ทำไมลาออกจากที่ทำงานเก่า ตอบยังไงให้ได้งาน by Find Your Job

“ทำไมลาออกจากที่ทำงานเก่า?” ตอบยังไงให้ได้งาน

หนึ่งในคำถามสัมภาษณ์งานที่ต้องเจอแน่ๆ ‘ทำไมคุณถึงลาออกจากที่เก่า’ รับมือยังไงให้คำตอบไม่ดูดราม่าแถมยังได้คะแนนการตอบคำถามจากที่ทำงานใหม่?

ฝ่ายบุคคลมักใช้คำถามนี้ในการหาเหตุผลประกอบการตัดสินใจว่าจ้าง เพื่อขุดคุ้ยความจริงว่าอะไรกันแน่ที่เป็นสาเหตุที่พนักงานคนหนึ่งอยากลาออกจากที่ทำงานสักที่หนึ่ง เพราะการย้ายงานนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนการไปช้อปปิ้งที่ตลาด นอกจากนี้ HR ยังต้องการรู้ว่าคุณคาดหวังอะไรจากที่ทำงานใหม่ ไปจนถึงคุณจริงจังหรือไม่กับการหางานในครั้งนี้

สิ่งที่ผู้สมัครเป็นกังวล คือ การที่คำตอบของพวกเขามีผลกับคะแนนและอาจเป็นไปได้ว่าจะไม่ได้งานหากพูดอะไรไม่ตรงใจผู้สัมภาษณ์ อย่าง “ผมมีปัญหากับหัวหน้าครับ” หรือ “ไม่อยากทำโอฟรี (OT) ค่ะ” เราไม่ได้กำลังบอกให้คุณโกหก แต่การพลิกแพลงคำตอบให้เป็นสิ่งที่ผู้สัมภาษณ์อยากได้ยินนั้นเป็นเรื่องของการสื่อสารที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ โดยในทางจิตวิทยาพบว่าคนที่แสดงทัศนคติบวกแม้ในสถานการณ์ที่เลวร้ายมักส่งผลให้คนรอบข้างมีกำลังใจและมองพวกเขาในแง่ดีๆ มากขึ้น

แนวทางการตอบคำถาม “ทำไมลาออกจากที่ทำงานเก่า?”
✅ ตอบแบบมืออาชีพไม่ใช่จากความรู้สึกส่วนตัว
✅ ซื่อสัตย์ในคำตอบ ไม่โกหกเรื่องขึ้นมาเพื่อให้ตัวเองดูดีหรือเอาใจใคร
✅ พูดด้วยความมั่นใจจะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือในคำตอบ
✅ ตอบให้สั้นกระชับเข้าไว้ ไม่เยิ่นเย้อ
✅ แสดงทัศนคติเชิงบวกเสมอแม้ความจริงจะโหดร้ายแค่ไหน

เลือกอ่านเฉพาะหัวข้อ

“มองหาโอกาสที่ดีกว่า”

คำตอบสุดคลาสสิคที่ถูกใช้ในการสัมภาษณ์งานมากที่สุด เพราะเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายไม่ต้องอธิบายให้ยุ่งยาก โอกาสที่ดีกว่าจะนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าโดยที่ทำงานเก่าไม่สามารถให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าในสายงาน การสร้างคอนเนคชั่นที่มีคุณภาพในที่ทำงานใหม่ หรือโอกาสในการร่วมงานกับบริษัทที่มีชื่อเสียง

“รู้สึกอิ่มตัวกับงานที่ทำอยู่”

ทำงานที่นี่มานานหลายปีจนเรียนรู้ทุกอย่างหมดแล้วให้กลับตาทำก็ยังได้ การอยู่ในสภาวะที่ไม่มีการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เป็นเวลานาน ทุกวันเหมือนกับการทำสิ่งเดิมๆ วนลูปซ้ำไปซ้ำมาอาจก่อให้เกิดภาวะอิ่มตัวคล้ายหมดไฟในการทำงาน คุณไม่อยากเป็นหนูติดจั่น ทำงานไปวันๆ โดยไร้จุดมุ่งหมายเลยอยากออกไป ‘ใช้ชีวิต’ หาแรงบันดาลใจใหม่ในที่ทำงานใหม่ดีกว่า

