ว่างงานมานานเป็นปี เตรียมสัมภาษณ์งานยังไงดีให้เวิร์ค
ไม่แปลกใจที่ผู้สัมภาษณ์จะมีความอยากรู้อยากเห็นว่า ทำไมคุณถึงว่างงานนานขนาดนั้น พวกเขาอาจคิดว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ ถ้าการว่างงานของคุณนั้นเกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจมีการชะลอตัว รวมถึงสถานการณ์โควิดที่อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การว่างงาน 3-4 เดือนดูเหมือนเป็นเรื่องที่ยอมรับกันได้ แต่ถ้าหากคุณไม่ได้ทำงานเป็นยาวนานกว่านั้น จะยิ่งทำให้พวกเขาเคลือบแคลงใจและมีความสงสัยในตัวคุณมากขึ้นไปอีก
สิ่งที่ผู้สัมภาษณ์ต้องการทราบจริงๆ
✅ คุณใช้เวลาไปกับการทำอะไรระหว่างที่ว่างงาน
✅ ทำไมคุณถึงยังหางานไม่ได้สักที ไม่พยายามมากพอหรือเปล่า
✅ ถ้าบริษัทอื่นไม่ได้จ้างคุณ แล้วทำไมพวกเขาต้องจ้างหละ?
✅ ทักษะความสามารถของคุณยังสดใหม่พอที่จะไปต่อได้ไหม
✅ คุณแค่ต้องการ ‘งานอะไรก็ได้’ แค่นั้นใช่ไหม พวกเขาไม่อยากเสี่ยงรับคุณมาทำงานชั่วคราวเดี๋ยวคุณก็ลาออกไป
น่าเสียดายที่คุณไม่สามารถย้อนเวลากลับไปแก้ไขอดีตได้ เพราะถ้าคุณทำได้ คุณอาจใส่เหตุผลว่าตอนนั้นคุณกำลังเรียน ทำงานเป็นอาสาสมัคร หรือดูแลคนในครอบครัวอยู่และเขียนมันไว้ในเรซูเม่ไปแล้ว แม้ว่าคุณอยากได้งานทำสักเท่าไหร่ สิ่งสำคัญ คือ ต้องรักษาทัศนคติด้านบวกและอธิบายช่องว่างระหว่างงานนี้โดยละเอียดเพื่อเรียกคืนความมั่นใจของนายจ้างกลับมาให้ได้มากที่สุด
เลือกอ่านเฉพาะหัวข้อ
หลักในการตอบคำถาม
- โฟกัสด้านดี : คุณไม่จำเป็นต้องนึกถึงเหตุการณ์ที่ทำให้คุณตกงาน เนื่องจากความรู้สึกไม่ดีเหล่านั้นอาจส่งผลให้คำตอบของคุณดูแย่ไปด้วย หลีกเลี่ยงการให้คำตอบในแง่ลบทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นการโทษทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว พูดถึงนายจ้างเก่าเสียๆ หายๆ หรือนินทาเพื่อนร่วมงานที่คุณทะเลาะด้วย รวมไปถึงบ่นเหตุบ้านการเมือง การบริหารจัดการวัคซีนของรัฐบาลที่ทำให้บริษัทต้องปิดกิจการลง
- ตอบกระชับ : ให้ผู้สัมภาษณ์มีภาพจำของคุณเป็นทักษะและประสบการณ์ที่น่าทึ่งด้วยการเน้นไปที่ ‘สิ่งที่คุณมี’ ซึ่งสามารถต่อยอดนำไปใช้กับตำแหน่งงานที่สมัครได้ดีกว่า ดังนั้น คำตอบของคุณจึงควรสั้น กระชับ เพื่อดึงความสนใจให้ผู้สัมภาษณ์เปลี่ยนไปคุยเรื่องอื่นอย่างความสามารถและจุดแข็งของคุณแทน
- บอกเหตุผลที่น่าเชื่อถือ : ในขณะที่คุณกำลังตั้งหน้าตั้งตาหางานอยู่นั้น มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นกับคุณบ้าง อุตสาหกรรมหรืออาชีพของคุณประสบกับความยากลำบากหรือไม่? (อาทิ สายงานบริการ งานโรงแรม งานสายการบินที่ได้รับผลกระทบช่วงโควิด) เพื่อใช้อธิบาย ว่า ทำไมคุณยังไม่ได้งานทำเสียที โดยกรณีที่คุณทำผิดพลาดเองไม่ใช่ปัจจัยภายนอก จงเน้นย้ำกับผู้สัมภาษณ์ ว่า เรื่องราวในอดีตที่เกิดขึ้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานของคุณในอนาคตอย่างแน่นอน
