คำถามสัมภาษณ์ประเด็นทางจริยธรรมที่ยากต่อการตัดสินใจ Ethical Dilemma

หนึ่งในคำถามที่ตอบยากที่สุดในตอนสัมภาษณ์ เพราะไม่มีตายตัว คำตอบจึงต้องพลิกแพลงไปตามบริบทสภาพแวดล้อมที่ผู้สัมภาษณ์เป็นอยู่ รับมือยังไงดี?

ประเด็นทางจริยธรรมที่ยากต่อการตัดสินใจ หรือ Ethical Dilemma ถูกนำมาใช้เป็นคำถามวัดความซื่อสัตย์ของผู้สมัคร ไปจนถึงตรรกะ วิธีการคิดและการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในที่ทำงาน นอกจากนี้คำถามนี้ยังสามารถสะท้อนค่านิยมของคุณในฐานะพนักงานหนึ่งคน โดยผู้สัมภาษณ์จะนำเอาค่านิยมเหล่านั้นมาพิจารณาต่อถึงความสอดคล้องกับค่านิยมที่องค์กรมี

คุณอาจถูกขอให้แชร์เหตุการณ์ที่ทำให้คุณตัดสินใจลำบาก คุณรับมือกับมันอย่างไร หรือผู้สัมภาษณ์อาจยก Case Study ขึ้นมาเป็นกรณีศึกษาให้คุณลองคิด ณ เวลานั้น ซึ่งคำถามที่มักใช้กันคือ
💡 คุณเคยรับมือกับสถานการณ์ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกไหม คุณแก้ไขมันอย่างไร?
💡 คุณจะทำอย่างไรถ้าบริษัทขอให้คุณบิดเบือนข้อมูล?
💡 คุณจะทำอย่างไรถ้าหัวหน้างานขอให้คุณทำอะไรที่ขัดต่อจริยธรรมของตัวคุณเอง?
💡 คุณจะทำอย่างไรถ้าคุณเห็นเพื่อนร่วมงานทำสิ่งที่ผิดจรรยาบรรณ?

แค่ตัวอย่างคำถามก็ทำให้คุณถึงกับไปไม่เป็น เพราะต้องใช้เวลาอย่างมากในการคิดไตร่ตรองถึงคำตอบที่ถูกต้องที่สุดในสายตาของผู้สัมภาษณ์เหมือนเกมส์เดาใจ ปัญหาเหล่านี้จะหมดไปแค่คุณรู้แนวทางการตอบคำถาม

เลือกอ่านเฉพาะหัวข้อ

1. โฟกัสที่ค่านิยมของบริษัท

สิ่งที่คุณควรทำเป็นอย่างแรกเมื่อถูกถามคำถามประเภทนี้ คือ การย้อนกลับไปดูที่ตัวบริษัทในส่วนของค่านิยม (Value) พันธกิจ (Mission) วิสัยทัศน์ (Vision) เพื่อค้นหาว่าบริษัทนี้ให้ความสำคัญกับเรื่องใดมากเป็นพิเศษ เป็นการกรอบคำตอบของคุณให้ตรงประเด็นและเฉพาะเจาะจงถึงสิ่งที่ผู้สัมภาษณ์ ‘อยากได้ยิน’ มากขึ้น คำตอบของคุณที่ยึดจากปัจจัยข้างต้นจะสะท้อนให้พวกเขาเล็งเห็นถึงค่านิยมและความเชื่อของคุณที่มี DNA เหมือนกับพวกเขา – เป็นพวกเดียวกัน

 ตัวอย่างเหตุการณ์ :

คุณไปรู้เห็นเหตุการณ์ที่เพื่อนร่วมงานกินอาหารมื้อหรูแต่จ่ายในนามบริษัท โดยอ้างว่าเป็นค่า Entertain แขกวีไอพี คุณตัดสินใจแจ้งผู้จัดการทันที การกระทำเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า คุณให้คุณค่ากับ ความไว้วางใจ  และ ความโปร่งใส ของพนักงานที่มีต่อนายจ้าง