“ต้องการเปลี่ยนสายงาน”

ในยุคที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไวสวนทางกับการศึกษาไทย การเปลี่ยนสายงานเป็นเรื่องที่เริ่มแพร่หลายและเป็นที่ยอมรับได้ เมื่อคุณทำงานไปสักพักจึงเห็นว่างานปัจจุบันอาจไปต่อไม่ไหวในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า การเปลี่ยนสายงานที่จะตอบโจทย์…เป็นที่ต้องการในวันข้างหน้า เป็นทางออกเดียวที่จะช่วยให้คุณไม่ตกงานในอนาคต

“มีเป้าหมายในชีวิตที่อยากทำให้สำเร็จ”

แคนดิเดตบางคนค้นพบเป้าหมายที่อยากทำให้สำเร็จโดยที่ทำงานเก่าไม่สามารถส่งเสริมการตามความฝันนั้นได้ เช่น อยากมีเวลาที่ยืดหยุ่นในการทำงานเพื่อเรียนต่อโท หรือต้องการไปทำงานที่เมืองนอกกับบริษัทต่างชาติที่มีสาขาอยู่ทั่วโลก ดังนั้น ที่ทำงานใหม่จะต้องเป็นส่วนหนึ่งหรือสนับสนุนเป้าหมายชีวิตเหล่านั้นได้

“อยากทำสิ่งที่ตัวเองถนัด”

เชื่อหรือไม่ว่า มีหลายบริษัทที่ลงประกาศรับสมัครงานตำแหน่ง A แต่พอถึงหน้างานกลับเลือกให้แคนดิเดตไปทำตำแหน่ง B (บางรายต้องทำทั้ง A และ B) ซึ่งไม่เป็นไปตามข้อตกลงที่มีร่วมกันในขั้นตอนการสัมภาษณ์ มักจะเกิดกับบริษัทเล็กๆ ที่มี HR ที่ไม่สตรองหรือเข้าใจในบริบทของงานมากพอที่จะแยกความแตกต่างของงานที่ลักษณะคล้ายกันแต่ความจริงแล้วไม่เหมือนกันได้

“ที่ทำงานอยู่ไกลบ้าน/ที่พัก”

อาจจะฟังดูแปลกว่าการเดินทางสามารถส่งผลกระทบต่อชีวิตการทำงานได้มากขนาดนี้เชียวหรือ แต่ในโลกของคนทำงานกลับไม่ใช่เรื่องแปลก รับมือกับงานที่หนักหน่วงมาทั้งวันยังต้องมาหนักใจกับการเดินทางให้เหนื่อยเข้าไปอีก อยู่เคลียร์งานเป็นคนสุดท้ายเพราะไม่อยากใช้บริการ BTS ที่คนแน่นๆ มาทำงานเป็นคนแรกเพราะถ้าออกสายต้องติดอยู่บนทางด่วนเป็นชั่วโมง คุณอยากทำงานใกล้บ้านที่เดินทางได้สะดวกมากขึ้น…ก็เท่านั้น

“Work-Life Balance ไม่มี”

งานไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต นอกเหนือจากเวลางานคุณยังมีชีวิตส่วนตัวที่ต้องดูแลจัดการ ถ้างานกระทบกับชีวิตส่วนตัวจนไม่มีเวลาไปทำอย่างอื่น ต้องหอบงานมาทำที่บ้าน วันหยุดเสาร์อาทิตย์ก็ต้องตอบอีเมล์ ไปเที่ยวพักผ่อนกับครอบครัวก็ยังต้องรับสายจากหัวหน้า นี่หรือ คือ ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว ที่คุณต้องการมาตลอด? จะดีกว่าไหมถ้าที่ทำงานใหม่ให้พื้นที่ส่วนตัว เป็น Safe Zone ที่คุณจะปลอดภัยจากความเครียด มีเวลาไปใช้กับคนที่คุณรัก ได้ทำสิ่งที่ชอบมากขึ้น

