สัมภาษณ์ ผู้หญิง พูดคุย กลุ่มคน

ตอบคำถามสัมภาษณ์ “ทำไมบริษัทเราถึงต้องจ้างคุณ”

เมื่อผู้สัมภาษณ์ยิงคำถามอย่าง ‘ทำไมเราต้องรับคุณเข้าทำงาน’ ตอบยังไงให้ดูไม่มั่นหน้า แต่ยังสามารถแสดงจุดเด่นของตัวเองแบบดูไม่น่าหมั่นไส้กันนะ

เบื้องหลังของคำถาม ‘ทำไมบริษัทถึงต้องจ้างคุณ’ แท้จริงแล้วซ่อนนัยยะสำคัญ​บางอย่างเอาไว้ ผู้สัมภาษณ์ต้องการวัดระดับความเข้าใจตัวเองของคุณว่ามีมากน้อยแค่ไหน เพราะถ้าคุณรู้จักตัวเองมากพอ คุณจะมองเห็นข้อดีของตัวเองและสามารถบอกเล่าได้อย่างภาคภูมิใจ (Self-esteem) ถ้าวันนี้คุณมองไม่เห็นข้อดีของตัวเองเลย ก็อย่าหวังว่าคนอื่นจะมองเห็น โดยคำถามนี้อาจอยู่ในรูปแบบคำถามอื่นๆ ที่สามารถใช้แนวทางการตอบคำถามร่วมกันได้ เช่น

✅ มีคนสมัครหลายคน แต่ทำไมเราถึงต้องจ้างคุณ
✅ จุดเด่น/ ข้อดีของตัวคุณคืออะไร
✅ คุณคิดว่าทักษะอะไรที่คุณมีแต่คนอื่นไม่มี
✅ จุดขายในตัวที่คุณภูมิใจมากที่สุด
✅ ถ้าคนอื่นพูดถึงตัวคุณ พวกเขาจะพูดว่าอย่างไร
✅ ลองบอกสิ่งที่คุณมี ที่โดดเด่นเหนือผู้เข้าสมัครคนอื่น

แต่ถึงอย่างไร ทักษะการเล่าเรื่องก็เป็นสิ่งที่คุณไม่ควรมองข้าม เพราะการนำเสนอเนื้อหาที่ดีด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้องนั้นจะให้ผลในทิศทางตรงกันข้าม และนี่คือแนวทางการตอบคำถามที่จะพาคุณรอดจากการตอบคำถามแย่ๆ

เลือกอ่านเฉพาะหัวข้อ

(1) แสดงจุดเด่นของตัวเอง

หลีกเลี่ยงการตอบคำถามแบบทั่วๆ ไป หรือ ดึงเอาจุดเด่นหลายข้อ ด้วยความคิดที่ว่ายิ่งมีเยอะยิ่งดี ซึ่งเป็นความคิดที่ผิดมหันต์ ในทางจิตวิทยาการเลือกเรื่องเด่นเพียง 2-3 เรื่องนั้นจะทำให้ผู้ฟังเกิดความสนใจมากกว่า เนื่องจากผู้สัมภาษณ์สามารถโฟกัสที่ประเด็นเพียงไม่กี่อย่างในคราวเดียว นั่นหมายความว่ายิ่งคุณพูดถึงจุดเด่นของตัวเองหลายข้อมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้พวกเขาสับสนจนไม่รู้ว่าควรเลือกสนใจจุดไหนเป็นพิเศษ

คุณอาจลิสต์รายการข้อดึของตัวเองออกมาทั้งหมด แล้วเลือกจุดที่คุณ มั่นใจที่สุด และ เป็นผลดีกับตำแหน่งงานมากที่สุด มานำเสนอ จะช่วยให้พวกเขาอินไปกับคำตอบและนึกภาพตามได้อย่างลื่นไหล จงจำไว้เสมอว่า เรื่องเล่าที่น่าสนใจคือเรื่องที่ผู้ฟังสามารถคิดตามได้อย่างง่ายดาย

