calculator salary money numbers

เปลี่ยนงานเรียกเงินเดือนเท่าไหร่ดี (พร้อมสูตรคำนวณ)

กรอกใบสมัครงานทีไร ไม่รู้จะใส่เลขตรงช่องใส่เงินเดือนที่คาดหวัง (Expected Salary) เท่าไหร่ดี เปลี่ยนงานทั้งทีควรเรียกเงินเพิ่มกี่บาท?

เป็นปกติที่คนเรามักไม่ค่อยพูดถึงเรื่องเงินกันตรงๆ สักเท่าไหร่ ที่ว่าคุยกันเรื่องเงินยากแล้ว การต่อรองเงินเดือนนั้นยากยิ่งกว่าหลายเท่า แท้จริงแล้ว หัวใจสำคัญในการคุยเรื่องตัวเลข คือ ความสมเหตุสมผล เพราะคุณคงไม่อยากกดตัวเลขต่ำๆ เหมือนดูถูกความสามารถของตัวเอง ในขณะเดียวกันก็ไม่ต้องการเรียกสูงเกินเบอร์จนดูจับต้องไม่ได้

ปัญหานี้จะไม่เกิดขึ้นเลย หากคุณรู้จักคุณค่าและจุดยืนของตัวเอง เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจและอำนาจในการเจรจาต่อรองเงินเดือน ว่าสิ่งที่ขอไปนั้น มันเหมาะสมจริงๆ วันนี้เราจะมาแชร์วิธีการคิดและใช้สูตรคำนวณที่เป็นที่นิยมในเหล่ารีครู๊ทเตอร์ เผยความลับว่าพวกเค้ามีวิธีการคิดคำนวณเรทที่เหมาะสม และรู้ ‘คุณค่า’ ของแคนดิเดตแต่ละคนได้จากอะไรบ้าง

เลือกอ่านเฉพาะหัวข้อ

1. สูตรคำนวณหารายได้ที่แท้จริง

การเปลี่ยนงานแต่ละครั้ง หลายคนมักเข้าใจผิดว่าแค่เอาฐานเงินเดือนที่ได้รับมาคิด บวกเพิ่มไปสักหน่อยก็น่าจะเพียงพอแล้ว หารู้ไม่ว่านั่นไม่ใช่รายได้สุทธิจริงๆ ที่เราได้รับในแต่ละเดือน เนื่องจากบางบริษัทมีการจ่ายโบนัส และค่าเบี้ยเลี้ยงอื่นๆ ให้กับพนักงานด้วย ต้องนำส่วนนี้มาคิดเป็นค่าเฉลี่ยเพื่อประเมินรายได้ที่แท้จริงในแต่ละเดือน

1.1 กรณีได้รับเงินเดือนเพียงอย่างเดียว

ถ้าบริษัทมีการจ่ายเงินเดือนพนักงานเพียงอย่างเดียวตลอดทั้งปี ไม่ได้รับค่าตอบแทนเป็นตัวเงินอื่นใดเพิ่มเติม คุณ สามารถยึดตัวเลขฐานเงินเดือนไปตรงๆ ได้เลย นั่นหมายความว่า หากคุณมีฐานเงินเดือนอยู่ที่ 20,000 บาท ก็นำตัวเลขนี้มาคิดต่อยอดเพิ่มในข้อ 2 – 3

1.2 กรณีได้รับเงินเดือนและโบนัสประจำ (Fixed)

คิดคำนวณหารายได้สุทธิด้วยการเอาจำนวนเงินที่บริษัทให้ทั้งหมดรวมกันทั้งปี แล้วหารด้วย 12 เพื่อหาค่าเฉลี่ยแต่ละเดือนว่าแท้จริงแล้วคุณมีรายได้เท่าไหร่กันแน่ เช่น ฐานเงินเดือน 20,000 บาท ได้รับโบนัสประจำ 2 เดือน ซึ่งเท่ากับว่าในแต่ละปีคุณได้รับ: เงินเดือน 12 เดือน + โบนัสอีก 2 เดือน = 14 เดือน หรือ 20,000 x 14 = 280,000 บาท

