หา Passion ในการทำงานสู่การค้นพบ ‘งานที่ใช่’

กำลังมองหาสิ่งที่ใช่ งานในฝันที่คุณจะรู้สึกชอบและรักจนอยากจะตื่นมาทำงานทุกวันด้วยพลังใจที่เต็มเปี่ยมอยู่ใช่ไหม นี่คือเคล็ดลับที่คุณต้องอ่าน!

บ่อยครั้ง ที่เรามักได้ยินคำแนะนำจากคนอื่นว่า ‘ถ้าหากเราได้ทำสิ่งที่รัก เราจะไม่รู้สึกเลยว่าตัวเองกำลังทำงานอยู่ ’ คำพูดที่ฟังดูสวยหรูและผลักดันให้ใครต่อใครต่างก็เชื่อว่า ชีวิตของพวกเขาจะสำเร็จได้…แค่เริ่มได้ทำสิ่งที่ชอบ เพราะภาพจำของมนุษย์เงินเดือนที่เราคุ้นเคย มักจะเป็นภาพลบๆ เสมอ เช่น เกลียดเช้าวันจันทร์ ทำงานหนักจนกลับบ้านดึกดื่น เหมือนการทำงาน = การไม่มีความสุขยังไงยังงั้น จึงเกิดการตั้งคำถามว่าถ้าเราเปลี่ยนสิ่งที่เราชอบที่จะทำมันในทุกๆ วัน เป็นงานที่สามารถสร้างรายได้ คงไม่ต้องทนทุกข์ทรมานกับชีวิตแบบนั้นเป็นแน่ ประเด็นก็คือ บางคนยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเอง ชอบทำอะไร หรือ เก่งอะไร xไม่แปลกที่พวกเขายังคงวนเวียนอยู่ในวังวนที่สุดแสนจะเจ็บปวดอย่างไร้จุดหมาย 

จากการสำรวจของเว็บไซต์ Indeed พบว่ากว่า 60% ของนายจ้างเชื่อว่า การขาดแพชชั่นในการทำงานเป็นสาเหตุที่ทำให้พนักงานบางคนทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร ในขณะที่นายจ้างอีก 76% ก็ยังไม่เชื่ออีกว่าแพชชั่นเป็นเรื่องที่สามารถเรียนรู้ได้ นั่นหมายความ ว่า ถ้าคุณอยากทำงานอาชีพหนึ่งในระยะยาวโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือเปลี่ยนสายงานเพราะไม่มีความสุข เครียด ไม่มีแรงบันดาลใจ สิ่งสำคัญ คือ คุณต้องคำนึงถึงเรื่องที่ทำให้คุณหลงใหลนั่นเอง

ใช่แล้ว! เมื่อคุณหลงใหลในสิ่งที่คุณทำ นั่นอาจทำให้งานที่น่าเบื่อ ดูน่าเบื่อน้อยลง แถมยังเป็นงานเดียวกับที่เติมเต็มให้ชีวิตสมบูรณ์มากขึ้น ถึงเวลาที่เราจะออกเดินทางตามหาตัวตนที่แท้จริงของเราแล้วหละ

เลือกอ่านเฉพาะหัวข้อ

1. มองหาร่องรอยของความสุขในแต่ละวัน

หลังจากเลิกงานในแต่ละวัน ลองใช้เวลาทบทวนถึงสิ่งที่คุณได้ทำมาทั้งหมดอย่างละเอียด โฟกัสถึงสิ่งที่ทำให้คุณรู้สึกตื่นเต้น สนใจ ประทับใจหรือพึงพอใจกับงาน รวมทั้งกิจกรรมบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงแค่วันเดียวในหลายๆ สัปดาห์ก็ตาม อาจมีช่วงเวลาที่คุณตั้งหน้าตั้งตารอด้วยเหตุผลบางประการ ไปจนถึงการประชุม งานที่ได้รับมอบหมายที่ตอนแรกอาจดูไม่น่าสนุกเท่าไหร่ แต่กลับจบลงด้วยการเป็นพาร์ทที่ดีที่สุดของวันนั้น อย่าเผลอมองข้ามสิ่งที่ดูไม่สำคัญเหล่านี้ เพราะคุณอาจสังเกตเห็นร่องรอยความสุข ซึ่งสามารถเป็น Passion ที่คุณเฝ้าตามหาอยู่ก็ได้

