เตรียมตัวถูกสัมภาษณ์ Exit Interview ก่อนลาออก

สัมภาษณ์งานที่ใหม่จบนึกว่าจะรอด ยังต้องเตรียมสัมภาษณ์ตอนลาออกกับฝ่ายบุคคลอีกรอบ ดูเหมือนจะง่ายแต่สร้างความลำบากใจให้มนุษย์เงินเดือนอย่างเราไม่น้อย

จริงๆ แล้วเราคุ้นเคยกับการแจ้งเหตุผลในการลาออกกับหัวหน้าอยู่แล้ว แต่บางบริษัทมีการสัมภาษณ์ก่อนลาออกหรือที่เรียกว่า Exit Interview อย่างเป็นกิจจะลักษณะ ซึ่งเป็นวิธีที่ฝ่ายบุคคลใช้หาข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพื่อปรับปรุงองค์กรไปในทิศทางที่ดีขึ้น เสริมสร้างความเข้มแข็งของกลยุทธ์การรักษาพนักงาน (Retention) ที่มีอยู่ให้อยู่คู่กับองค์กรไปนานๆ และลดอัตราการลาออกลง (Turn-over Rate)

เช็คลิสต์ Exit Interview ไม่ได้มีไว้เพื่อ…
❌ แสดงการต่อต้าน เหมือนการประท้วงเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมกลายๆ
❌ ดึงดราม่า ระบายเรื่องราวที่เก็บไว้ในใจ
❌ ทิ้งบอมบ์ใส่คนที่ไม่ชอบเป็นการแก้แค้นที่ทำไว้เจ็บแสบ
❌ ด่าทอแบบสาดเสียเทเสียใส่บริษัท
❌ ตอกย้ำความสัมพันธ์ของคุณกับบริษัทให้จบแบบไม่เหลือเยื่อใย

แม้ว่าจะเกิดเรื่องราวแย่ๆ หรือคุณมีประสบการณ์ที่ไม่ดีกับองค์กรอย่างไร สิ่งที่คุณพอจะทำได้คือการคงความเป็นมืออาชีพจนวินาทีสุดท้าย คุณไม่รู้หรอกว่าในอนาคตจะเป็นอย่างไร อย่าปิดประตูแห่งโอกาสนี้ทิ้งไปด้วยการให้สัมภาษณ์ไม่โปร ให้พวกเขาติดภาพจำว่า ‘ดีแล้วหละ ที่คุณออกไปเสียที’ แต่เป็นการอยู่ให้เขารักจากให้เขาคิดถึง เพราะคุณรู้ดีว่าการจบเส้นทางที่ดีนำไปสู่การเริ่มต้นอะไรที่ดีเสมอ โดยสิ่งที่คุณสามารถทำได้ในช่วง Exit Interview มีดังนี้

เลือกอ่านเฉพาะหัวข้อ

1. บ่นเวลาอื่นไม่ใช่ตอนสัมภาษณ์

จริงๆ แล้ว เรื่องที่เราเป็นกังวลใจ ควรถูกยกประเด็นมาพูดในตอนที่เรายังทำงานอยู่ที่นี่ ไม่ใช่ตอนที่เรากำลังจะออกแล้ว สาเหตุก็เพราะในขั้นตอนนี้ การพูดอะไรไม่ดีออกไป ว่า ใครทำแย่กับคุณแบบไหน ไม่ได้ทำให้คุณดูดีขึ้นมาได้ ตรงกันข้าม มันกลับสื่อได้ว่าคุณไม่มีความเป็นผู้นำและมืออาชีพมากพอที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้อย่างตรงจุดและเป็นลำดับขั้นตอนตามคู่มือพนักงานที่แจกไว้ตอนเริ่มงานใหม่ๆ เพราะบางเรื่องสามารถจบได้เพียงคุณเดินไปแจ้งกับ HR แต่คุณเลือกที่จะเงียบแล้วค่อยจัดเต็มตอนคุยกับฝ่ายบุคคลระหว่าง Exit Interview มันยิ่งทำให้พวกเขามองว่า คุณเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่สามารถแก้ไขได้ไปโดยปริยาย

การสัมภาษณ์ครั้งนี้เป็นกระบวนการที่เป็นทางการมากกว่าการปรับทุกข์ ไม่ใช่เวลาให้คุณมานั่งพร่ำเพ้อพรรณา ดราม่าสิ่งที่เกิดขึ้น แต่เป็นการคุยกันถึงข้อดี ข้อเสียขององค์กรอย่างมืออาชีพต่างหาก นำข้อมูลที่เป็นความจริง ไม่ใช่ความรู้สึกส่วนตัวมาบอกกล่าวให้ฝ่ายบุคคลรับทราบเพื่อหาแนวทางการแก้ไขที่ถูกต้องและยั่งยืนต่อไป

