ตอบคำถาม “ทำไมถึงอยากมาทำงานที่นี่” ให้น่าประทับใจ by Find Your Job

ตอบคำถาม “ทำไมถึงอยากมาทำงานที่นี่” ให้น่าประทับใจ

คำถามสัมภาษณ์งานสุดคลาสสิกอย่างการถามเหตุผลว่า ‘ทำไมคุณถึงอยากร่วมงานเรา?’ อาจฟังดูเหมือนตอบง่ายแต่จะตอบยังไงให้โดนใจผู้สัมภาษณ์นั้นยากยิ่ง

หลายคนที่เจอคำถามนี้ในขั้นตอนการสัมภาษณ์ มักจะตอบคำถามแบบกลางๆ ทั่วไป เพื่อความปลอดภัยทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วคุณสามารถ ‘โชว์กึ๋น’ แสดงศักยภาพว่าคุณทำการบ้านมาดีขนาดไหน โดยไม่ต้องรอให้ผู้สัมภาษณ์ยิงคำถามที่ลึกขึ้น เช็คเลย คุณกำลังให้คำตอบผิดๆ ที่ฟังดูสวยแต่ไม่น่าจดจำ อยู่หรือเปล่า

ตอบกลางๆ เกินไป : เป็นบริษัทที่ดีมาก ผมอยากมาทำงานที่นี่
เหตุผลไม่มีน้ำหนักมากพอ : ที่นี่ใกล้บ้าน เดินทางสะดวกมากเลยค่ะ
ไม่มีความตั้งใจ : พอรู้ว่าที่นี่เปิดรับสมัครหลายตำแหน่ง ก็เลยลองมาสมัครดู
ดูหิวเงินเกินไป : ได้ยินมาว่าที่นี่ รายได้และสวัสดิการดีอ่ะค่ะ
ไม่มีสาระ : ก็…ไม่รู้สิคะ หนูหางานอยู่ แล้วมาเจอเว็บนี้ สวยค่ะ โลโก้ก็ดูดี
จริงใจเกินไป : การทำงานที่นี่เป็นเหมือนบันไดไปสู่งานที่ดีกว่า ตำแหน่งที่โตกว่าได้ครับ
ติดตลก/ไม่ถูกกาลเทศะ : เพราะคุณต้องการคนแบบผมไปร่วมงานไง 😂

จริงๆ แล้วคำถามนี้ซ่อนอะไรกันนะ? เมื่อผู้สัมภาษณ์ถามคำถามนี้ สิ่งที่พวกเขาคาดหวังที่จะได้ยินนั้นประกอบไปด้วยสองคำถาม นั่นคือ ‘ทำไมถึงอยากมาทำงานที่บริษัทนี้’ และ ‘ทำไมถึงต้องการงานตำแหน่งนี้’ ดังนั้นการตอบเพียงสั้นๆ ห้วนๆ เพื่อให้จบไปอาจไม่ใช่วิธีการที่ดีเท่าไหร่นัก คุณอาจลองวิธีการตอบคำถามต่อไปนี้ที่จะสรรสร้างคำพูดสวยหรูดูฉลาด เสมือนตอบคำถามบนเวทีประกวดนางงามยังไงยังงั้น

เลือกอ่านเฉพาะหัวข้อ

พาร์ทที่ 1 เหตุผลที่อยากทำงานกับบริษัท

ผู้สัมภาษณ์ต้องการทราบว่า คุณทำการศึกษาหรือรู้จักบริษัทนี้มากน้อยแค่ไหน พวกเขาเชื่อว่าคำถามนี้จะช่วยแยกแคนดิเดตที่มีความกระรือรือร้น สนใจร่วมงานกับบริษัทจริงๆ ออกจากแคนดิเดตที่มาสมัครเพียงเพื่อจะได้ไม่ตกงานเท่านั้น โดยแนวทางการตอบคำถาม คุณสามารถเลือกตอบหัวข้อใดหัวข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

  • ชื่อเสียงโดยทั่วไปของบริษัท : ขึ้นชื่อเรื่องไหน จุดแข็งในตลาด
  • ชื่อเสียงของผู้นำในองค์กร : เป็นที่รู้จักในสาขาไหน มีอิทธิพลอย่างไรในอุตสาหกรรม
  • ความชื่นชอบของคุณต่อผลิตภัณฑ์/บริการ : เป็นผู้บริโภคที่ประทับใจและอยากมาร่วมงาน
  • ความชื่นชอบของคุณต่อองค์กรในด้านอื่น : แคมเปญการตลาด กิจกรรมเพื่อสังคม
  • วัฒนธรรมและค่านิยมขององค์กร 
  • ความสำเร็จของบริษัท
  •  

อย่ามองข้ามความสำคัญของวัฒนธรรมองค์กร เพราะในปัจจุบันบริษัทใหญ่ๆ มักจะให้ความสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการทำงานของพนักงาน พวกเขารู้ดีว่าสภาพแวดล้อมเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยดึงศักยภาพของพนักงานออกมาได้ แถมยังเป็นเรื่องที่สามารถค้นหาได้ในหน้าเว็บไซต์หรือสื่อโซเชียลมีเดีย เนื่องจากเกี่ยวข้องกับภาพลักษณ์บริษัทโดยตรง HR จะทำการโปรโมทคุณภาพชีวิตของพนักงาน ดึงดูด แคนดิเดตจากทั่วทุกสารทิศให้มาร่วมงานด้วยโดยที่พวกเขาไม่ต้องลงแรงออกตามหา

