5 สิ่งที่ไม่ควรทำในช่วงหางาน
เราได้รวบรวมข้อผิดพลาดที่บางข้อคุณจะแทบไม่เชื่อเลยว่า มีใครหลายคนเคยทำมันจริงๆ คุณเป็นหนึ่งในนั้นอยู่หรือเปล่า?
1) บอกเพื่อนร่วมงานว่าคุณกำลังมองหางานใหม่
การหางานใหม่ไม่ใช่เรื่องที่ต้องป่าวประกาศให้โลกรู้ โดยเฉพาะในที่ทำงานที่คุณไม่สามารถเชื่อใจใครได้ 100% เพราะถ้าข่าวลือไปเข้าหูถึงผู้บริหาร เรื่องคงจบไม่สวยเป็นแน่ นอกจากนี้การซ่อนสเตตัส “Open to new opportunity” บนลิงค์อินก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าไม่มีใครในบริษัทสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวเหล่านี้ได้
อย่าลืมว่าคุณต้องใช้คอมพิวเตอร์ส่วนตัวในการค้นหางานหรือสมัครงานเท่านั้น การใช้ทรัพย์สินบริษัททำเรื่องส่วนตัวสามารถถูกตรวจสอบด้วยแผนกไอทีและอาจเลวร้ายถึงขั้นได้รับการตักเตือน/ ไล่ออก
2) สมัครงานแบบไม่เป็นมืออาชีพ
โดยปกติแล้วประกาศรับสมัครงานของแต่ละบริษัทจะระบุวิธีการสมัครเอาไว้อย่างชัดเจน ควรอ่านและทำความเข้าใจทุกครั้งว่าฝ่ายบุคคลรับสมัครทางช่องทางไหนบ้าง เพราะการทักเฟสบุ๊คส่วนตัวหรือเข้าถึงฝ่ายบุคคลด้วยช่องทางอื่นนอกเหนือจากที่ระบุเอาไว้ อาจถูกมองว่าเป็นการคุกคามได้
- ถ้าคุณจะสมัครงานควรทำตามกฏเกณฑ์ของบริษัทนั้นอย่างเคร่งครัด
- ใช้ภาษาพูด/เขียน ที่เป็นทางการในการติดต่อประสานงานทุกครั้ง
- ตรวจสอบคำสะกดบนอีเมล์และอย่าลืมแนบเรซูเม่ก่อนส่ง (การส่งอีเมล์โดยที่ยังไม่ได้แนบไฟล์ จะทำให้ถูกมองว่าไม่ละเอียด รอบคอบ)
- เลิกใช้ชื่ออีเมล์ที่เคยสมัครไว้สมัยยังเด็ก แต่เปลี่ยนไปใช้ชื่อนามสกุลจริงจะทำให้ดูโปร
3) แสดงความสิ้นหวังอย่างชัดเจน
อย่าลืมว่า ไม่ทุกคนที่จะเข้าใจสถานการณ์ที่คุณกำลังเผชิญอยู่ คุณอาจจะเหนื่อยจากการสัมภาษณ์มาแล้วหลายที่ แต่คุณไม่สามารถร้องขอความเห็นใจให้ฝ่ายบุคคลลำบากใจได้ ยิ่งไปกว่านั้นแม้ว่าคุณจะต้องการงานมากขนาดไหน สิ่งที่ไม่ควรทำเลยเวลาสมัครงานก็คือ
- สมัครงานรัวๆ แม้แต่กับงานที่ไม่ตรงกับประสบการณ์และความสามารถ
- ปกติ HR จะตรวจดูโปรไฟล์อยู่แล้วว่าอาจมีตำแหน่งอื่นในบริษัทที่คุณอาจเหมาะสมมากกว่า การกดสมัครงานหลายตำแหน่งในบริษัทเดียว จะเป็นตัวเร่งให้พวกเขาทิ้งใบสมัครลงถังไปง่ายๆ
4) จำกัดการค้นหางานของตัวเอง
โลกยังเปลี่ยนแปลงไป นับประสาอะไรกับวิถีการหางานที่ต้องเปลี่ยนแปลงตาม คุณไม่สามารถคาดหวังผลลัพธ์ที่แตกต่าง ถ้าการกระทำทุกอย่างยังเหมือนเดิม สิ่งที่ต้องทำก็แค่มองหาวิธีการอื่นๆ ที่อาจนำมาซึ่งโอกาสที่มากกว่า เช่น
- ค้นหางานด้วย ทักษะความสามารถ แทนชื่อตำแหน่งงานตรงๆ – งานสมัยนี้มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปหมด และงานบางอย่างก็มีทักษะที่สามารถนำไปใช้กับอีกตำแหน่งหนึ่งได้ ดังนั้น ค้นหางานจากคีย์เวิร์ด สกิลที่คุณเชี่ยวชาญอาจได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า
- รายละเอียดงาน (Jobs Description) บางอย่างถูกใส่ให้เวอร์วังเข้าไว้ เพื่อให้ได้แคนดิเดทที่ดีที่สุด แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณสมัครไม่ได้! ถ้างานตำแหน่งนี้ต้องการคนมีประสบการณ์ 3 ปี ในขณะที่คุณมีเพียง 2 ปี แต่ความสามารถของคุณโดดเด่น มั่นใจว่าทำตามที่บริษัทประกาศเอาไว้ได้ ทำไมถึงไม่ลองหย่อนใบสมัครพร้อมแฟ้มสะสมผลงานดูหละ?
5) ฆ่าตัวเองบนโลกออนไลน์
ต้องยอมรับว่าในระยะหลังมานี้โลกโซเชียลมีอิทธิพลกับการตัดสินใจรับเข้าทำงานเป็นอย่างมาก ตัวตนของคุณบนโลกออนไลน์ก็ไม่ต่างอะไรกับหน้าร้าน ถ้าหน้าร้านไม่สวย คนก็คงไม่เข้ามา การสมัครงานก็เช่นกัน คุณต้องระวังการสื่อสารบนโลกออนไลน์ให้มากขึ้นเป็นสองเท่า อาจตั้งค่าความเป็นส่วนตัวขึ้นไปอีกหากจำเป็น จะได้ไม่ตกม้าตายทีหลัง
ที่มา : TheBalanceCareer, Careertoolbelt
Jitkarn Sakrueangrit
Graphic & Web Designer, Content Creator,
Copywriter, Marketing Specialist
คุณน่าจะชอบเรื่องเหล่านี้
เอาตัวรอด สัมภาษณ์งานภาษาอังกฤษ สำหรับคนไม่เก่งภาษา
พอได้รู้ว่าต้องสัมภาษณ์งานเป็นภาษาอังกฤษถึงกับไปไม่เป็น สำหรับคนไม่เก่งภาษาอังกฤษอย่างเราที่พูดได้แค่งูๆ ปลาๆ จะเอาอะไรไปสู้เขา
ถูกเลิกจ้างกะทันหัน ทำยังไง ได้เงินชดเชยเท่าไหร่?
เช็คสิทธิที่มนุษย์เงินเดือนต้องรู้ ถ้าถูกบริษัทบอกเลิกจ้างกะทันหันในวันที่ใจไม่พร้อม ต้องทำอย่างไร เรียกร้องค่าเสียหายและเงินชดเชยได้เท่าไหร่กันนะ