- เสริมด้วยเรื่องดีที่คุณทำ : การใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ คือ หัวใจสำคัญของคำถามนี้ ถ้าหากคุณไม่ได้ทำงานเป็นระยะเวลานาน ลองคำนึงถึงวิธีที่คุณ ใช้เวลา ไปกับเรื่องดีๆ เช่น การดูแลพ่อแม่ที่ป่วย การเลี้ยงลูก ช่วยธุรกิจที่บ้าน ในทำนองเดียวกัน คุณได้ทำอะไรบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับอาชีพโดยตรงหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็น การเรียนออนไลน์ในเรื่องที่คุณไม่ถนัดแต่จำเป็นต่อสายงานในอนาคต ทำงานพาร์ทไทม์เพื่อประทังชีวิต ไปจนถึงรับงานอาสาสมัคร สิ่งเหล่านี้จะทำให้ผู้สัมภาษณ์เล็งเห็นถึง ความพยายาม ของคุณโดยที่คุณไม่ต้องเอ่ยถึงมันเลยด้วยซ้ำ
กรณีถูกไล่ออก
เป็นเรื่องที่รับมือยากที่สุดหากคุณถูกไล่ออกด้วยสาเหตุอันหนึ่งอันใด และว่างงานมาสักพักใหญ่แล้ว เนื่องจากผู้สัมภาษณ์อาจตีความว่าคุณพยายามสมัครงานมาหลายที่แล้วก็ยังไม่ได้งานทำ ซึ่งมันไม่ใช่ธุระกงการอะไรที่พวกเขาจะรับผิดชอบชีวิตของคุณด้วยการรับคุณเข้าทำงานด้วย สิ่งที่คุณพอจะทำได้ คือ การอ้างเหตุผลว่าคุณใช้เวลาไปกับการประเมินตัวเลือกงานที่ ‘เหมาะสม’ หรือเรียนรู้งานใหม่เพื่อเตรียมตัวเองให้พร้อมสู่ตลาดแรงงานอีกครั้ง คุณอาจต้องเตรียมการรับมือกับคำถามเกี่ยวกับจุดอ่อนและข้อเสียของตัวเอง ที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานในอดีต พร้อมทั้งอธิบายถึงจุดแข็งที่คุณมีอันสามารถนำไปสู่การประสบความสำเร็จในงานใหม่
ตัวอย่างเหตุการณ์ :
คุณเคยทำงานเป็นพนักงานขายมาก่อน แต่ต้องการที่จะสมัครงานในฝ่ายดูแลลูกค้า คุณก็อาจอ้างอิงได้ว่าคุณทำผลงานไม่ค่อยดีในการขายเนื่องจากไม่เชี่ยวชาญด้านการโทรหาลูกค้าและเสนอขายไปตรงๆ (Cold Calling) ซึ่งในความเป็นจริงแล้วคุณมีความมั่นใจและทำได้ดีกว่าในส่วนของการดูแลกลุ่มลูกค้าปัจจุบัน
กรณีถูกเลย์ออฟ
การโดนปลดออกจากบริษัทไม่ใช่เรื่องน่าอายและดูดีกว่ากรณีถูกไล่ออกกว่ามาก เนื่องจากคนภายนอกจะตีความว่าปัญหาไม่ได้เกิดจากที่ตัวคุณ หากแต่เป็นตัวบริษัทเองที่ประสบสภาวะทางการเงิน โดยคุณสามารถระบุเหตุผลนี้ได้ไปตรงๆ บนเรซูเม่หรือ Cover Letter ในกรณีนี้เอง อาจใส่ผลงานความสำเร็จของคุณในระหว่างที่ทำงานอยู่ด้วยและลงท้ายสั้นๆ ว่าองค์กรประสบปัญหาด้านการเงินที่ทำให้นายจ้างต้องลดจำนวนพนักงานและปรับโครงสร้างใหม่