นำตัวเลขดังกล่าวมาหาร 12 จะได้ว่า 280,000 ÷ 12 = 23,333 บาท
กล่าวคือ ฐานเงินเดือนของคุณ 20,000 บาทก็จริง แต่รายได้ที่แท้จริงของคุณในแต่ละเดือนเท่ากัย 23,333 บาท จึงต้องนำตัวเลขนี้มาคิดแทนฐานเงินเดือน

1.3 กรณีมีเงินเดือน โบนัสตามผลงาน รวมถึงเบี้ยเลี้ยงอื่นๆ ที่ไม่คงที่

เพราะตัวเลขแต่ละปีไม่คงที่ สูตรการหาค่าเฉลี่ยจึงต้องรวมเอา รายได้สุทธิรวมกันย้อนหลัง 3 ปี แล้วหารด้วย 36 เช่น

  • ฐานเงินเดือน 20,000 บาท
  • โบนัสตามผลงาน ย้อนหลัง 3 ปี = 19,000 | 17,000 | 18,000 ตามลำดับ
  • ค่าเบี้ยเลี้ยงทั้งหลายแหล่ รวมย้อนหลัง 3 ปี = 40,000 บาท

จะได้ว่า: (20,000 x 36 เดือน) + (19,000 + 17,000 + 18,000) + 40,000 = 814,000 บาท ซึ่งต้องนำมาหาร 36 เพื่อหาค่าเฉลี่ยรายได้ที่แท้จริงในแต่ละเดือน เท่ากับว่าตัวเลขที่คุณต้องการจริงๆ คือ 814,000 ÷ 36 = 22,611 บาท จึงต้องนำตัวเลขนี้มาคิดแทนฐานเงินเดือน

2. ปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

เมื่อคุณได้ตัวเลขรายได้ที่แท้จริงมาแล้ว สิ่งที่คุณต้องทำต่อไป คือ การคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อรายได้โดยตรง เป็นการหา เหตุผลที่น่าเชื่อถือ และดู ความเหมาะสม ในการขอเงินเดือนเพิ่ม

2.1 โครงสร้างเงินเดือนในตลาด

ศึกษาจากเว็บไซต์หางานโดยตรง ในตำแหน่งเดียวกันนี้ บริษัทอื่นให้อยู่ที่เท่าไหร่ เรทที่คุณได้รับน้อยกว่าหรือมากกว่าท้องตลาดหรือไม่ อาจเป็นการค้นหา salary guide ที่บริษัทจัดหางานได้ทำไว้ หรือถ้าเป็นการสมัครงานผ่านรีครู๊ทเตอร์ก็สามารถถามพวกเขาได้ตรงๆ เลย

2.2 ทักษะความสามารถที่เรามี

สิ่งที่บริษัทต้องการมีความสัมพันธ์กับสิ่งที่คุณมี หรือเกินความคาดหวัง คุณอาจลองพิจารณาด้านประสบการณ์ที่คุณสั่งสมมา ใบรับรองการฝึกพิเศษต่างๆ ระดับความชำนาญในตัวงาน ไปจนถึงทักษะที่หลากหลายและครอบคลุม หรือเครื่องมือที่คุณใช้ว่ามีความเหนือกว่าคนอื่นอย่างไร เป็นการเพิ่มคุณค่าให้ตัวคุณเอง

2.3 ความท้าทายของงานใหม่

ลักษณะงานของงานใหม่ที่ได้รับมีความท้าทาย และเป็นโปรเจคที่คุณต้องแบกรับความเสี่ยงที่จะผิดพลาดสูงหรือไม่ ซึ่งแม้ความท้าทายนั้นจะเป็นโอกาสในการเรียนรู้สิ่งใหม่ แต่ถ้าต้องแลกมาด้วยความเครียดที่มากขึ้นคุณอาจใช้เป็นข้ออ้างในการขอตัวเลขที่เพิ่มมากขึ้นได้

2.4 สวัสดิการที่ได้รับ

บางครั้ง คุณไม่จำเป็นต้องดูที่ฐานเงินเดือนเพียงอย่างเดียว แต่ดูเป็นภาพรวมของแพคเกจค่าตอบแทนที่จะได้รับ แม้เงินเดือนขึ้นมาเพียงเศษเสี้ยว แต่หากบริษัทใหม่นั้น มีสวัสดิการอื่นๆ มาอุดช่องโหว่เหล่านั้นได้ก็คุ้มค่ากับการพิจารณา เช่น วันหยุด เวลาการทำงาน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เบิกรักษาค่าพยาบาล ฯลฯ

