เริ่มต้นหางานอย่างไรในยุคงานหายาก
ด้วยสภาพการแข่งขันที่สูงมาก ทำให้การหางานยากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร ตลาดแรงงานเต็มไปด้วยเด็กจบใหม่มีไฟที่พร้อมทำงานและคนว่างงานที่มีทักษะความสามารถเกือบครึ่งล้าน หลายคนจึงเกิดคำถามว่า แล้วจะต้องเริ่มต้นหางานยังไงให้ได้งานในยุคนี้
คนรู้จักคือขุมทรัพย์
เรามีแนวโน้มจะได้งานจากคนรู้จักมากกว่าการไปสมัครเอง เนื่องจากว่า ‘คนใน’ ย่อมรู้ทิศทางความเป็นไปได้กว่าคนนอก อีกทั้งยังสามารถเป็นบุคคลอ้างอิงให้กับคนที่มีอำนาจในการตัดสินใจว่าจ้างด้วย โดยบางตำแหน่งงานอาจจะยังไม่ประกาศผ่านทางเว็บไซต์แต่พวกเขามักจะรู้ก่อนเสมอ ดังนั้น การมีคนรู้จักเยอะย่อมเป็นข้อได้เปรียบ
✅ เริ่มต้นด้วยการถามไถ่เพื่อนในเฟสบุ๊คหรือคนรู้จักใกล้ตัว
✅ สร้างโปรไฟล์บน LinkedIn ซึ่งเป็นแหล่งหางานที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยคุณอาจแอดเพื่อนที่ทำหน้าที่ในฝ่ายบุคคล (HR) พนักงานสรรหาบุคลากร (Talent Acquisition หรือ Recruiter) วันละ 100 คนเพื่อขยายคอนเนคชั่น (มีลิมิตการเพิ่มเพื่อนต่อวัน) ถ้ามีเพื่อนมากพอ การโพสต์โปรไฟล์ตัวเองเพื่อหางานเพียง 1 ครั้งจะยิ่งทำให้โพสต์ถูกเห็นด้วยคนจำนานมาก
เช็คตำแหน่งงานว่างจากหลายๆ เว็บไซต์
เมื่อเตรียมเรซูเม่พร้อมสำหรับการสมัครงานแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการตะลุยหางานอย่างจริงจังจากหลายๆ แหล่ง ดังต่อไปนี้
✅ สมัครผ่านเว็บไซต์ของบริษัทนั้นๆ โดยตรง
✅ สมัครผ่านเว็บไซต์จัดหางานอื่นๆ เช่น กระทรวงจัดหางาน, JobsDB, JobBkk, JobThai, JobTopGun
✅ สมัครผ่านบริษัทจัดหางานชื่อดังหลายๆ เจ้า อย่าง Adecco, Micharl Page, Robert Walter, PRTR, Reeracoen ฯลฯ เพราะพวกเขาจะอำนวยความสะดวกในการนำเสนอโปรไฟล์ของคุณให้กับบริษัทหลายแห่งที่กำลังเปิดรับ มีคนช่วยหางานให้ตลอดและที่สำคัญฟรี!
หางานจากทักษะความสามารถที่มี ไม่ใช่ชื่อตำแหน่งงาน
นี่เป็นเวลาที่ดีในการประเมินความสามารถที่เรามีในแต่ละด้านเพื่อสรุปออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรม ซึ่งเราจะใช้คีย์เวิร์ดเหล่านั้นไปค้นหาในเว็บไซต์ต่างๆ แทนที่จะค้นหาจากชื่อตำแหน่งงานไปตรงๆ เพราะงานในปัจจุบันมีชื่อเรียกแปลกใหม่ หรือเป็นตำแหน่งที่เกิดขึ้นใหม่ และบางตำแหน่งมีพื้นที่ทับซ้อนกันอยู่ค่อนข้างมาก ทักษะที่เรามีในงาน A อาจจะสามารถใช้ไปต่อยอดได้ในงาน B ดังนั้น…
✅ ไม่ควรจำกัดคำค้นหาเพียงแค่ชื่อตำแหน่ง แต่เป็นทักษะต่างๆ ที่เรามี (Skills)
✅ งานที่เพิ่งโพสต์ใหม่มีโอกาสถูกตอบรับสูงมากกว่างานที่โพสต์มานานแล้ว
คุณภาพสำคัญกว่าปริมาณ
