ตามยังไง? ถ้าส่งเรซูเม่สมัครงานไปแล้วเงียบ
ยิ่งรอนาน ยิ่งทรมานใจ…
หลังจากที่คุณส่งใบสมัครพร้อมแนบเรซูเม่ที่ทำอย่างสุดความสามารถไปแล้วหลายที่ ขั้นตอนการรอที่ไม่มีวี่แววว่า HR จะติดต่อกลับมานั้นจะทำให้คุณท้อเพราะรู้สึกเหมือนตัวเองควบคุมอะไรไว้ไม่ได้เลย ประกอบกับระยะเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด ยิ่งทำให้คุณกดดันตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ จะติดตามผลการยื่นใบสมัครก็เกรงว่าเป็นการหักหน้าฝ่ายบุคคคล เผลอๆ อาจถูกเกลียดจนโดนเขี่ยใบสมัครทิ้งไปเลย ทำยังไงดีนะ
เช็คลิสต์ คุณไม่ได้ทำผิดพลาดในขั้นตอนการสมัครใช่หรือไม่
✅ คุณปฏิบัติตามกฏที่ระบุไว้ในประกาศรับสมัครทุกประการ
✅ คุณสมัครผ่านช่องทางที่ถูกต้อง
✅ คุณไม่ได้สมัครงานมั่วๆ โดยบางงานแทบจะไม่ตรงกับคุณสมบัติคุณเลย
✅ คุณไม่ได้กดสมัครรัวๆ หลายตำแหน่งในบริษัทนั้นๆ บริษัทเดียว
✅ คุณตรวจสอบเรซูเม่ของคุณอีกครั้ง ไม่มีการใส่ชื่อ เบอร์ อีเมล์ผิด
✅ เรซูเม่ของคุณรองรับกับระบบ ATS (ไม่ได้เป็นไฟล์รูปภาพหรือฟังก์ชั่นป้องกันการอ่าน)
>> อ่านเพิ่ม สมัครงานไปแต่ทำไม HR ไม่เรียก
ตามหลักแล้วหากคุณรอนานเกิน 10 วันแล้วแต่ยังไม่มีความคืบหน้า คุณสามารถติดตามผลการยื่นใบสมัครกับ HR ได้เป็นปกติ ไม่ได้ทำให้คุณดูแย่ คุณอาจลองเทคนิคในการติดตามผลสมัครงานได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
เลือกอ่านเฉพาะหัวข้อ
สอบถาม ‘คนใน’ ผ่านลิงค์อิน
ต้องขอบคุณผู้สร้างแพลตฟอร์มของคนทำงาน LinkedIn ขึ้นมา ทำให้คุณตรวจสอบได้ว่าในบริษัทดังกล่าวมีคนที่คุณรู้จักอยู่ไหม เพียงกดค้นหาชื่อบริษัทและเช็คว่าใครเป็นพนักงานปัจจุบันของที่นั่นบ้าง หากคุณมี connection ที่เชื่อมต่อกันอยู่แล้ว ก็สามารถเข้าไปสอบถามได้เลยว่า เขารู้จักคนที่ดูแลตำแหน่งงานที่คุณสมัครนี้หรือไม่ บางทีวงในอาจให้คำตอบที่ชัดเจนกับคุณได้ว่าตำแหน่งงานนี้ได้คนไปแล้ว หรือขั้นตอนการจ้างคนถูกระงับชั่วคราวด้วยเหตุผลใด
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายในการใช้ลิงค์อินให้เกิดประโยชน์ คือ ในกรณีที่ประกาศรับสมัครงานไม่ได้ระบุว่าใครคือผู้ดูแลตำแหน่งงาน การตามหา ‘ชื่อ’ ผู้ดูแลตำแหน่งงานให้ชัวร์ ทำให้ง่ายในการอีเมล์หรือโทรเข้าไปสอบถามได้โดยตรง เพราะถ้าหากบริษัทที่มีพนักงานจำนวนมากและมีโอเปอเรเตอร์คอยรับสาย การระบุชื่อคนจะช่วยให้กระบวนการในการติดตามผลใบสมัครง่ายขึ้นอีกเป็นเท่าตัว
ส่งอีเมล์แจ้งเตือน
กลับไปอ่านประกาศรับสมัครงานในย่อหน้าสุดท้ายที่มักจะมีข้อมูลผู้ติดต่อในกรณีที่เกิดปัญหาอยู่ ซึ่งคุณสามารถส่งอีเมล์อีกครั้งเพื่อติดตามผล เหมือนเป็นการแจ้งเตือนอย่างสุภาพ โดยคุณสามารถเลือกวิธีการติดตามได้จาก 2 กรณีดังต่อไปนี้
กรณีส่งอีเมล์ติดตามผล
