ตรวจสอบชื่อเสียงของบริษัทง่ายๆ ใครก็ทำได้ by Find Your Job

ตรวจสอบชื่อเสียงของบริษัทง่ายๆ ใครก็ทำได้

จะกินข้าวร้านดังยังต้องอ่านรีวิว แล้วทำไมการสมัครงานที่ต้องเอาชีวิตไปเสี่ยงอยู่ที่ทำงานเป็นเวลานาน…จะอ่านรีวิวบริษัทบ้างไม่ได้? เช็คก่อนให้ชัวร์ชื่อเสียงของบริษัทนี้ดีจริงไหม

ต้องขอบคุณโลกอินเตอร์เน็ตที่ทำให้เราค้นคว้าข้อมูลได้ไวกว่าเมื่อก่อน การจะค้นหาความคิดเห็นของชาวเน็ตที่ต่อบริษัทต่างๆ และได้แชร์ประสบการณ์ในฐานะ ‘ลูกจ้าง’ สามารถเปิดโลกทัศน์และมุมมองที่มีต่อการสมัครงานของบริษัทนั้นๆ ได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องเสียเวลาไปทำความเข้าใจเอง เหมือนกันกับร้านอาหารเปิดใหม่ที่เรามักให้ความสำคัญกับรีวิวเพราะไม่อยากเสียเงินไปกับสิ่งที่ไม่คู่ควร

ปัจจุบันนี้ HR ต่างให้ความสำคัญกับ Employee Experience (EX) ไม่ต่างไปจาก Customer Experience (CX) เลย พวกเขารู้ดีว่า พนักงานก็เปรียบเสมือนลูกค้าคนหนึ่งที่ต้องดูแลให้ดี ซึ่งถ้าทำได้พนักงานเหล่านั้นจะกลายเป็นกระบอกเสียงสำคัญในการปูทางสู่ภาพลักษณ์องค์กรที่สวยงาม ดึงดูดคนเก่งๆ มาทำงานที่นี่ต่อไปในอนาคต ในทางกลับกันถ้าพนักงานรู้สึกไม่มีความสุขหรือได้รับประสบการณ์แย่ๆ ก็จะส่งผลในทางตรงกันข้าม ดังจะเห็นได้จากรีวิวในเน็ต ราวกับจะบอกแคนดิเดตหลายคนว่าให้ ‘หนีไป! อย่าเอาชีวิตมาเสี่ยงที่นี่’ และนี่คือวิธีการค้นหาข้อมูล Insights เหล่านี้

เลือกอ่านเฉพาะหัวข้อ

เว็บ Pantip

เว็บไซต์อันดับหนึ่งในการแสดงความคิดเห็นของชาวเน็ตในประเทศไทยต้องยกให้ Pantip เขาหละ เราสามารถค้นหาข้อมูลอย่างประสบการณ์การสัมภาษณ์งาน ชีวิตความเป็นอยู่ของพนักงาน สวัสดิการ ฯลฯ จากพันทิพย์ได้เลย แต่ไม่การันตีว่าจะมีข้อมูลของทุกบริษัท และแน่นอนว่าข้อมูลที่เป็นความคิดเห็นนั้นต้องใช้วิจารณญาณในการอ่านเป็นอย่างมาก เพราะมุมมองของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ซึ่งเราอาจใช้ข้อมูลตรงนี้ประกอบกับข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ ประกอบการตัดสินใจ

วิธีการก็แสนง่ายด้าย เพียงพิมพ์ค้นหาในอากู๋ Google Search ไปตรงๆ แล้วตามด้วยคีย์เวิร์ด Pantip

  • ‘ใครเคยสมัครงาน (ชื่อบริษัท) Pantip’
  • ‘ถามคนเคยทำงาน (ชื่อบริษัท) Pantip’
  • ‘ทำงานที่ (ชื่อบริษัท) Pantip’
  • ‘สวัสดิการ (ชื่อบริษัท) Pantip’

เว็บ Glassdoor

ข้อมูลใน Glassdoor จะค่อนข้างตรงและมีความน่าเชื่อถือมากกว่าเนื่องจากเป็นเว็บไซต์หางานระดับสากลทำให้บริษัทต่างๆ มักจะตื่นตัวเมื่อมีคอมเม้นท์เชิงลบที่ส่งผลเสียต่อองค์กร ดังนั้นสิ่งที่ปรากฏอยู่บนเว็บไซต์ได้รับการตรวจทานมาแล้วในระดับหนึ่ง ไว้ใจได้ โดยเราสามารถเช็ครีวิวได้จากลิงค์​ >>Companies & Reviews<< ด้วยการพิมพ์ชื่อบริษัทเป็นภาษาอังกฤษ ใครที่ไม่เก่งภาษาอังกฤษสามารถดูจำนวนดาวประกอบและคัดลอกไปวางใน Google Translate ได้

เว็บ WorkVenture

มองข้ามไปไม่ได้เลย สำหรับเว็บไซต์หางานสัญชาติไทยอย่าง WorkVenture ที่มีการตั้งระบบรีวิวประสบการณ์แคนดิเดตต่อการสมัครงานในบริษัทต่างๆ ที่ใช้บริการของเว็บ นอกจากนี้ยังมี ‘เกี่ยวกับบริษัท’ ที่ HR จะทำการโปรโมทแบรนด์ มีรูปภาพบรรยากาศในที่ทำงาน รวมถึงข้อมูลสวัสดิการพนักงานให้ได้เลือกสรรบริษัทที่ใช่ด้วย เช็คเลย 100 บริษัทแรกที่ได้รับคะแนนรีวิวสูงที่สุด มีบริษัทที่คุณกำลังหมายตาไว้อยู่รึเปล่า

