รู้ไว้ก่อนสมัครงาน วัฒนธรรมการทำงานของประเทศต่างๆ by Find Your Job

รู้ไว้ก่อนสมัครงาน วัฒนธรรมการทำงานของประเทศต่างๆ

สไตล์การทำงานของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน รู้เทคนิคการเช็คมิติทางวัฒนธรรมในการทำงานของบริษัทต่างๆ จากผลการวิจัยระดับโลกอย่าง Hofstede

“โห ทำงานกับบริษัทญี่ปุ่นหรอ? เป๊ะมากเลยนะ”
“สบายเลยสิทำงานกับบริษัทเมกัน”
อาจจะฟังดูแย่ถ้าเราใช้สติกเกอร์แปะหน้าบริษัทต่างๆ ไปตรงๆ ว่าสไตล์การทำงานเป็นแบบไหนจากมิติด้านวัฒนธรรมที่พวกเขามี เช่น บริษัทญี่ปุ่นที่ขึ้นชื่อความตรงต่อเวลา ทำงานอย่างถวายหัว หรือบริษัทฝรั่งเศสที่มีความชาตินิยมสูงและมักจะไฝว้เพื่อความต้องการของตัวเองแบบหัวชนฝา ต่างคนต่างวัฒนธรรมซึ่งไม่มีอะไรผิดหรือถูก แต่อยู่ที่เราจะยอมรับปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมองค์กรที่แตกต่างจากเราได้รึเปล่า

หากวันนี้ คุณกำลังลังเล ว่า ควรจะสมัครงานกับบริษัทต่างชาติ…ชาติไหนดี การเรียนรู้มิติทางวัฒนธรรมเหล่านี้จะช่วยให้คุณตัดสินใจได้ง่ายขึ้น เตรียมพร้อมได้ดีขึ้นว่าควรรับมืออย่างไรไม่ให้เกิด Culture Shock ความตื่นตระหนกทางวัฒนธรรม ไม่เงิบเมื่อไปสัมภาษณ์และตอนเข้าไปทำงาน ด้วยการอ้างอิงจากการวิจัยของ Geert Hofstede ที่เจาะลึกวัฒนธรรมของประเทศต่างๆ ไว้ด้วยกัน 6 มิติ ดังนี้

เลือกอ่านเฉพาะหัวข้อ

ขั้นตอนการเปรียบเทียบ

เมื่อเยี่ยมชมเว็บไซต์​ 🔗 Hofstede (คลิก) ให้เลื่อนลงมาด้านล่างตรงส่วนของ Country Comparison Tool ซึ่งสามารถใส่ประเทศที่ต้องการได้มากสุดครั้งละ 4 ประเทศ จากนั้นกราฟจะแสดงค่าต่างๆ ออกมาให้เราได้ตีความจากข้อมูล โดยอาจกดปุ่ม Read more about chosen countries/regions เพื่ออ่านข้อมูลวิจัยเพิ่มเติม แต่สำหรับใครที่ไม่เก่งภาษาอังกฤษ เราแปลความหมายของมิติด้านวัฒนธรรมต่างๆ เอาไว้ให้คุณแล้ว

มิติทางวัฒนธรรม สไตล์การทำงานของประเทศต่างๆ by hofstede-insights

มิติที่ 1 Power Distance : ความแตกต่างทางด้านอำนาจ

มิตินี้เกี่ยวข้องกับความจริงที่ว่าทุกคนในสังคมนั้น ‘ไม่เท่าเทียมกัน’ ถ้าประเทศนั้นมีคะแนนสูง จะมีแนวโน้มที่พวกเขา มีความเหลื่อมล้ำสูง มีค่านิยม ความเชื่อ และธรรมเนียมที่ให้ความสำคัญกับความยิ่งใหญ่ อำนาจ และความเป็นเจ้าคนนายคน นั่นหมายความว่าคนที่มีอำนาจน้อยกว่าต้องยอมรับและเคารพการตัดกระทำ การตัดสินใจของคนที่มีอำนาจมากกว่า ซึ่งประเทศไทยมี Power Distance ที่ 64 คะแนน อยู่ในเกณฑ์สูงแต่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่มอาเซียนที่ 71 คะแนน

เราให้คุณค่ากับลำดับชนชั้นก็เพื่อแสดงความซื่อสัตย์ ความเคารพต่อหัวหน้างานแลกกับการความคุ้มครองและการดูแลให้คำแนะนำจากพวกเขา อธิบายระบบนี้ให้เข้าใจง่ายว่า การบริหารแบบพระเดชพระคุณ (Paternalistic Management) ดังนั้น เวลาที่คุยกับหัวหน้างานหรือคนที่มีตำแหน่งสูงกว่าบทสนทนาจึงมักมีช่องว่าง เป็นทางการ การทำงานจะเป็นลำดับขั้นตอน ไม่ข้ามหน้าข้ามตาและควบคุมได้ง่าย