เทคนิคที่นิยมใช้คือการแสดงทัศนคติเชิงบวกอย่างการที่คุณมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เหมือนเป็นโอกาสทองในการมองหาความท้าทายใหม่ๆ แม้ถูกเลย์ออฟจนทำให้เสียกำลังใจแต่คุณไม่เคยเสียศูนย์หรือความมั่นใจในตัวเองเลย นอกจากนี้ในช่วงระหว่างรองานใหม่คุณยังใช้มันไปกับการวิเคราะห์ประเมินค่าของตัวเองคู่กับตัวเลือกงานที่มี เพื่อความมั่นใจว่าจะได้งานที่เหมาะสมที่สุด กับบริษัทที่มีความพร้อมหรือไม่มีแนวโน้มที่จะโดนปลดอีกในอนาคตนั่นเอง
กรณีลาออกเอง
เป็นเคสที่ง่ายต่อการรับมือมากที่สุด เนื่องจากมีเหตุผลร้อยแปดที่คุณสามารถใช้อธิบายเหตุผลการว่างงานเป็นระยะเวลานานได้อย่างน่าเชื่อถือและไม่ถูกมองว่าแย่ เช่น คุณต้องลาออกจากงานเดิมเพื่อดูแลครอบครัวที่เจ็บป่วย ย้ายบ้าน มีลูก ท่องเที่ยว รักษาตัวจากอาการป่วยที่ถาโถม หรือแม้กระทั่งกลับไปเรียนปริญญาโทเพื่อเปลี่ยนสายงานก็เป็นไปได้ทั้งนั้น ดังนั้นการที่คุณบอกเหตุผลไปตรงๆ ถือเป็นวิธีการรับมือกับคำถามได้ดีที่สุด
ในส่วนของอีเมล์จดหมายสมัครงานหรือ Cover Letter ให้คุณอธิบายเหตุผลในช่วงว่างงานนี้พร้อมทั้งสร้างความมั่นใจให้พวกเขารู้ว่าคุณมีความพร้อมอย่างยิ่งในการกลับเข้าสู่โลกของการทำงานอย่างเต็มตัว หรือออกตัวในขั้นตอนสัมภาษณ์อีกครั้งเพื่อแสดงความชัดเจนและความโปร่งใสด้วยการอธิบายสั้นๆ ถึงเหตุผลที่น่าเชื่อถือและดูเหมาะสมที่สุด เช่น “ผมลาออกจากงานตอนนั้น เพื่อกลับไปดูแลแม่ที่กำลังเข้ารับการรักษาโรคมะเร็ง เธอเพิ่งเสียชีวิตได้ไม่นานครับ และตอนนี้เองผมก็อยากกลับมาทำงานแล้ว”
อย่างไรก็ตาม แม้คุณจะตกงานมาเป็นเวลานาน สิ่งที่คุณไม่ควรพูดคือการกล่าวถึงนายจ้างเดิมแบบแย่ๆ ที่ทำให้คุณตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ นอกจากจะทำให้ภาพลักษณ์คุณเสียแล้ว ยังเป็นการแสดงความสิ้นหวังอยากได้งานมากจนเกินไป และทำให้ผู้สัมภาษณ์เข้าใจผิดว่าคุณแค่ต้องการ ‘งานอะไรก็ได้’ ในตอนนี้ ไม่ได้อยากได้ตำแหน่งที่สมัครจริงๆ ซึ่งอาจจะดีกับพวกเขามากกว่าในการเลือกคนอื่นที่ไม่ใช่คุณ!
ที่มา : The Balance Careers, The Monster
Jitkarn Sakrueangrit
Graphic & Web Designer, Content Creator,
Copywriter, Marketing Specialist
คุณน่าจะชอบเรื่องเหล่านี้
ขอลาออกยังไงให้ดูเป็นมืออาชีพ
งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา ในที่สุดก็ต้องแจ้งลาออกกับบริษัทเดิมเพื่อไปตามล่าหาความฝัน ณ บริษัทใหม่ แต่จะขอลาออกยังไงไม่ให้ดูน่าเกลียดดีนะ
เตรียมตัวถูกสัมภาษณ์ Exit Interview ก่อนลาออก
สัมภาษณ์งานที่ใหม่จบนึกว่าจะรอด ยังต้องเตรียมสัมภาษณ์ตอนลาออกกับฝ่ายบุคคลอีกรอบ ดูเหมือนจะง่ายแต่สร้างความลำบากใจให้มนุษย์เงินเดือนอย่างเราไม่น้อย