นอกจากนี้ เรื่องพีคๆ ของวันอาจไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในที่ทำงานเท่านั้น บางครั้งคุณก็พบว่าคุณมีความปรารถนาอย่างแรงกล้า ดวงตาเป็นประกาย ไฟลุกโชนอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัวเมื่อใช้เวลาส่วนตัวอยู่กับตัวเอง เพื่อนและครอบครัว ให้ความสนใจในเรื่องที่คุณสนุกไปกับการพูดถึง ชื่นใจเวลาได้ดื่มด่ำไปกับสิ่งนั้นๆ มันเกิดขึ้นที่ใดและกับใคร อันนำไปสู่การเข้าใกล้ไปอีกก้าว คล้ายกับการเก็บหลักฐานรวมรวบข้อมูลเพื่อไปหาต้นตอของเรื่องทั้งหมด

2. ใส่ใจกับสิ่งที่คุณใช้เวลาและเงินไปกับมัน

คนเรามักใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดไปกับสิ่งที่มีความหมายต่อเรา ดังนั้น ตัวชี้วัดอย่างเวลาและเงินทอง อาจบอกใบ้พาชชั่นที่คุณกำลังตามหา จงตรวจดูใบเรียกเก็บเงินบัตรเครดิต บิลแจ้งยอดชำระต่างๆ เช็คดูว่ามีหัวข้อใดที่น่าสนใจและมีนัยสำคัญบ้าง เช่น หนังสือการเงินที่คุณซื้อเป็นประจำ พอดแคสต์ที่คุณยอมจ่ายเงิน Subscribe งานอีเว้นท์การท่องเที่ยวในต่างประเทศที่คุณยอมลางานไป กรุ๊ปสอนภาษาไทยให้ชาวต่างชาติที่คุณเข้าร่วมทุกสัปดาห์ หรือการที่คุณลืมเวลาเมื่อได้นั่งตัดต่อวิดีโอขำๆ เพื่อสร้างเสียงหัวเราะในกรุ๊ปไลน์

การจดบันทึกว่าคุณใช้เวลาว่างที่มีอย่างไรและมีกิจกรรมใดบ้างที่ทำให้คุณมีความสุขอยู่เสมอ จะยิ่งช่วยให้คุณค้นพบรูปแบบความหลงใหลของตัวเอง โดยเฉพาะสิ่งที่คุณทำเป็นประจำ สม่ำเสมอ และแม้จะผ่านไปนานหลายปี การทำสิ่งนั้นซ้ำอีกรอบก็ยังทำให้คุณรู้สึกเหมือนวันแรกๆ ตลอด

3. คนมักมาถามคุณเรื่องอะไร

การเข้าใจตัวเองเป็นเรื่องสำคัญโดยเฉพาะจุดแข็งของตัวเองอย่างตรงไปตรงมา เพื่อนำข้อดีเหล่านั้นไปปรับปรุงและพัฒนาเสริมสร้างความสตรองให้มากยิ่งขึ้น พรสวรรค์หรือจะสู้พรแสวง! ในกรณีที่คุณก็ยังไม่รู้ว่าตัวเองเก่งหรือเชี่ยวชาญในเรื่องอะไร สามารถค้นหาร่องรอยเหล่านั้นได้ด้วยวิธีการต่อไปนี้

  • การปฏิสัมพันธ์ของคุณกับผู้อื่น : ปฏิกิริยาของคุณนั้นสามารถสะท้อนตัวตนจริงออกมาได้อย่างชัดเจน ลองสังเกตให้ดีว่าคุณมีความสุข รู้สึกดี มีชีวิตชีวาอย่างมากเมื่อตัวเองได้มีโอกาสพูดถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือไม่? เรื่องนั้นคือเรื่องอะไร? ซึ่งตามหลักจิตวิทยาแล้วเรามักมีความมั่นใจและภูมิใจในเรื่องที่เราเก่งและชื่นชอบเป็นการส่วนตัว
  • คนมักมาถามคุณเรื่องอะไร : การเป็นที่ยอมรับจากคนรอบข้างอาจสื่อได้ว่าคุณมีความเชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าวมากเป็นพิเศษ จนทำให้พวกเขานึกถึงคุณเป็นคนแรกๆ เมื่อมีปัญหาในเรื่องที่เกี่ยวข้อง นี่เป็นหลักฐานยืนยันว่าคุณมีทักษะอยู่จริง นำไปสู่ขั้นตอนการพิจารณาในลำกับต่อไปที่ว่า คุณเก่งเรื่องอะไร? แล้วคุณแก้ปัญหาให้ใครได้บ้าง?

