ยื่นใบสมัครแล้วเงียบ หรือเรซูเม่ของคุณไม่รองรับระบบ ATS

มั่นใจว่าเรซูเม่ปังปุริเย่เหนือใคร แต่กลายเป็นว่าไม่มีที่ไหนเรียกไปสัมภาษณ์เลย บางทีเรซูเม่ของคุณไม่รองรับระบบ ATS ติดตามผู้สมัครอยู่

Applicant Tracking System หรือ ATS คือระบบติดตามผู้สมัครที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้คอมพิวเตอร์คัดกรองเรซูเม่สมัครงาน ลดเวลาและขั้นตอนการอ่านเรซูเม่ของ HR ในบริษัทใหญ่ที่มีอัตราการสมัครจำนวนมากในแต่ละวัน แต่การใช้ระบบนี้ยังมีช่องโหว่อยู่มาก เพราะใช้โปรแกรมตรวจจับข้อมูลที่ปรากฏบนเรซูเม่ นั่นหมายความว่า ข้อมูลบางส่วนอาจถูกมองข้ามไปและค้นหาไม่เจอ หรือเลวร้ายไปกว่านั้นระบบไม่สามารถดึงข้อมูลจากเรซูเม่ของคุณออกมาได้ ส่งผลให้ HR จะไม่มีวันหาโปรไฟล์ของคุณเจอแม้คุณจะพยายามสมัครหลายต่อหลายครั้งก็ตาม รับมือยังไงดีนะ?

เลือกอ่านเฉพาะหัวข้อ

ใช้ภาษาอังกฤษในการเขียนเรซูเม่

ระบบคัดกรองผู้สมัครถูกพัฒนาขึ้นจากโปรแกรมเมอร์ชาวต่างชาติที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก ยังไม่รองรับภาษาไทย ณ ตอนนี้ แม้รูปแบบการเขียนเรซูเม่ของคุณจะถูกต้องตามหลักและเป็นมิตรกับระบบ ATS แต่โปรแกรมไม่สามารถดึงภาษาไทยออกมาได้ 100% หรือเลวร้ายไปกว่านั้นระบบหลังบ้านอาจเห็นเรซูเม่ของคุณเป็นภาษาต่างดาว อ่านไม่ได้เลยจนต้องลบใบสมัครของคุณทิ้งไป จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเขียนเรซูเม่เป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น

เล่นกับ Keyword

คำที่ HR ใช้ค้นหาโปรไฟล์ในระบบมักเป็นคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับทักษะต่างๆ ในตำแหน่งงานไม่ว่าจะเป็นทักษะด้านคอมพิวเตอร์, ชื่อโปรแกรมต่างๆ, ทักษะเฉพาะด้าน (Technical Skills), รวมถึงทักษะ Soft Skills หรืออาจเป็นการค้นหาด้วยชื่อตำแหน่งไปตรงๆ โดยสิ่งที่คุณพอจะรับมือได้ คือ การยืมคำที่ปรากฏบนรายละเอียดงาน (Job Description) เขียนลงไปในเรซูเม่ของคุณ เพราะมีแนวโน้มว่าพวกเขาจะใช้คีย์เวิร์ดเหล่านั้นในการค้นหาโปรไฟล์ผู้เข้าสมัคร

👉 เป็นเหตุผลว่าทำไมคุณถึงหว่านใบสมัครแบบร่างแหไม่ได้ คุณจำเป็นต้องปรับแต่งเรซูเม่ให้เข้ากับตำแหน่งที่สมัครในแต่ละบริษัทก่อนส่งทุกครั้ง ให้ความสำคัญกับคุณภาพมากกว่าจำนวน

ใช้เรซูเม่รูปแบบมาตรฐานดั้งเดิม

เมื่อความสวยงามเพียงอย่างเดียวไม่ช่วยให้ได้งานอีกต่อไป ข่าวร้ายสำหรับคนที่มักใช้ Creative Resume สมัครงานเป็นประจำ เนื่องจากระบบ ATS ยังไม่ฉลาดมากพอที่จะแยกแยะข้อมูลจากรูปแบบการจัดเรียงที่ซับซ้อนได้เหมือนคน เพื่อความปลอดภัย การใช่เรซูเม่รูปแบบมาตรฐานอาจเป็นเพียงตัวเลือกเดียวที่มี แต่คุณยังต้องให้ความสำคัญกับการเขียนให้อยู่ในรูปแบบที่เรียบที่สุดอยู่ดี โดยมีเพียงคอลัมน์เดียวเท่านั้น เรียงลำดับจาก