>> อ่านเพิ่ม หารีวิวชื่อเสียงบริษัท

พาร์ทที่ 2 ทำไมถึงสนใจสมัครงานตำแหน่งนี้

ระดับความเข้าใจในตัวงานจะถูกสะท้อนออกมาด้วยคำถามนี้ ผู้สัมภาษณ์คาดหวังว่าคุณมีความเข้าใจในรายละเอียดงานและรู้ระดับความสามารถของตัวเอง จนสามารถอธิบายได้ว่า

  • ทักษะความสามารถที่คุณมีสอดคล้องกับคุณสมบัติของตำแหน่งงานที่ประกาศรับสมัครอย่างไร
  • คุณจะนำศักยภาพของตัวเองช่วยขับเคลื่อนองค์กรได้อย่างไรในฐานะพนักงานคนหนึ่ง
  • บริษัทจะได้อะไรจากคุณ

เนื่องจากการจ้างงาน คือ การลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ ทุกการลงทุนนั้น บริษัทย่อมต้องคาดหวัง ‘ผลกำไร’ หลีกเลี่ยงการให้คำตอบแบบ ‘คุณจะได้อะไรจากบริษัท’ เพียงอย่างเดียวซึ่งดูเหมือนคุณกำลังตักตวงผลประโยชน์ส่วนตัว ในขณะที่การให้บริบทแบบ win-win situation จะให้ความรู้สึกที่ดีกว่า เช่น ‘งานนี้จะทำให้ผมได้เรียนรู้งาน x มากขึ้น สามารถต่อยอดจากสิ่งที่ผมมีเพื่อส่งมอบผลงานที่ดีที่สุดให้กับองค์กรได้ครับ’

รวมสองคำตอบเข้าด้วยกัน

อย่างที่ทราบกันดีกว่า คำถามนี้เป็นคำถามแบบ 2 in 1 ดังนั้นต้องไม่ลืมที่จะรวมสองพาร์ทเข้าด้วยกันโดยให้ดูลื่นไหล ไม่สะดุด และไปในทิศทางเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น

“ดิฉันคิดว่า หากเอ่ยถึงบริษัทที่ให้บริการด้านการจัดส่งอาหารออนไลน์ บริษัท x จะเป็นลำดับต้นๆ ที่คนจะนึกถึงและดิฉันก็เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้บริโภคที่มีความประทับใจในด้านบริการจนเกิดความรู้สึกว่าอยากมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวนี้ ประกอบกับทักษะด้าน Digital Marketing กว่า 8 ปีในบริษัทเอเจนซี่ ที่ดิฉันต้องทำ 1 – 2 – 3 ดิฉันคิดว่าดิฉันสามารถใช้ความรู้นี้เพื่อส่งเสริมทีมการตลาดให้เกิดผล a – b – c ได้ ดังนั้น คำถามจะไม่ใช่ ‘ทำไมถึงสมัคร’ แต่ ‘ทำไมถึงไม่สมัครให้เร็วกว่านี้’ ต่างหากค่ะ 🙂”

การตอบคำถามสัมภาษณ์งานที่ดี คือ การที่คุณจะไม่ปล่อยให้ผู้สัมภาษณ์ยิงคำถามเพียงฝ่ายเดียว หากแต่เป็นการที่คุณสามารถตอบคำถามไม่กี่ข้อ แต่ครอบคลุมทุกเรื่องที่คุณ ‘เตรียมตัวมา’ แคนดิเดตที่เก่ง มักจะค้นหาช่องว่างในคำถามเพื่อแสดงไหวพริบและศักยภาพในการตอบคำถาม เพราะพวกเขารู้ดีว่า ใครเล่าเรื่องเก่ง…คนนั้นชนะ

ที่มา : Theinterviewguys, Biginterview

แชร์บทความ :
Jitkarn Sakrueangrit

Jitkarn Sakrueangrit

Graphic & Web Designer, Content Creator,
Copywriter, Marketing Specialist

คุณน่าจะชอบเรื่องเหล่านี้

วิธีเขียนจดหมายขอบคุณหลังสัมภาษณ์ by Find Your Job

วิธีเขียนจดหมายขอบคุณหลังสัมภาษณ์

อย่าปล่อยโอกาสทองในการเรียกคะแนนครั้งสุดท้ายของคุณไปโดยเปล่าประโยชน์ ปิดการสัมภาษณ์งานของคุณแบบมืออาชีพด้วยการเขียนจดหมายขอบคุณผู้สัมภาษณ์ทุกคน

อ่านเลย »
สัมภาษณ์ผ่านแล้ว แต่รอผลสัมภาษณ์จากอีกบริษัทหนึ่งอยู่ by Find Your Job

สัมภาษณ์ผ่านแล้ว แต่รอผลสัมภาษณ์จากอีกบริษัทหนึ่งอยู่

สัมภาษณ์ผ่านไปด้วยดีแต่อยากได้งานกับอีกที่มากกว่า ปัญหาหนักใจที่ไม่รู้ว่าต้องรับมือยังไง ถ้าพลาดขึ้นมาสุดท้ายอาจจะไม่ได้อะไรเลย

อ่านเลย »

คุณรับทราบและยินยอมว่า การใช้งานเว็บไซต์นี้มีการเก็บข้อมูลคุ๊กกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ในการใช้บริการ อ่านข้อมูลเพิ่มเติม