของคุณเอง

รูปแบบคำถามที่เป็นไปได้ :
✅ ลองแนะนำตัวเองให้เราฟังหน่อย
✅ ไหนลองเล่าประวัติงานที่เคยทำมาสิครับ
✅ กว่าจะมาสัมภาษณ์ที่นี่ ผ่านอะไรมาบ้างคะ
✅ Background ของคุณเป็นใคร มาจากไหนเอ่ย
✅ ผมอ่านในเรซูเม่ได้นะ แต่ผมอยากได้ยินจากปากคุณมากกว่า

หัวใจสำคัญของการตอบคำถามเหล่านี้ ไม่ได้อยู่ที่เรา ‘อยากบอกอะไร’ แต่เป็นผู้สัมภาษณ์ ‘อยากได้ยินอะไร’ คุณต้องใช้โอกาสนี้อย่างชาญฉลาดต้อนให้ผู้สัมภาษณ์มีส่วนร่วมและอินกับคำตอบ เหมือนภาพยนตร์ที่เนียน Tie-in สินค้าเข้าไปยังไงยังงั้น โดยสูตรในการแนะนำตัวเอง ประกอบไปด้วย 3 ส่วน ดังนี้

เลือกอ่านเฉพาะหัวข้อ

1. Who You Are | คุณคือใคร

เนื่องจากเป็นคำถามแรกในขั้นตอนการสัมภาษณ์ คุณจึงต้องแนะนำตัวเองอย่างเป็นทางการสักหน่อย พอเป็นพิธีให้พวกเขารู้ว่า คุณเป็นใคร มาจากไหน โดยไม่จำเป็นต้องร่ายยาวเป็นอัตชีวประวัติตั้งแต่สมัยเด็ก ผู้สัมภาษณ์ไม่ได้อยากรู้พื้นเพขนาดนั้น ใช้เวลาส่วนนี้ไม่เกิน 30 วินาที ก็เพียงพอแล้วเพราะเป็นคำถามแรกสุดแต่ไม่ได้สำคัญที่สุด

จบใหม่

เริ่มจากการแนะนำตัวเองด้วย ชื่อ-นามสกุล รวมถึงชื่อเล่น ตามมาติดๆ กับประวัติการศึกษาที่เป็นระดับการศึกษาสูงสุด หากมีปริญญาหลายใบให้เรียงจาก ปริญญาตรี > ปริญญาโท > ปริญญาเอก ตามลำดับ เน้นชื่อสถาบันและคณะที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งงานให้ชัดเจน

มีประสบการณ์

ตามหลักสากล ให้แนะนำ ชื่อ-นามสกุลตามด้วยชื่อเล่น (แต่กรณีที่เป็นตำแหน่งงานระดับผู้บริหาร หรืองานที่ต้องใช้ความน่าเชื่อถืออาจข้ามชื่อเล่นไปก็ได้) ปกติแล้วตำแหน่งงานที่ต้องการคนที่มีประสบการณ์มาไม่ได้เน้นสถาบันการศึกษาสักเท่าไหร่ ซึ่งการศึกษาระดับปริญญาตรีเป็นสิ่งที่ทุกคน ‘ควรมี’ อยู่แล้วจึงไม่ต้องให้ความสำคัญมากนัก อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าบริบทสังคมไทยให้ความสำคัญกับการศึกษาในต่างประเทศและปริญญาโทหรือเอกขึ้นไป หากคุณมีคุณสมบัติข้างต้นก็ยังสามารถนำเสนอได้อยู่

2. Expertise Highlight | คุณเก่งอะไร

เรียกได้ว่าเป็นส่วนที่ HR ตั้งหน้าตั้งตาคอยที่จะฟังคำตอบมากที่สุด เผลอๆ คุณแนะนำตัวยังไม่ทันจบดีก็ถูกยิงคำถามใหม่ๆ ซะแล้ว คุณควรใช้เวลาตรงส่วนนี้ให้มากแต่ยังคงไว้ซึ่งความกระชับ สั้น ได้ใจความ ภายในเวลา 1 – 2 นาที

จบใหม่

นำเสนอจุดแข็งของคุณจากการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย ครอบคลุมทั้ง Soft-Skills (ทักษะทางสังคม) และ Technical Skills (ทักษะเฉพาะด้าน) ทำให้พวกเขาเห็นภาพว่าคุณสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กรได้และในขณะเดียวกันก็ยังมีทักษะทางเทคนิคที่จำเป็นในตำแหน่งงานอันจะช่วยส่งมอบงานที่ได้รับมอบหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ คุณอาจอ้างอิงผลงานในอดีตที่ผ่านมาอย่างชมรม กิจกรรมอาสา งานพาร์ทไทม์ ฟรีแลนซ์ หรือจากประสบการณ์การฝึกงานประกอบ ยกตัวอย่างสั้นๆ (เวอร์ชั่นของคุณสามารถจัดเต็มยาวกว่านี้ได้) เช่น

