เขียนเรซูเม่ทั้งทีอย่าให้มีข้อผิดพลาดแบบนี้
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเรซูเม่เป็นประตูที่จะพาคุณไปสู่ชัยชนะของการสมัครงาน ดังนั้นการจะทำแบบขอไปทีเพื่อให้มีส่งจะไม่ได้ผลอีกต่อไป เรซูเม่เป็นเสมือนหน้าร้านของคุณเอง ถ้าคุณทำออกมาได้แย่ ไม่น่าสนใจ หรือไม่น่าเชื่อถือ ลูกค้าก็จะเดินออกจากร้านของคุณไปอย่างง่ายๆ บางทีการที่ฝ่ายบุคคลไม่ติดต่อกลับหลังจากยื่นเรซูเม่หลายที่อาจเป็นเพราะว่าคุณยังมีข้อผิดพลาดเหล่านี้ปรากฏให้เห็นบนเรซูเม่อยู่
เลือกอ่านเฉพาะหัวข้อ
1. พิมพ์ผิด / ผิดแกรมม่า
หนึ่งในข้อผิดพลาดร้ายแรงของการทำเรซูเม่ คือ การที่คุณพิมพ์ผิดหรือมีคำที่หายไปดื้อๆ จนเสียรูปประโยค โดยไม่ตรวจทานคำผิดให้ดีหลังจากที่ทำเสร็จ ซึ่งในสายตาของฝ่ายบุคคลจะมองว่าคุณขาดความรอบคอบในการทำงาน ไม่ใส่ใจในรายละเอียดมากพอ ยิ่งเป็นตำแหน่งที่ต้องใช้สมาธิในการโฟกัสสูงอย่างนักบัญชี นักเขียนคอนเท้นต์ ฯลฯ การมีคำผิดเพียงคำเดียวถือเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้
นอกจากนี้ ถ้าคุณเขียนเรซูเม่ที่เป็นภาษาอังกฤษ ต้องระวังเรื่องของแกรมม่าให้ดี เช่น พูดถึงนายจ้างเดิมในรูป Present tense แทนที่จะเป็น Past tense คุณอาจลองใช้เครื่องมือฟรีอย่าง Grammarly ในการตรวจทานแกรมม่า หรือ Quillbot ที่ช่วยแปลงประโยคเบสิคให้ดูสวยงามเหมือนเจ้าของภาษา
2. ไม่ใส่รายละเอียด
หัวใจสำคัญของเรซูเม่ คือ การนำเสนอประวัติการทำงานของคุณ อย่าระบุเพียงแค่ที่ทำงานโดยไม่มีรายละเอียดหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายในงานนั้นๆ เป็นอันขาด เนื่องจาก HR คาดหวังที่จะอ่านขอบเขตงานที่คุณเคยทำประกอบการตัดสินใจเรียกตัวเข้ามาสัมภาษณ์ อย่างไรก็ตาม ผลงานและโปรเจคงานที่คุณทำแล้วสำเร็จ มีหลักฐานชัดเจน ย่อมให้น้ำหนักมากกว่ารายละเอียดของงานเพียงอย่างเดียว คุณต้องใส่เป็นลำดับแรกๆ เพิ่มความน่าเชื่อถือของโปรไฟล์ในรูปแบบของ Bullet Point เป็นข้อๆ สะดวกต่อการอ่าน
3. พยายามใช้คำพูดสวยหรู
หยุดความคิดที่ว่า ยิ่งยาว = ยิ่งดี ได้แล้ว เรซูเม่ที่มีแต่น้ำใช้คำพูดสวยหรู เวิ่นเว้อให้ยืดยาวเหมือนอ่านนิยายไม่ได้มีความน่าสนใจมากพอที่ HR จะอ่านได้จนจบ อีกทั้งการใช้คำฟุ่มเฟือย อลังการประหนึ่งเปิดตัวมิสแกรนด์จะยิ่งสร้างความคาดหวังให้กับตัวผู้สัมภาษณ์ที่มีต่อคุณขึ้น นั่นหมายความว่าหากคุณทำได้ไม่ดีพอเหมือนอย่างที่ระบุไว้ในเรซูเม่ พวกเขาจะผิดหวังและมองคุณไม่ดี ทางที่ดีเนื้อหาควรเน้นสั้น กระชับ อ่านง่าย ได้ใจความดีกว่า
4. ไม่ใส่ข้อมูลติดต่อ
ไม่ใช่ก็ต้องเชื่อว่า ทุกวันนี้ยังมีคนลืมใส่ข้อมูลติดต่อหรือเลวร้ายไปกว่านั้นใส่ข้อมูลผิดทำให้ HR ไม่สามารถติดต่อได้ โดยปกติแล้ว เรซูเม่ที่ดีจะมีการจัดสรรพื้นที่ (Layout) ให้ใส่ข้อมูลสำคัญในพื้นที่ที่เห็นได้ง่าย เช่น ส่วนบนสุดถัดจากชื่อ หรือตรงคอลัมน์แรกด้านซ้ายมือ >> โหลดแบบฟอร์มเรซูเม่ได้ที่นี่
5. เลือกเทมเพลตผิดชีวิตเปลี่ยน
