Director-filmmaker-film-videograph

เทคนิคการเล่าเรื่อง (Storytelling) กับการสัมภาษณ์งาน

‘ใครเล่าเรื่องเก่ง คนนั้นชนะ’ จะเป็นอย่างไรหากคุณรู้เทคนิคการเล่าเรื่องเพิ่มความน่าสนใจ ดึงผู้สัมภาษณ์ให้อินไปกับสิ่งที่คุณกำลังนำเสนอได้อยู่หมัด

Storytelling หรือ การเล่าเรื่องให้น่าฟัง ถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย ไม่จำกัดเฉพาะการพูดเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นในเว็บขายของ การเล่าไทม์ไลน์ในหนังที่จะดึงความสนใจผู้ชมได้ตั้งแต่ต้นจนจบ หนังสือบางเล่มเนื้อหากลวงๆ ไม่มีอะไรแต่เมื่อถูกนำเสนอในรูปแบบที่ต่างออกไปก็สามารถทำให้มันดู ‘น่าสนใจ’ ขึ้นมาได้ ในขณะเดียวกัน หากพูดถึงจุดที่ยากที่สุดของการสัมภาษณ์งาน มันคือการทำให้ผู้สัมภาษณ์คล้อยตามไปกับคำพูดของเรา หลายคนไม่รู้ว่าจะต้องพูดเรื่องวิชาการที่ดูน่าเบื่ออย่างไรให้ดูสนุก จึงลงเอยด้วยการเห็นความพยายามของผู้สัมภาษณ์ที่จะไม่อ้าปากหาว แสดงอาการอย่างแจ่มแจ้งว่า ‘ง่วง’ ในช่วงที่คุณกำลังนำเสนอ

ข่าวดีก็คือ เราสามารถใช้เทคนิคการเล่าเรื่องมาช่วยในการสัมภาษณ์งานได้ด้วย! โดยวิธีการนี้เป็นการเล่นกับกลไกการทำงานของสมอง ให้ผู้สัมภาษณ์สามารถตีความ และอินไปกับเนื้อหาที่พวกเขาสามารถเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ของตัวเองกับแคนดิเดตได้แม้จะไม่ได้เป็นผู้ประสบโดยตรงก็ตาม

เลือกอ่านเฉพาะหัวข้อ

STEP 1 : จั่วหัวเรื่องด้วยความเจ็บปวด (Pain Points)

จริงอยู่ที่ว่า เรื่องตลกจะเป็นเรื่องแรกๆ ที่คนนึกถึง หากต้องการดึงความสนใจจากผู้ฟัง แต่เราไม่สามารถเปลี่ยนบรรยากาศที่ตึงเครียดให้เป็นเสียงหัวเราะได้ทุกครั้ง โชคดีที่ยังมีอีกวิธีนึงที่นักขายชอบใช้กัน นั่นคือการพูดถึงความเจ็บปวดหรือ Pain Points ออกไปตรงๆ นอกจากจะเป็นการบอกว่าเรื่องที่จะพูดนี้เกี่ยวข้องกับอะไรแล้ว ยังเป็นการดึงความสนใจที่ผู้สัมภาษณ์สามารถเชื่อมโยงได้ เพราะชีวิตทุกคนไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เรามักเสพข่าวสารหรือรับฟังเวลาที่เพื่อนมีปัญหาอยู่เสมอ ด้วยความสนใจว่าเรื่องจะดำเนินไปอย่างไร ถ้าเจอกับตัวเองบ้างจะรู้สึกอย่างไร

 ตัวอย่างเหตุการณ์ :  

“ผมเป็นพนักงานต้อนรับโรงแรม ผมคิดว่าเคสที่หนักสุดในชีวิต คือ ตอนที่มีแขกคนหนึ่งเข้ามาพักที่โรงแรม แล้วพาหญิงขายบริการเข้ามาที่ห้องพักด้วยแล้วเกิดมีปากเสียงกันรุนแรงตอนตีสามครับ…”