มิติที่ 2 Individualism vs Collectivism : ปัจเจกบุคคล กับ สังคมนิยม

มิตินี้เกี่ยวข้องกับ ‘ความเป็นตัวเอง’ ของคนในชาตินั้นๆ คือ พวกเขามักจะเชื่อมั่นและยึดถือในความคิดของตัวเอง พูดคำว่า ‘ฉัน’ มากกว่าคำว่า ‘พวกเรา’ และให้ความสำคัญกับตัวเองหรือครอบครัวโดยตรงมากกว่าคล้อยตามไปกับเสียงส่วนใหญ่แบบสังคมนิยมที่เน้นเรื่องความเป็นกลุ่มเป็นก้อน ดังนั้น ประเทศใดก็ตามที่มีคะแนนส่วนนี้สูง หมายถึง พวกเขามีความเป็นปัจเจกบุคคลมากนั่นเอง

โดยประเทศไทยที่มีคะแนนเพียง 20 คะแนน เห็นได้ชัดว่าพวกเราให้คุณค่ากับสังคมนิยมค่อนข้างมาก การแสดงออกทางความคิดถูกสังคมกรอบมาตั้งแต่ยังเล็ก ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงดูของพ่อแม่ที่ถือว่าการแสดงความคิดเห็นเป็นความก้าวร้าว หรือการตอบว่า ‘ใช่’ ต่อหน้าคนอื่นที่เห็นต่างเพื่อจะให้เกิดการยอมรับแทนที่จะแสดงจุดยืนไปตรงๆ เป็นต้น

มิติที่ 3 Masculinity vs Femininity : ความเป็นผู้ชาย กับ ความเป็นผู้หญิง

ความเป็นผู้ชายไม่ได้หมายถึงการที่ผู้ชายเป็นใหญ่ แต่เป็นการที่สังคมให้ความสำคัญกับการแข่งขัน การบรรลุเป้าหมายและความสำเร็จ ต้องชนะ ต้องเป็นที่หนึ่ง ในขณะที่ความเป็นผู้หญิงจะเน้นการถ้อยทีถ้อยอาศัย ห่วงใยคนอื่น ไปจนถึงคุณภาพของการใช้ชีวิตมากกว่าการแข่งขันและโดดเด่นเหนือคนอื่น กล่าวโดยสรุปก็คือ หลักการสำคัญของมิตินี้จะดูที่ปัจจัยในการกระตุ้นบุคคล ว่าอยากเป็นที่สุดในด้านนั้นๆ (Masculine) หรือรักและพอใจในสิ่งที่ทำ (Feminine)

แม้สังคมไทยในอดีตจะ ชายจะเป็นใหญ่กว่าหญิง แต่จากผลการวิจัยพบว่าเรามีคะแนนเพียง 34 คะแนนซึ่งถือว่าสังคมเราโดดเด่นในความเป็นผู้หญิงมากกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ 50 คะแนนเสียอีก กล่าวคือเราไม่ค่อยกล้าแสดงออก ไม่กล้าที่จะแข่งขันอย่างเอาเป็นเอาตายจึงเป็นเหตุผลที่ว่าผู้หญิงส่วนใหญ่ในอัตราที่มากกว่าผู้ชายอยู่แล้วนั้นไม่ค่อยพยายามที่เป็นผู้นำคน

มิติที่ 4 Uncertainty Avoidance : การหลีกเลี่ยงความเสี่ยง

คุณยอมรับความเสี่ยงได้มากแค่ไหน? ในมิตินี้พูดถึงมุมมองของคนในสังคมที่มีต่อความเสี่ยง ด้วยความกลัวการเปลี่ยนแปลงที่ไม่สามารถทำนายเหตุการณ์ได้ล่วงหน้า จึงต้องสร้างกฎเกณฑ์ ความเชื่อและระบบต่างๆ ในความพยายามที่จะป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ประเทศที่มีคะแนนน้อยจะยอมรับความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลงได้ดีกว่า

คะแนนการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของประเทศไทยนั้นสูงถึง 64 คะแนน ซึ่งไม่ได้บ่งบอกชัดเจนว่าเรานั้นชอบหลีกหนีความไม่แน่นอน แต่เรามีกฏเกณฑ์​ กฏหมาย นโยบายและข้อบังคับไว้เพื่อลดทอนหรือป้องกันเหตุการณ์ไม่คาดฝันเท่านั้นแต่ยังเปิดใจยอมรับความเปลี่ยนแปลงใดใด ถ้าเห็นแล้วว่าเป็นประโยชน์ต่อคนหมู่มาก