2.5 ค่าใช้จ่ายในการทำงานที่ใหม่

ไม่ว่าจะเป็นค่าชุดยูนิฟอร์ม ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ภาษีสังคม ค่าครองชีพในบริเวณดังกล่าว คุณต้องลองคำนวณค่าใช้จ่ายคร่าวๆ ต่อปี อาจนำอัตราเงินเฟ้อมาคิดคำนวณร่วมด้วยก็ได้ โดยค่าครองชีพจะสูงขึ้น 2-3% ต่อปี หากลองคิดดูแล้ว คุณพอมีเหลือกิน เหลือใช้ เหลือเก็บมากกว่าที่เดิมก็น่าจะเป็นสัญญาณที่ดี

3. ขอขึ้นเงินเดือนกรณีต่างๆ

3.1 กรณีขอขึ้นเงินเดือน ณ ที่ทำงานปัจจุบัน

เรียกเท่าไหร่ดี : 10% เพิ่มจากเงินเดือนปัจจุบัน
ถ้ารู้สึกว่า underpaid มาตลอดและต้องการขึ้นเงินเดือน คุณต้องไม่ลืมที่จะทำการบ้านมาก่อน โดยการกลับไปตรวจสอบผลงานที่ผ่านมา หรือยึดจาก Performance Review ที่มีเรคคอร์ดพัฒนาการ ผลงานที่มีประสิทธิภาพขึ้นเรื่อยๆ รวมไปถึงการที่คุณสร้างรายได้หรือช่วยลดค่าใช้จ่ายให้บริษัท และโปรเจคใหม่ที่คุณคิดค้นที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ อาจมีการเก็บรวบรวม Testimonial หรือคำชมจากลูกค้าและเพื่อนร่วมงานประกอบ แสดงให้หัวหน้าเห็นถึงคุณค่าของคุณต่อองค์กร และมันคุ้มที่จะลงทุนเพิ่มด้วยการขึ้นเงินเดือนให้กับคุณ

3.2 กรณีสัมภาษณ์งานใหม่

เรียกเท่าไหร่ดี : 15-30% เพิ่มจากเงินเดือนปัจจุบัน หรือตามกลไกตลาดที่เชื่อถือได้
จริงๆ แล้วการเปลี่ยนงานใหม่คือหนทางที่จะขึ้นเงินเดือนแบบก้าวกระโดดได้เร็วที่สุด อย่างไรก็ดี ตามหลักแล้ว คุณต้องพูดถึงเรื่องเงินเดือนในรอบท้ายๆ ของกระบวนการสัมภาษณ์ เพื่อไม่ให้พวกเขาคิดว่าคุณเป็นพวกเห็นแก่เงิน (Money-driven) 

แน่นอนว่าก่อนที่คุณจะพูดถึงเรื่องเงินนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่คุณต้องทำความเข้าใจในบริบทของตำแหน่งงาน ขอบเขตหน้าที่รับผิดชอบและเนื้องานทั้งหมด เพื่อทราบจุดยืนของตัวคุณ สิ่งที่คุณให้ได้เปรียบเทียบกับสิ่งที่บริษัทต้องการ โดยใช้ข้อมูลตรงนี้พิจารณาว่าคุณสามารถเรียกเงินเดือนได้มากน้อยแค่ไหน หากโปรไฟล์ของคุณดีมากและมีทุกอย่างที่พวกเขากำลังมองหาก็สามารถเรียกเงินสูงๆ ถึง 30% หรือมากกว่าไปได้เลย แต่กรณีที่ฐานเงินเดือนสูงกว่าท้องตลาดอยู่แล้วการขออัพเงินเดือนขึ้นไปขนาดนั้นก็อาจดูไม่สมเหตุสมผลสักเท่าไหร่ ควรเช็คราคาตลาดควบคู่ไปด้วย

