เขียนเรซูเม่สำหรับเด็กจบใหม่ ไม่มีประสบการณ์
เป็นความเจ็บปวดของเด็กจบใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์ เพราะสมัครงานสมัยนี้ ทุกที่ก็อยากรับแต่คนที่มีประสบการณ์กันทั้งนั้น ซ้ำยังไม่รู้ว่าจะต้องนำเสนอเรซูเม่ยังไงหรือดึงเอาจุดเด่นตรงไหนมาทำให้มันดูน่าสนใจดี ปัญหาเหล่านี้จะหมดไปด้วยขั้นตอนการเขียนง่ายและได้ผล…แม้ไม่มีประสบการณ์
ลองดูตัวอย่าง เรซูเม่ของคนไม่มีประสบการณ์ข้างล่างนี้ประกอบ
ส่วนที่ 1 แนะนำตัว
ส่วนนี้เปรียบเสมือนหน้าแรกในเว็บไซต์ที่เป็น ‘พื้นที่โฆษณา’ ให้เราได้แสดงจุดขายของตัวเอง เริ่มต้นด้วยการใส่ ชื่อ-นามสกุล ด้วยตัวหนังสือที่ใหญ่ที่สุดเพื่อดึงดูดสายตาผู้อ่านเป็นลำดับแรกๆ จากนั้นตามด้วย การแนะนำตัวเองแบบย่อ ว่า เราเป็นใคร มาจากไหน โดยอาจเขียนรวมกับ Objective หรือวัตถุประสงค์ของการสมัครงานในตำแหน่งนั้นๆ
เทคนิคตรงส่วนนี้ คือ กฎ 5 วินาที โดยให้เพื่อนหรือคนรู้จักกวาดสายตาอ่านตรงส่วนนี้โดยมีเวลาเพียงแค่ 5 วินาที แล้วให้พวกเขาอธิบายว่า เราเป็นใคร มาจากไหนและเก่งอะไร หากพวกเขาตอบคำถามได้ถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์ นั่นหมายความว่าการเขียนของเรามีประสิทธิภาพมากพอในทางปฏิบัติ
ส่วนที่ 2 ข้อมูลส่วนตัว
เพื่อให้บริษัทรู้จักตัวตนของเรามากขึ้น เพิ่มข้อมูลส่วนตัวลงไปอย่าง วันเดือนปีเกิด ที่อยู่ปัจจุบัน เบอร์โทรศัพท์ อีเมล์ และแฟ้มสะสมผลงานที่อาจเป็นเว็บไซต์ส่วนตัวหรือลิงค์ที่สามารถคลิกได้ (ในกรณีที่ส่งเป็นไฟล์ PDF อย่าลืมแนบลิงค์)
ส่วนที่ 3 ทักษะเฉพาะด้าน
ตรงส่วนนี้ เลือกใส่ทักษะที่เป็นจุดแข็งที่สัมพันธ์กับตำแหน่งที่กำลังสมัคร เช่น สมัครงานในตำแหน่งไอที ทักษะเฉพาะด้านที่ฝ่ายบุคคลอยากเห็นก็ต้องเป็นโปรแกรมหรือภาษาคอมพิวเตอร์ที่เราเชี่ยวชาญ โดยอาจแบ่งตามฟังก์ชั่น แยกประเภททักษะให้เห็นชัดเจน สะดวกต่อการกวาดสายตาอ่านแบบเร็วๆ
ส่วนที่ 4 ทักษะ Soft Skills
อย่าคิดว่า Soft Skills ไม่สำคัญ เพราะในปัจจุบันหลายบริษัทให้ความสำคัญไม่แพ้ Hard Skills (Technical skills) เนื่องจากมันเป็นตัวกำหนดวัฒนธรรมของทีมและองค์กร พวกเขาจะดูแนวโน้มว่า เราสามารถทำงานได้ดี ไปด้วยกันได้กับทีมหรือไม่ จากตรงนี้
หัวใจสำคัญของการทำเรซูเม่สำหรับเด็กจบใหม่ ไม่มีประสบการณ์ คือ การแสดงจุดยืน
ส่วนที่ 5 การศึกษา
