โดนรั้งด้วย Counter Offer ควรรับหรือไม่
Counter Offer คืออะไร?
ข้อเสนอที่บริษัทปรับเพิ่มจากแพคเกจเงินเดือนและสวัสดิการปัจจุบันให้มีความน่าสนใจ มากพอที่จะรั้งพนักงานหนึ่งคนเอาไว้ไม่ให้ลาออก เพราะการหาพนักงานใหม่มาแทนที่มีค่าราคาที่ต้องจ่าย จ่ายด้วยเวลาในการสัมภาษณ์ จ่ายด้วยเงินที่แพงขึ้นหากต้องการพนักงานที่มีความสามารถเท่าๆ กัน และจ่ายด้วยความอดทนในการสอนงานใหม่โดยเริ่มต้นจากศูนย์ บริษัทเลือกตัดปัญหาการลาออกด้วยการเสนอ Counter Offer พวกเขาคิดว่าเงินคือปัจจัยหลักที่ช่วยสร้างความพึงพอใจของพนักงานและเป็นสิ่งเดียวที่พวกเขาจะเปลี่ยนได้เร็วที่สุดและง่ายที่สุด
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าคนส่วนใหญ่ที่ได้รับ Counter Offer กว่า 80% มีเกณฑ์จะลาออกในช่วงหกเดือนแรกและอีก 90% จะลาออกในช่วงหนึ่งปี หมายความว่าข้อเสนออาจซื้อใจคุณได้แค่ชั่วครู่เท่านั้น อย่าตัดสินใจรีบตกลงรับ Counter Offer ถ้ายังไม่ได้พิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ เหล่านี้
เลือกอ่านเฉพาะหัวข้อ
ปัญหาไม่ได้ถูกแก้
Counter Offer ส่วนใหญ่เป็นการใช้เงินแก้ไขปัญหาซึ่งเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ คุณทำใจได้ไหมกับการเผชิญหน้าปัญหาเดิมๆ อันเป็นเหตุผลเดียวกันกับที่คุณตัดสินใจลาออก ข้อเสนอที่บริษัทมีให้ไม่ได้เป็นตัวการันตีความพึงพอใจในงานของคุณถ้าปัญหาที่แท้จริงยังคงอยู่ตรงนั้น…เหมือนเดิม การอนุญาติให้ตัวเองไปเจออะไรที่ส่งผลต่อความเครียดซ้ำๆ จะพาคุณไปถึงจุด Burnout หมดไฟในการทำงาน จนพาลคิดว่า เงินอาจไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต ซื้อความสุขไม่ได้ แถมยังต้องแลกมากับการสุขภาพจิต เสียสละความสงบทางใจ มันช่างไม่คุ้มค่าเอาเสียเลย
อย่าให้ความคิดตื้นเขินเรื่องเงินซื้อความสุขชั่วคราว แต่จงมองภาพกว้างๆ เป้าหมายชีวิตในระยะยาวว่าข้อเสนอนั้นสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรในชีวิตการทำงานคุณได้บ้างนอกจากเรื่องเงิน
คงอีกนานกว่าเงินเดือนจะขึ้นอีก
หมัดเด็ดเฮือกสุดท้ายที่บริษัทจะรั้งคุณเอาไว้ได้ คือ จำนวนเงินสูงสุดที่พวกเขาจะสามารถมอบให้คุณได้ ณ เวลานั้น นั่นอาจเป็นนโยบายการปรับเงินเดือนพนักงานของคุณในอนาคตหลายปีรวมกัน หรือใช้เงินโบนัส (โดยเฉพาะ Performance Bonus ที่แต่ละคนจะได้ไม่เท่ากัน) มาจ่ายให้ล่วงหน้าในรูปแบบของเงินเดือนที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น อย่าหวังน้ำบ่อหน้า คิดว่าพวกเขาจะรั้งคุณไว้ตลอด ไม่อยากเสียคุณไปจนต้องเพิ่มเงินให้อีกเรื่อยๆ อธิษฐานเอาเด้อ…
บริษัทไม่ได้ให้ความสำคัญกับคุณตั้งแต่แรก
ไม่ต้องคิดอะไรซับซ้อนเลย ถ้าเขาเห็นค่าของคุณ…คงขึ้นเงินเดือนให้เสียตั้งแต่ทีแรก ไม่รอให้คุณ ‘ทน’ จนถึงจุดแตกหักแน่ๆ ในบริษัทที่ให้ความสำคัญกับพนักงานจะเปิดโอกาสให้พนักงาน feedback กลับไปยังนายจ้าง ประเมินผลความพึงพอใจซึ่ง HR สามารถใช้ข้อมูลส่วนนี้ในการปรับกลยุทธ์ Employee Experience ไม่ให้พนักงานเก่งๆ ลาออก เช่น ช่วงประเมินผลพนักงาน (Performance Review), กล่องรับความคิดเห็น, หรือองค์กรที่เป็น Flat Organization ที่พนักงานสามารถคุยกับ CEO ได้โดยตรง