2. เตรียมตัวเสมือนเป็นการสัมภาษณ์งานใหม่

หลายครั้งที่เราคิดว่าก็แค่ สัมภาษณ์ว่าทำไมถึงลาออก ไม่จำเป็นต้องฝึกหรอก มันเป็นความจริงนี่นา ทำได้อยู่แล้ว เพราะเป็นเรื่องที่พบเจอมากับตัวจะฝึกตอบคำถามไปทำไมกัน ทำให้คุณพลาดโอกาสในการพูดคุยประเด็นสำคัญไปหลายจุด ไม่ว่าเหตุผลนั้นจะเป็นการลืมด้วยความตื่นเต้นก็ตาม นอกจากนี้ การเตรียมตัวยังรวมถึงการคัดกรองสิ่งที่คุณควรพูดและไม่ควรพูดออกจากกันอย่างเป็นรูปธรรม ช่วยให้คุณสามารถตัดอคติส่วนตัวทิ้งไป โดยอาจเป็นการลองสัมภาษณ์กับเพื่อนที่เป็นบุคคลที่สาม จะยิ่งทำให้คุณเล่าประเด็นได้อย่างเป็นกลางมากขึ้น 

คุณยังสามารถวางแนวคิดไอเดียออกมาเป็นภาพกว้างๆ ประเด็นไหนก่อน-หลัง ให้องค์กรเห็นถึงข้อบกพร่องอย่างชัดเจน เป็นโอกาสให้พวกเขาได้แก้ไขมันได้อย่างถูกต้องในอนาคต ทั้งนี้ทั้งนั้น การสัมภาษณ์ที่ตัดเรื่องอารมณ์ออกไปจะทำให้คุณยิ่งดูมีแพง ดูมีราคา จนพวกเขารู้สึกเสียดายเลยที่ปล่อยให้พนักงานดีๆ EQ สูงแบบคุณทิ้งไปแบบนี้

3. โฟกัสที่เรื่องดีๆ ไว้ก่อน

เข้าใจดีว่า หากคุณมีประสบการณ์ที่ไม่ดีกับองค์กรซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้คุณตัดสินใจลาออกในวันนี้ การเลือกพูดแต่สิ่งดีๆ โดยไม่มีอารมณ์ส่วนตัวมาเกี่ยวข้องนั้นทำได้ยาก และการจะหาเหตุผลดีๆ สักเรื่องหนึ่งก็ไม่สามารถลบภาพจำเลวร้ายพวกนั้นออกไปจากหัวคุณได้ คุณอาจลองคำนึงถึง ข้อเท็จจริง บวกกับ ความเป็นมืออาชีพ เพื่อคิดหาคำตอบที่ดูดีที่สุด มองมันเป็นความท้าทายดีกว่า Be professional not emotional – เป็นมืออาชีพไม่ใช้อารมณ์นำทาง หัวข้อที่นิยมพูดกันระหว่างสัมภาษณ์ก่อนลาออก มีดังนี้

  • เหตุผลในการลาออก : คุณสามารถพูดถึงปัญหาไปตรงๆ แต่ปราศจากอคติส่วนตัว หรือเปลี่ยนประโยคลบเหล่านั้นให้เป็นพลังงานด้านบวก (อ่านเพิ่ม ทำไมลาออก)
  • โครงสร้างของงานและเครื่องมือ : สิ่งเหล่านั้นมีส่วนช่วยส่งเสริมให้คุณทำงานได้ดีขึ้นหรือไม่ เครื่องมือ โปรแกรมและอุปกรณ์ที่คุณได้รับเพียงพอต่อการทำหน้าที่ให้บรรลุหรือเปล่า เนื้องานมีความสอดคล้องกัน หรือสวนทางกันสะเปะสะปะจนทำให้การทำงานยากลำบากหรือไม่ คุณคิดว่าปริมาณงานมีส่วนทำให้คุณมาถึงจุดนี้จริงไหม
  • ความก้าวหน้าในการเรียนรู้และเติบโต : คุณมองไม่เห็นอนาคตของตัวเอง ไม่มี Career Path ที่ชัดเจนจากองค์กร รวมไปถึงการได้รับมอบหมายงานที่ไม่มีความหมาย อีกทั้งบริษัทยังไม่มีการอบรมส่งเสริมพนักงานให้เก่งขึ้น ทำให้คุณมีความรู้สึกอิ่มตัวเพราะเรียนรู้ทุกอย่างมาครบหมดแล้ว งานไม่มีความท้าทายอีกต่อไป มันถึงทางตันแล้ว ไปต่อไม่ได้แล้ว
  • สิ่งที่คุณชอบ : ไม่มีที่ไหนในโลกที่ไม่มีข้อดี คุณแค่ต้องหามันให้เจอ นอกจากจะเป็นจุดแข็งที่พวกเขาต้องรักษามาตรฐานเอาไว้แล้ว ยังอาจเป็นแรงบันดาลใจให้บริษัทต่อยอดและสร้างข้อดีเพิ่มเติมเพื่อให้คนข้างนอกอยากเข้ามาทำงานที่นี่ ในขณะเดียวกันพนักงานปัจจุบันก็จะรู้สึกว่าอยากทำงานต่อ ไม่หนีหายไปไหน

