เทคนิคการต่อรองเงินเดือนให้ได้อย่างใจ
จริงๆ แล้วการต่อรองเงินเดือนไม่ได้ใช้ในกรณีเมื่อได้รับข้อเสนอจากงานใหม่เท่านั้น ยังรวมไปถึงกรณีได้รับการโปรโมท เลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่งในที่ทำงานเดิมอีกด้วย แต่เชื่อหรือไม่ว่าคนส่วนใหญ่ ไม่กล้าขอขึ้นเงินเดือนเนื่องจากกลัวถูกปฏิเสธ กลัวความผิดหวังหรือถูกมองว่าแย่ เป็นพนักงานที่เห็นแก่เงิน ลงเอยด้วยการยอมถูกเอาเปรียบและใช้ชีวิตในแต่ละวันไปกับการบ่นว่า ‘รู้งี้’ วันนั้นขอขึ้นเงินเดือนเสียได้ก็ดี
ในความเป็นจริงแล้ว คนที่ต่อรองเงินเดือนนั้นไม่ใช่คนที่ ‘หิวเงิน’ หรือ ‘เห็นแก่ได้’ หากแต่เป็นคนที่รู้ว่าทุกสิ่งอย่างนั้นมีมูลค่าที่ต้องแลกมาทั้งนั้น ตำแหน่งงานที่สูงขึ้น แลกกับความรับผิดชอบที่มากขึ้น ความเครียดที่ท้าทายไมเกรนได้ไวขึ้น แล้วทำไมเราถึงจะเรียกร้องต้นทุนค่าเสียโอกาสเป็นจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นไม่ได้? คงถึงเวลาแล้ว ที่คุณต้องเรียนรู้ที่จะเจรจาขอต่อรองเงินเดือนเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง เพราะถ้าเอาแต่รอก็คงไม่มีใครเรียกร้องสิทธิ์ที่คุณควรจะได้หรอก
🔗 อ่านเพิ่ม เปลี่ยนงานเรียกเงินเดือนเท่าไหร่ดี (พร้อมสูตรคำนวณ)
เลือกอ่านเฉพาะหัวข้อ
1. รู้คุณค่าของตัวเอง
จำเป็นอย่างยิ่งที่คุณต้องรู้ว่า จุดยืนของคุณอยู่ตรงไหนในตลาด ป้องกันโอกาสที่จะพลาดถ้าเจอ HR ที่มีประสบการณ์ รู้มากกว่า ซึ่งอาจควบคุมบทสนทนาได้ดีจนทำให้คุณเสียเปรียบไปโดยปริยาย คุณอาจทำการศึกษาจากเว็บไซต์หางาน หรือเช็คฐานเงินเดือนจาก Salary Guide ที่ทำการเก็บรวบรวมมาแล้วจากบรรดาบริษัทจัดหางานที่ให้บริการในประเทศ โดยเทียบกับความสามารถของเราว่า ค่าตอบแทนที่ได้ ณ ปัจจุบันอยู่ในระดับใด แพคเกจที่ได้ต่ำกว่าราคาของท้องตลาดหรือไม่ และหากเป็นการเปลี่ยนงานหรือเลื่อนตำแหน่งต้องเพิ่มอีกเท่าไหร่
ในกรณีที่คุณสมัครงานผ่านบริษัทจัดหางาน คุณต้องพูดคุยกับรีครู๊ทเตอร์แบบเปิดอก ถึงฐานเงินเดือนปัจจุบัน โอที โบนัส รวมถึงสวัสดิการอื่นๆ พวกเขารู้ดีว่าการย้ายงานแต่ละครั้ง คุณสมควรได้รับเงินเดือนสูงที่สุดเท่าไหร่ แน่นอนว่า ยิ่งเงินเดือนคุณสูงเท่าไหร่ พวกเขาก็จะได้ค่าคอมมิชชั่นสูงมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้น มันโอเคที่จะให้รีครู๊ทเตอร์จัดการเจรจาต่อรองเงินเดือนเพื่อคุณ
2. เรียกสูงๆ ไว้ก่อน
ตามกฎของการต่อรองราคาที่เราเรียนรู้มา การเรียกเรทสูงเป็นเทคนิคที่ฉลาดและปลอดภัยที่สุด ให้คุณทำการศึกษาราคาในท้องตลาดที่สมเหตุสมผล โดยตั้งขอสันนิษฐานไปเลยว่า คุณคือคนที่ เก่งที่สุด และควรได้ตัวเลขที่สูงที่สุดในเรทเงินเดือนในตำแหน่งดังกล่าว เช่น ตำแหน่งงาน A ที่คุณจะย้ายไป ช่วงเงินเดือนที่เหมาะสมกับโปรไฟล์ของคุณอยู่ระหว่าง 50,000 – 80,000 บาท ก็ให้คุณยึดตัวเลขที่มากที่สุดไว้ก่อนที่ 80,000 บาท แม้ในความเป็นจริงคุณโอเคกับฐานเงินเดือน 70,000 บาท เผื่อ HR ต่อรองเงินเดือนให้ลดลงมาจากที่คุณเสนอไปในตอนแรก