Google Business

เราคุ้นเคยกับการใช้ Google ค้นหาข้อมูลและหลายคนอาจจะผ่านตามาบ้างแล้วแต่อาจจะยังไม่รู้ว่ามันมีชื่อเรียกว่า Google Business โดยแถบนี้จะปรากฏอยู่ในหน้าการค้นหาทางด้านขวามือ เป็นตำแหน่งที่ตั้งของบริษัทนั้นๆ โดยใต้ชื่อบริษัทจะมีคะแนนรีวิวพร้อมกับลิงค์สีน้ำเงินคุ้นตา Google Reviews ที่สามารถคลิกเข้าไปอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ อาจจะไม่เกี่ยวกับการสมัครงานโดยตรง แต่ใช้เป็นบรรทัดฐานในการวัดชื่อเสียงขององค์กรนั้นๆ ได้ว่ามีการปฏิบัติงานหรือดูแลลูกค้าอย่างไร เพราะถ้าพวกเขาดูแลลูกค้าเป็นอย่างดี ก็มีแนวโน้มที่จะดูแลพนักงานดีด้วยเช่นกัน

Facebook Review

การใช้ Facebook Review ก็มีจุดประสงค์เดียวกันกับ Google Business คือดูลักษณะการให้บริการของบริษัทนั้นๆ และมุมมอง ภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่ถูกสังคมตีตรา เราคงไม่อยากทำกับกับบริษัทที่มีชื่อเสียมากกว่าชื่อเสียงเป็นแน่ โดยเฉพาะตำแหน่งที่ต้องดีลงานกับบรรดาผู้บริโภคโดยตรงอย่างคอลเซ็นเตอร์ ศูนย์บริการลูกค้า หรือพนักงานขาย หากต้องรับมือกับคอมเม้นต์ลบๆ พวกนั้นทุกวันซึ่งบริษัทก็มีแนวโน้มที่จะไม่แก้ไขเสียที คุณจะทนได้หรือไม่

LinkedIn

ทางเลือกสุดท้ายที่ต้องอาศัยความกล้าสักหน่อย คือ การค้นหาข้อมูลผ่านทางลิงค์อิน หลักการก็คือ การค้นหาพนักงานที่เคยทำงานอยู่ที่บริษัทนั้นๆ ในตำแหน่งที่คุณกำลังจะสมัครเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลเชิงลึกที่จะหาอ่านตามรีวิวในเน็ตไม่ได้ วิธีการก็เพียงแค่

  • พิมพ์ชื่อบริษัทที่ต้องการลงในช่องค้นหาจากนั้นกด Enter
  • แถบด้านบนให้แน่ใจว่าคุณกำลังค้นหา ‘คน – People’ ไม่ใช่ ‘บริษัท – Companies’
  • ผลการค้นหาจะมีลิสต์รายชื่อพนักงานที่ทั้งทำงานอยู่ (Current) และเคยทำงานที่นี่ (Past) ให้เลือกเชื่อมต่อเฉพาะกับคนที่เคยทำงานที่นี่แล้วเท่านั้น เพราะถ้าพวกเขาเป็นพนักงานปัจจุบันอาจมีการแชร์ข้อมูลกันได้ คุณคงไม่อยากให้ใครรู้ว่ากำลังรับบทนักสืบอยู่
  • รอให้คนเหล่านั้นยอมรับคำขอในการเชื่อมต่อ เสร็จแล้วจึงส่งข้อความไปถามอย่างสุภาพเพราะแพลตฟอร์มนี้มีความเป็นมืออาชีพมากกว่าเฟสบุ๊ค
บางครั้งข้อมูลก็เหมือนเหรียญที่มีสองด้าน ดังนั้น จึงควรใช้วิจารณญาณในการรับสารให้ดี อย่าเพิ่งด่วนสรุปและตัดสินอะไรจากข้อความเพียงไม่กี่ประโยค คุณอาจสมัครไปงานไปก่อนเพราะทางเลือกที่มากขึ้นย่อมส่งผลดีกับคุณในภายหลัง ส่วนจะตัดสินใจอย่างไรต่อไปนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ประสบการในการสัมภาษณ์งานจะเป็นข้อมูลจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญให้คุณปะติดปะต่อเรื่องราวทั้งหมดด้วยตัวเอง
แชร์บทความ :
Jitkarn Sakrueangrit

Jitkarn Sakrueangrit

Graphic & Web Designer, Content Creator,
Copywriter, Marketing Specialist

คุณน่าจะชอบเรื่องเหล่านี้

remote-working-laptop

Remote Working ทำงานทางไกลดีต่อใจจริงไหม

ชินชากับการ WFH จนกลายเป็น New Normal ของตัวเองไปแล้ว จะกลับไปทำงานที่ออฟฟิศที่มากคนมากความอีกก็กลัวว่าจะรับมือไม่ไหว ก็หางาน Remote Working ไปเลยสิ!

อ่านเลย »
5 สิ่งที่ไม่ควรทำในช่วงหางาน by Find Your Job

5 สิ่งที่ไม่ควรทำในช่วงหางาน

มันไม่ง่ายเลยที่จะหางานใหม่ แต่อย่าทำให้การหางานที่ยากอยู่แล้วยากยิ่งขึ้นไปอีกด้วยการทำแบบนี้ในช่วงหางาน รู้ก่อน เตรียมตัวก่อน จะได้ไม่พลาด

อ่านเลย »

คุณรับทราบและยินยอมว่า การใช้งานเว็บไซต์นี้มีการเก็บข้อมูลคุ๊กกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ในการใช้บริการ อ่านข้อมูลเพิ่มเติม