จุดแข็งของคุณคืออะไร ตอบยังไงให้ได้งาน

ถูกยิงคำถามสัมภาษณ์งาน ‘จุดแข็งของคุณ คืออะไร?’ ตอบยังไงไม่ให้ดูมั่นหน้าเกินเบอร์ แต่ยังสามารถแสดงจุดขายของตัวเองได้อย่างครบถ้วนกันนะ

แปลกแต่จริงที่การบอกข้อดีของตัวเองสักข้อนั้น ยากยิ่งกว่าการมองหาข้อเสียในตัวเองเสียอีก ด้วยความที่เรามักจะถูกปลูกฝังให้รู้จัก การถ่อมตัว ทำให้เวลาจะชมตัวเองสักครั้ง ต้องคิดทบทวนว่าเป็นการยกหางตัวเองจนเกินไปหรือเปล่า ในขณะเดียวกัน การบอกข้อเสียของตัวเองทำได้ง่ายกว่ามาก เนื่องจากสัญชาตญาณการเอาตัวรอดที่แรงกล้าของเรา มักจะสะท้อนจุดที่เราไม่มั่นใจออกมาบ่อยๆ (Insecurity) เลยทำให้เรามองเห็นจุดอ่อนของตัวเองเต็มไปหมดนั่นเอง หากวันนี้คุณถูกถามถึงข้อดีของตัวเองแล้วไม่รู้จะตอบอย่างไรแล้วหละก็ ต้องรู้จุดประสงค์ของคำถามนี้ให้ถ่องแท้เสียก่อน นำไปสู่การคิดหาคำตอบที่ถูกใจคณะกรรมการและตอบได้อย่างตรงประเด็นที่สุด

เช็คลิสต์ สิ่งที่ผู้สัมภาษณ์ต้องการจะรู้จริงๆ จากคำถามนี้
✅ จุดแข็งของคุณสอดคล้องกับสิ่งที่บริษัทต้องการ
✅ คุณเหมาะกับตำแหน่งงานนี้มากน้อยแค่ไหน
✅ จุดขายของคุณที่ทำให้คุณแตกต่างจากผู้เข้าสมัครคนอื่น
✅ คุณมีความเข้าใจตัวเองอย่างแท้จริง (Self-Esteem)
✅ สิ่งที่คุณมีสามารถต่อยอดและช่วยเหลือทีมได้อย่างไร

คุณควรใช้โอกาสทองนี้ในการแสดงจุดเด่นของตัวเองออกมาอย่างเต็มที่และไม่เคอะเขิน เนื่องจากผู้สัมภาษณ์ย่อมคาดหวังว่าคุณจะ ขายของ ที่มีได้เต็มที่ โดยสิ่งที่คุณนำเสนอจะกลายเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักในการพิจารณาว่าคุณจะได้ไปต่อหรือไม่

เลือกอ่านเฉพาะหัวข้อ

ทริคการตอบคำถาม

  • ให้คำตอบที่ถูกต้อง : พยายามอย่าแถ หรือเลือกจุดแข็งที่คุณไม่ได้มีอยู่จริงมาตอบเพื่อเอาใจคณะกรรมการ เพราะหากพวกเขาถามเจาะลึกลงไปก็จะรู้ว่าคุณโกหก
  • ตอบให้ตรงประเด็น : คำตอบของคุณควรสอดคล้องกับ Job Description หรือรายละเอียดงานให้ได้มากที่สุด ไม่ใช่จุดแข็งที่ไม่เกี่ยวกับงานเลย
  • อย่าให้คำตอบแบบกว้าง : ควรให้คำตอบที่เฉพาะเจาะจงไปเลย ความชัดเจนจะทำให้พวกเขาเห็นภาพโดยไม่ต้องคาดเดาว่าคุณหมายถึงอะไร
  • อย่าถ่อมตัวเองจนเกินไป : ไม่ใช่เวลาที่จะนำเสนออะไรตื้นๆ แบบขอไปที จงแสดงจุดขายของตัวเองแทนคำตอบที่ทั่วๆ ไป หรือนำเสนอจุดแข็งที่ใครๆ ก็มี
  • เตรียมอธิบายให้ดี : คำตอบที่สามารถอธิบายเหตุผลประกอบจะช่วยทำให้คำตอบมีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น