  • “ผมเป็นนักกิจกรรมครับ ชอบความท้าทายใหม่ๆ เพราะมันช่วยพัฒนาขีดความสามารถของผมให้ไปต่อได้ เวลาทำงานก็มักจะลืมเวลา สนุกไปกับมัน รู้ตัวอีกทีก็กลายเป็นว่าดึกมากแล้ว นอกจากนี้ผมมักตั้งกลุ่มจิตอาสาไปช่วยเหลือน้องๆ ผู้ด้อยโอกาสที่อยู่ห่างไกลบ่อยๆ ผมทุ่มเทและให้ใจเต็มร้อยกับทุกสิ่งที่ผมทำเสมอเลยครับ”
  • “หนูใช้เวลาว่างรับงานฟรีแลนซ์ค่ะ มันช่วยให้หนูได้ใช้สิ่งที่เรียนไปกับการทำงานในสนามจริง เรียนรู้การดีลงานกับลูกค้า เทคนิคการออกแบบที่ไม่มีสอนในห้องเรียนอย่างโปรแกรม x, y, z สายงานของหนูมันไปไวมาก ต้องเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่ตลอดแต่หนูก็ชอบที่จะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ อยู่ตลอดนะคะ”

มีประสบการณ์

ปัญหาหนักใจของคนที่ผ่านงานมาหลายที่ คือ ไม่รู้ว่าควรเริ่มต้นเล่าประวัติการทำงานจากที่ไหนก่อน มีปัญหาในการเรียงลำดับเหตุการณ์และการสื่อสารออกมาให้ผู้สัมภาษณ์เข้าใจดูเป็นเรื่องยาก เคล็ดลับในการเล่าเรื่องนั้นง่ายนิดเดียว เพียงคุณจำสูตรนี้ให้ขึ้นใจ Present > Past > Future (หัวข้อที่ 3) พูดถึงสถานประกอบการปัจจุบันก่อนแล้วย้อนกลับไปยังบริษัทก่อนหน้าที่มีผลงานโดดเด่นหรือมีความเกี่ยวข้องกับตำแหน่งที่สมัคร/อุตสาหกรรมที่สอดคล้อง ก่อนจะสรุปด้วยสิ่งที่คุณกำลังมองหาในหัวข้อที่ 3 ต่อไป

  • Present – 60% : เป็นส่วนที่ต้องเน้นให้มาก เนื่องจากเกี่ยวข้องกับตำแหน่งงานที่คุณสมัครโดยตรง แล้วยังมีความ ‘สดใหม่’ ความรู้ไม่ได้เก่าเกินจนหมดอายุและสามารถต่อยอดในที่ทำงานใหม่ได้ทันที ระบุตำแหน่งงานบริษัทปัจจุบัน เล่าถึงหน้าที่และความสำเร็จ (ยิ่งเป็นตัวเลขยิ่งดี เช่น ยอดขาย กำไรสุทธิ)
  • Past – 40% : ยกประสบการณ์การทำงานในอดีตที่เด่นๆ มานำเสนอ (ไม่ต้องยกมาทั้งหมด เอาเฉพาะที่เกี่ยวข้องเท่านั้น) จะช่วยเพิ่มน้ำหนักความสามารถให้โปรไฟล์มีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น เป็นการเน้นย้ำให้พวกเขารู้ว่าถ้าเป็นเรื่องนี้ไว้ใจคุณได้ เพราะคุณเชี่ยวชาญทางด้านนี้จริงๆ อาจเป็นการเพิ่มเติมรายละเอียดงาน โปรเจคสำคัญที่คุณภูมิใจ หรือหน้าที่รับผิดชอบที่แตกต่างจากงานปัจจุบัน

3. Why You’re Here | ทำไมคุณมาที่นี่

ปิดท้ายคำถามนี้ด้วยการสร้าง First Impression ให้กับผู้สัมภาษณ์แบบสวยๆ ทำไมคุณถึงมาสัมภาษณ์งานที่นี่…ตำแหน่งนี้ (คลิก) เป็นการสรุปใจความสำคัญที่คุณเล่ามาในหัวข้อที่ 1 และ 2 ได้อย่างลงตัวที่สุด ชิงบอกเป้าหมายในการสัมภาษณ์งานก่อนที่ผู้สัมภาษณ์จะถามใน 30 วินาที – 1 นาที

