เอาตัวรอด สัมภาษณ์งานภาษาอังกฤษ สำหรับคนไม่เก่งภาษา
เข้าใจดีกว่าภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาแม่ และการเรียนการสอนในประเทศไทยรวมกว่า 12 ปีตั้งแต่ประถมก็ไม่ได้ช่วยให้เราพูดภาษาอังกฤษได้อย่างเจ้าของภาษา ดูหนังซีรี่ส์ฝรั่งก็ต้องเปิดซับไทย นี่จะให้ไปสัมภาษณ์งานเป็นภาษาอังกฤษ!?! ต้องบอกก่อนว่าปัจจุบันภาษาอังกฤษกลายเป็นภาษาขั้นพื้นฐานที่ทุกคน ‘ต้อง’ สื่อสารได้และดูเหมือนจะเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้วถ้าคุณพูดภาษาอังกฤษได้คล่อง (คนจะว้าวก็ต่อเมื่อคุณสื่อสารภาษาที่สาม-สี่-ห้าได้) ในขณะเดียวกัน การฝึกภาษาอังกฤษก็ไม่ใช่เรียนวันสองวันแล้วทำได้เลย เป็นทักษะที่ต้องใช้เวลาในการสั่งสมประสบการณ์เท่านั้น คำถามก็คือ จะเตรียมตัวสัมภาษณ์งานภาษาอังกฤษอย่างไรถ้าคุณไม่ได้มีเวลามากมายขนาดนั้น?
เลือกอ่านเฉพาะหัวข้อ
1. กฏของการเตรียมตัว
ในบริบทของการสัมภาษณ์งาน การเตรียมตัว คือ กุญแจสำคัญที่จะทำให้คุณประสบความสำเร็จ เหมือนเวทีประกวดนางงามที่เบื้องหลังการตอบคำถามด้วยคำพูดสละสลวยย่อมเกิดจากการฝึกฝน ค้นหาคีย์เวิร์ดสำคัญ และนำมาปะติดปะต่อกันจนเกิดเป็นรูปแบบประโยคอันน่าทึ่ง ถ้าพวกเขาทำได้ คุณเองก็สามารถประยุกต์ใช้เทคนิคเดียวกันนี้ในการสัมภาษณ์งานภาษาอังกฤษตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
1.1 ลิสต์คำถามสัมภาษณ์งานยอดฮิต
ในการสัมภาษณ์งานแต่ละครั้งจะมีชุดรูปแบบคำถามเดิมๆ ที่เราคุ้นเคยและถูกใช้กันแทบจะทุกครั้ง คุณควรค้นคว้า 🔗 คำถามสัมภาษณ์งานที่ต้องเจอแน่ๆ รวบรวมไว้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ลดโอกาสในการเจอคำถามที่ตอบไม่ได้หรือไม่ได้เตรียมมา อีกทั้งยังเห็นแนวทางการสัมภาษณ์งานที่ตัวคุณเองอาจค้นพบคำถามใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้น โยงคำตอบ สลับกันไปมาระหว่างคำถามได้อย่างลื่นไหล
1.2 แต่งประโยคตอบคำถามด้วยตัวเอง
เมื่อรวบรวมคำถามสัมภาษณ์งานมาจนเป็นที่น่าพอใจแล้ว ให้ลองฝึกแต่งประโยคตอบคำถามเหล่านั้นโดยศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจากช่องทางต่างๆ อาจเป็นการพิมพ์คำถามลงใน Google ไปตรงๆ แล้วคุณจะพบรูปแบบประโยคที่น่าสนใจซึ่งสามารถจับเอามารวมกันให้เป็นเวอร์ชั่นของคุณเอง อาจใช้เครื่องมืออย่าง Grammarly ถ้าคุณใช้บราวเซอร์ Google Chrome หรือจะเป็นแพลตฟอร์มน้องใหม่ Quillbot ที่จะช่วยปรับรูปประโยคที่คุณเขียนให้ถูกหลักแกรมม่า สวยงามอย่างเจ้าของภาษาเลยทีเดียว
1.3 ฝึกท่องสคริปต์ให้เป็นธรรมชาติ
ถ้ามีเวลาเตรียมตัวแค่สั้นๆ ฝึกท่องประโยคตอบคำถามเหล่านั้นให้จำขึ้นใจให้ได้ ยิ่งฝึกมาก จะยิ่งทำให้การพูดดูไหลลื่นเป็นธรรมชาติมากขึ้นเท่านั้น เทคนิคการฝึกนี้อาจเป็นการพูดกับตัวเองผ่านกระจกเพราะจะทำให้คุณเห็นบุคลิกภาพเวลาพูดของตัวเอง นำไปสู่การปรับปรุงให้ดูมีความมั่นใจมากยิ่งขึ้น หรือขอให้เพื่อนเป็นผู้ช่วยในการสัมภาษณ์ ชี้จุดบกพร่องอื่นๆ ที่เราเผลอมองข้ามไป
2. แนวทางการตอบคำถาม
2.1 แนะนำตัวเป็นภาษาอังกฤษ
