เด็กจบใหม่ หางานยังไงดีนะ
ในสถานการณ์ที่คนตกงานกันเยอะแบบนี้ นักศึกษาจบใหม่ต่างขวัญเสียไปกับการดิ้นรนหางานทำเพราะต้องแข่งขันกับแรงงานมีฝีมือที่เพิ่งจะตกงานจากการเลย์ออฟและปิดตัวของบริษัทต่างๆ กว่า 7.5 แสนคน ยังไม่นับเพื่อนต่างสถาบันที่จบมาในรุ่นราวคราวเดียวกันอีกปีละ 2 แสนคน (ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ไตรมาสแรกปี 2564)
นอกจากในเรื่องของตลาดแรงงานที่มีการแข่งขันสูงแล้ว ยังพบว่านายจ้างปัจจุบันเน้นจ้างแรงงานที่ ‘มีประสบการณ์’ มากกว่าลงทุนจ้างเด็กจบใหม่ที่ต้องปูพื้นฐานสอนงานใหม่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยในสภาวะที่ไม่มีความมั่นคงเช่นนี้ ความต้องการของตลาดเองยังมีการบูรณาการรวมเอาทักษะความสามารถหรืองานที่มีความใกล้เคียงกันรวมเข้าไว้ด้วยกัน พูดให้เข้าใจง่ายก็คือ พนักงานหนึ่งคนจะไม่ได้มีแค่เพียงทักษะเดียวเท่านั้น แต่พนักงานที่มีหลายทักษะ (Multi-skills) สามารถทำงานควบได้หลายตำแหน่ง (All-in-one) จะยิ่งเป็นที่ต้องการ เหลือพื้นที่อะไรให้เด็กจบใหม่บ้าง? สิ่งที่พวกคุณพอจะทำได้คือ…
เลือกอ่านเฉพาะหัวข้อ
อย่ารอเวลาที่ใช่
หลายคนเลือกจะรอสมัครงานในช่วงเวลาที่ (ตัวเองคิดเองว่า) คนเปลี่ยนงานกันเยอะอย่างเช่นต้นปีหลังได้รับโบนัส รอให้จบก่อนค่อยสมัคร รอให้พร้อมกว่านี้หรือคิดว่าตัวเองยังไม่มีความพร้อมในการเริ่มต้นชีวิตทำงาน การเอาแต่รออยู่แบบนี้โดยที่ไม่ทันได้เริ่มต้นทำอะไร โอกาสที่จะได้งานคือ 0 แต่ถ้าคุณเริ่มต้นหางานในวันนี้อย่างน้อยที่สุด คุณได้เรียนรู้อะไรบางอย่างเหมือนเป็นการฝึกซ้อมลงสนามอยู่เรื่อยๆ เมื่อถึงเวลาจริงคุณจะกลายเป็นคนแรกๆ ที่โอกาสมาเคาะถึงประตูหน้าบ้าน โอกาสไม่ได้มาหาสำหรับคนที่พร้อมแต่มันจะมาหาคนที่กำลัง ‘มองหา’ มันต่างหาก
คุณสามารถเริ่มต้นมองหางานจากเว็บไซต์ของบริษัทที่คุณสนใจ (มองหาคำว่า Work with us/ Career ที่มักอยู่ส่วนล่างสุดของเว็บไซต์ตรง Sitemap) เว็บหางานอย่าง JobsDB หรือเลือกเอเจนซี่ให้ช่วยหางานให้ฟรีก็ได้
ศึกษาความต้องการของตลาด
ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเร็วจากผลกระทบโควิดและการ Disrupt ของเทคโนโลยี ทำให้มีงานเกิดขึ้นใหม่มากมายซึ่งอาจเป็นชื่อเรียกที่คุณไม่คุ้นหู แต่รายละเอียดของการล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่คุณทำได้ แทนที่จะหางานจากชื่อ ตำแหน่งงาน ลองเปลี่ยนไปเป็นการหางานจาก ทักษะ คำศัพท์เฉพาะ หรือ เครื่องมือ ที่คุณใช้แทน แล้วคุณจะแปลกใจกับผลการค้นหางานแบบใหม่ รวมทั้งสิ่งที่คุณมีอยู่ตอนนี้นั้นสามารถนำไปต่อยอดอะไรได้บ้าง