🔗 อ่านเพิ่ม เทคนิคการต่อรองเงินเดือนให้ได้อย่างใจ

3.3 กรณีเปลี่ยนสายงาน

เรียกเท่าไหร่ดี : ไม่ควรเรียกเพิ่ม
เปลี่ยนสายงานไปอุตสากรรมใหม่ คือ การเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ นั่นหมายความว่าอำนาจในการต่อรองเงินเดือนของคุณจะถูกลดทอนลงอย่างมาก เนื่องจากเป็นการยากที่จะแสดงทักษะความสามารถในเรื่องที่คุณไม่ถนัด ในความเป็นจริงอาจถูกลดเงินเดือนลงด้วยซ้ำ สิ่งที่จะทำได้เพื่อรักษาเงินให้คงเดิมคือ แสดงให้พวกเขาเห็นถึงความสามารถที่คุณมี ซึ่งนำไปต่อยอดได้ ไม่ใช่การเริ่มจากศูนย์ซะทีเดียว ทักษะ Soft-skill ต่างๆ จะเป็นตัวช่วยที่ดีในการนำเสนอตัวคุณ เนื่องจากเป็นทักษะที่สามารถถ่ายทอดไปใช้ในงานใหม่ได้เสมอ

4. ถูกปฏิเสธการขอขึ้นเงินเดือน

บางครั้ง มันก็ช่วยไม่ได้นะ โชคไม่ได้เข้าข้างคุณขนาดนั้น แม้โปรไฟล์ของคุณจะดีมากและดีพอ แต่บริษัทดันไม่มีงบประมาณในการจ้างมากพอที่จะจ่ายคุณ ตัวคุณเองอาจต้องพิจารณาถึงเงื่อนไขและขอสวัสดิการอื่นเพิ่มเติมแทนเงินเดือน เช่น ขอเพิ่มวันหยุดลาพักร้อนประจำปี เวลาการทำงานที่ยืดหยุ่น (Flexible Working Hours) โปรแกรมฝึกอบรมเพิ่มเติม รวมถึงการถือหุ้น (ในระดับผู้บริหาร) แต่อย่าลืมว่าต้อง follow-up ทุกๆ สามเดือน เพราะการพูดรับปากเพียงปากเปล่าแค่ช่วยรักษาสภาพจิตใจได้ชั่วคราว คุณต้องติดตามผลว่าบริษัทมีการจัดทำหรือบันทึกเรื่องเหล่านั้นไว้ในสัญญาจ้าง

การต่อรองเงินเดือนจำเป็นต้องใช้ศิลปะในการพูดเป็นอย่างมาก เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจและอำนาจในการเจรจา เราจึงต้องทำการบ้าน ศึกษาข้อมูลมาเป็นอย่างดี จะได้ไม่พลาดเมื่อถึงเวลาที่ต้องแสดงแสนยานุภาพ

ที่มา : CNN, JobsDB

แชร์บทความ :
Jitkarn Sakrueangrit

Jitkarn Sakrueangrit

Graphic & Web Designer, Content Creator,
Copywriter, Marketing Specialist

คุณน่าจะชอบเรื่องเหล่านี้

writing-notebook-iphone-desk

เขียนเรซูเม่อย่างไรดี…ถ้าว่างงานมานานเป็นปี

ตกงาน ไม่มีงานทำมานานจนประวัติงานเสีย ไม่ต่อเนื่อง เขียนเรซูเม่ยังไงให้นำเสนอช่วงว่างงานได้อย่างมือโปร ไม่ถูกฝ่ายบุคคลโยนใบสมัครทิ้งไปเสียก่อน

อ่านเลย »
เปลี่ยนสายงาน เขียนเรซูเม่ยังไงดี by Find Your Job

เปลี่ยนสายงาน เขียนเรซูเม่ยังไงดี

อยากเปลี่ยนสายงานแต่ไม่รู้จะเขียนเรซูเม่ออกมายังไงดี เพราะทำเหมือนทุกทีก็โดนปัดตก เปลี่ยนสายงานก็ต้องเปลี่ยนวิธีการเขียนเรซูเม่ด้วย!

อ่านเลย »

คุณรับทราบและยินยอมว่า การใช้งานเว็บไซต์นี้มีการเก็บข้อมูลคุ๊กกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ในการใช้บริการ อ่านข้อมูลเพิ่มเติม