เป็นคำถามแรกที่จะต้องเจอแน่ๆ การเปิดบทสนทนาด้วยความมั่นใจจะช่วยสร้าง First Impression ที่ดีแก่ผู้สัมภาษณ์ โดยคำถามจะมาในรูปแบบต่างๆ เช่น
- Could you please introduce yourself a bit? : รบกวนช่วยแนะนำตัวด้วยค่ะ
- Tell me more about yourself : ไหนลองบอกเกี่ยวกับตัวคุณมาหน่อยครับ
- Walk me through your resume : ช่วยอธิบายที่คุณเขียนมาในเรซูเม่ให้ผมฟังหน่อย
หลักการแนะนำตัวที่ดีมักจะอยู่ในรูปแบบ Present – Past – Future คือ การเล่าถึงเหตุการณ์ปัจจุบัน คุณเป็นใคร กำลังทำงานอะไรอยู่ รวมถึงหน้าที่รับผิดชอบปัจจุบัน จากนั้นย้อนกลับไปที่ๆ ทำงานก่อนหน้าที่มีรายละเอียดงานสอดคล้องกับตำแหน่งที่สมัคร แล้วจึงปิดคำถามด้วยการพูดถึงอนาคต เป้าหมายในการสมัครงานครั้งนี้ ดังตัวอย่างนี้
“[Present] Good Morning! My name is Ploypailin Boonraksa. Currently, I’m a web designer at X Company. With over 7 years of expertise, I am specialized in building one-of-a-kind online experiences that make users’ interactions with a brand more enjoyable. [Past] A couple of years ago, I worked for ABC where I received various performance awards and was promoted twice. I enjoy leading teams and resolving client issues. [Future] Despite the fact that I enjoy my current position, I believe I am now ready for a more challenging assignment, and this position fascinates me.”
“[ปัจจุบัน] สวัสดีค่ะ ชื่อพลอยไพลิน บุญรักษานะคะ ตอนนี้ทำงานเป็นเว็บดีไซน์เนอร์ที่บริษัท X อยู่ค่ะ จากประสบการณ์การทำงานกว่า 7 ปี ทำให้พลอยเชี่ยวชาญในส่วนของการสร้างประสบการณ์ออนไลน์ที่เป็นเอกลักษณ์ ไม่เหมือนใคร ซึ่งทำให้การโต้ตอบของผู้ใช้กับแบรนด์มีความสนุกมากยิ่งขึ้นค่ะ [อดีต] เมื่อสองปีที่แล้ว พลอยทำงานให้กับบริษัท ABC ที่ซึ่งพลอยได้รับรางวัลพนักงานที่มีผลการทำงานดีหลายรางวัลและได้ปรับเลื่อนตำแหน่งถึงสองครั้งเลย ชอบเป็นผู้นำทีมและแก้ปัญหาให้ลูกค้ามาก [อนาคต] แต่ถึงแม้ว่าเราจะสนุกกับงานที่ทำในตอนนี้ ส่วนตัวแล้วก็เชื่อเหลือเกินค่ะว่าพร้อมที่จะได้รับงานที่ท้าทายมากขึ้น และตำแหน่งงานที่เปิดอยู่นี้ก็ค่อนข้างน่าสนใจทีเดียวค่ะ”
2.2 ทำไมถึงอยากทำงานที่นี่
คำถามสุดคลาสสิกที่ HR จะถามเพื่อต้องการเช็คว่าคุณทำการบ้านมาดีหรือเปล่า แนวทางการตอบคำถามก็เพียงแค่ (1) ทำการศึกษาข้อดีของบริษัทนั้นๆ รวมไปถึงการให้ (2) เหตุผลที่คุณอยากสมัครงานในตำแหน่งดังกล่าวร่วมด้วยจะยิ่งทำให้ความน่าเชื่อถือของคำตอบมีเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง
“Your organization is consistently rated as [1] one of the greatest places to work with. Plus, [2] this role emphasizes sales and marketing, two of my strongest skill sets, while also providing a good work environment in which I may steadily develop and improve my skills for future usage. You won’t believe how excited I was when I found out there was a job opening in my skill set here.”