อีกกรณีหนึ่ง ค่าเฉลี่ยเงินเดือนของบริษัทที่ทำอยู่ตอนนี้อาจต่ำกว่าเรทเงินเดือนในท้องตลาด อาจถึงเวลาแล้วที่คุณต้องศึกษาเปรียบเทียบเงินเดือนว่า ในตำแหน่งเดียวกันบริษัทอื่นมีแนวโน้มจะจ่ายให้พนักงานมากกว่าไหม เพราะถ้าคิดถูก การปรับขึ้นเงินเดือนอาจไม่ตอบโจทย์ในระยะยาว ที่ทำงานใหม่อาจไม่เสนอเงินเพิ่มแข่งกับที่ทำงานปัจจุบันด้วยเกรงจะเสียโครงสร้างเงินเดือน แต่หากมองในภาพรวมแล้ว มีเส้นทาง Career Path ที่ชัดเจนไม่สวนทางกับรายได้
ความซื่อสัตย์ต่อองค์กรของคุณหายไป
ภาพลักษณ์ทำงานถวายหัวเพื่อส่วนรวมของคุณจะอันตรธานหายไปทันทีที่คุณแจ้งลาออก ทุกการกระทำที่ผ่านมาจะถูกแทนที่ด้วยความสงสัยอย่างช่วยไม่ได้ เจ้านายเริ่มไม่แน่ใจในความไม่แน่นอนของคุณ เพราะมีครั้งแรก ย่อมต้องมีครั้งต่อไป พวกเขาอาจปฏิบัติกับคุณเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ลึกๆ แล้วยังคง ‘เผื่อใจ’ หากวันนึงได้รับข่าวคราวว่าคุณจะลาออกอีกครั้ง ดังนั้นถ้าบริษัทมีนโยบายในการปรับตำแหน่งให้กับพนักงานเพื่อความก้าวหน้าในสายงาน มันคงดีกว่าที่พวกเขาจะโปรโมทคนอื่นในองค์กรที่ไม่เคยคิด ‘ทรยศ’ และมีแนวโน้มที่จะอยู่คู่กับบริษัทไปนานๆ แม้ในสภาวะที่องค์กรต้องพบเจอกับปัญหาก็ตาม
Counter Offer อาจเป็นแผนชั่วคราว
หากมองโลกในแง่ร้ายที่สุด บางทีการเสนอ Counter Offer อาจเป็นกลลวงยื้อเวลาให้ HR ตามหาแคนดิเดตคนอื่นในเรทราคาเดียวกันมาแทนที่คุณโดยการสร้างสถานการณ์และบีบให้ออกทีหลัง มันอาจจะฟังดูแย่ แต่ถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริง…ถึงตอนนั้น ก็อาจสายไปเสียแล้ว คุณได้ปฏิเสธโอกาสดีๆ ที่ไม่ได้มีมาบ่อยไปแล้ว ถูกลอยแพ จะกลับตัวก็ไม่ได้ ให้เดินต่อไปก็ไปไม่ถึง คุณควรสังเกตสัญญาณที่อาจเป็นคำเตือนให้รีบชิ่ง เช่น
- ให้คำมั่นสัญญาว่าจะขึ้นเงินเดือน/ ปรับตำแหน่งให้ แต่ไม่สามารถออกหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษร มีเพียงลมปากที่ให้น้ำหนักไม่พอที่จะต่อสู้ในชั้นศาลหากมีการฟ้องร้อง
- แผนการเลื่อนลอยไม่ระบุเวลาที่ชัดเจนว่า ‘เมื่อไหร่’ หรือเป็นแผนระยะยาวที่ต้องรอเป็นปีๆ เพื่อโอกาสในการพิจารณาโดยยังไม่รู้ว่าจะได้แน่นอน 100%
ทุกการตัดสินใจล้วนมีความเสี่ยง เป็น ต้นทุนค่าเสียโอกาส ที่คุณไม่ควรมองข้าม คนส่วนใหญ่มักกลัวการเปลี่ยนแปลงจึงเลือกติดกับดัก Comfort Zone ณ ที่ทำงานปัจจุบันต่อไป เพราะพวกเขารู้อยู่แล้วว่าปัญหาคืออะไร ต้องรับมืออย่างไร เป็นการเผชิญหน้ากับสิ่งที่คุ้นเคยที่ (คิดว่า) รับได้ ในขณะที่การลาออกไปทำงานที่บริษัทเป็นการเดินทางสู่ความไม่รู้ที่น่ากลัว ไม่รู้ว่าต้องเจอกับปัญหาอะไร จะแย่กว่าเก่าไหม? แต่เชื่อเถอะว่ามนุษย์คือสิ่งมีชีวิตที่ปรับตัวเก่ง เอาตัวรอดได้ในทุกสถานการณ์อยู่แล้ว อย่าคาดหวังผลที่แตกต่าง ถ้าหากวันนี้คุณยังเลือกเส้นทางชีวิตเส้นเดิมๆ …In to the unknown…
ที่มา : Forbes, Apollotechnical
Jitkarn Sakrueangrit
Graphic & Web Designer, Content Creator,
Copywriter, Marketing Specialist
คุณน่าจะชอบเรื่องเหล่านี้
โดนรั้งด้วย Counter Offer ควรรับหรือไม่
กำลังทำเรื่องลาออกจากที่ทำงานเพื่อไปเริ่มต้นชีวิตใหม่กับที่ทำงานใหม่ โดนรั้งด้วย Counter Offer ขึ้นเงินเดือนให้ชุดใหญ่ไฟกระพริบ รับดีมั้ย
เทคนิคการติดตามผลสัมภาษณ์
ผ่านไปหลายวันหลังสัมภาษณ์ แต่ HR ดันเงียบหายไม่ติดต่อกลับมาแจ้งผลสัมภาษณ์สักที ปัญหาโลกแตกของคนหางาน ควรโทรไปตามดีไหม?