เขียนเรซูเม่อย่างไรดี…ถ้าว่างงานมานานเป็นปี

ตกงาน ไม่มีงานทำมานานจนประวัติงานเสีย ไม่ต่อเนื่อง เขียนเรซูเม่ยังไงให้นำเสนอช่วงว่างงานได้อย่างมือโปร ไม่ถูกฝ่ายบุคคลโยนใบสมัครทิ้งไปเสียก่อน

ปัญหาหนักใจของใครหลายคนที่ตกงานเกือบปี จนประวัติงานเสีย เป็นช่องโหว่ในเรซูเม่ที่นอกจากจะดูไม่สวยงามแล้วยังสร้างความยากลำบากในการสมัครงานใหม่อีกด้วย ยิ่งได้รับผลกระทบจากโควิดที่ทำให้หลายบริษัทปิดตัว ตลาดแรงงานชะลอการรับพนักงานใหม่ ก็ยิ่งทำให้ช่องว่างของการว่างงานขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ

เช็คลิสต์​ คุณกำลังทำผิดอยู่หรือเปล่า
❌ ใส่แค่ปีกว้างๆ เพื่อไม่ให้ผิดสังเกตุว่าว่างงานมานาน
❌ เขียนเหตุผลเว่อร์วังจนทำให้ HR จับไต๋ได้ว่าไม่เป็นความจริง
❌ จริงใจเกิน ระบุทุกช่วงเวลาที่ว่างงานตั้งแต่หลายปีที่แล้ว
❌ เลือกไม่ใส่มันลงไปเลยตั้งแต่แรกเป็นการตัดปัญหา

หากคุณเป็นหนึ่งในพนักงานที่ถูกเลิกจ้างหรือถูกพักงานเนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน อย่าเพิ่งสิ้นหวังหมดกำลังใจ การตกงานไม่ใช่จุดจบของชีวิต ลองใช้เทคนิคต่อไปนี้เพื่อพลิกสถานการณ์จากร้ายให้กลายเป็นดีกันเถอะ

เลือกอ่านเฉพาะหัวข้อ

1. ซื่อสัตย์ โปร่งใส ไม่ปกปิดข้อมูล

อย่าเพิ่งตีตนไปก่อนไข้ กลัวว่า HR จะปัดใบสมัครของคุณทิ้งหากใส่ข้อมูลว่าคุณว่างงานด้วยเหตุผลใด เพราะมันเป็นเรื่องปกติที่คนจะว่างงานในยุคนี้ การเลือกที่จะไม่ใส่ก็เท่ากับว่าคุณกำลังพยายามปกปิดข้อมูลบางอย่าง ทำให้พวกเขายิ่งอยากรู้ว่าคุณหายไปไหน หรือแม้กระทั่งทึกทักเอาเองต่างๆ นานาว่าคุณอาจทำอะไรไม่ดีเอาไว้ก็เป็นได้ ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่คุณต้องระบุข้อมูลกำกับไว้ด้วยในเรซูเม่ โดยเหตุผลหลักๆ ที่นิยมใช้กัน มีน้ำหนักมากพอที่จะซื้อใจฝ่ายบุคคลอีกครั้งคือ…