ความรู้สึกที่มีต่อผู้คนในองค์กร : ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้า เพื่อนร่วมงาน หรือคนในแผนกอื่นๆ ที่คุณร่วมงานด้วย พวกเขามีส่วนช่วยเหลือ สนับสนุนอะไรไหม หรือกลายเป็นภาระที่ทำให้งานของคุณยากขึ้น ต้องทำอะไรมากขึ้นทั้งที่ไม่ใช่งานของตัวเอง อาจรวมถึงความคิดเห็นของคุณที่มีต่อวัฒนธรรมองค์กร ในภาพรวมก็ได้

4. ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์

เสียงของคุณไม่ได้สูญเปล่าเสมอไป และมันดังที่สุดเมื่อคุณสร้างการเปลี่ยนแปลงที่พวกเขาคาดไม่ถึงอย่างการลาออก นาทีนี้ สปอร์ตไลท์พร้อมใจกันสาดแสงมาที่คุณแล้ว คุณสามารถนำเสนอไอเดียหรือคำแนะนำในการแก้ไขปัญหาถึงสิ่งที่คุณพบเจอ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในเสียงเล็กๆ ของพนักงานอีกหลายชีวิตที่ยังคงต้องทนทำงานที่นี่ต่อไป คุณเป็นนักปฏิวัติ จงให้ความสำคัญกับสิ่งที่คุณพูดเสมอ และยิ่งถ้ามันเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นแล้ว คุณอาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวดีๆ ทั้งหมดก็ได้ จงให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เช่น หยิบยกประเด็น 1-2 ประเด็นใหญ่ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจลาออกของคุณ ยกตัวอย่างคือ ถ้าคุณมีปัญหาเรื่องวัฒนธรรมการทำงานของทีม ก็อาจนำเสนอไปเลยว่า

“ผมทุ่มเทอย่างมากใน 8 ชั่วโมงของการทำงานแต่ละวัน มันทำให้ผมจัดสรรเวลาได้อย่างเต็มที่และเสร็จภารกิจต่างๆ ก่อนจะหมดวัน ในขณะที่คนอื่นมองว่าผมไม่พยายามให้เท่ากับคนอื่นที่เลิกงานดึกดื่น ผมจึงคิดว่าเข้ากันไม่ได้กับวัฒนธรรมของทีมที่ผมทำงานด้วยครับ เราควรที่จะให้ความสำคัญกับการจัดสรรเวลาอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าไม่ใช่เวลาเลิกงาน”

โปรดจำให้ขึ้นใจว่า คุณไม่จำเป็นต้องลาออกแบบจบไม่สวย แต่ต้องรักษาความสัมพันธ์อันดีงามนี้เอาไว้ อย่างน้อยก็เป็นความทรงจำที่ครั้งหนึ่งคุณเคยร่วมงานกับบริษัทนี้ และในกรณีที่คุณไปไม่รอดในที่ทำงานใหม่ มันแย่กว่าที่เก่ามาก คุณก็ยังสามารถพิจารณาการกลับมาทำงานที่เดิมได้ อย่าปิดประตูโอกาสนี้ไปเพราะในอนาคตคุณไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น

🔗 อ่านเพิ่ม ขอลาออกยังไงให้ดูเป็นมืออาชีพ

ที่มา : HRB, Forbes

แชร์บทความ :
Jitkarn Sakrueangrit

Jitkarn Sakrueangrit

Graphic & Web Designer, Content Creator,
Copywriter, Marketing Specialist

คุณน่าจะชอบเรื่องเหล่านี้

calculator salary money numbers

เปลี่ยนงานเรียกเงินเดือนเท่าไหร่ดี (พร้อมสูตรคำนวณ)

กรอกใบสมัครงานทีไร ไม่รู้จะใส่เลขตรงช่องใส่เงินเดือนที่คาดหวัง (Expected Salary) เท่าไหร่ดี เปลี่ยนงานทั้งทีควรเรียกเงินเพิ่มกี่บาท?

อ่านเลย »
ผู้ชาย เครียด นั่งเครียด กุมขมับ

7 สัญญาณ คุณมีแนวโน้มไม่ผ่านการสัมภาษณ์

สัมภาษณ์เสร็จแล้วแต่รู้สึกตะขิดตะขวงใจว่าจะไม่ผ่านและไม่ได้งาน เช็คเลยสัญญาณอันตรายเหล่านี้ที่จะบอกว่าคุณอาจตกสัมภาษณ์ก็ได้

อ่านเลย »

คุณรับทราบและยินยอมว่า การใช้งานเว็บไซต์นี้มีการเก็บข้อมูลคุ๊กกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ในการใช้บริการ อ่านข้อมูลเพิ่มเติม