วิธีการหาคำตอบแบบปังๆ

STEP 1 - ระดมความคิด

ลิสต์รายการจุดแข็งของตัวคุณในกระดาษออกมาให้ได้มากที่สุดเป็นอันดับแรก ซึ่งคุณสามารถมาไล่ลบรายการที่ไม่เกี่ยวข้องในภายหลังได้ ในกรณีที่คุณไม่รู้ว่าจุดแข็งของตัวเองคืออะไร จำเป็นอย่างยิ่งที่คุณจะถามเพื่อนร่วมงานหรือคนใกล้ชิด ที่บางครั้งจะมองเห็นภาพคุณได้กว้างกว่า หรือแม้กระทั่งการกลับไปอ่านแบบประเมินผลพนักงาน (Performance Review) จากหัวหน้าในรอบที่ผ่านๆ มา คุณได้ทำผลงานอะไรที่โดดเด่นเอาไว้บ้าง รวมไปถึงการรีวิวเรซูเม่ของตัวเองอีกรอบเพื่อหาร่องรอยความสามารถที่ปรากฏอยู่ในประวัติการทำงาน โดยจุดแข็งควรประกอบไปด้วย…

  • ประสบการณ์ — เวลาจะเป็นตัวชี้วัดระดับความเชี่ยวชาญในเรื่องใดเรื่องหนึ่งของคุณได้อย่างชัดเจน หากคุณยกตัวอย่างเครื่องมือเฉพาะจึงควรใส่กรอบเวลาเข้าไปด้วยว่าคุณมีประสบการณ์กับสิ่งนั้นๆ กี่ปี
  • ความสามารถ — ในตำแหน่งงานดังกล่าว ความสามารถที่เฉพาะเจาะจงจะช่วยให้คุณโดดเด่นอยู่เหนือคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นการเขียนโปรแกรม การปิดการขาย ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จะยิ่งดูน่าดึงดูดหากถูกนำเสนอควบคู่ไปกับผลงานการันตีความสามารถที่จับต้องได้
  • Soft Skills — พูดถึงความสามารถเชิงสมรรถนะ เช่น การแก้ปัญหา การโน้มน้าว การสร้างความสัมพันธ์ในทีม การเจรจาต่อรอง การจัดการ ฯลฯ คุณสามารถใช้เทคนิคการเล่าเรื่องเพื่อยกกรณีตัวอย่างมานำเสนอ
  • การศึกษาและการฝึกอบรม — ในกรณีที่ตำแหน่งงานต้องการแบ็คกราวด์ที่เกี่ยวข้อง คุณอาจพูดถึงระดับการศึกษา ใบรับรอง การสัมมนาฝึกอบรม และการฝึกงานรวมไปด้วย

STEP 2 - คัดเอาจุดแข็งเด่นๆ

ตามหลักจิตวิทยาแล้ว เราควรเลือกจุดแข็งที่มั่นใจที่สุดมาพูดเพียง 2-3 ข้อ เพื่อใช้เวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดในการนำเสนอได้อย่างเต็มที่ เพราะการนำเสนอหลายประเด็นจนเกินไป จะทำให้ผู้สัมภาษณ์ได้รับข้อมูลสะเปะสะปะและเลือกจำเฉพาะสิ่งที่พวกเขาอยากจำเท่านั้น นั่นหมายความว่า จำนวนข้อยิ่งน้อย จะยิ่งทำให้พวกเขาจดจำข้อมูลได้มากกว่า และในขณะเดียวกันเรายังสามารถเพิ่มเติมรายละเอียดจุดแข็งดูน่าเชื่อถือมากขึ้นได้อีกด้วย

