get-fired-quit-job-stressed-work

ถูกเลิกจ้างกะทันหัน ทำยังไง ได้เงินชดเชยเท่าไหร่?

เช็คสิทธิที่มนุษย์เงินเดือนต้องรู้ ถ้าถูกบริษัทบอกเลิกจ้างกะทันหันในวันที่ใจไม่พร้อม ต้องทำอย่างไร เรียกร้องค่าเสียหายและเงินชดเชยได้เท่าไหร่กันนะ

ในชีวิตของการทำงาน ไม่มีใครอยากเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ตกงานสายฟ้าแล่บกลายเป็นคนว่างงานไปเดินเตะฝุ่นหางานอีกครั้งเป็นแน่ โดยเฉพาะในช่วงนี้เหตุบ้านการเมืองไม่มีความแน่นอนที่ทำให้ตลาดแรงงานผันผวน คนตกงานนับแสน ต้องแข่งขันหางานกันอย่างบ้าคลั่ง ถ้าถึงวันที่คุณเข้าบริษัทหลังจากทำงานจากที่บ้านมานาน แต่กลับเจอเซอร์ไพรส์เป็นซองขาวเพราะบริษัทไปต่อไม่ไหว จำใจต้องลดจำนวนพนักงานลง ชีวิตหลังจากนี้ของคุณจะตั้งตัวอย่างไรต่อไปดี

เช็คลิสต์ ถูกเลิกจ้างแบบไหนไม่ได้รับเงินชดเชย
❌ ลาออกเองโดยสมัครใจ
❌ ทุจริตต่อนายจ้าง หรือทำความผิดอาญา
❌ จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
❌ ประมาทเลินเล่อจนทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
❌ ฝ่าฝืนระเบียบการทำงาน โดยที่นายจ้างได้ออกหนังสือเตือนไปแล้ว
❌ ละทิ้งการทำงานติดต่อกัน 3 วัน โดยไม่มีเหตุอันควร
❌ ได้รับโทษจำคุก ตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
❌ สัญญาจ้างงานมีกำหนดระยะเวลาไว้แน่นอน

โดยปกติแล้วการถูกเลิกจ้างกะทันหัน คุณจะได้รับเงินชดเชยทั้งจากนายจ้างและจากทางภาครัฐ โดยมีรายละเอียดและเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

เลือกอ่านเฉพาะหัวข้อ

1. เงินชดเชย

เมื่อถูกให้ออกจากงานโดยไม่สมัครใจและไม่มีความผิดใดๆ ลูกจ้างทุกคนมีสิทธิ์ที่จะได้รับเงินชดเชยซึ่งจะขึ้นอยู่กับฐานเงินเดือนล่าสุดและอายุงาน ณ ที่ทำงานแห่งนั้น กล่าวคือ

  • ทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ถึง 1 ปี ได้รับเงินชดเชย 30 วัน (1 เดือน)
  • ทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ถึง 3 ปี ได้รับเงินชดเชย 90 วัน (3 เดือน)
  • ทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ไม่ถึง 6 ปี ได้รับเงินชดเชย 180 วัน (6 เดือน)
  • ทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ถึง 10 ปี ได้รับเงินชดเชย 240 วัน (8 เดือน)
  • ทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป ได้รับเงินชดเชย 300 วัน (10 เดือน)
  • ทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป ได้รับเงินชดเชย 400 วัน

 ตัวอย่างเหตุการณ์ :  พลอยทำงานที่บริษัท A มีงานเงินเดือน 25,000 บาท

HR บอกเลิกจ้างเธอกะทันหันในวันที่เธออายุงานครบ 1 ปี 10 เดือน เธอถูกจัดอยู่ในประเภท ‘ทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ถึง 3 ปี’ นั่นหมายความว่าเธอจะต้องได้รับเงินชดเชยจากนายจ้างเป็นจำนวน 90 วันหรือ 30 เดือน ซึ่งเท่ากับ 25,000 x 3 = 75,000 บาท นั่นเอง

2. ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า

อย่างไรก็ตาม หากมนุษย์เงินเดือนถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้สมัครใจลาออกเอง ซึ่งไม่ได้มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้าเพื่อเตรียมการ กรณีนี้ คุณจะได้รับเงินค่าบอกกล่าวล่วงหน้า หรือที่เราคุ้นหูกันในชื่อเรียกว่า ค่าตกใจ เพิ่มเติมจากเงินชดเชยด้วย แบ่งตามกรณีที่เป็นไปได้คือ…