มิติที่ 5 Long Term Orientation : มุมมองต่อเรื่องระยะยาว

การมองการณ์ไกลคือหัวใจหลักของมิตินี้ ประเทศใดที่ได้มีคะแนนสูง พวกเขามีแนวโน้มที่จะมองผลระยะยาวมากกว่าการลุงทุนที่ให้ผลตอบแทนในทันที (Short Term Orientation) บ่อยครั้งจึงเลือกเส้นทางใหม่ๆ จากการคาดการณ์ผลที่จะได้รับในอนาคตออกมาเป็นแผนการปฏิบัติในระยะยาวที่เป็นไปได้ ตรงกันข้าม ประเทศที่มีคะแนนต่ำจะรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีและบรรทัดฐานในเรื่องเวลาแบบเดิมๆ ในขณะที่มองการเปลี่ยนแปลงทางสังคมด้วยความสงสัย

แม้เราจะถูกสอนให้อดออมตั้งแต่เด็ก ผลการวิจัยพบว่าคะแนนของประเทศไทยต่อมุมมองระยะยาวนั้นมีเพียง 32 คะแนนเท่านั้น วัฒนธรรมของเราจัดเป็นเชิงบรรทัดฐานมากกว่าเชิงปฏิบัติ เราไม่เคยตั้งข้อสงสัยเลยว่าทำไมถึงต้องเก็บออม แทนที่จะค้นหาความจริงด้วยตัวเองแต่กลับถูกกรอบด้วยวัฒนธรรมที่ถือปฏิบัติกันมายาวนานและ ‘ทำๆ มันไป’ เก็บเงินไว้ใช้ในระยะสั้นและมุ่งเน้นที่ผลในเวลาอันรวดเร็วเท่านั้น

มิติที่ 6 Indulgence vs Restraint : การตามใจ กับ การยับยั้งชั่งใจ

มิติด้านที่ 6 เพิ่งจะเริ่มต้นศึกษาอย่างจริงจังเมื่อไม่นานมานี้ โดยนักวิจัยเชื่อว่าการปลูกฝังและวิธีการเลี้ยงดูเด็กให้เติบโตมามีผลต่อทักษะการเข้าสังคมในด้านของการควบคุมอารมณ์อย่างไรบ้าง พูดให้เข้าใจง่ายก็คือ หากคะแนนตรงส่วนนี้สูง ผู้คนในประเทศนั้นๆ จะรู้จักควบคุมความต้องการของตนได้เป็นอย่างดี เพราะคิดว่าการกระทำของพวกเขาถูกจำกัดโดยบรรทัดฐานทางสังคมและรู้สึกว่าการตามใจตัวเองนั้นเป็นสิ่งที่ผิด ใขณะเดียวกันหากมีคะแนนต่ำ ผู้คนมีแนวโน้มที่จะเชื่อว่าจะมีความสุขได้โดยการใช้​ชีวิตในแบบที่ตัวเองต้องการ เห็นแก่ตัวได้และค่อนข้างมองโลกในแง่ร้าย โชคดีที่ประเทศไทยได้คะแนนส่วนนี้ในระดับกลาง 45 คะแนน

ที่มา : Hofstede

แชร์บทความ :
Jitkarn Sakrueangrit

Jitkarn Sakrueangrit

Graphic & Web Designer, Content Creator,
Copywriter, Marketing Specialist

คุณน่าจะชอบเรื่องเหล่านี้

light-bulb-keys

รวม 7 ขั้นตอนที่คนอยากเปลี่ยนสายงานต้องอ่าน

เมื่อเปลี่ยนงานอย่างเดียวไม่ใช่ทางออกอีกต่อไป ก็เปลี่ยนสายงานไปเลยสิคะ เออ! พลิกชีวิตคนทำงานให้ปัง…เตรียมตัวอย่างไรหากต้องเปลี่ยนสายอาชีพ

อ่านเลย »
Man wearing glasses using laptop

6 สัญญาณ ถึงเวลาที่คุณต้องเปลี่ยนงานแล้ว

อยากลาออก เปลี่ยนงานไปทำที่อื่น แต่ไม่รู้ว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกหรือผิด ยิ่งในช่วงเวลาที่งานหายากแบบนี้ ไปตายเอาดาบหน้าดีมั้ย?

อ่านเลย »

คุณรับทราบและยินยอมว่า การใช้งานเว็บไซต์นี้มีการเก็บข้อมูลคุ๊กกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ในการใช้บริการ อ่านข้อมูลเพิ่มเติม