โดยหากเป็นการส่งอีเมล์ หรือระบุไว้ในเรซูเม่ถึงเงินเดือนที่คาดหวัง (Expected Salary) คุณอาจใส่วงเล็บไปด้วยว่า เจรจาต่อรองได้ (Negotiable) ลงท้ายตัวเลขเพื่อป้องกันกรณีที่บางบริษัทพิจารณาคัดเลือกโปรไฟล์จากฐานเงินเดือนที่คาดหวัง ก่อนการสัมภาษณ์นั่นเอง
🔗 อ่านเพิ่ม เปลี่ยนงานเรียกเงินเดือนเท่าไหร่ดี (พร้อมสูตรคำนวณ)
3. อย่าบอกเป็นเรทกว้างๆ
ไม่ต้องเล่นเกมส์ทายใจกับ HR อีกต่อไป จำไว้ว่าความชัดเจนจะทำให้ทุกอย่างมันง่ายขึ้น ตัวเลขที่ชัดเจนไม่เพียงแต่สื่อว่าเราทำการบ้านมาดี แต่ยังหมายถึงการที่เราให้ความชัดเจนกับความต้องการของเราอย่างมั่นใจ ในขณะที่การบอกเป็นช่วงตัวเลขกว้างๆ จะทำให้อำนาจในการตัดสินใจตกลงไปอยู่กับ HR ทันที แน่นอนว่าพวกเขาอาจเลือกเรทที่ต่ำที่สุดมาเสนอให้คุณก่อน และบทสนทนาต่อจากนี้จะยิ่งทำให้ตัวคุณดูย่ำแย่ และเห็นแก่เงินไปจริงๆ
การบอกเป็นตัวเลขชัดเจน ยังเป็นการเริ่มต้นบทสนทนาที่ดีที่สุดและจบลงอย่างไม่เวิ่นเว้อ ยาวนาน เริ่มต้นที่ตัวเลข แจกแจงเหตุผล ต่อรองเงินเดือน และนำไปสู่บทสรุปที่แจ่มแจ้งภายในระยะเวลาอันสั้น
4. เตรียมใจปฏิเสธถ้าไม่ถึงเป้า
คุณควรมีตัวเลขไว้ในใจ เรทต่ำสุดที่รับได้ คือเท่าไหร่ คิดจากค่าใช้จ่ายทั้งเดือน ต้นทุนค่าเสียโอกาส ซึ่งรวมเอาโบนัส สวัสดิการอื่นๆ มาคำนวณด้วย โดยถ้าหากไม่ถึงเกณฑ์ที่ตั้งเอาไว้ มันโอเคนะ ที่คุณจะปฏิเสธโอกาสนี้ทิ้งไป อย่ายอมลดคุณค่าของตัวเองลงถ้าไม่จำเป็นจริงๆ
ในทำนองเดียวกัน คุณควรเตรียมใจเอาไว้ส่วนหนึ่งด้วยกรณีที่พวกเขาปฏิเสธ รวมถึงในช่วงที่สนทนากันนั้น คุณเองก็ต้องเรียนรู้ที่จะเปิดใจรับฟังข้อเสนออื่นๆ ที่พวกเขาพยายามเกลี้ยกล่อมคุณด้วยว่ามันสมเหตุสมผลหรือไม่ โดยอาจขอคำแนะนำไปตรงๆ “ผมคิดว่าทักษะความสามารถที่มีประกอบกับภาระหน้าที่ที่หนักขึ้นนี้ ผมพอใจที่ตัวเลข x ครับ แต่ผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าทางฝั่งผู้บริหารจะคิดเห็นอย่างไร ขอคำแนะนำด้วยครับ” คุณไม่จำเป็นที่จะต้องอยู่ในโหมดนักสู้ตลอด เวลาที่มีคนเห็นต่าง
5. มั่นใจว่าตัวเองพร้อมจริงๆ
อย่าลืมประเมินตัวเองด้วยว่าเรามีความพร้อมกับข้อเสนอนั้นจริงๆ หรือไม่ ด้วยการหาเหตุผลสนับสนุนเงินเดือนที่เพิ่มขึ้นมาของตัวเองให้เจอ เราสมควรได้รับมันเพราะอะไร เข้าเกณฑ์ตามที่บริษัทหรือกลไกตลาดรองรับไว้ไหม เช่น บริษัทมีนโยบายปรับเงินเดือนประจำปีและคุณทำงานมาจนครบหนึ่งปีตามเงื่อนไขแล้ว คุณได้รับภาระหน้าที่ใหม่นอกเหนือจากที่ระบุเอาไว้ในสัญญาจ้างอันหมายถึงการทำงานที่หนักขึ้นไม่ใช่เป็นการทำหน้าที่ชั่วคราวในช่วงวิกฤตของบริษัท หรือประเมินผลการทำงานพนักงานรายปีพบว่า คุณทำงานได้เกินความคาดหมายและรักษามาตรฐานของตัวเองได้ดีมาตลอด เป็นต้น