  • บริษัทปรับโครงสร้าง : เหตุผลตกงานยอดฮิตช่วงโควิดระบาด ด้วยสถานการณ์การเงินที่ไปต่อไม่ไหว ทำให้ทางเลือกการปลดพนักงานออกเป็นเรื่องเข้าใจได้ การตกงานแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าคุณไม่เก่งพอจนถูกตัดออกแต่เป็นปัจจัยภายนอกมากกว่า
  • ทำธุรกิจส่วนตัวแล้วไม่รอด : คุณออกไปตามความฝันเป็นนายจ้างตัวเอง แต่ด้วยพิษเศรษฐกิจหรืออะไรก็ตามที่ทำให้ธุรกิจไปต่อไม่ได้ การกลับมาเป็นมนุษย์เงินเดือนอีกครั้งเป็นเรื่องยอมรับได้ ด้วยประสบการณ์ที่คุณสั่งสมมาในอดีตซึ่งหาไม่ได้จากงานออฟฟิศ​ สามารถนำกลับมาต่อยอดได้นั่นเอง
  • ปัญหาด้านครอบครัว : เนื่องจากครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตที่เราต้องรับผิดชอบ การลาออกไปเคลียร์ปัญหาครอบครัว จัดการธุระสำคัญต่างๆ หรืออาจรวมถึงเข้าไปช่วยพยุงกิจการครอบครัวเป็นเหตุผลที่ฟังขึ้น
  • ค้นหาตัวเอง : เมื่อการเป็นมนุษย์เงินเดือนไม่ได้ตอบโจทย์ด้านการใช้ชีวิตของคุณครบทุกด้าน คุณอาจลองออกไป ‘ใช้ชีวิต’ ดูบ้าง อาจเป็นการลาออกเพื่อไปท่องเที่ยวรอบโลกสักหลายเดือน เหมือนเป็นช่วง Gap Year ที่ชาวตะวันตกทำกันจนเป็นเรื่องปกติ หรือแม้กระทั่งออกมาทุ่มเวลาเรียนต่อปริญญาโท ปริญญาเอก เพื่อความก้าวหน้าในสายงาน
  • การเจ็บป่วย : เป็นเรื่องที่ห้ามกันไม่ได้ หากวันหนึ่ง อาการย่ำแย่จนส่งผลกระทบต่อการทำงาน การที่คุณลาออกเพื่อมาพักรักษาตัว รวมถึงดูแลพ่อแม่ที่ป่วยที่บ้านเป็นสิ่งที่ควรกระทำอย่างยิ่ง ด้วยความรับผิดชอบนี้ HR จะต้องเข้าใจอย่างแน่นอน

2. อย่าปล่อยให้ตัวเองว่าง

วิธีการรับมือที่ดีที่สุด คือ พยายามไม่ให้มีช่องว่างการว่างงานนี้เสียตั้งแต่ทีแรก มันอาจจะฟังดูพิลึกถ้าจะบอกว่าคุณสามารถลดช่องว่างของการว่างงานนี้ลงได้ด้วยตัวเอง! อย่าปล่อยให้ตัวเองว่างและปล่อยให้เวลาผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ กลายเป็นคนว่างงานโดยสมบูรณ์ซึ่งรังแต่จะทำให้คุณดูสิ้นหวังและไร้คุณค่า เริ่มต้นมองหางานอดิเรก สิ่งที่ชอบ งานพาร์ทไทม์ หรืองานฟรีแลนซ์ทำ อย่างน้อยคุณจะได้มี ‘อะไร’ จะพูดในตอนสัมภาษณ์งานบ้าง ยิ่งถ้าหากสิ่งเหล่านั้นเป็นการลับคมมีดทักษะความสามารถของคุณแล้ว ยิ่งจะทำให้พวกเขาตัดสินใจรับคุณเข้าทำงานได้ง่ายขึ้น

ทางเลือกที่หลายคนนิยมใช้กันในช่วงโควิด คือ การเรียนออนไลน์เพิ่มเติม แม้คุณไม่มีงานประจำทำ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าชีวิตของคุณต้องหยุดอยู่กับที่ไปด้วย คุณเลือกใช้เวลาไปกับการซุ่มพัฒนาฝีมือตนเอง รวมถึงการพิจารณาจุดยืนของตัวเองอย่างถ่องแท้ (Self-Inventory) ประเมินสิ่งที่คุณมี จุดแข็ง และจุดอ่อน หรือสิ่งที่คุณขาด นำไปสู่การสร้างโอกาสการงานในอนาคต แค่ฟังดูก็รู้สึกได้ถึงความฮึกเหิม ถ้าคุณทำมันจริงๆ ก็ไม่จำเป็นต้องกังวลใจเลยว่าจะหางานยากเพราะว่างงานมานาน