2.1 กรณีเลิกจ้างทั่วไป

กฎหมายแรงงานกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับ 1 งวดของการจ่ายค่าจ้าง นั่นหมายความว่า ถ้าคุณได้ค่าจ้างเป็นเงินเดือนรอบละ 30 วัน นายจ้างต้องแจ้งเลิกจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรให้ทราบอย่างน้อย 30 วัน ไม่เช่นนั้นจะต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน

 ตัวอย่างเหตุการณ์ :  บริษัทจ่ายเงินเดือนให้ทุกวันที่ 30

HR บอกเลิกจ้างก่อนหรือในวันที่ 30 สิงหาคม ก็จะต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าไปถึงวันที่ 30 กันยายน หรือนับเป็น 30 วันก็ได้ ในขณะที่ถ้า HR บอกเลิกจ้างภายหลังจากวันที่ 30 สิงหาคม เช่น วันที่ 1 กันยายน กฎหมายก็จะบังคับให้นายจ้างต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าไปจนถึงงวดวันที่ 30 ตุลาคม

2.2 กรณีเลิกจ้างเพราะปรับปรุงหน่วยงาน

บางบริษัทมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างบริษัทอย่างการเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิต การจำหน่าย หรือการบริการ โดยได้นำเครื่องจักรมาใช้ หรือในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีต่างๆ อันเป็นผลให้ต้องลดจำนวนพนักงานลงไป บริษัทจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 60 วัน หากคุณไม่ได้รับการแจ้งเตือนมาก่อนหน้า จะเข้าข่ายได้เงินบอกกล่าวล่วงหน้าส่วนนี้ ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 60 วัน หรือเทียบเท่า 2 เดือน

กรณีที่คุณทำงานติดต่อกันครบ 6 ปีขึ้นไป สามารถอ้างสิทธิในการได้รับเงินชดเชยพิเศษเพิ่ม ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 15 วัน ต่อการทำงานครบ 1 ปี (รวมแล้วต้องไม่เกินค่าจ้าง 360 วันสุดท้าย)

 ตัวอย่างเหตุการณ์ :  

ฐานเงินเดือนล่าสุดของคุณอยู่ที่ 25,000 บาท คุณจะได้รับค่าตกใจเป็นจำนวน 25,000 x 2 = 50,000 บาท แต่คุณมีทำงานที่นี่ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 7 แล้วจึงเข้าข่ายได้รับเงินชดเชยพิเศษเพิ่มอีก ซึ่งนายจ้างจ่ายเพิ่มเติม 15 วันโดยคำนวณจากรายได้รายวันที่คุณได้รับจากฐานเงินเดือน 25,000 ÷ 30 = 833.33 เท่ากับว่าเงินที่คุณจะได้รับพิเศษเพิ่มอีก คือ 833.33 x 15 = 12,500 บาท

2.3 กรณีเลิกจ้างเพราะย้ายสถานประกอบการ

หากบริษัทของคุณมีการโยกย้ายสถานประกอบการ นายจ้างต้องแจ้งพนักงานล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน  และแน่นอนว่าหากลูกจ้างไม่ได้รับแจ้ง ก็จะได้รับเงินแทนบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่น้อยกว่าเงินเดือนสุดท้าย 30 วัน หรือ 1 เดือนนั่นเอง แต่ในกรณีที่มีการบอกล่วงหน้าอย่างถูกต้อง แต่คุณไม่ประสงค์ย้ายไปทำงานที่ใหม่ด้วย คุณสามารถยื่นเรื่องบอกเลิกสัญญาจ้าง (ลาออก) และยังมีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยพิเศษไม่น้อยกว่า 50% ของค่าชดเชยถูกเลิกจ้างในข้อ 1

*เฉพาะกรณีนี้ที่นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้ลูกจ้างภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่สัญญาจ้างสิ้นสุด* 

3. ใช้สิทธิประกันสังคม

สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่จ่ายเงินประกันสังคมสมทบมาแล้ว 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนการว่างงาน โดยสามารถเช็คสิทธิประกันสังคมเพื่อขอรับเงินช่วยเหลือกรณีว่างงานได้ที่เว็บไซต์ของสำนักงานประกันสังคม (คลิก) ตรวจสอบข้อมูลการส่งเงินสมทบว่าถึงเกณฑ์หรือไม่ ซึ่งหากเข้าข่ายได้รับเงินให้ปฏิบัติตามขั้นตอนต่อไปนี้