เข้าใจว่าการสมัครงานแบบหว่านแหดูมีโอกาสที่ ‘ปลา’ จะติดแหขึ้นมามากกว่า แต่ในทางกลับกันนั้นก็เป็นการทำลายภาพลักษณ์ของคุณเองแบบเงียบๆ ยิ่งคุณกด ‘Apply Now’ หลายตำแหน่งที่เปิดในบริษัทเดียวนั้น ฝ่ายบุคคลจะเห็นถึงความสิ้นหวังในการหางานของคุณและคัดใบสมัครทิ้งไปในที่สุด
✅ เลือกสมัครงานที่ตรงกับโปรไฟล์ของตัวเองจริงๆ แทนการหว่านเรซูเม่ไปทั่ว
✅ ปรับแต่งเรซูเม่ให้เหมาะสมกับตำแหน่งงานที่จะสมัคร ด้วยการเน้นคีย์เวิร์ดสำคัญที่ปรากฏในรายละเอียดงาน (Job Description) จะเพิ่มโอกาสให้ฝ่ายบุคคลอ่านโปรไฟล์ของเรา (ห้ามโกหกนะ! แค่ทำให้สิ่งที่เรามีอยู่แล้วเด่นขึ้นมาก็เท่านั้น)
อย่าปล่อยให้ตัวเองว่าง
ด้วยกลไกการทำงานของมนุษย์ที่มักหาทางเอาตัวรอดจะทำให้คุณคิดมากและเป็นกังวลใจ หากไม่ได้ทำอะไรเป็นเวลานานๆ จะรู้สึกว่าตัวเองไร้คุณค่า ลองหางานพาร์ทไทม์ทำ หรือเรียนเสริมในทักษะที่ตัวเองไม่เก่งแต่จำเป็นต้องใช้ในสายงาน เพราะนอกจากจะเป็นการเพิ่มสกิลให้ตัวเองแล้ว ยังเพิ่มมูลค่าให้กับเรซูเม่อีกด้วย
✅ ค่าเรียนแพงจังไม่มีตังค์จ่าย ลองค้นหาคอร์สออนไลน์อย่าง Coursera หรือ Udemy ที่ลดราคาเหลือคอร์สละ 300 – 400 เท่านั้น
✅ งานพาร์ทไทม์ที่ดีจะยังคงให้ ‘เวลาส่วนตัว’ กับคุณได้มากพอที่จะลาไปสัมภาษณ์งาน
มองเส้นทางอนาคตเสียใหม่
ถ้ารอนานแล้วก็ไม่ถูกเรียกตัวไปสัมภาษณ์สักที เป็นไปได้ว่างานในตำแหน่งนั้นๆ มีการแข่งขันที่สูงมาก บางทีอาจถึงเวลาแล้วที่เราต้องพิจารณาการเปลี่ยนสายงานใหม่ที่ยังขาดแคลนหรือเป็นที่ต้องการในอนาคตอันใกล้ หลังจากโลกถูก Disrupt ด้วยเทคโนโลยี อย่างสายงานพวกไอที กราฟิกหรือธุรกิจด้าน E-commerce และการดูแลสุขภาพ
✅ พิจารณาการทำธุรกิจออนไลน์เป็นของตัวเอง
✅ เปลี่ยนสายงานไปทำงานที่กำลังเป็นที่ต้องการ
ต้องยอมรับว่าตลาดแรงงานมีความเข้มข้นสูงมาก การจะได้งานจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้อง Active และพยายามขึ้นเป็นสองเท่า เพราะโอกาสมักจะมาถึงสำหรับคนที่พร้อมและมองหามัน อย่าเอาแต่นอนรอให้มันมาเคาะประตูหน้าบ้านแล้วโทษโชคว่าทำไมไม่เข้าข้างคุณ
Jitkarn Sakrueangrit
Graphic & Web Designer, Content Creator,
Copywriter, Marketing Specialist
คุณน่าจะชอบเรื่องเหล่านี้
ตอบยังไงดี “คุณมีคำถาม อยากจะถามไหม?”
เตรียมตัวตอบคำถามมาอย่างดีถึงกับไปไม่เป็นเมื่อผู้สัมภาษณ์ถามว่า ‘มีอะไรจะถามไหม?’ ในฐานะที่เป็นตัวเต็งจะตกม้าตายด้วยคำถามเบสิกแบบนี้ไม่ได้
หา Passion ในการทำงานสู่การค้นพบ ‘งานที่ใช่’
กำลังมองหาสิ่งที่ใช่ งานในฝันที่คุณจะรู้สึกชอบและรักจนอยากจะตื่นมาทำงานทุกวันด้วยพลังใจที่เต็มเปี่ยมอยู่ใช่ไหม นี่คือเคล็ดลับที่คุณต้องอ่าน!