woman-stressed-laptop-glasses

เอาตัวรอดตอนสัมภาษณ์ เวลาเจอคำถามที่ตอบไม่ได้

ไม่ว่าคุณจะเก่งแค่ไหน ในโลกของการสัมภาษณ์งานจะต้องมีสักครั้งที่เจอคำถามยากจนตอบไม่ได้อย่างแน่นอน เอาตัวรอดยังไงดีนะให้ดูมืออาชีพ?

หลายครั้งที่ผู้สัมภาษณ์ยิงคำถามยากๆ ใส่ผู้สมัครโดยไม่สนใจว่าพวกเขาจะตอบคำถามได้หรือเปล่า นี่ไม่ใช่การโชว์ว่าพวกเขาเก่งกว่า เหนือกว่า แต่มันเป็นการทดสอบแคนดิเดตเกี่ยวกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า กระบวนการคิดเพื่อเอาตัวรอดเมื่ออยู่ในสภาวะกดดัน ดังนั้น คำตอบที่พวกเขาต้องการอาจไม่ได้เป็นคำตอบของคำถามจริงๆ หากแต่เป็นวิธีการที่คุณตอบคำถามต่างหาก

สิ่งที่คุณพอจะทำได้เพื่อรับมือกับคำถามประเภทนี้ คือ การแสดงทักษะ กระบวนการคิดเป็นลำดับขั้นตอนอย่างใจเย็น เพื่อให้ผู้สัมภาษณ์เห็นถึงความเป็นผู้ใหญ่ (Maturity) และความเป็นมืออาชีพ (Professional) อันจะนำมาซึ่งคะแนนพิเศษที่ทำให้คุณโดดเด่นแม้ตอบคำถามไม่ได้ก็ตาม

เลือกอ่านเฉพาะหัวข้อ

1. ให้เวลากับตัวเอง ไม่ต้องรีบร้อน

อย่างที่เราคุ้นหูกันดีกับคำกล่าวที่ว่า สติมาปัญญาเกิด นั่นหมายความว่าหากคุณเผชิญหน้ากับคำถามที่รู้ว่าคุณไม่มีคำตอบ สิ่งแรกที่คุณควรทำคือ การตั้งสติ ไม่แพนิคจนสติกระเจิงซึ่งจะยิ่งทำให้ทุกอย่างแย่ลง จงรักษาภาพพจน์ของตัวเองให้ดูดีที่สุด ทำใจดีสู้เสือ ยิ้มเข้าไว้ และให้เวลากับตัวเองได้คิดทบทวนไตร่ตรองถึงคำถามโดยไม่รีบเร่ง ไม่จำเป็นต้องลนลาน รีบตอบคำถามเพราะยิ่งคุณเร่งตัวเองมากเท่าไหร่ จะยิ่งเพิ่มสภาวะกดดันจนทำให้ตอบผิด หรือเลวร้ายที่สุด คำตอบที่ได้จะออกแนว ‘ไปไหนมา สามวาสองศอก’ คือ คนละเรื่องกับที่ผู้สัมภาษณ์อยากได้ยิน

2. ใช้เทคนิคยืดเวลาให้ได้คิดคำตอบ

ต่อเนื่องจากขั้นตอนที่แล้ว คุณอาจเพิ่มระยะเวลาให้ตัวเองได้คิด ไม่ปล่อยให้เกิดช่องว่าง Dead Air ด้วยความเงียบที่น่ากระอักกระอ่วนใจ โดยใช้เทคนิคที่เป็นที่นิยมดังนี้

  • ทวนคำถาม : ให้นึกถึงภาพเวทีประกวดนางงาม ที่ผู้เข้าประกวดมักจะทวนคำถามพิธีกรอย่างช้าๆ เพื่อประวิงเวลาให้ตัวเองได้คิดหาคำตอบในขณะที่ทวนคำถามอยู่นั้น อีกทั้งยังเป็นการย้ำเตือนตัวเองแบบเนียนๆ อีกรอบว่าสิ่งที่ผู้สัมภาษณ์ต้องการคืออะไร
  • ขอเวลาคิดไปตรงๆ : หากคุณมีความรู้สึกว่า คำถามนี้เป็นคำถามที่ใช้หัวคิดและต้องการเวลามากกว่าคำถามทั่วไป คุณอาจขอเวลาผู้สัมภาษณ์ไปตรงๆ ว่า “บอกตามตรงนะครับ คำถามนี้ค่อนข้างที่จะตอบยากเพราะต้องใช้เวลาคิดทบทวน เป็นไปได้ไหมที่ผมจะขอเวลาคิด  และให้คำตอบในช่วงท้ายๆ ของการสัมภาษณ์ครับ”