จบใหม่

เด็กรุ่นใหม่ไฟแรงที่มีพาสชั่นในการทำงานอย่างคุณ ควรย้ำเตือนความสนใจในตำแหน่งงานที่สมัคร มีการวางเป้าหมายหรือเห็นตัวเองในอนาคตในสายงานนี้ ณ บริษัทแห่งนี้อย่างไรบ้าง คลายความสงสัยของ HR ว่าทำไมบริษัทถึงต้องรับเราเข้าทำงานนั่นเอง

มีประสบการณ์

จากหัวข้อที่แล้ว ส่วนนี้ถือเป็น Future โดยให้ระบุเป้าหมายในการมาสัมภาษณ์งานชัดๆ ให้พวกเขาเห็นภาพว่าหากคุณเข้ามาทำงานแล้วจะมีส่วนช่วยให้องค์กรประสบความสำเร็จในด้านใด ซึ่งตามหลักแล้วแต่ละบริษัทจะแบ่งเป็น 2 ฝั่งคือ

  • ฝั่งที่สร้างรายได้ (Profit Center) : คุณสามารถใช้ทักษะจากงานเดิมมาต่อยอดในงานใหม่ได้อย่างไรเพื่อให้บริษัทเกิดรายได้ อาจเป็นภาพความสำเร็จที่คุณตั้งไว้เป็น KPI ส่วนตัว เช่น ได้ Top Biller – พนักงานขายที่สร้างรายได้มากที่สุดประจำปี หรือ Achievement อื่นๆ ที่เกิดผลดีต่อทั้งตัวคุณและต่อองค์กรในภาพรวม แบบ win-win situation
  • ฝั่งที่ไม่สร้างรายได้/ทีมผู้บริหาร (Cost Center) : คุณสามารถเตรียม Presentation มานำเสนอจากการกลั่นกรองความคิดและวิเคราะห์ SWOT เพื่อนำเสนอแนวทางในการช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายลงแต่ยังคงให้ผลเท่าเดิมหรือดีกว่าเดิม เสมือนเป็นคำมั่นสัญญา Mission ที่คุณอยากทำให้สำเร็จเมื่อเข้ามาทำงานที่นี่
อยากพูดให้ไหลลื่นไม่ใช่เรื่องยาก การเตรียมตัวเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม คุณต้องฝึกพูดกับเพื่อนให้เกิดความลื่นไหลและเป็นธรรมชาติมากที่สุด พยายามอย่าพูดหรือท่องตามเรซูเม่แต่เป็นการเล่าเรื่องให้พวกเขามีส่วนร่วมในเรื่องเล่าของคุณ อันเป็นหัวใจหลักในการสัมภาษณ์ให้เกิดความประทับใจ

ที่มา : Hunter B, Biginterview, The Muse

แชร์บทความ :
Jitkarn Sakrueangrit

Jitkarn Sakrueangrit

Graphic & Web Designer, Content Creator,
Copywriter, Marketing Specialist

คุณน่าจะชอบเรื่องเหล่านี้

สิ่งที่ควรทำหลังสัมภาษณ์งานเสร็จ by Find Your Job

สิ่งที่ควรทำหลังสัมภาษณ์งานเสร็จ

รู้หรือไม่ สัมภาษณ์เสร็จแล้ว ใช่จะเป็นเวลาของการพักผ่อนเพื่อรอฟังผลซะทีเดียว ยังมีสิ่งที่ต้องทำเพื่อปิดการสัมภาษณ์เพื่อเป็นการเรียกคะแนนในรอบสุดท้ายอีก

อ่านเลย »
mindset-woman-interview-shake-hands

ปรับ Mindset การสัมภาษณ์งานใหม่ มีชัยไปกว่าครึ่ง

เช็คด่วน คุณมี Mindset ที่พร้อมสำหรับการสัมภาษณ์งานจริงๆ อยู่หรือเปล่า นี่อาจเป็นกุญแจสู่คำตอบที่ว่าทำไมสัมภาษณ์งานทีไรถึงไม่เคยผ่านเลยสักที

อ่านเลย »

คุณรับทราบและยินยอมว่า การใช้งานเว็บไซต์นี้มีการเก็บข้อมูลคุ๊กกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ในการใช้บริการ อ่านข้อมูลเพิ่มเติม