3.1 ลงทะเบียนตัวผู้ประกันตนกรณีว่างงาน

ลงทะเบียนออนไลน์เป็น บุคคลว่างงาน ที่ กรมการจัดหางาน (คลิก) ภายในระยะเวลา 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ถูกเลิกจ้าง โดยฝ่ายบุคคลของบริษัทจะส่งข้อมูลไปยังกรมการจัดหางานถึงสถานะการทำงานของคุณด้วย ดังนั้น อาจยื่นเรื่อง 7 วันหลังจากวันที่ถูกเลิกจ้างเผื่อเวลาให้หน่วยงานรัฐอัพเดตฐานข้อมูล

3.2 ยื่นแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส 2-01/7)

เตรียมเอกสารดังต่อไปนี้ เพื่อยื่นเรื่องขอรับเงินประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานได้ที่สำนักงานประกันสังคมใกล้บ้าน

  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
  • แบบฟอร์ม สปส 2-01/7
  • สำเนาสมุดบัญชีธนาคารที่เป็นชื่อผู้ประกันตน

เงินช่วยเหลือที่ได้รับจะเป็นเงินทดแทนระหว่างว่างงาน เพื่อให้คุณมีเวลาในการหางานใหม่ ซึ่งทางภาครัฐจะให้ปีละไม่เกิน 180 วัน ในอัตรา 50% ของค่าจ้างเฉลี่ยในอัตราสูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท เช่น หากคุณมีฐานเงินเดือนอยู่ที่ 10,000 บาท ก็จะได้รับเงินทดแทนอยู่ที่ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลารวม 6 เดือน

4. กรณีได้รับผลกระทบจากโควิด 19

*ข้อมูลมีการอัพเดทตลอด กรุณาเช็คกับทางกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานประกอบ* หากลูกจ้างได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้าง หรือหยุดพักงานชั่วคราวในช่วงที่มีการระบาดของโควิด 19 ประกันสังคมให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกันตน มาตรา 33 ในกรณีที่…

4.1 ว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัย

  • ลูกจ้างไม่ได้ทำงาน/ นายจ้างไม่ให้ทำงาน เนื่องจากต้องกักตัวหรือเฝ้าระวังการระบาดของโรค
  • ลูกจ้างไม่ได้ทำงาน เนื่องจากบริษัทต้องหยุดประกอบกิจการ (ทั้งหมดหรือบางส่วน) เนื่องจากราชการมีคำสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวเพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดต่ออันตราย ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ

ได้รับเงินชดเชย : หากว่างงานตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป จะได้รับเงินทดแทน 50% ของค่าจ้างรายวันตลอดระยะเวลาที่มีการกักตัว เฝ้าระวังการระบาดของโรค หรือมีคำสั่งปิดสถานที่รวมกันไม่เกิน 90 วัน

4.2 ว่างงานเพราะลาออกหรือถูกเลิกจ้าง

ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 กรณีว่างงานเพราะลาออก หรือถูกเลิกจ้าง เนื่องจากสถานการณ์โควิด 19 จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้จากประกันสังคม ดังนี้

  • ลาออก รับเงินกรณีว่างงาน 45% ของค่าจ้าง ไม่เกิน 90 วัน
  • ถูกเลิกจ้าง รับเงินกรณีว่างงาน 70% ของค่าจ้าง ไม่เกิน 200 วัน
  •  

โดยปกติแล้ว นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้างช้าสุดภายในวันสุดท้ายที่ทำงาน หากคุณไม่ได้รับเงินชดเชยในวันดังกล่าวจะเข้าข่ายถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ซึ่งสามารถยื่นร้องเรียนได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในแต่ละจังหวัด หรือที่กลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานสำหรับลูกจ้างที่ทำงานในกรุงเทพฯ

แชร์บทความ :
Jitkarn Sakrueangrit

Jitkarn Sakrueangrit

Graphic & Web Designer, Content Creator,
Copywriter, Marketing Specialist

คุณน่าจะชอบเรื่องเหล่านี้

เริ่มต้นหางานอย่างไรในยุคงานหายาก by Find Your Job

เริ่มต้นหางานอย่างไรในยุคงานหายาก

งานที่เคยหายากในปีก่อนๆ ยิ่งยากขึ้นไปเรื่อยๆ หลังเกิดเหตุการณ์โควิดเพราะหลายบริษัทต่างทะยอยปิดตัวลงไป จำนวนคนตกงานก็เพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดหย่อน รับมือยังไงดี?

อ่านเลย »

คุณรับทราบและยินยอมว่า การใช้งานเว็บไซต์นี้มีการเก็บข้อมูลคุ๊กกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ในการใช้บริการ อ่านข้อมูลเพิ่มเติม