  • Headline : เพราะสิ่งแรกที่ระบบมองหานั้น คือ ชื่อของคุณซึ่งมีความเฉพาะและอาจเป็นคำศัพท์ที่ไม่มีอยู่ในฐานข้อมูลโดยเฉพาะชื่อไทยที่เขียนทับศัพท์ไปเป็นภาษาอังกฤษ การใส่ชื่อไว้บรรทัดบนสุดเพื่อให้ระบบดึงข้อมูลชื่อได้ถูกต้องไม่ต้องใช้เวลาประมวลผลแปลคำศัพท์ให้ยุ่งยากว่าคำนี้ควรจัดอยู่ในหมวดหมู่ไหน จากนั้นจึงตามด้วยข้อมูลติดต่ออย่าง ที่อยู่ปัจจุบัน เบอร์โทรศัพท์ (ควรอยู่ในรูป +66(0)xx xxx xxxx) และอีเมล์
  • Brief Profile/ Career Objective : เป็นส่วนของการแนะนำตัว ประวัติคร่าวๆ รวมถึงเหตุผลว่าทำไมคุณถึงสมัครงานในตำแหน่งดังกล่าวโดยมีความยาวไม่เกิน 1 ย่อหน้า 
  • Education Background : ข้อมูลด้านการศึกษาที่ไม่ต้องเจาะลึกรายละเอียดมากเกินไป เช่น ประกอบด้วย ชื่อสถาบัน วุฒิการศึกษา คณะ/สาขาที่เรียนและเกรดเฉลี่ยตามลำดับ 
  • Professional Experience : หัวใจหลักของการเขียนเรซูเม่อยู่ตรงนี้ เป็นหัวข้อที่คุณสามารถเล่นกับ Keyword ได้อย่างเต็มที่ ด้วยการอธิบายรายละเอียดของงานอย่างชัดเจน พร้อมระบุทักษะความสามารถชัดๆ และต้องไม่ลืมเรียงลำดับเหตุการณ์จากที่ทำงานปัจจุบันย้อนกลับไปยังที่ทำงานในอดีต ซึ่งอาจเขียนในรูปแบบดังต่อไปนี้
    • วันเดือนปีที่เข้า – วันเดือนที่ที่ออก ตามด้วยชื่อบริษัท
    • ชื่อตำแหน่ง
    • รายละเอียดงาน
  • Additional Information : หากมีข้อมูลเพิ่มเติม เก็บไว้เขียนในส่วนท้าย เช่น โปรเจคงานที่เคยทำหรือความสำเร็จในอดีต

หลีกเลี่ยงความผิดพลาด

การใช้รูปแบบเรซูเม่ที่ถูกต้องจะยิ่งส่งผลทางบวกมากขึ้นถ้าคุณหลีกเลี่ยงความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ที่หลายคนมองข้ามไป อย่างเช่น

  • ขนาดตัวหนังสือเท่ากันหมด : ตามหลักของการออกแบบแล้ว การที่ตัวหนังสือเท่ากันหมดจนดูไม่ออกว่าหัวข้อไหนเป็นอะไรทำให้อ่านยาก ระบบ ATS ก็ใช้ตรรกะเดียวกัน! ในเมื่อเราไม่สามารถตกแต่งอะไรสวยๆ ได้ เราจึงให้ความสำคัญกับขนาดตัวหนังสือแทน ขนาดที่ใหญ่ที่สุดมีความสำคัญมากที่สุด (มักจะเป็นชื่อของคุณเอง) ขนาดเล็กลงมาคือหัวข้อต่างๆ และตัวหนังสือที่เล็กที่สุด มีมากที่สุด มักอยู่ในรูปแบบย่อหน้าทั่วไป คุณอาจคุ้นเคยกับชื่อเรียก
    • Headline 1 หรือ H1 ซึ่งมีได้เพียงหัวเรื่องใหญ่หัวเรื่องเดียว
    • Headline 2-4 หรือ H2-H4 หัวข้อต่างๆ มีได้หลายหัวข้อ แต่ละหัวข้อสามารถมีหัวข้อย่อยแทรกลงไปได้อีก เช่น ในหนึ่งงานเขียนเราสามารถมี H2 ได้หลายตัว โดยในแต่ละ H2 คุณอาจแตกหัวข้อย่อยลงไปเป็น H3 ได้อีก
    • Paragraph หรือ P ย่อหน้าที่ใช่ตัวหนังสือขนาดปกติที่เล็กที่สุด หรือเป็นส่วนของเนื้อหานั่นเอง 
  • ใช้ฟ้อนต์จากค่าเริ่มต้น : เพื่อให้รูปแบบไฟล์สามารถเปิดอ่านได้จากคอมพิวเตอร์ทั่วโลก การใช้ฟ้อนต์ที่เป็นค่าเริ่มต้นใน Word อย่างฟ้อนต์ Calibre หรือ Times New Roman จะช่วยให้รูปแบบการจัดวางไม่ผิดเพี้ยน
  • Save as PDF : เราไม่จำเป็นต้องใช้รูปแบบไฟล์แบบ PDF เสมอไป โดยเฉพาะกรณีที่มีการจัดเรียงที่ไม่ซับซ้อน ไม่มีรูปภาพหรือกราฟิกใดๆ เพราะไฟล์​ PDF มีความซับซ้อนทำให้การอ่านค่าผิดเพี้ยนมีสูงกว่า คุณจึงต้องส่งเรซูเม่ในรูปแบบไฟล์​ Word
  • ใส่กราฟิค : ไม่ว่าจะเป็นการใส่ตารางเพื่อให้ดูสวยงาม หรือรูปดาวและบาร์ต่างๆ ที่ระบุขีดความสามารถของทักษะที่เรามี เชื่อไหมว่า ระบบไม่สามารถอ่านค่าและตีความได้! เน้นการระบุทักษะว่าคุณมีความสามารถอะไรก็เพียงพอที่จะให้ระบบตรวจจับแล้ว ส่วนการวัดระดับความสามารถนั้นให้เป็นหน้าที่ของ HR ในขั้นตอนการสัมภาษณ์ดีกว่า