STEP 3 - ฝึกการนำเสนอให้น่าสนใจ

เทคนิคการตอบคำถามแบบ STAR อาจมีส่วนช่วยให้คุณนำเสนอจุดแข็งได้อย่างเป็นระบบที่เข้าใจได้ง่าย ยิ่งคำอธิบายนั้นเป็นการยกตัวอย่างเหตุการณ์ในอดีตมาเล่า การวางโครงเรื่องที่แข็งแรงก็จะส่งผลให้ผู้สัมภาษณ์คล้อยตามไปกับคุณได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สิ่งที่ไม่ควรพูด

“ผมไม่ทราบครับ”

ปัญหาที่คนส่วนใหญ่เจอคือการ ขาดการตระหนักรู้ในตนเอง ถ้าวันนี้คุณมองไม่เห็นคุณค่าและความสามารถของตัวเอง ก็อย่าได้คาดหวังว่าจะมีใครมองเห็นคุณค่าและความสามารถของคุณ ดังนั้น คำตอบนี้จึงไม่ควรจะหลุดออกมาจากปากเพราะเป็นสิ่งที่ผู้สัมภาษณ์รับไม่ได้อย่างแรง

“ไม่ได้เก่งอะไรเป็นพิเศษหรอกค่ะ”

การอ่อนน้อมถ่อมตน มันก็ดีอยู่หรอก แต่บางครั้งการที่คุณถ่อมตัวเกินไปหรือไม่สบายใจที่จะพูดถึงสิ่งที่ทำให้คุณดูปังปุริเย่ (คนเก็บตัวมักจะเป็น) เพราะผู้สัมภาษณ์จะเข้าใจว่าคุณเข้าข่ายเป็น Imposter Syndrome หรือโรคที่คิดว่าตัวเองไม่เก่งเอาได้ จงเรียกคืนความมั่นใจของตัวเองกลับมา เอาชนะความลังเลที่จะพูดสิ่งดีๆ เกี่ยวกับตัวเองให้ได้

“ผมเป็นคนทำงานเก่งครับ แล้วยังเป็นคนตลกๆ ด้วย”

คำตอบที่ไม่ได้ช่วยส่งเสริมให้คุณดูเป็นตัวเลือกที่ดี นอกจากจะลดทอนภาพลักษณ์ความแพงลงแล้ว ยังให้ภาพจำที่ไม่ดีแก่ผู้สัมภาษณ์อีกด้วย เพราะถ้าหากว่าคุณทำการบ้านมาดี คุณจะต้องเข้าใจตัวงานและรู้ว่าบริษัทต้องการคนแบบไหน นำไปสู่การนำเสนอจุดแข็งที่ตรงกับเนื้องานมากกว่าการยกตัวอย่างอะไรที่ดูไร้สาระเสียอีก

ตัวอย่างคำตอบที่เรายกนิ้วให้

 เหตุการณ์ 1 

“จุดแข็งที่เด่นที่สุดของผม คือ การใส่ใจในรายละเอียด ด้วยความรอบคอบในการทำงานมาโดยตลอด ทำให้ผมสังเกตุเห็นว่าในรายละเอียดงานของตำแหน่งนี้ เนื้องานนั้นต้องอาศัยคนที่ทำงานละเอียดมากๆ  ใช่ครับ มันเป็นหนึ่งในเหตุผลหนึ่งที่ผมสมัครมาด้วย ซึ่งจากงานล่าสุดที่ทำ ผมต้องจัดการโครงการของลูกค้า 9-10 โครงการในแต่ละวัน ซึ่งกว่า 75% ไม่มีความเกี่ยวข้องกันเลย นั่นหมายความว่า ผมต้องโฟกัสในส่วนของรายละเอียดให้ได้แบบเป๊ะๆ เพื่อไม่ให้ทำงานพลาด แต่เกือบ 45% ของโปรเจคในมือ ผมก็ทำมันเสร็จก่อนกำหนดเสียอีก”