4. ลงลึกในรายละเอียด

หลังจากที่คุณได้รวบรวมข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็นข้างต้น (ข้อ 1-3) เรียบร้อยแล้ว ถึงเวลาตกผลึก กลั่นกรองข้อมูลเหล่านั้นเพื่อเฟ้นหาทักษะที่ซ่อนอยู่ในกิจกรรมเหล่านั้น ยกตัวอย่างเช่น คุณพบว่า ไฮไลท์ของแต่ละวัน คือ การไปเป็นอาสาสมัครให้กับโรงเรียน กศน. ภาคค่ำ ก็ให้ตั้งคำถามกับตัวเองต่อ ว่า “การทำกิจกรรมนี้ทำให้คุณมีความสุขได้อย่างไร?” โดยคำตอบของคุณอาจจะเป็น…

  • การสอน
  • การเป็นผู้นำ (ในชุมชน)
  • การช่วยเหลือผู้อื่น
  • การทำพรีเซนเทชั่น
  • การพูดในที่สาธารณะ ฯลฯ

การสำรวจปัจจัยเหล่านี้อย่างลึกซึ้งอาจต้องใช้เวลา แต่มันจะช่วยให้คุณระบุได้ชัดเจน ว่า อะไรเป็นแรงขับเคลื่อนหรือแรงบันดาลใจให้คุณทำสิ่งที่รักได้ เป็นการค้นหาโอกาสในการทำงานที่ตรงกับความสนใจของเรานั่นเอง

5. ใครจะได้ประโยชน์จากคุณบ้าง

จำเป็นอย่างยิ่งที่คุณจะต้องอยู่กับความเป็นจริงที่ว่า ไม่ใช่ทุกแพชชันที่จะสร้างรายได้ให้กับคุณ และในขณะเดียวกันมันอาจเป็นแค่เรื่องของความสนุกที่ทำนอกเหนือจากเวลางานเท่านั้น ซึ่งถ้าคุณทำมันเป็นอาชีพมันอาจเปลี่ยนจากสิ่งที่คุณ ‘รักที่ต้องทำ’ กลายเป็น ‘งานที่ต้องทำ’ จนทำเอาหมดไฟไปอีกรอบก็ได้

 ตัวอย่างเหตุการณ์ :

ลิซ่าสร้างงานศิลปะเพื่อความสุขอย่างแท้จริง แต่เมื่อเธอพยายามเปลี่ยนมันเป็นธุรกิจที่ทำกำไรได้ เธอตระหนัก ว่า ตลาดที่กระหายความสามารถของเธอ คือ เจ้าของธุรกิจออนไลน์ที่ต้องการภาพประกอบสำหรับบล็อก เว็บไซต์ และผลิตภัณฑ์ของพวกเขา ซึ่งขัดกับความรู้สึกของเธอ เนื่องจากต้องมีการปรับเปลี่ยนตัวตนเพื่อให้เข้ากับสิ่งที่ลูกค้าต้องการ นอกจากนี้ เธอยังต้องเพิ่มพูนทักษะด้านเทคนิค เรียนรู้เครื่องมือใหม่ๆ เพื่อให้งานออกแบบของเธอสามารถใช้งานได้ทางออนไลน์ไม่ใช่การวาดภาพบนกระดาษอย่างที่เธอคิดเอาไว้

คุณต้องเข้าใจ่า ธุรกิจก็คือธุรกิจ คนที่มีการปรับตัวเท่านั้นจึงจะอยู่รอด บางครั้งคุณก็ไม่สามารถที่จะเป็นตัวของตัวเองและทำในสิ่งที่รักไปได้ตลอด หากนั่นมันสวนทางกับความต้องการของผู้บริโภคที่จ่ายเงินให้กับคุณ แต่อย่างน้อยคุณก็ได้เรียนรู้ว่า คุณสามารถให้บริการพวกเขาได้อย่างไร ที่ไหน และเมื่อไหร่