ตัวอักษรหลากสี : สีเดียวที่อนุญาติและเป็นมิตรกับ ATS คือ โทนสีดำสีเดียวกันหมดทั้งหน้า สีที่ต่างกันมีความซับซ้อนในส่วนของ Code หลังบ้านที่เรามองไม่เห็น อย่าสร้างความยุ่งยากให้กับระบบจนเกินไปเลย

ระบบ ATS ถูกพัฒนาขึ้นจากบริษัทหลายแห่ง ประสิทธิภาพจึงต่างกัน บางเจ้าอ่านได้ บางเจ้าดึงข้อมูลออกมาไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ระบบ ATS ถูกพัฒนาขึ้นจากบริษัทหลายแห่ง ประสิทธิภาพจึงต่างกัน บางเจ้าสามารถตรวจจับข้อมูลของคุณได้ ในขณะเดียวกันเรซูเม่ตัวเดียวกันนี้อีกเจ้าไม่สามารถดึงข้อมูลออกมาได้ ซึ่งต้องทำการทดสอบกันต่อไป เราในฐานะแคนดิเดตคนหนึ่งก็ได้แต่หวังเป็นอย่างยิ่งว่าสักวันหนึ่งจะมีการพัฒนาเวอร์ชั่นใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพในการตรวจทานเรซูเม่ได้ไม่แพ้มนุษย์แม้จะส่ง Creative Resume ที่มีความซับซ้อนไปก็ตาม

ที่มา : Hunter B, Forbes

แชร์บทความ :
Jitkarn Sakrueangrit

Jitkarn Sakrueangrit

Graphic & Web Designer, Content Creator,
Copywriter, Marketing Specialist

คุณน่าจะชอบเรื่องเหล่านี้

ออกแบบเรซูเม่ เก๋ไม่ซ้ำใคร ด้วยการใส่ใจกับ Personal Branding by Find Your Job

ออกแบบเรซูเม่ไม่ซ้ำใคร ใส่ใจกับ Personal Branding

บอกเล่าเรื่องราวของคุณผ่านเรซูเม่ สร้าง Personal Branding ที่ทำให้คุณโดดเด่นท่ามกลางผู้สมัครนับร้อยนับพัน HR ก็จะยังจดจำคุณได้เสมอ

อ่านเลย »
คุณสมบัติไม่ครบ ไม่ตรงตามประกาศงาน จะสมัครงานได้หรือไม่ by Find Your Job

คุณสมบัติไม่ครบ ไม่ตรงตามประกาศงาน จะสมัครงานได้หรือไม่

ประกาศรับสมัครงานเขียนไว้ว่าต้องการคนแบบไหน อย่าตัดโอกาสตัวเองเพราะคุณสมบัติไม่ครบไม่ได้แปลว่าคุณไม่มีสิทธิ์ได้งาน!

อ่านเลย »

คุณรับทราบและยินยอมว่า การใช้งานเว็บไซต์นี้มีการเก็บข้อมูลคุ๊กกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ในการใช้บริการ อ่านข้อมูลเพิ่มเติม