STEP 2 : เริ่มต้นเล่าเหตุการณ์

หลังจากจั่วหัวเรื่องไปแล้ว ก็ให้เริ่มต้นเล่าเหตุการณ์ หรือเติมรายละเอียด บริบทต่างๆ เป็นการปูเรื่องและเตรียมความพร้อมผู้ฟังก่อนจะไปถึงจุดไคลแมกซ์ของเรื่อง โดยต้องสั้น กระชับ ไม่เวิ่นเว้อและไม่ลงรายละเอียดลึกเกินไป แค่ให้ข้อมูลที่เพียงพอในการบิ๊วอารมณ์ผู้ฟัง จุดประเด็นเรื่องราวด้วยประโยคที่น่าสนใจ เหมือนเป็นการหักมุมเรื่องที่ดำเนินมาอย่างนิ่งเฉยแต่กลับมีเรื่องแฝงเหมือนคลื่นใต้น้ำที่พร้อมจะแสดงตัว

 ตัวอย่างประโยค :  

  • “ทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จนกระทั่ง…
  • “เรื่องราวมันดูเลวร้ายมากจริงๆ ครับ แต่แล้วก็เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้มันแย่ลงไปอีก นั่นก็คือ…
  • “ทีมงานก็ทำงานอย่างเต็มกำลัง เตรียมงานกันหลายสัปดาห์ แต่ก็เกิดเรื่องขึ้นจนได้…

STEP 3 : ฟาดด้วยความขัดแย้ง

จุดพีคเป็นจุดสำคัญของเรื่องก็จริง แต่เราไม่จำเป็นต้องเซอร์ไพรส์ผู้สัมภาษณ์ตลอดเวลา หรือบิ๊วเหตุการณ์เกินเหตุด้วยการเน้นย้ำถึงปัญหาซ้ำไปมา เนื่องจากแท้จริงแล้วสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการได้รับพิจารณาว่าจ้างอยู่ที่การแก้ปัญหามากกว่า จงพูดปัญหาให้เคลียร์ชัดเจนจบในรอบเดียว นอกจากนี้ คุณต้องไม่ลืมว่าความท้าทายที่หยิบยกขึ้นมานั้น ควรมีความสอดคล้องกับคำถามที่ผู้สัมภาษณ์ยิงเอาไว้ ด้วยการใช้คำซ้ำเพื่อย้ำประเด็น ว่า คำตอบของคำถามนั้นที่คุณกำลังจะนำเสนอคืออะไร เช่น หากถูกถามว่า “คุณเคยรับมือกับความผิดพลาดมาก่อนมั้ย” คุณอาจนำเสนอความขัดแย้งของเรื่อง ด้วยการกล่าวว่า… 

“… ผมแสตนด์บายดูสถานการณ์ที่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย จนกระทั่งถึงวันที่ผมทำงานพลาดและต้องรับมือกับความผิดพลาดนี้ด้วยตัวเองเป็นครั้งแรก”

STEP 4 : นำเสนอการแก้ไขปัญหา

ส่วนนี้คือส่วนสำคัญที่สุด เป็นโอกาสที่คุณจะได้แสดงทักษะความสามารถและคุณสมบัติที่คุณมี บรรยายเป็นฉากๆ ชัดเจนในรายละเอียดไปเลยถึงสิ่งที่คุณทำ คุณมีการรับมือกับปัญหาที่เข้ามาด้วยวิธีการใด เป็นลำดับขั้นตอนการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน เพราะกระบวนการเหล่านั้นสามารถสะท้อนตรรกะความคิดของคุณออกมาได้อย่างแยบยล ผู้สัมภาษณ์ต้องการเรียนรู้ถึง การมีส่วนร่วมของคุณ ดังนั้น พยายามหลีกเลี่ยงสรรพนามอย่าง ‘พวกเรา’ ไปได้เลย แม้เรื่องนั้นจะมีผู้เกี่ยวข้องหลายคนก็ตาม เพราะผู้สัมภาษณ์อาจให้เครดิตกับคนอื่นมากกว่าในขณะที่มองคุณเป็นเพียงตัวประกอบเท่านั้น

 ตัวอย่างเหตุการณ์ :  

“… (ออแกไนเซฮร์) พลอยรีบตั้งสติ ติดต่อผู้จัดสถานที่ให้เอาโต๊ะสำรองออกมาใช้ก่อนเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แทนตัวเดิมที่ชำรุดเพราะแขกใกล้จะมาลงทะเบียนกันแล้ว จากนั้นจึงโทรให้ Vendor ที่พลอยติดต่อเอาไว้ ดำเนินการจัดส่งโต๊ะตัวใหม่มาติดตั้งแทนเพราะภาพหน้างานต้องออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด จะใช้โต๊ะสำรองเก่าๆ ขาดๆ ไม่ได้ ยังไงปัญหานี้ก็ต้องได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงทีและถาวร”