“บริษัทนี้ได้รับการจัดอันดับตลอดว่าเป็น [1] หนึ่งในองค์กรที่น่าร่วมงานมากที่สุด ยิ่งไปกว่านั้น [2] ตำแหน่งงานนี้ยังเน้นการขายและการตลาด ซึ่งเป็นทักษะที่ผมเชี่ยวชาญที่สุด อีกทั้งยังมีสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีส่งเสริมให้ผมพัฒนาและปรับปรุงทักษะอย่างต่อเนื่องเพื่ออนาคต คุณจะไม่เชื่อว่าผมตื่นเต้นมากแค่ไหนที่พบว่ามีตำแหน่งงานว่างในตรงกับสิ่งที่ผมมีอยู่ที่นี่”
2.3 ทำไมถึงลาออกจากที่ทำงานเก่า
ไม่มีใครไม่ 🔗 ถูกถามเหตุผลที่ตัดสินใจลาออก เพื่อไปหางานใหม่ เพราะมันสามารถบอกข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อ HR ช่วยในการพิจารณาว่าจะรับคุณเข้าทำงานหรือไม่ โดยแนวทางการตอบคำถามนี้คือต้องสั้น กระชับ ไม่มีดราม่า ซึ่งอาจตอบสวยๆ ว่า
“Since I’ve been working at this organization for three years, I feel like I’ve reached the pinnacle of my learning curve. I believe the time has arrived for me to seek out more challenging options.”
“ผมทำงานที่นี่มาสามปีแล้วครับ ผมรู้สึกเหมือนได้เรียนรู้ทุกอย่างหมดแล้ว (อิ่มตัว) ผมคิดว่าถึงเวลาสำหรับผมแล้วหละครับที่จะมองหางานใหม่ที่มีความท้าทายมากกว่า”
2.4 บอกเหตุผลหน่อยว่าทำไมเราถึงต้องจ้างคุณ
เมื่อถูกถามด้วยคำถามนี้ พึงระลึกไว้เสมอว่าถึงเวลาออกโรงในการโฆษณาตัวเองของคุณแล้ว! HR คาดหวังที่จะฟังจุดแข็ง (Strength) และจุดขายของคุณที่โดดเด่นท่ามกลางผู้เข้าสมัครคนอื่น จงลิสต์รายการจุดเด่นของตัวเองมาสามรายการเพื่อตอบคำถามนี้ให้ชนะใจกรรมการได้เลย โดยอาจกลับไปเช็ครายละเอียดงาน ดึงเอาคำศัพท์ที่ปรากฏบน Job Description มาใช้จะยิ่งทำให้ติดหูและดึงความสนใจจากพวกเขาได้อยู่หมัด เช่น
“I have the experience and the attitude to excel in this Sales Manager Assistant position. I have the 5 years of sales experience you’re looking for, a track record of annual top billers in 2019 and 2020, and proven expertise in sales strategies and planning. Not only do my skills fit, but I’m also passionate about this business and motivated to provide high-quality work.”
“ดิฉันมีประสบการณ์และทัศนคติที่เป็นประโยชน์ต่อตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายขายนี้ ด้วยประสบการณ์การขาย 5 ปีซึ่งเป็นสิ่งที่คุณกำลังมองหา การันตีด้วยรางวัล Top Biller ประจำปี 2019 และ 2020 พร้อมความเชี่ยวชาญที่ได้รับการพิสูจน์แล้วในด้านการวางแผนและสร้างกลยุทธ์การขาย ดิฉันไม่เพียงแค่มีทักษะที่เหมาะสมเท่านั้น แต่ยังหลงใหลในธุรกิจด้านนี้ อีกทั้งมีแรงบันดาลใจในการทำงานอันจะช่วยส่งมอบแต่งานที่มีคุณภาพสูงให้กับบริษัทค่ะ”
3. ฝึกฝนเพิ่มเติม
เรียนรู้เทคนิคการตอบคำถามสัมภาษณ์งานภาษาอังกฤษจากแหล่งอื่นเพิ่มเติมเพื่อเช็คอีกครั้งว่าคุณไม่ได้ตกหล่นคำถามอะไรไป เราได้ยกตัวอย่าง YouTube Channel ที่น่าสนใจมาไว้ให้แล้ว
Jitkarn Sakrueangrit
Graphic & Web Designer, Content Creator,
Copywriter, Marketing Specialist
คุณน่าจะชอบเรื่องเหล่านี้
ว่างงานมานานเป็นปี เตรียมสัมภาษณ์งานยังไงดีให้เวิร์ค
เตรียมตัวสัมภาษณ์งานยังไงดี ถ้าคุณว่างงานมานานแรมปี เรียกคืนความมั่นใจผู้สัมภาษณ์กลับมาเชื่อในตัวคุณอีกครั้งด้วยวิธีการตอบแบบมืออาชีพ
ไขข้อข้องใจ แจ้งลาออกต้องบอกล่วงหน้า 30 วัน
สิทธิที่คนทำงานต้องรู้ จำเป็นไหมที่การลาออกต้องแจ้งล่วงหน้า เพราะเมื่อได้งานใหม่แล้วใจก็ไม่อยากทนทำงานต่อและอยู่รอจนครบ 30 วัน