3. ยิงคำถามกลับเพื่อความชัวร์

ในบางครั้ง เราพบว่า คำถามนั้นง่ายมาก แต่มันดันอยู่ในรูปแบบประโยคที่เราไม่คุ้ยเคย จึงอาจเกิดการเข้าใจคลาดเคลื่อน ตีความผิดพลาดได้ โดยเฉพาะถ้าเป็นการสัมภาษณ์งานภาษาอังกฤษที่ไม่ใช่ภาษาแม่ เพื่อความชัดเจน คุณสามารถยิงคำถามกลับไปที่ผู้สัมภาษณ์ คุณเข้าใจคำถามถูกต้องหรือไม่ โดยการถามย้ำว่า คำตอบที่ผู้สัมภาษณ์ต้องการคืออะไรกันแน่ ซึ่งอาจถามไปว่า “ผมไม่แน่ใจว่าเข้าใจถูกต้องไหม สิ่งที่คุณต้องการทราบคือ … รึเปล่าครับ” หรือ “ผมไม่ค่อยเข้าใจคำถามสักเท่าไหร่ รบกวนช่วยอธิบายคำถามให้เคลียร์มากยิ่งขึ้นกว่านี้ได้ไหมครับ”

4. ตอบคำถามเท่าที่คุณรู้

ในกรณีที่คุณไม่มีคำตอบที่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่พอมีความรู้เกี่ยวกับขอบเขตดังกล่าวอยู่บ้าง ให้บอกเรื่องเหล่านั้นที่คุณคุ้นเคย เพื่อแสดงให้เห็นถึงความพยายามในการตอบคำถามอย่าง “ผมไม่ถนัดด้านนี้สักเท่าไหร่นะ แต่ที่ผมพอมีความรู้อยู่บ้างคือ …” อย่างไรก็ตาม โปรดจำให้ขึ้นใจว่า แม้มันอาจจะรู้สึกแย่ที่ตอบคำถามไม่ได้ แต่การเฟคข้อมูลขึ้นมานั้นแย่ยิ่งกว่า เพราะฉะนั้นคุณจึงไม่ควรพยายามมากจนเกินไป กลายเป็นการแถจนสีข้างถลอกมากกว่าการให้คำตอบที่ถูกต้องเหมาะสม

5. บอกผู้สัมภาษณ์ว่าคุณจะหาคำตอบได้อย่างไร

มันโอเคที่จะบอกกับพวกเขาว่าคุณไม่มีความรู้ในสิ่งที่พวกเขากำลังถามอยู่ เป็นการแสดงความจริงใจออกไปแบบมือโปร เช่น

  • Case study 1: ถ้าไม่เก่งเลขแต่คำถามต้องการให้คุณคำนวณตัวเลขบางตัว อาจตอบไปว่า “ผมไม่เก่งในการคิดคำนวณตัวเลขแบบลอยๆ ในหัว ซึ่งตัวเลขที่ได้จากการคำนวณนี้จะช่วยผมให้หาคำตอบให้กับคุณได้ และสิ่งที่ผมพอจะทำได้คือการใช้เครื่องคิดเลขหาคำตอบนั้นครับ”
  • Case study 2: ถ้าผู้สัมภาษณ์ถามเกี่ยวกับเครื่องมือที่คุณเคยใช้ แต่ตอนนี้ลืมขั้นตอนไปแล้ว หรือคุณเป็นประเภท Self-taught ที่มักค้นหาคำตอบมาแก้ปัญหาด้วยตัวเองอยู่เสมอ อาจลองใช้คำพูดนี้ “ปกติ พลอยใช้เครื่องมือ A ในการทำงาน ซึ่งมีฟังก์ชั่นการทำงานที่คล้ายกับเครื่องมือ B ที่คุณถามถึง ณ ตอนนี้พลอยยังไม่มีคำตอบให้ค่ะ แต่มั่นใจว่าจะสามารถให้คำตอบได้ถ้าได้ลองลงมือทำเพราะส่วนตัวแล้วเรียนรู้ทุกอย่างด้วยตัวเอง ค้นหาคำตอบจาก YouTube ที่เป็นเครื่องมือเฉพาะได้แน่ๆ ค่ะ”