“วัฒนธรรมองค์กรไม่ตอบโจทย์”

คับที่อยู่ได้…คับใจอยู่ยาก ในช่วงชีวิตหนึ่ง เราใช้เวลาในที่ทำงานคิดเป็นเศษหนึ่งส่วนสามของชีวิต มันกลายเป็นส่วนสำคัญในชีวิตเรา ถ้าใจลึกๆ คุณไม่ได้มีความสุขกับสิ่งแวดล้อมรอบตัว ต้องฝืนทนทำในสิ่งที่ไม่ชอบเพียงเพื่ออยากได้รับการยอมรับจากเพื่อนร่วมงาน ต้องอยู่ทำงานดึกๆ เนื่องจากใครลุกจากเก้าอี้ตรงเวลาถูกมองเป็นคนไม่ดี ทั้งที่ในความเป็นจริงคุณทำงานเสร็จและเป็นคนที่บริหารจัดการเวลาได้อย่างยอดเยี่ยม คุณคงไม่อยากเป็นปลาที่ว่ายน้ำเก่งมากแต่ถูกจับให้มาวิ่งแข่งหรอกนะ

“บริษัทมีการปรับโครงสร้างองค์กร”

ยุคโควิดที่มีคนตกงานเกินครึ่งล้าน บริษัทต่างทะยอยปิดตัวกันเป็นแถวและอีกหลายแห่งที่กระเสือกกระสนที่จะมีชีวิตรอดจนต้องปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ ลดจำนวนชั่วโมงการทำงาน เงินเดือน รวมไปถึงการปลดพนักงานบางส่วน คุณอาจโชคร้ายเป็นหนึ่งในพนักงานที่ถูก Layoff ไม่ได้ไปต่อ ไม่ใช่เรื่องแปลกและเป็นเหตุผลที่ ‘ฟังขึ้น’ โดยไม่กระทบกับการตัดสินใจของผู้สัมภาษณ์

โปรดจำให้ขึ้นใจว่า การโกหกถือเป็นเรื่องร้ายแรงจนถึงขั้นขึ้นโรงขึ้นศาลหากมีความเสียหายเกิดขึ้น ดังนั้นความจริงใจในการตอบคำถามจึงเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก ตามด้วยทัศนคติที่ดีที่คุณมีต่อเหตุการณ์นั้นๆ อันจะช่วยให้คำตอบของคุณมีน้ำหนัก น่าเชื่อถือและน่าฟังซึ่งเป็นทักษะในการสื่อสารที่ผู้สมัครงานทุกท่านต้องมี

ที่มา : Indeed, Forbes, Giveagradago

แชร์บทความ :
Jitkarn Sakrueangrit

Jitkarn Sakrueangrit

Graphic & Web Designer, Content Creator,
Copywriter, Marketing Specialist

คุณน่าจะชอบเรื่องเหล่านี้

สัมภาษณ์ไม่ผ่าน ทำอย่างไรต่อไปดี

สัมภาษณ์ไม่ผ่าน ทำอย่างไรต่อไปดี?

สัมภาษณ์งานมาหลายรอบแต่ไม่ผ่านเลยสักรอบ ตกสัมภาษณ์ไปเสียทุกครั้งจนทำเอาท้อในการหางาน รับมืออย่างไรในวันที่หัวใจอ่อนล้า

อ่านเลย »
How To ปฏิเสธงาน ยังไงไม่ผิดใจและไม่โดนแบล็คลิส by Find Your Job

How To ปฏิเสธงาน ยังไงไม่ผิดใจและไม่โดนแบล็คลิส

HR โทรมาแจ้งผลการสัมภาษณ์ว่าได้งาน แต่ใจเจ้ากรรมดันไม่อยากได้งานนี้ซะงั้น ใครจะอยากเป็นคนไม่ดีปฏิเสธงานให้เสียชื่อ รับมือยังไงดี?!?

อ่านเลย »

คุณรับทราบและยินยอมว่า การใช้งานเว็บไซต์นี้มีการเก็บข้อมูลคุ๊กกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ในการใช้บริการ อ่านข้อมูลเพิ่มเติม