STEP 5 : ปิดจบด้วยผลลัพธ์

หนังทุกเรื่องมีตอนจบ เรื่องเล่าของคุณก็เช่นกัน สรุปเรื่องราวที่เกิดขึ้นในตอนจบที่สวยงามว่าวิธีการแก้ปัญหาที่คุณได้ทำลงไปนั้น มันเวิร์ครึเปล่า คุณเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความแตกต่างของตอนจบนี้ได้อย่างไร แต่ถ้าเรื่องเล่านี้ไม่ได้จบแบบแฮปปี้เอ็นดึ้ง คุณยังคงต้องแชร์มันอยู่ดี แต่ให้โฟกัสไปที่คุณได้เรียนรู้อะไรแทน – It’s either you win or learn : คุณชนะหรือคุณได้เรียนรู้ – โดยไม่ลืมที่จะโยงความสามารถที่คุณใช้ในเรื่องนี้กับตำแหน่งงานที่คุณสมัคร

 ตัวอย่างเหตุการณ์ :  

“โชคไม่ค่อยเข้าข้างครับ ท้ายที่สุดแล้วงานก็ไม่ทันส่งลูกค้าตอนเดดไลน์ ผมเรียนรู้จากความผิดพลาดครั้งนี้ว่าต้องทำให้งานชิ้นต่อไปให้เรียบร้อยขึ้น เป็นแบบแผนมากขึ้น ทุกครั้งที่ผมจะทำอะไรจึงให้ความสำคัญกับการวางแผนงานที่ครอบคลุมทุกช่องโหว่ มีแผนสำรองเตรียมการไว้ตลอดเพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งหลังจากนั้นกลายเป็นว่าความสามารถในการจัดการของผมเติบโตแบบก้าวกระโดด การันตีด้วยรางวัลพนักงานดีเด่น 2 ปีซ้อน และผมคิดว่าผมพร้อมแล้วครับกับตำแหน่ง Project Manager ที่ผมสมัครในวันนี้”

เมื่อคุณเรียนรู้แพทเทิร์นการนำเสนอเรื่องราวให้น่าสนใจแล้ว ลองผูกเรื่องราวต่างๆ ของคุณกับการนำเสนอในรูปแบบใหม่นี้ เรียงลำดับจาก ปัญหาคืออะไร จะเริ่มเล่าเรื่องอย่างไรเพื่อบิ้วอารมณ์ไปสู่จุดพีคของปัญหา ต่อด้วยวิธีการแก้ไขปัญหาที่ชาญฉลาด ก่อนสรุปจบด้วยผลลัพธ์ของเรื่องที่คุณเล่า ขอให้คุณโชคดี

ที่มา : The Muse

แชร์บทความ :
Jitkarn Sakrueangrit

Jitkarn Sakrueangrit

Graphic & Web Designer, Content Creator,
Copywriter, Marketing Specialist

คุณน่าจะชอบเรื่องเหล่านี้

resigning-submitting-letter

เตรียมตัวถูกสัมภาษณ์ Exit Interview ก่อนลาออก

สัมภาษณ์งานที่ใหม่จบนึกว่าจะรอด ยังต้องเตรียมสัมภาษณ์ตอนลาออกกับฝ่ายบุคคลอีกรอบ ดูเหมือนจะง่ายแต่สร้างความลำบากใจให้มนุษย์เงินเดือนอย่างเราไม่น้อย

อ่านเลย »
โดนรั้งด้วย Counter Offer ควรรับหรือไม่ by Find Your Job

โดนรั้งด้วย Counter Offer ควรรับหรือไม่

กำลังทำเรื่องลาออกจากที่ทำงานเพื่อไปเริ่มต้นชีวิตใหม่กับที่ทำงานใหม่ โดนรั้งด้วย Counter Offer ขึ้นเงินเดือนให้ชุดใหญ่ไฟกระพริบ รับดีมั้ย

อ่านเลย »

คุณรับทราบและยินยอมว่า การใช้งานเว็บไซต์นี้มีการเก็บข้อมูลคุ๊กกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ในการใช้บริการ อ่านข้อมูลเพิ่มเติม