 เหตุการณ์ 2 

“จุดแข็งของพลอยหรอคะ? พลอยว่าเป็นความสามารถใน การรับมือกับแรงกดดัน และ ทำงานที่มีเดดไลน์กระชั้นชิด ซึ่งส่วนตัวแล้วคิดว่า มันจะช่วยให้เราประสบความสำเร็จในตำแหน่งงานนี้ถ้าดูจากจำนวนลูกค้าที่ค่อนข้างเยอะและแต่ละงานก็มีเวลาทำจำกัดน่ะค่ะ งานที่แล้วของพลอย ก็ได้รับมอบหมายให้จัดการโปรเจ็กต์ยากๆ ในช่วงเวลาสั้นๆ อยู่ตลอด แต่ก็ได้รับความไว้วางใจจากบริษัท Apple และ Microsoft ให้ดูแลงานให้จนสามารถส่งมอบงานได้ 100% เลยล่ะค่ะ เหตุการณ์นี้เองที่ทำให้บริษัทได้รับโปรเจ็กต์เพิ่มอีก 10 ล้าน”

อย่าคิดว่า ‘ก็แค่จุดแข็งเอง ด้นสดเอาก็ได้’ เด็ดขาด เนื่องจากถ้าคุณนำสิ่งที่คุณมีโดยปราศจากการเตรียมตัว คุณอาจพลาดโอกาสใช้วิธีการนำเสนอที่เหมาะสม ส่งผลให้คำตอบของคุณดูไม่น่าเชื่อถือ ตะกุกตะกัก หรือแม้กระทั่งพลาดจุดสำคัญไปอย่างน่าเสียดายทั้งที่จริงแล้วคุณมีดีไม่แพ้ผู้เข้าสมัครคนอื่น จงเตรียมตัวอย่างหนัก ลิสต์รายการข้อดีของตัวเองออกมาและโฟกัสไปที่ คุณจะใช้สิ่งที่มีช่วยเหลือบริษัทให้ประสบผลสำเร็จได้อย่างไร ให้พวกเขาเล็งเห็นความสำคัญของคุณอย่างไม่ต้องคาดเดาดีกว่า

แชร์บทความ :
Jitkarn Sakrueangrit

Jitkarn Sakrueangrit

Graphic & Web Designer, Content Creator,
Copywriter, Marketing Specialist

คุณน่าจะชอบเรื่องเหล่านี้

resigning-submitting-letter

เตรียมตัวถูกสัมภาษณ์ Exit Interview ก่อนลาออก

สัมภาษณ์งานที่ใหม่จบนึกว่าจะรอด ยังต้องเตรียมสัมภาษณ์ตอนลาออกกับฝ่ายบุคคลอีกรอบ ดูเหมือนจะง่ายแต่สร้างความลำบากใจให้มนุษย์เงินเดือนอย่างเราไม่น้อย

อ่านเลย »
วิธีเขียนจดหมายขอบคุณหลังสัมภาษณ์ by Find Your Job

วิธีเขียนจดหมายขอบคุณหลังสัมภาษณ์

อย่าปล่อยโอกาสทองในการเรียกคะแนนครั้งสุดท้ายของคุณไปโดยเปล่าประโยชน์ ปิดการสัมภาษณ์งานของคุณแบบมืออาชีพด้วยการเขียนจดหมายขอบคุณผู้สัมภาษณ์ทุกคน

อ่านเลย »

คุณรับทราบและยินยอมว่า การใช้งานเว็บไซต์นี้มีการเก็บข้อมูลคุ๊กกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ในการใช้บริการ อ่านข้อมูลเพิ่มเติม