ก่อนยื่นใบสมัครทุกครั้ง จำเป็นอย่างยิ่งที่คุณต้องรู้ถึงวัฒนธรรมองค์กรและตำแหน่งงานที่สมัคร การเลือกเทมเพลตเรซูเม่ที่ไม่เข้ากับตำแหน่งงานและจริตของ HR อาจทำเสียเรื่องเอาได้ ถ้าคุณสมัครงานที่ไม่ต้องการความคิดสร้างสรรค์ เน้นความเป็นวิชาการ เป็นบริษัทอนุรักษ์นิยม ควรเลือกเทมเพลตแบบเป็นทางการ ในขณะที่บริษัทสตาร์ทอัพ นำทีมด้วยคนรุ่นใหม่ที่เปิดกว้างมากกว่า คุณอาจใช้เทมเพลตแบบ Creative Resume แต่ต้องไม่ใช่โทนสีที่ฉูดฉาด หรือมีความ ‘เยอะ’ เกินพอดี
นอกจากนี้ ความพยายามยัดข้อมูลทุกสิ่งให้เหลือหน้าเดียว โดยคุณต้องจำใจลดขนาดตัวอักษรให้เล็กที่สุดนั้น ไม่ใช่ทางเลือกที่ดี อาจอะลุ่มอล่วยเพิ่มเป็นเรซูเม่ 2 หน้า หรือตัดทอนคำที่ไม่จำเป็นด้วยการสรุปเฉพาะใจความสำคัญก็ได้ไม่ผิดอะไร
6. รูปแบบไฟล์ไม่รองรับ ATS
ปัจจุบัน Applicant Tracking System เข้ามามีบทบาทสำคัญโดยเฉพาะกับองค์กรใหญ่ ซึ่งช่วยให้ HR สามารถเก็บข้อมูลจากเรซูเม่ที่ถูกส่งมาตั้งแต่หลักร้อยถึงหลักหมื่นได้ในเวลาอันสั้น จงมั่นใจว่าไฟล์ที่คุณส่งเป็นไฟล์ที่ใช้กันโดยปกติที่ทั่วไปอย่าง PDF หรือ Word (ทางเลือกสุดท้าย) และต้องอยู่ในรูปแบบที่สามารถอ่านได้ (Readable) คือ ไม่ใส่รหัส ป้องกันการคัดลอก หรือแม้แต่การตัดแปะข้อความแบบรูปภาพที่เครื่องจะไม่สามารถตรวจจับข้อความได้
7. ชื่อไฟล์พาซวย
ผู้สมัครหลายคนไม่ได้ให้ความสำคัญกับการตั้งชื่อไฟล์สักเท่าไหร่ แต่ HR บางบริษัทให้ความสนใจ เหตุผลก็เพราะว่า ชื่อไฟล์สามารถบอกอะไรได้หลายอย่าง
- ตั้งชื่อไฟล์เป็นชื่อเล่น Fern_Resume / Resume Aob : จะเวิร์คถ้าไม่ได้สมัครในบริษัทหรือตำแหน่งที่ต้องการความน่าเชื่อถือ
- ตั้งชื่อไฟล์เป็นเวอร์ชั่น Latest updated resume / Resume 6 : HR สามารถเดาได้ว่าคุณสมัครมากี่ที่ แก้ไขไฟล์มากี่รอบ
- ตั้งชื่อไฟล์เป็นวันเดือนปีที่สมัคร Resume2019 / July2020 : HR ต้องขอบคุณแล้วที่คุณอุตส่าห์ส่งเรซูเม่ที่แก้ไขเมื่อสองปีที่แล้วมาสมัครใหม่ในปีนี้ 🙄
คำแนะนำ : ควรตั้งชื่อไฟล์เป็นชื่อและนามสกุลของคุณก็พอแล้ว ถ้าส่งซ้ำไปที่อื่นก็ไม่มีใครรู้ ความโป๊ะจะได้เป็นศูนย์
8. เขียนเรซูเม่อันเดียวครอบจักรวาล
คนไทยส่วนใหญ่พยายามเขียนเรซูเม่อันเดียวให้ครอบคลุมทุกตำแหน่งที่สมัคร คือ เขียนให้ดูกลางๆ เข้าไว้จะได้ใช้สมัครรัวๆ แต่ในความเป็นจริงนั้นการเขียนเรซูเม่อันเดียวครอบจักรวาลเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นคุณต้องจัดการแก้ไข และปรับแต่งเรซูเม่ให้สอดคล้องกับแต่ละตำแหน่งที่สมัครไปทุกครั้ง เพราะ HR จะแสกนหาคีย์เวิร์ดที่พวกเขาใช้ประจำซึ่งมักจะปรากฏบนประกาศรับสมัครงาน โดยถ้าคุณปรับให้เรซูเม่มีคำเหล่านั้น จะเพิ่มโอกาสให้ HR หยุดอ่านและให้ความสนใจในโปรไฟล์นั่นเอง
การเขียนเรซูเม่คือศาสตร์ของการเล่าเรื่อง ใครเล่าเรื่องเก่ง...คนนั้นชนะ
ที่มา : BusinessNewsDaily
Jitkarn Sakrueangrit
Graphic & Web Designer, Content Creator,
Copywriter, Marketing Specialist
คุณน่าจะชอบเรื่องเหล่านี้
วิธีเขียนเรซูเม่สมัครงาน ฉบับ Creative Resume
สมรภูมิการหางานที่เข้มข้นทำให้ HR ต้องอ่านเรซูเม่กว่าร้อยใบในแต่ละวัน ป้องกันไม่ให้ใบสมัครเราถูกเขี่ยทิ้งใน 5 วินาที ด้วยการเขียนเรซูเม่สมัครงานแบบครีเอทีฟสิ
Remote Working ทำงานทางไกลดีต่อใจจริงไหม
ชินชากับการ WFH จนกลายเป็น New Normal ของตัวเองไปแล้ว จะกลับไปทำงานที่ออฟฟิศที่มากคนมากความอีกก็กลัวว่าจะรับมือไม่ไหว ก็หางาน Remote Working ไปเลยสิ!