อ่านรายละเอียดงานในประกาศรับสมัครให้ครบทุกตัวอักษร อย่าหยุดอ่านเพียงแค่คุณเห็นว่างานนี้ต้องการเฉพาะคนที่มีประสบการณ์เท่านั้น เพราะคุณจะเริ่มเห็นแนวโน้มความต้องการของตลาดว่าต้องการคนที่มีลักษณะเป็นอย่างไร สิ่งที่คุณขาดคืออะไร ต้องเรียนรู้อะไรเพิ่มในช่วงระหว่างรองาน
ไม่ปล่อยให้ตัวเองว่าง
ยิ่งคุณมองเห็นเพื่อนในเฟสบุ๊คอัพเดทสเตตัสว่าได้งานทำ หรือส่องไอจีเพื่อนที่กำลังมีความสุขกับการทำงานที่เพิ่งไปเริ่ม มันจะทำให้คุณฟุ้งซ่านและจะยิ่งไปกันใหญ่ถ้าคุณเอาแต่อยู่เฉยๆ ปล่อยให้ตัวเองว่างจนเกินไป ทำไมไม่ลองใช้เวลาในช่วงนี้ ทำกิจกรรมอย่างการเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือคน ทำงานพาร์ทไทม์ที่สามารถเอาไปเขียนใส่ในเรซูเม่ได้ หรืออาจเริ่มรับงานฟรีแลนซ์ที่คุณถนัดใน Fastwork สร้าง Portfolio เก็บผลงานระหว่างสมัครงานประจำ รวมถึงการไปเรียนคอร์สเสริมความรู้ด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ ใน YouTube บางที…การเริ่มต้นทำอะไรสักอย่าง อาจทำให้คุณค้นพบ ‘อะไรบางอย่าง’ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่คุณชอบ สิ่งที่คุณถนัด อันนำไปสู่การเลือกเส้นทางสายอาชีพที่ใช่ในอนาคตได้
สร้างคอนเนคชั่น
อาจจะเคยได้ยินมาบ้างแล้วว่าคอนเนคชั่นในวงการธุรกิจนั้นสำคัญมากขนาดไหน เริ่มต้นสร้างคอนเนคชั่นของคุณด้วยการสร้างโปรไฟล์บน LinkedIn แพลตฟอร์มทางธุรกิจที่คนทำงานบริษัทต้องใช้ เรียกว่าเป็น Virtual Connection ที่ไม่ต้องเสียเวลาไปร่วมงานอีเว้นท์ใดใด หลักการทำงานของลิงค์อินจะเหมือนกันกับเฟสบุ๊ค คุณต้องเพิ่มคอนเนคชั่นตำแหน่งผู้บริหาร CEO, ผู้ก่อตั้ง, HR, Talent Acquisition (พนักงานสรรหาบุคลากร), Recruiter ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้…มากพอที่การโพสต์หนึ่งครั้งของคุณจะถูกเห็นด้วยคนจำนวนมาก เมื่อคุณพร้อมก็สามารถโพสต์สเตตัสหางานพร้อมแนบเรซูเม่แล้วรอพวกเขาเหล่านั้นติดต่อกลับได้เลย
อย่างไรก็ตามการพบปะแบบซึ่งๆ หน้า (Face to Face) ยังเป็นสิ่งจำเป็นอยู๋ ด้วยการมีปฏิสัมพันธ์จะช่วยสร้าง First Impression ในระดับที่การสื่อสารออนไลน์ให้ไม่ได้ อย่าลืมเช็คอัพเดทสถานที่จัดงาน ห้างร้านใกล้บ้านว่ามีอีเว้นท์ Job Fair ที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้หรือไม่ รวมถึง Career Campus ในมหาวิทยาลัย ที่คุณจะมีโอกาสได้สัมภาษณ์งานกับบริษัทโดยตรง