2. นึกถึงประสบการณ์ของตัวเอง

พยายามนึกย้อนหลังถึงเหตุการณ์ที่คุณเคยประสบมาด้วยตัวเอง หรือมีส่วนเกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง คุณดำเนินการอย่างไรต่อพฤติกรรมที่ผิดจรรยาบรรณ รวมถึงสถานการณ์อื่นใดที่คุณต้องพึ่งพาทักษะการแก้ปัญหาของตัวเองภายใต้แรงกดดัน ตัวอย่างเหตุการณ์ที่เป็นไปได้

  • คุณอาจเห็นเพื่อนร่วมงานแอบขโมยของ
  • หัวหน้างานคนใหม่ใช้เงินของบริษัทเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว
  • คุณถูกเพื่อนร่วมที่ลาออกไปช่วยเข้าถึงระบบฐานลูกค้าเพื่อดึงข้อมูล
  • ลูกค้าประสบปัญหาด้านการเงิน โดยขอให้คุณหาข้อแก้ตัวและพูดกับบัญชีเพื่อยืดระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ให้
  • ฝ่ายบุคคลเรียกตัวคุณไปเป็นพยานในการเอาผิดเพื่อนร่วมงานที่เป็นเพื่อนสนิท

3. ยังคงรักษาผลประโยชน์ของบริษัทเอาไว้

คุณต้องไม่ลืมที่จะเลือกเอาสถานการณ์ที่นอกจากจะแสดง ‘กึ๋น’ ของคุณแล้ว ยังแสดงถึง ความรับผิดชอบ ที่คุณมีต่อบริษัท ไม่ว่าเหตุการณ์จะเป็นอย่างไร คุณจะยังพิจารณา จัดลำดับความสำคัญและ รักษาผลประโยชน์ของบริษัท เป็นอันดับแรก อาจฟังดูเห็นแก่ตัวในแง่ของธุรกิจนั้น ไม่มีธุรกิจไหนที่จะทำอะไรฟรีๆ ทุกการดำเนินการมีราคาที่ต้องจ่าย ดังนั้น ถ้าคุณยังสามารถรักษาจุดสำคัญตรงนี้เอาไว้ได้ จะยิ่งสร้างมูลค่า หรือน้ำหนักให้กับคำตอบของคุณมากขึ้นเท่านั้น 

 ตัวอย่างเหตุการณ์ :

คุณไปทำธุระที่ห้างสรรพสินค้าหลังเลิกงาน บังเอิญพบพนักงานที่ลาออกไปซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของคุณกำลังพูดคุยกับลูกค้า ณ ร้านกาแฟแห่งหนึ่ง จากเอกสารที่วางอยู่บนโต๊ะ คุณรู้ได้ทันทีว่าเขากำลังติดต่อลูกค้าเก่าทั้งที่ตามกฎแล้ว เขาไม่มีสิทธิ์ทำแบบนั้นเป็นระยะเวลา 6 เดือนหลังลาออก ทำให้คุณลำบากใจด้วยไม่รู้ว่า ต้องรายงานพฤติกรรมให้หัวหน้าทราบ หรือปล่อยให้เพื่อนทำผิดต่อไปเพื่อรักษาความสัมพันธ์ของคุณทั้งสองเอาไว้