3. เขียน Cover Letter ให้รองรับ

แทนที่จะเสียพื้นที่บนเรซูเม่ไปกับการอธิบาย บางทีคุณอาจใช้ จดหมายสมัครงานทีถูกใช้เขียนปะหน้าส่งไปสมัครงานตามบริษัทต่างๆ ในอีเมล์ อธิบายถึงเหตุผลการว่างงานของตัวเอง เพราะมันมีพื้นที่มากกว่า ซึ่งหมายถึงโอกาสที่มากกว่าใส่รายละเอียด โดยวิธีการที่มักใช้กันก็คือ การเขียนอย่างตรงไปตรงมาแต่ใจความกระชับ โดยเฉพาะถ้าหากคุณมีการเปลี่ยนสายงานด้วยแล้ว พื้นที่ตรงนี้ก็เหมือนกับเวทีที่ให้คุณแสดงความคิดเห็น โชว์สิ่งที่คุณมีที่สามารถต่อยอดได้ในตำแหน่งงานใหม่นี้เอง แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่จะอ่าน Cover Letter ดังนั้นการใส่ข้อมูลสั้นๆ ลงบนเรซูเม่ รวมถึงการเตรียมตัวตอบคำถามนี้ในช่วงการสัมภาษณ์งานยังเป็นสิ่งจำเป็นอยู่เสมอ

🔗 อ่านเพิ่ม ว่างงานมานานเป็นปี เตรียมสัมภาษณ์งานยังไงดีให้เวิร์ค

 ตัวอย่างเหตุการณ์ :

ในช่วงระหว่างว่างงานตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์จนถึงตอนนี้ (กันยายน) ผมมีโอกาสได้ไปเป็นอาสาสมัครในการช่วยเหลือผู้ป่วยโควิดในโรงพยาบาลสนาม ซึ่งมันทำให้ผมเล็งเห็นถึงความสำคัญของระบบการจัดการต่างๆ เพราะถ้าหากการวางแผนของคุณไม่มีประสิทธิภาพมากพอ ทุกวินาทีที่เสียไปอาจแลกมากับชีวิตของใครคนหนึ่ง การทำงานภายใต้แรงกดดันมหาศาลและเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดมันทำให้ผมต้องใช้วิสัยทัศน์สร้างแผนสำรองหลายแผนเพื่อครอบคลุมกับทุกเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ และตอนนี้ผมพร้อมที่จะกลับมาทำงานในตำแหน่งผู้จัดการโครงการอีกครั้ง ด้วยประสบการณ์ที่มีมากกว่าเดิม

4. เปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอ

รูปแบบ A : เรียงตามลำดับเหตุการณ์

ในกรณีที่ไม่ได้มีช่องว่างของการทำงานหลายรอบ คุณอาจพิจารณาการเขียนแบบที่นิยมใช้การคือการเรียงตามลำดับเหตุการณ์แบบปกติ (Chronological Order) โดยเรียงลำดับจากเหตุการณ์ล่าสุดย้อนกลับไปยังเหตุการณ์ก่อนหน้า ให้เน้นรายละเอียดตรงประสบการณ์การทำงานเหมือนเดิม แต่เมื่อถึงช่วงระหว่างว่างงานให้ระบุเหตุผลเพียงสั้นๆ กระชับได้ใจความ ความยาวเพียง 1-2 บรรทัด

มีนาคม 2019 – มิถุนายน 2021
ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ได้รับบาดเจ็บสาหัส หลังจากพักรักษาตัวด้วยกายภาพบำบัดอยู่หลายเดือน ดิฉันกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติอีกครั้ง