6. Timing นั้นสำคัญไฉน
ยิ่งถ้าเป็นการขอเงินเดือนเพิ่ม ยิ่งต้องทำให้ถูกที่ถูกเวลา ไม่ใช่เดินดุ่มๆ ไปขอขึ้นเงินเดือนโดยไม่มีผลงาน หรือตอนที่บริษัทมีการเลิกจ้างพนักงานจากภาวะขาดกระแสเงินสด โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมควรเป็นช่วงหลังจากที่คุณปิดโปรเจคใหญ่อย่างสวยงาม มีผลงานที่เป็นที่เชิดหน้าชูตาในบริษัท และเป็นช่วงเวลาที่หัวหน้าอารมณ์ดีเป็นพิเศษเพราะจะช่วยให้บทสนทนาลื่นไหล
ส่วนกรณีได้รับข้อเสนอเป็นงานใหม่ (Job offer) การพูดถึงเรื่องเงินในเวลาที่เหมาะสมนั้นสำคัญมาก ส่วนใหญ่ไม่นิยมในการพูดเรื่องเงินในขั้นตอนการสัมภาษณ์โดยเฉพาะรอบแรกๆ แต่เป็นช่วงที่ HR ติดต่อกลับมายื่นข้อเสนอและตกลงรับเข้าทำงาน หรือเวลาที่ผู้สัมภาษณ์เป็นฝ่ายถามถึงตัวเลขเอง
7. นำเสนอว่าบริษัทจะ ‘ได้อะไร’
คุณต้องเข้าใจบริบทกว้างๆ และยอมรับว่า การจ้างงานคือการลงทุนอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นต้องแสดงศักยภาพให้พวกเขาเห็น ว่ามันคุ้มค่าที่จะลงทุนในตัวคุณ ไม่ใช่การที่คุณอยากจะได้อะไร จากองค์กร แต่เป็นการที่คุณจะให้อะไร เป็นการตอบแทนกับเงินที่เพิ่มมากขึ้น แสดงให้พวกเขาเห็นความตั้งใจของคุณ อยู่ในโหมด ‘นักขาย’ ที่เก่งกาจ เสนอแผนการต่อไปในอนาคตไปเลยชัดๆ ปัญหาของบริษัทคืออะไร คุณมีแผนการอะไรที่จะปิดช่องโหว่เหล่านั้น และคุณอยากจะเริ่มต้น Initiative ใหม่ๆ อะไรที่ทำให้เกิดรายได้หรือเป็นประโยชน์ต่อพวกเขาในระยะยาว ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม แน่นอนว่าคุณอาจไม่ประสบผลสำเร็จในการเจรจาต่อรองเงินเดือนในครั้งแรก แต่เชื่อเถอะว่า ยิ่งคุณทำมาก ความคุ้นชินจะยิ่งทำให้คุณเก่งกาจ ฝึกฝนในวันนี้เพื่อการเจรจาที่มีประสิทธิภาพในวันหน้า กล้าที่จะแสดงจุดยืนของตัวเองเพราะคุณเห็นคุณค่าของตัวเองมากพอที่จะรู้ว่าสมควรได้รับแต่สิ่งดีๆ ในชีวิต
ที่มา : TheMuse
Jitkarn Sakrueangrit
Graphic & Web Designer, Content Creator,
Copywriter, Marketing Specialist
คุณน่าจะชอบเรื่องเหล่านี้
5 เรื่องเคลียร์ให้ชัด ก่อนเซ็นสัญญาเริ่มงานใหม่
สงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพทหาร! เช็คให้ชัวร์ เคลียร์ให้ชัด ก่อนตัดสินใจตกลงทำงานที่ใหม่ต้องรู้อะไรบ้าง จะได้ไม่พลาดซ้ำสองหนีเสือปะจรเข้
ไขข้อข้องใจ แจ้งลาออกต้องบอกล่วงหน้า 30 วัน
สิทธิที่คนทำงานต้องรู้ จำเป็นไหมที่การลาออกต้องแจ้งล่วงหน้า เพราะเมื่อได้งานใหม่แล้วใจก็ไม่อยากทนทำงานต่อและอยู่รอจนครบ 30 วัน