mindset-woman-interview-shake-hands

ปรับ Mindset การสัมภาษณ์งานใหม่ มีชัยไปกว่าครึ่ง

เช็คด่วน คุณมี Mindset ที่พร้อมสำหรับการสัมภาษณ์งานจริงๆ อยู่หรือเปล่า นี่อาจเป็นกุญแจสู่คำตอบที่ว่าทำไมสัมภาษณ์งานทีไรถึงไม่เคยผ่านเลยสักที

คุณเคยสังเกตุไหมว่า หลายคนถูกขับเคลื่อนด้วยชุดความคิดแบบเก่า (ซึ่งอาจรวมถึงตัวคุณเองด้วย!) ทำให้มองการสัมภาษณ์งานเป็นเรื่องที่ยากเอามากๆ มองมันแย่กว่าความจริง จึงไม่แปลกที่จะกดดัน ประหม่า หรือกลายเป็นคนกลัวการสัมภาษณ์ไปซะอย่างงั้น ความมั่นใจที่เคยมีมาหายไปทันทีหลังจากก้าวเท้าเข้าไปในห้องเชือด ถ้าคุณสัมภาษณ์ทีไรก็ไม่ถูกรับเข้าทำงาน ตกสัมภาษณ์ตั้งแต่รอบแรกๆ ทำได้ไม่ดีเหมือนอย่างที่ซ้อมเอาไว้เพราะตื่นเต้น หรือพยายามจนเกินไปจนเครียด บางทีนี่อาจถึงเวลาที่จะเปลี่ยน mindset ที่มีต่อการสัมภาษณ์เสียใหม่ เพื่อการสัมภาษณ์ที่ดีมากขึ้นแบบก้าวกระโดด

เลือกอ่านเฉพาะหัวข้อ

1. เขาอยากเห็นอะไร ไม่ใช่เราอยากแสดงออกอย่างไร

อย่างที่ทราบกันดีว่า First Impression หรือความประทับใจแรกนั้นสำคัญ แต่หลายคนยังตีโจทย์ “ต้องเป็นตัวของตัวสิ” ใช่แล้ว ! การเป็นตัวของตัวเองนั้นดีที่สุด เราจะได้ไม่สูญเสียตัวตนเวลาสัมภาษณ์ กรรมการจะได้รักที่เราเป็นเรา…ไม่ต้องเฟค แต่คุณลืมไปหรือเปล่าว่าการเข้าสังคม คือ การปรับตัวให้เข้ากับคนอื่น เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะถูกใจไลฟ์สไตล์ของคุณ บางคนแต่งตัวเซ็กซี่คอเว้าลึก เพราะรู้สึกถึงความมั่นใจมากกว่าแต่งตัวมิดชิด ในขณะที่คนหัวโบราณจะไม่ค่อยชอบใจนัก และอาจแสดงออกมาในรูปแบบของคำถามที่รุกล้ำพื้นที่ส่วนตัว เป็นเป้าโจมตีทางเพศ (Sexual Harassment) หรือยิงคำถามที่ทำให้รู้สึกอายในที่สาธารณะ (Public Shaming)

รวมถึงเรื่องยอดฮิตอย่างรอยสักที่ถูกสังคมไทยตีตราว่าเป็นพวกไร้การศึกษา ซึ่งไม่เป็นความจริงเลย แต่เราก็ต้องยอมรับว่ายังมีผู้สัมภาษณ์ HR ที่มีความอนุรักษ์นิยมสูง ซึ่งให้คุณค่ากับคนที่ไม่มีรอยสักมากกว่า การแต่งตัวของคุณจึงต้องอำพรางรอยสักไว้ให้อยู่ใต้ร่มผ้าและไม่ถูกมองเห็นได้ง่ายจากคนอื่น รอยสักที่ตัวเรา…แต่ไปเป็นปัญหาของคนอื่น

สรุปแล้ว Mindset การแต่งตัวจึงเป็น การเดาใจว่าผู้สัมภาษณ์อยากเห็นอะไร โดยสิ่งที่คุณพอจะทำได้ คือ การแต่งตัวที่อยู่ในรูปแบบที่เป็นกลางที่สุด ไม่ใช่แต่งตามใจฉัน

🔗 อ่านเพิ่ม แต่งตัวไปสัมภาษณ์งาน

2. เขาอยากได้ยินอะไร ไม่ใช่เราอยากพูดอะไร

ความมั่นใจแบบผิดๆ อย่างการเล่าเรื่องที่เราภูมิใจนักหนา แต่คนฟังไม่ได้อยากฟังเพราะไม่อินไปกับบทที่เราพยายามนำเสนอ อาจทำให้คุณพังการสัมภาษณ์งานนี้ไปแบบไม่รู้ตัว จำเป็นอย่างยิ่งที่คุณต้องโฟกัสให้ถูกจุด ย้ำเตือนในใจเสมอว่า การสัมภาษณ์คือการขาย อย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นทักษะการเล่าเรื่อง (Storytelling) จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม แล้วจะเล่าอย่างไรให้ได้ใจคนฟัง? ตอบแบบกำปั้นทุบดินจะได้ว่า ก็เล่าเรื่องที่มันไม่น่าเบื่อสิ!