เลือกใส่การศึกษาสูงสุดหรือตั้งแต่วุฒิการศึกษาปริญญาตรีขึ้นไปในกรณีที่มีการศึกษาต่อทั้งโทและเอก โดยเริ่มไทม์ไลน์จากเหตุการณ์ล่าสุดย้อนกลับไปยังสถานศึกษาก่อนหน้าเสมอ หากได้รับเกียรตินิยมก็สามารถระบุเพิ่มเติมได้เลย ถัดจากเกรดเฉลี่ย
ส่วนที่ 6 ประสบการณ์ฝึกงาน พาร์ทไทม์ อาสาสมัคร
ในทุกสถาบัน นักศึกษาทุกคนจะต้องผ่านการฝึกงานก่อนจบการศึกษาเสมอ ซึ่งเราจะนำประสบการณ์นี้มาเขียน ถ้านอกเหนือจากการฝึกงานยังมีกิจกรรมอื่นใดอย่าง การเป็นอาสาสมัครหรืองานพาร์ทไทม์ ที่แม้จะเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ ก็ตาม ไม่ควรมองข้ามและสามารถนำมาต่อยอดให้โปรไฟล์ดูมีความน่าเชื่อถือมากพอที่ฝ่ายบุคคลจะรับพิจารณา อย่าลืมว่าต้องเรียงไทม์ไลน์จากที่ทำงานล่าสุดย้อนกลับไปยังเหตุการณ์ก่อนหน้าเสมอ ห้ามเรียงผิดเด็ดขาด!
ระบุรายละเอียดงานที่ได้รับมอบหมายในแต่ละงานอย่างละเอียด เทคนิค คือ กลับไปอ่านรายละเอียดประกาศรับสมัครงานอีกหนึ่งรอบ เพื่อค้นหาคำสำคัญ (Keyword) ที่ฝ่ายบุคคลต้องการ เพื่อนำคำเหล่านั้นมาปรับใช้ให้เข้ากับเรซูเม่ของเรา เช่น ผู้เข้าสมัครต้องมีทักษะใน การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ได้ดี – เราอาจเขียนในเรซูเม่ของเราว่า การทำงานที่บริษัท A ต้องรับสายจากลูกค้าที่โทรมาคอมเพลน โดยต้อง จัดการแก้ปัญหา และจบสายสนทนาภายใน 5 นาที
ส่วนที่ 7 ความสำเร็จที่ผ่านมา
เพิ่มน้ำหนักให้โปรไฟล์ของเราด้วยการดึงเอากิจกรรม โปรเจค หรือความสำเร็จในอดีตตลอดทั้งปีการศึกษามารวมไว้ในหัวข้อนี้ อย่าลืมบอกรายละเอียดของแต่ละโปรเจคว่าเรารับผิดชอบส่วนไหน เจอปัญหาอะไร และแก้มันอย่างไร ซึ่งอาจแสดงทักษะ ความเป็นผู้นำ อันจำเป็นต่อการทำงานในปัจจุบัน
ที่มา : Novoresume, JobStreet
Jitkarn Sakrueangrit
Graphic & Web Designer, Content Creator,
Copywriter, Marketing Specialist
คุณน่าจะชอบเรื่องเหล่านี้
ถูกเลิกจ้างกะทันหัน ทำยังไง ได้เงินชดเชยเท่าไหร่?
เช็คสิทธิที่มนุษย์เงินเดือนต้องรู้ ถ้าถูกบริษัทบอกเลิกจ้างกะทันหันในวันที่ใจไม่พร้อม ต้องทำอย่างไร เรียกร้องค่าเสียหายและเงินชดเชยได้เท่าไหร่กันนะ
ตามยังไง? ถ้าส่งเรซูเม่สมัครงานไปแล้วเงียบ
ส่งใบสมัครไปนาน ผ่านไปหลายวัน HR ก็ยังเงียบเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น หรือนี่จะเป็นคำปฏิเสธอ้อมๆ กันแน่นะ ตามใบสมัครงานยังไงให้ดูไม่น่าเกลียด?