6. ส่งคำตอบมาในจดหมายขอบคุณผู้สัมภาษณ์

แม้ตอบคำถามในตอนสัมภาษณ์ไม่ได้ แต่คุณไม่ได้ละเลยในการค้นหาคำตอบไปเฉยๆ คุณสามารถแจ้งความประสงค์ไปเลย ว่า คุณต้องการที่จะหาข้อมูลเพิ่มเติมภายหลังจากการสัมภาษณ์ หรือแสดงเจตจำนงค์ว่าอยากเรียนรู้หัวข้อที่คุณไม่รู้นี้เพิ่มถ้าหากได้รับการว่าจ้าง เป็นการบอกเป็นนัยๆ ว่าคุณไม่ใช่น้ำเต็มแก้วที่จะรับข้อมูลอะไรเพิ่มอีกไม่ได้ และพร้อมเหลือเกินในการเรียนรู้สิ่งใหม่ด้วยความกระตือรือร้น

ยิ่งไปกว่านั้น ให้คุณใช้โอกาสนี้ในการตอบคำถามดังกล่าวในจดหมายขอบคุณผู้สัมภาษณ์ เติมเต็มความเคลือบแคลงใจของผู้สัมภาษณ์โดยการปิดช่องโหว่ที่เกิดขึ้นได้ทันท่วงทีก่อนการพิจารณาในขั้นตอนสุดท้ายที่กำลังมาถึง

อย่างที่บอกไปตั้งแต่ต้นบทความ มันไม่จำเป็นเลยที่ผู้สมัครหนึ่งคนจะสามารถตอบคำถามได้หมดทุกคำถาม เราทุกคนไม่ได้เพอร์เฟ็กต์ขนาดนั้น เวลาเจอคำถามยากๆ อย่าเพิ่งโฟกัสที่คำตอบมากจนเกินไป แต่ให้คิดถึงกระบวนการตอบคำถามของเรา เพราะนั่นอาจเป็นสิ่งที่ผู้สัมภาษณ์อยากได้ยินและเรียนรู้จากเราก็ได้

ที่มา : Popsugar, TheMuse, TheBalanceCareers

แชร์บทความ :
Jitkarn Sakrueangrit

Jitkarn Sakrueangrit

Graphic & Web Designer, Content Creator,
Copywriter, Marketing Specialist

คุณน่าจะชอบเรื่องเหล่านี้

resigning-submitting-letter

เตรียมตัวถูกสัมภาษณ์ Exit Interview ก่อนลาออก

สัมภาษณ์งานที่ใหม่จบนึกว่าจะรอด ยังต้องเตรียมสัมภาษณ์ตอนลาออกกับฝ่ายบุคคลอีกรอบ ดูเหมือนจะง่ายแต่สร้างความลำบากใจให้มนุษย์เงินเดือนอย่างเราไม่น้อย

อ่านเลย »
สัมภาษณ์ไม่ผ่าน ทำอย่างไรต่อไปดี

สัมภาษณ์ไม่ผ่าน ทำอย่างไรต่อไปดี?

สัมภาษณ์งานมาหลายรอบแต่ไม่ผ่านเลยสักรอบ ตกสัมภาษณ์ไปเสียทุกครั้งจนทำเอาท้อในการหางาน รับมืออย่างไรในวันที่หัวใจอ่อนล้า

อ่านเลย »

คุณรับทราบและยินยอมว่า การใช้งานเว็บไซต์นี้มีการเก็บข้อมูลคุ๊กกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ในการใช้บริการ อ่านข้อมูลเพิ่มเติม