กลับไปเช็คอีเมล์ที่คุณเคยส่งออกจากนั้นคลิก Forward เพื่อใช้อีเมล์นี้เป็นอีเมล์อ้างอิงว่าคุณเคยส่งอีเมล์ไปก่อนหน้านี้แล้วแต่ไม่มีการติดต่อกลับ วิธีการนี้จะทำให้ HR ตรวจสอบวันเวลาที่คุณส่งอีเมล์ฉบับก่อนหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยคุณจะเขียนหัวข้ออีเมล์ใหม่ (ลบ fwd ออกจากหัวข้อไปเลย) ระบุให้ชัดเจนว่า “ติดตามผลการยื่นใบสมัคร ตำแหน่ง …” โปรดใช้เนื้อหาเพียงย่อหน้าเดียว แจ้งชื่อ นามสกุล และสอบถามสถานะการยื่นใบสมัครในตำแหน่งที่สมัคร ซึ่งคุณสามารถแสดงเหตุผลว่าทำไมคุณยังสนใจงานหรือไฮไลท์ทักษะที่คุณมีที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งที่สมัคร ก่อนจะปิดท้ายด้วยประโยค Call-to-action อย่าง
- กระผม/ดิฉัน หวังว่าจะได้พูดคุยกับคุณโดยเร็วที่สุดเพื่ออธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมในเรซูเม่ที่แนบไปนี้
- หวังเป็นอย่างยิ่งว่าคุณจะติดต่อกลับเพื่อแจ้งผลหลังจากได้รับอีเมล์ฉบับนี้
- หากมีข้อสงสัยหรือต้องการเอกสารเพิ่มเติม กรุณาติดต่อที่ โทร. xxx-xxx-xxxx
กรณีส่งอีเมล์สมัครใหม่
หากคุณรู้สึกไม่สบายใจในการติดตามผลสัมภาษณ์ หรือคิดว่าอีเมล์ของคุณไม่ถึง ตกหล่นไป โดยการสมัครใหม่ดูจะเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจและมีเปอร์เซ็นต์มากกว่า คุณร่างอีเมล์ชึ้นมาใหม่ เสมือนว่าคุณไม่เคยสมัครกับที่นี่มาก่อน แต่ครั้งนี้ต้องเปลี่ยนวิธีการเขียนจากเดิม เริ่มตั้งแต่การเขียนอีเมล์แบบ Cover Letter แล้วแนบเรซูเม่ที่ทำการปรับแต่งเพิ่มเติมให้เหมาะสมกับตำแหน่งงานที่สมัครมากยิ่งขึ้น (อย่าส่งอะไรเดิมๆ แต่หวังผลที่แตกต่าง!)
โทรสอบถามให้ชัวร์
ถ้าการส่งอีเมล์ย้ำแล้วก็ยังไร้วี่แวว ไม่มีการตอบกลับเหมือนเดิม การโทรสอบถามอาจเป็นตัวชี้ชะตาว่าคุณจะอยู่หรือจะไปแบบไม่ต้องเดาให้ว้าวุ่นใจ จุดประสงค์ของการโทรคือการติดตามผลไม่ใช่ต่อว่าหรือแสดงท่าทีน้อยใจ Be professional, not emotional! ระวังโทนเสียงและคำพูดที่คุณใช้ในการสื่อสารให้ดี การโทรติดตามผลอย่างสุภาพมักเรียงลำดับได้ดังนี้
- ทักทาย HR ด้วยชื่อจริง
- แนะนำตัวเองอย่างเป็นทางการ
- ถามสารทุกข์สุกดิบพอเป็นพิธี “เป็นยังไงบ้างครับ/คะ”
- บอกไปเลยว่าคุณกำลังติดตามสถานะใบสมัคร HR ได้รับใบสมัครของคุณหรือยัง
- คงความเป็นมืออาชีพ แต่ใช้น้ำเสียงสุภาพเป็นกันเอง
- ขอบคุณที่เขาสละเวลาเช็คข้อมูลให้ (ไม่ว่าผลจะดีหรือแย่ก็ตาม)
Jitkarn Sakrueangrit
Graphic & Web Designer, Content Creator,
Copywriter, Marketing Specialist
คุณน่าจะชอบเรื่องเหล่านี้
รวม 7 ขั้นตอนที่คนอยากเปลี่ยนสายงานต้องอ่าน
เมื่อเปลี่ยนงานอย่างเดียวไม่ใช่ทางออกอีกต่อไป ก็เปลี่ยนสายงานไปเลยสิคะ เออ! พลิกชีวิตคนทำงานให้ปัง…เตรียมตัวอย่างไรหากต้องเปลี่ยนสายอาชีพ
เขียนเรซูเม่ทั้งทีอย่าให้มีข้อผิดพลาดแบบนี้
หนังสือไม่น่าอ่านเพียงเพราะหน้าปกไม่สวยงาม HR ตัดสินคุณด้วยเรซูเม่เพียงแผ่นเดียว ข้อผิดพลาดที่ไม่ควรมีบนเรซูเม่คนสมัครงานต้องรู้!