(2) ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจน

เมื่อเลือกจุดเด่นออกมา 2-3 ข้อแล้ว ต้องไม่ลืมยกตัวอย่างหรือเหตุการณ์ประกอบเพื่อความเข้าใจที่ตรงกันและเป็นหลักฐานว่าข้อดีที่เรามีไม่ได้นี่งเทียนเขียนขึ้นมา แต่มีมูลของความจริงประกอบ โดยถ้าคุณสามารถโยงไปถึงบุคคลที่สามจะยิ่งทำให้คำตอบดูมีน้ำหนัก น่าเชื่อถือมากขึ้น เช่น อ้างอิงจากความคิดเห็นของหัวหน้าที่มีต่องานที่เราทำ จดหมายแนะนำ (Recommendation Letter) ข้อความจากใบประเมินผลการทำงานประจำปี รวมไปถึงกรณีศึกษา (Case study) ที่เกิดขึ้นจริงซึ่งคุณมีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหา

หากคุณมีจุดเด่นมากกว่าหนึ่งข้อ ควรเรียงลำดับความสำคัญจากจุดที่มั่นใจที่สุดก่อนเป็นการป้องกันกรณีผู้สัมภาษณ์ยิงคำถามหรือเปลี่ยนหัวข้อก่อนที่จะพูดจบ แต่ละหัวข้อมีคำอธิบายหรือตัวอย่างที่สั้นกระชับ ไม่เวิ่นเว้อ และให้รายละเอียดเกินจำเป็น

(3) มั่นใจได้แต่ยังต้องถ่อมตัว

มีเส้นบางๆ กั้นอยู่ระหว่างความมั่นใจในตัวเองกับความมั่นหน้าเกินเบอร์ ผู้สมัครหลายคนตกม้าตายแม้จะมีความเก่งจริงก็ตาม แต่การนำเสนอกลับทำให้ผู้สัมภาษณ์รู้สึกถึงความมั่นใจจนเกินเหตุ กลายเป็นว่าสิ่งที่คุณพูดดูโอเวอร์เกินจริงและไม่น่าเชื่อถือ หรือเลวร้ายมากกว่านั้นไม่เข้ากับวัฒนธรรมองค์กรและอาจมีปัญหากับคนในทีมได้

ผู้สัมภาษณ์บางคนตกอยู่ในอาการที่เรียกว่า Imposter Syndrome หรืออาการที่คิดว่าตัวเองไม่เก่ง ขาดความมั่นใจในตัวเอง (Low Self-esteem) คำตอบที่ออกมาจึงเป็นคำตอบที่ดู ถ่อมตัวมากเกินไป ไม่เป็นผลดีเช่นกัน คุณควรหาเส้นตรงกลางที่คุณมั่นใจแต่ยังคงเผื่อใจร่วมด้วย เพราะคุณรู้ดีว่า มีอีกหลายเรื่องที่คุณยังไม่รู้อีกมาก เป็นดั่งน้ำครึ่งแก้วที่รู้ว่าตัวเองมีดีแต่ยังเปิดใจที่จะยอมรับ เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จากผู้อื่นด้วย

ตัวอย่างการตอบ

#1
“พอผมได้อ่านรายละเอียดงาน (1) ผมรู้สึกได้เลยว่างานนี้เหมือนเขียนมาเพื่อผม ด้วยประสบการณ์เขียนโปรแกรม 7 ปีที่คุณกำลังมองหา พร้อมผลงานโปรเจคที่ประสบความสำเร็จ และความเชี่ยวชาญในกระบวนทำงานแบบ Agile แต่ในขณะเดียวกัน (2) ผมยังได้พัฒนาทักษะการสื่อสารจากการทำงานโดยตรงกับผู้จัดการอาวุโส ซึ่งหมายความว่า ผมพร้อมที่จะร่วมงานในสเกลที่สูงขึ้น รวมถึงการประสานงานระหว่างแผนก (3) จากประสบการณ์ในการริเริ่มโปรเจคตั้งแต่วันแรกจากที่ไม่มีอะไรเลย ทำให้อดตื่นเต้นไม่ได้กับโอกาสที่จะเริ่มเป็นส่วนหนึ่งในโปรเจคใหม่ที่จะเกิดขึ้นที่บริษัทนี้ครบ”