คุณจำเป็นต้องซื่อสัตย์ก็จริง แต่การที่คุณใส่ทุกช่วงว่างของการว่างงานลงไปในเรซูเม่ เช่น การข้อมูลการว่างงานตั้งแต่ 6-7 ปีที่แล้วจะยิ่งทำลายภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือลงไปเรื่อยๆ ดังนั้น เลือกใส่เฉพาะเหตุการณ์ปัจจุบัน 1-3 ปี แต่ยังคงต้องอธิบายในขั้นตอนการสัมภาษณ์หากผู้สัมภาษณ์ถามถึง ในขณะที่การว่างงานเพียงไม่กี่เดือน การให้เหตุผลว่า อยู่ในช่วงหางาน ก็เพียงพอแล้ว

รูปแบบ B : แบบผสมผสาน Hybrid

ในกรณีที่คุณไม่มีเหตุผลที่มีน้ำหนักมากพอ และไม่ต้องการให้การว่างงานเป็นจุดสนใจมากเกินไป อาจลองใช้รูปแบบเรซูเม่แบบไฮบริดที่ผสมผสานระหว่างเรซูเม่แบบเน้นทักษะ (Functional Resume) และแบบเรียงลำดับเหตุการณ์ (Chronological) โดยคุณจะต้องสรุปคุณสมบัติ และลิสต์รายการทักษะความสามารถออกมาเป็นข้อๆ ในครึ่งแรกของเรซูเม่ จากนั้นจึงตามด้วยประวัติการทำงานที่เป็นไทม์ไลน์เหตุการณ์เหมือนเดิม

กล่าวโดยสรุป ก็คือ คำอธิบายการว่างงานของคุณจะเป็นตัวชี้วัดว่าคุณมีความพร้อมในการกลับมาทำงานหรือไม่ การเลือกที่จะไม่ระบุเหตุผลหรือปิดบังจะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายมากกว่า ในขณะเดียวกันความซื่อสัตย์ของคุณจะช่วยให้พวกเขาเห็นในความจริงใจ โดยคุณอาจเสริมในขั้นตอนการสัมภาษณ์ว่าเหตุการณ์นี้จะไม่มีทางเกิดขึ้นอีกเพื่อสร้างความมั่นใจให้พวกเขาว่าคุณจะไม่ออกจากงานกลางคัน และอย่าลืมพูดถึงสำเร็จหรือทักษะที่คุณเก็บเกี่ยวในช่วงระหว่างว่างงานเพื่อตอกย้ำความพร้อมในการกลับมาสู่โลกของการทำงานอีกครั้ง

ที่มา : Forbes, Zety

แชร์บทความ :
Jitkarn Sakrueangrit

Jitkarn Sakrueangrit

Graphic & Web Designer, Content Creator,
Copywriter, Marketing Specialist

คุณน่าจะชอบเรื่องเหล่านี้

วิธีเขียนเรซูเม่สมัครงานแบบเป็นทางการ by Find Your Job

วิธีเขียนเรซูเม่แบบเป็นทางการ

จะมือใหม่หัดทำเรซูเม่ หรือมือเก๋าปรับเรซูเม่ให้เป็นแบบทางถูกหลักสากลก็เป็นเรื่องจิ๊บๆ ด้วยขั้นตอนการเขียนเรซูเม่แบบเป็นทางการที่ทำตามได้ ง่ายนิดเดียว!

อ่านเลย »
ตามยังไง ถ้าส่งเรซูเม่สมัครงานไปแล้วเงียบ by Find Your Job

ตามยังไง? ถ้าส่งเรซูเม่สมัครงานไปแล้วเงียบ

ส่งใบสมัครไปนาน ผ่านไปหลายวัน HR ก็ยังเงียบเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น หรือนี่จะเป็นคำปฏิเสธอ้อมๆ กันแน่นะ ตามใบสมัครงานยังไงให้ดูไม่น่าเกลียด?

อ่านเลย »

คุณรับทราบและยินยอมว่า การใช้งานเว็บไซต์นี้มีการเก็บข้อมูลคุ๊กกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ในการใช้บริการ อ่านข้อมูลเพิ่มเติม