เช็คลิสต์ คุณกำลังเล่าเรื่องที่ ‘น่าเบื่อ’ อยู่หรือเปล่า
❌ เอาแต่นำเสนอตัวตนของตัวเองที่ไม่เกี่ยวข้องกับงาน
❌ อวยตัวเองว่าดีอย่างนั้น ดีอย่างนี้โดยไม่ยกหลักฐานมาประกอบ
❌ เล่าเรื่องแบบโมโนโทน เรียบๆ ไม่มีเรื่องน่าตื่นเต้น
❌ ท่องสคริปต์หรือพูดเนื้อหาที่มีบนเรซูเม่
❌ พูดวกไปวนมา ไม่มีจุดพีค ไม่มี Main Idea

เทคนิคการเล่าเรื่องให้คนฟังสนใจง่ายๆ นั้นเพียงแค่คุณพยายามพูดในสิ่งที่คนฟังสามารถ คิดตาม หรือ มีอารมณ์ร่วมได้ ดังนั้นเรื่องของคุณจึงต้องดึงความสนใจด้วยปัญหา ก่อนจะดึงพวกเขาให้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของคุณ เช่น แชร์เรื่องที่ไม่มีบนเรซูเม่ เคสหนักๆ ที่คุณเจอตอนทำงาน คุณรู้สึกอย่างไร ความท้าทายของปัญหานั้นคืออะไร และคุณแก้ปัญหานั้นได้อย่างไร ก่อนจะปิดท้ายด้วยการโยงมายังตำแหน่งงานที่คุณสมัคร เหมือนการขายของที่มีการไทอินสินค้าแบบเนียนๆ

🔗 อ่านเพิ่ม แนะนําตัวสัมภาษณ์งานให้ประทับใจ HR เล่าครบจบใน 3 นาที!

3. ความตื่นเต้นไม่ใช่เรื่องผิด

เชื่อหรือไม่ ยังมีคนที่รีบไปที่สัมภาษณ์เพื่อเข้าห้องน้ำและใช้เครื่องเป่ามือลมร้อนเพื่อให้มือตัวเองอุ่นเข้าไว้ เนื่องจากคิดว่ามือที่เย็นจะทำให้ผู้สัมภาษณ์รับรู้ได้ถึงความตื่นตระหนกตอนจับมือกันครั้งแรก ซึ่งแท้จริงแล้วนั้น อาการตื่นเต้นไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ยิ่งถ้าคุณอยากได้งานในตำแหน่งนั้นและมีความตั้งใจมากๆ ความตื่นเต้นในวันสัมภาษณ์จะยิ่งเพิ่มทวีคูณ คุณตื่นเต้นได้นะ แต่คุณไม่ควรอนุญาติให้มันเข้ามามีบทบาทในการสัมภาษณ์มากเกินไป จนมีผลกระทบกับการแสดงออกของคุณ

เทคนิคที่นิยมใช้กัน ที่ไม่เพียงแต่จะช่วยเรียกความมั่นใจกลับมา แต่ยังช่วยกลบเกลื่อนความตื่นเต้นไม่ให้ผู้สัมภาษณ์จับได้ คือ การสื่อสารผ่านทางสายตา (Eye Contact) ที่บอกอะไรได้มากกว่าสิ่งที่คุณพูดเสียอีก ถ้าคู่สนทนาพยายามหลบสายตา เวลาตอบคำถามก็มองไปทางอื่นอยู่บ่อยครั้ง ผู้สัมภาษณ์สามารถสัมผัสได้ทันทีถึงความไม่มั่นใจของคุณ อาจตีความได้อีกว่าคุณกำลังให้คำตอบที่ผิดอยู่ ไม่จริงใจ หรือเฟคคำตอบ ในขณะเดียวกัน การมองเข้าไปนัยน์ตาของพวกเขาตรงๆ เวลาพูดจะสร้างอิมแพคและคอนเนคชั่นได้อย่างลึกซึ้งและชัดเจนที่สุด ดังนั้น คุณจึงไม่ควรหลบสายตาเวลาพูด ตอบคำถามด้วยความมั่นใจและมองหน้าพวกเขาตลอดเวลาเพื่อดึงความสนใจผู้สัมภาษณ์มาที่คำตอบของคุณ แทนการสังเกตุมือของคุณที่กำลังสั่นระริกและส่วนอื่นที่กำลังแสดงความตื่นเต้นออกมา