6. หาเส้นทางอื่นที่เป็นไปได้

ใช้เวลาสำรวจงานต่างๆ ในส่วนของ Job Description เพราะการอ่านรายละเอียดงานอาจช่วยให้คุณเข้าใจบทบาทหน้าที่ ลักษณะการทำงานที่สอดคล้องกับ สิ่งที่คุณชอบ (ข้อ 1-2) สิ่งที่คุณเก่ง (ข้อ 3) สิ่งที่เป็นแรงกระตุ้น (ข้อ 4) และ ลูกค้าของคุณ (ข้อ 5) สิ่งเหล่านี้ ไม่เพียงแต่จะช่วยให้คุณพบงานที่ใช่เท่านั้น แต่ยังช่วยให้คุณพิจารณาปัจจัยอย่างเงินเดือน สวัสดิการ หรือลักษณะงานอื่นๆ ตามความต้องการเพื่อสนับสนุนไลฟ์สไตล์ของตัวคุณเองได้ด้วย ดังจะเห็นได้จากเคสตัวอย่างต่อไปนี้

  • ชอบบริษัทปัจจุบันแต่ไม่มีแรงกระตุ้น : ลองพูดคุยกับหัวหน้าเกี่ยวกับสิ่งที่คุณสนใจและสิ่งที่คุณค้นพบว่าเป็นแรงจูงใจในการทำงานไปตรงๆ บางทีหัวหน้าอาจมอบหมายงานที่สอดคล้องกับความต้องการ หรือแม้กระทั่งโยกย้ายตำแหน่งงานภายในให้ได้
  • Passion ที่มีไม่ใช่สิ่งที่อยากทำเป็นอาชีพ : คุณยังสามารถใช้สิ่งที่คุณได้เรียนรู้เป็นแนวทางในการหางานใหม่ที่ช่วยสนับสนุนการทำสิ่งที่รักนอกเหนือเวลางาน เช่น ถ้าคุณหลงใหลในการใช้เวลาอยู่ที่บ้านกับครอบครัว คุณสามารถค้นหางานที่มีตารางเวลาที่ยืดหยุ่น มี Work-Life Balance ให้คุณจัดการชีวิตส่วนตัวได้

นักศึกษาจบใหม่ในปัจจุบันต่างให้ความสำคัญกับสิ่งที่ทำให้พวกเขาสบายใจมากกว่าค่าจ้าง หลายคนมีแนวโน้มที่จะเลือกไล่ตามฝันของตัวเองในช่วงเวลาว่างหลังเลิกงาน ในขณะที่คนอื่นๆ เลือกทำงานที่ตัวเองมี Passion อย่างแรงกล้าซะเลย กล่าวโดยสรุปก็คือ ทางเลือกที่เราเลือกมักจะขึ้นอยู่กับความชอบเสมอ โดยไม่สนใจว่ามันจะทำให้ชีวิตยั่งยืนหรือมั่นคงในระยะยาวรึเปล่า พวกเขารู้ดีว่า การทำให้ชีวิตเต็มไปด้วยความรู้สึกพึงพอใจ ตื่นเต้น มีแรงบันดาลใจ หรือได้รับการเติมเต็มนั้นเป็นกุญแจดอกสำคัญในการใช้ชีวิตในฝัน หรือที่เราเข้าใจกันดีว่าเป็น ‘งานที่ใช่’

ที่มา : Indeed, The Muse

แชร์บทความ :
Jitkarn Sakrueangrit

Jitkarn Sakrueangrit

Graphic & Web Designer, Content Creator,
Copywriter, Marketing Specialist

คุณน่าจะชอบเรื่องเหล่านี้

นักศึกษาจบใหม่ เด็กจบใหม่ หางานยังไงดีนะ by Find Your Job

เด็กจบใหม่ หางานยังไงดีนะ

ความเจ็บปวดของเด็กจบใหม่ที่ต้องแบกรับความหวังของตัวเองและที่บ้าน ต้องมีงานทำ เลี้ยงดูตัวเองได้ ใครจะรู้ว่าการหางานมันไม่ใช่เรื่องง่ายนะ

อ่านเลย »
magnifying-glass-hand

แบบทดสอบบุคลิกภาพ 16 Personalities กับการหางาน

ค้นหางานที่ใช่ ด้วยการทำความเข้าใจตัวเองอย่างแท้จริง งานแบบไหนกันนะที่เหมาะกับบุคลิกภาพแบบเรา เช็คเลย! ด้วยแบบทดสอบบุคลิกภาพ 16 Personalities

อ่านเลย »

คุณรับทราบและยินยอมว่า การใช้งานเว็บไซต์นี้มีการเก็บข้อมูลคุ๊กกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ในการใช้บริการ อ่านข้อมูลเพิ่มเติม