#2
“พลอยเป็นพนักงานขายค่ะ (2) จากการปิดดีลกับลูกค้าครั้งล่าสุดซึ่งเป็นรายใหญ่และมูลค่าสูงสุดที่เคยมีการบันทึกไว้ในบริษัท ทำให้พลอยมีความมั่นใจว่า (1) ความพยายามและความอดทนในการประสานงานที่ยาวนานนี้เป็นจุดเด่นของเราก็ว่าได้ค่ะ ถ้าเราไม่ล้มเลิกเราก็จะไม่มีวันล้มเหลว อย่างไร ก็ตาม (3) ส่วนตัวแล้วไม่อยากยึดติดกับความสำเร็จในอดีตค่ะ ยังมีอีกหลายอย่างที่พลอยต้องเรียนรู้ เพราะกับลูกค้าเจ้าใหม่ก็ถือว่าเป็นการนับหนึ่งใหม่สำหรับเรา รวมถึงการทำงานที่นี่ด้วยที่เราต้องปรับตัว”

#3
(2) ในการประเมินงานแต่ละครั้ง หัวหน้ามักชอบที่ผมเป็นคน (1) ตรงต่อเวลาครับ เพราะมักจะมาทำงานเป็นคนแรกโดยที่ไม่เคยมาสายเลยสักครั้ง ทำให้เขาไว้วางใจผมและให้อำนาจในการจัดการงานอย่างเต็มที่ มี Ownership กับโปรเจค 100% ซึ่งส่วนตัวผมเองก็สามารถส่งมอบผลงานให้กับหัวหน้าก่อนเดดไลน์อย่างไม่มีขาดตกบกพร่องครับ”

ใครบางคนเคยกล่าวว่า การสัมภาษณ์งานเป็นงานขายอย่างหนึ่ง คุณต้องรับบทเป็นเซลล์ขายของแม้จะไม่อยากทำก็ตาม ดังนั้น ถ้าผู้สัมภาษณ์ไม่มีท่าทีว่าจะถามคำถามนี้เลย คุณควรหาช่องทางในการนำเสนอจุดขายของตัวเองก่อนจบการสัมภาษณ์ แสดงความกระตือรือร้น ว่า คุณมีความพร้อมในการร่วมงานกับบริษัทมากขนาดไหน

ที่มา : Indeed, CNBC, BigInterview

แชร์บทความ :
Jitkarn Sakrueangrit

Jitkarn Sakrueangrit

Graphic & Web Designer, Content Creator,
Copywriter, Marketing Specialist

คุณน่าจะชอบเรื่องเหล่านี้

ทำไม HR ไม่ยอมแจ้งผลการสัมภาษณ์ by Find Your Job

ทำไม HR ไม่ยอมแจ้งผลการสัมภาษณ์

‘เดี๋ยวติดต่อกลับ’ ตกลงพี่จะรับหรือไม่รับกันแน่? HR ที่บอกว่าหลังจากสัมภาษณ์จะโทรมาแจ้งผล แต่รอแล้วรอเล่า ก็ไม่มีวี่แววว่าจะโทรกลับมาสักที

อ่านเลย »
girl-working-sitting-thinking-workplace

“เดี๋ยวเราจะติดต่อกลับไป” คือการปฏิเสธจาก HR ใช่หรือไม่?

ที่ HR บอกว่าเดี๋ยวเราจะติดต่อกลับไป แปลอีกความหมายหนึ่งคือเราไม่ได้งานใช่ไหม? ไขข้อข้องใจ ทำไมถึงไม่พูดตรงๆ ว่าได้งานหรือไม่ได้ให้ชัดเจน

อ่านเลย »

คุณรับทราบและยินยอมว่า การใช้งานเว็บไซต์นี้มีการเก็บข้อมูลคุ๊กกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ในการใช้บริการ อ่านข้อมูลเพิ่มเติม