4. สัมภาษณ์ไม่ได้เน้นแค่การพูด แต่ ‘ฟัง’ ด้วย

แม้คุณจะเตรียมตัวมาเป็นอย่างดี รู้สึกร้อนวิชาอยากตอบคำถามเหล่านั้นจนใจจะขาด แต่การตัดบทสทนาด้วยการรีบชิงตอบคำถาม โดยเฉพาะเมื่อผู้สัมภาษณ์กำลังถามคำถามอยู่นั้นยังไม่ทันจบด้วยซ้ำ อาจทำให้คุณพลาดอะไรบางอย่างไป เช่น เรื่องเล็กๆ ที่ผู้สัมภาษณ์ใช้สร้างบรรยากาศ ปูทางเข้าสู่บทสนทนาที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งหากคุณใส่ใจในทุกรายละเอียดและคำพูดทุกคำพูด อาจตีความจากน้ำเสียงและสารนั้น เพื่อจะได้ติดตามความรู้สึกของพวกเขาตลอดการสัมภาษณ์ได้ ไปจนถึงจับสังเกตุว่าพวกเขามีเรื่องกังวลใจ (เกี่ยวกับคำตอบของคุณ) อะไร อันจะนำไปสู่โอกาสในการปิดช่องโหว่ของการสัมภาษณ์ครั้งนี้ก่อนจะสายเกินไป ดังนั้น ควรรอให้พวกเขาพูดคำถามให้จบและเคลียร์ก่อน นอกจากนี้ การตอบสวนกลับทันทีอาจทำให้ผู้สัมภาษณ์รู้สึกว่า คุณไม่มั่นใจ ดูลนลานและเป็นคนที่ไม่รอบคอบด้วย

5. คิดไปเลยว่าเราจะได้งาน

ท้ายที่สุดนี้ Mindset ต่อการสัมภาษณ์งานที่สำคัญที่สุด คือ คุณต้องรู้สึกไปเลยว่าคุณจะได้งานนี้อย่างแน่นอน คุณมีดีพอ เก่งพอที่จะเป็นแคนดิเดตที่พวกเขาต้องการ ให้เดินทางไปสัมภาษณ์ด้วยความคิดบวกแบบนี้ในหัวจะช่วยลดความตึงเครียดและความกดดันของตัวเองได้อย่างน่าอัศจรรย์ ทั้งนี้ นี่ไม่ใช่การมองโลกในแง่ดีเกินไปจนคุณชะล่าใจไม่เตรียมตัว แต่เป็นวิธีรับมือกับความคิดด้านลบที่ทรงพลังอย่างยิ่ง

อย่าลืมปรับทัศนคติของคุณที่มีเสียใหม่ มองการสัมภาษณ์แบบเป็นสัจธรรมตามความเป็นจริงที่ว่า คุณอยากทำงานให้บริษัท และบริษัทเองก็อยากได้คุณเข้าไปร่วมงาน (มิเช่นนั้นจะไม่เรียกไปสัมภาษณ์แน่ๆ) ดังนั้นการสัมภาษณ์งานจึงไม่ใช่การแข่งขันที่คุณต้องเร่งทำคะแนน หรือการขอร้องให้พวกเขารับคุณเข้าทำงาน หากแต่เป็นการพูดคุยกันเพื่อสร้างข้อตกลงร่วมกัน หาดีลที่ลงตัวที่สุดทั้งฝั่งของคุณ (เงินเดือนและความก้าวหน้า) และฝั่งของพวกเขา (การส่งงานของลูกจ้าง) ไม่มีความจำเป็นอันใดที่คุณจะต้องเครียดเลย ถ้าความต้องการของคุณทั้งสองไม่แมทช์กัน ก็ยังสามารถไปหาที่อื่นได้ …ไม่ใช่จุดจบของชีวิตสักหน่อย

งานของคุณเป๊ะและปังกว่าเดิม เพียงเท่านี้ คุณก็จะสามารถเป็นตัวของตัวเองและทำได้ดีที่สุดในทุกการสัมภาษณ์งานอย่างแน่นอน งานที่ว่าหายากหรอ…นาทีนี้คุณเอาอยู่

ที่มา : The Standard, The Social

แชร์บทความ :
Jitkarn Sakrueangrit

Jitkarn Sakrueangrit

Graphic & Web Designer, Content Creator,
Copywriter, Marketing Specialist

คุณน่าจะชอบเรื่องเหล่านี้

10 สัญญาณดีๆ ที่บอกว่าคุณจะได้งานนี้ by Find Your Job

10 สัญญาณดีๆ ที่บอกว่าคุณจะได้งานนี้

เพิ่งจะสัมภาษณ์งานเสร็จไปให้พอมีเวลาได้หายใจเหมือนยกภูเขาออกจากอก ก็ต้องมาเครียดอีกว่าเขาจะรับเราเข้าทำงานไหม เช็คเลย! สัญญาณที่บอกว่าคุณจะได้งานแน่ๆ

อ่านเลย »
ทำไม HR ไม่ยอมแจ้งผลการสัมภาษณ์ by Find Your Job

ทำไม HR ไม่ยอมแจ้งผลการสัมภาษณ์

‘เดี๋ยวติดต่อกลับ’ ตกลงพี่จะรับหรือไม่รับกันแน่? HR ที่บอกว่าหลังจากสัมภาษณ์จะโทรมาแจ้งผล แต่รอแล้วรอเล่า ก็ไม่มีวี่แววว่าจะโทรกลับมาสักที

อ่านเลย »

คุณรับทราบและยินยอมว่า การใช้งานเว็บไซต์นี้มีการเก็บข้อมูลคุ๊กกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ในการใช้บริการ อ่านข้อมูลเพิ่มเติม