ใช้คอมพิวเตอร์ในการหางาน ไม่ใช่โทรศัพท์
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าเว็บไซต์ที่แสดงผลบนหน้าจอมือถือบางเว็บนั้นถูกปรับแต่งให้แสดงผลแบบ Mobile-friendly ส่งผลให้อาจต้องตัดบางฟีเจอร์ออกเนื่องจากเว็บไม่ได้มีการสนับสนุนการใช้งานผ่านทางโทรศัพท์ร้อยเปอร์เซ็นต์ เช่น การกรอกใบสมัคร การสร้างโปรไฟล์ การส่ง-อัพโหลดเรซูเม่ ทางที่ดี คุณควรใช้คอมพิวเตอร์หรือแล็ปท็อปในการหางานมากกว่า การแสดงผลของเว็บไซต์บนเดสก์ท็อปยังให้มุมมองที่กว้างกว่าทำให้คุณไม่พลาดในจุดสำคัญ ในขณะที่ถ้าหากคุณใช้โทรศัพท์ต้องเลื่อนหรือซูมเข้า-ออก เพราะตัวหนังสือมีขนาดเล็กเกินกว่าจะมองเห็นได้
ขอความช่วยเหลือจากกองกิจการนักศึกษา
ในแต่ละมหาวิทยาลัย จะมีฝ่ายดูแลนักศึกษาที่ตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือนักศึกษาในเรื่องต่างๆ รวมถึงเรื่องหางานอยู่ด้วย สถานประกอบการที่ต้องการจ้างเด็กฝึกงานและนักศึกษาจบใหม่มักจะติดต่อเข้ามาที่มหาวิทยาลัยเพื่อสอบถามหรือขอข้อมูล ดังนั้น การขอคำปรึกษาจากกองกิจการนักศึกษาอาจทำให้คุณได้พบคำตอบที่ไม่คาดคิดก็เป็นได้
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังเก็บรายชื่อสถานประกอบการที่เคยส่งนักศึกษาไปฝึกงานเอาไว้พร้อมเบอร์โทรติดต่อให้คุณโทรสอบถามได้โดยตรง ส่วนกรณีที่คุณต้องการเปลี่ยนสายงานแต่ทุกที่ต้องการประสบการณ์การทำงานก่อน คุณอาจเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ด้วยการขอฝึกงานกับบริษัทที่มีคอนแทคเพื่อสร้างโปรไฟล์เรซูเม่ให้สวยงาม เรียกว่าเป็นการเตรียมความพร้อมและวางแผนในระยะยาวโดยไม่เสียเวลาเปล่า
Jitkarn Sakrueangrit
Graphic & Web Designer, Content Creator,
Copywriter, Marketing Specialist
คุณน่าจะชอบเรื่องเหล่านี้
ถูกเลิกจ้างกะทันหัน ทำยังไง ได้เงินชดเชยเท่าไหร่?
เช็คสิทธิที่มนุษย์เงินเดือนต้องรู้ ถ้าถูกบริษัทบอกเลิกจ้างกะทันหันในวันที่ใจไม่พร้อม ต้องทำอย่างไร เรียกร้องค่าเสียหายและเงินชดเชยได้เท่าไหร่กันนะ
เริ่มต้นหางานอย่างไรในยุคงานหายาก
งานที่เคยหายากในปีก่อนๆ ยิ่งยากขึ้นไปเรื่อยๆ หลังเกิดเหตุการณ์โควิดเพราะหลายบริษัทต่างทะยอยปิดตัวลงไป จำนวนคนตกงานก็เพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดหย่อน รับมือยังไงดี?