4. เน้นย้ำความซื่อสัตย์

ในความเป็นจริง ทุกสาขาอาชีพล้วนให้คุณค่ากับ ความซื่อสัตย์สุจริต เหมือนกันแทบจะทุกที่ เนื่องจากมันจะช่วยสร้างเครดิตความน่าเชื่อถือและความก้าวหน้าในองค์กรของคุณได้ เพราะฉะนั้น คุณสามารถเน้นความซื่อสัตย์ จรรยาบรรณการทำงาน มาเป็นแนวปฏิบัติร่วมด้วยเพื่อคำตอบที่สมบูรณ์มากขึ้นเหมือนอย่างที่แพทย์เจ้าของผู้ป่วย ที่จะคำนึงถึงสุขภาพและความสบายของผู้ป่วยก่อนเสมอ และรายงานใครก็ตามที่ขัดขวางกระบวนการทางการแพทย์หรือแนวปฏิบัติ อย่าลืมปิดท้ายคำตอบด้วยการย้ำค่านิยมของคุณและแสดงให้ผู้สัมภาษณ์เห็นถึงความสามารถในการดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างไรด้วย

5. นำเสนอด้วยโมเดล STAR

คำถามสัมภาษณ์เกี่ยวกับประเด็นความขัดแย้งด้านจริยธรรมเป็นเพียงคำถามสัมภาษณ์ตามสถานการณ์ (Situational Question) ที่เน้นการรับมือทางศีลธรรมและความซื่อตรงในที่ทำงาน หากมองแบบผิวเผินจะมีลักษณะการตอบและโครงสร้างของคำตอบเช่นเดียวกับคำถามสัมภาษณ์เชิงพฤติกรรม โดยคุณสามารถใช้โมเดล STAR มาช่วยในการจัดเรียงคำตอบ ดังนี้

Situation : อธิบายสั้นๆ ถึงบริบทของเหตุการณ์ที่คุณพบเจอ
Task : พูดถึงบทบาท หน้าที่และสิ่งที่ต้องทำทั้งของคุณและคนที่เกี่ยวข้อง
Action : บอกแนวทางหรือวิธีที่คุณใช้แก้ไขสถานการณ์
Result : เน้นย้ำความซื่อสัตย์สุจริต ค่านิยม และทักษะอื่นๆ ของคุณที่ใช้แก้ไขปัญหา โดยเชื่อมโยงสิ่งนี้เข้ากับค่านิยมของบริษัทที่คุณไปสมัคร

🔗 อ่านเพิ่ม แนวทางการตอบคำถามเชิงพฤติกรรม (เทคนิค STAR)

ตัวอย่างคำตอบ

 เหตุการณ์ 1 

“ในตอนที่ยังทำทำบัญชีอยู่ที่บริษัท A ผมรับผิดชอบการอนุมัติ บันทึกและทำรายงานค่าใช้จ่ายทางธุรกิจทั้งหมด ครั้งหนึ่ง หัวหน้าเคยขอให้ผมทำจ่ายให้ แต่มันเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวกับงานเลย ผมไม่ได้อยากทำให้เขาไม่พอใจ แต่การทำแบบนี้นั้นเสีย จรรยาบรรณในการทำงาน และ ไร้จิตสำนึกทางกฎหมาย เป็นอย่างมากในฐานะพนักงานบัญชี ผมเลยปฏิเสธไปครับ ท้ายที่สุดเขาก็ไม่คิดทำแบบนั้นอีก แถมยังขอบคุณผมที่เตือนให้เห็นความสำคัญของหลัก ศีลธรรม จริยธรรม และ เคารพต่อกฎหมาย เพื่อประโยชน์อันสูงสุดของบริษัทครับ”

 เหตุการณ์ 2 

“เมื่อหลายปีก่อนตอนพลอยเป็นพนักงานขายหน้าร้าน เราเห็นเพื่อนร่วมงานแอบหยิบเงินจากเครื่องเก็บเงิน ซึ่งตอนแรกก็ดูเหมือนการทอนเงินลูกค้าปกติถ้าไม่สังเกตุจริงๆ ยังไงก็แล้วแต่ นาทีนั้น พลอยตัดสินใจ เผชิญหน้า กับพนักงานคนดังกล่าวเพื่อหา ความจริง แล้วมันก็เป็นแบบที่เราคิด เขาหยิบเงินใส่เข้ากระเป๋าตัวเองจริงๆ ค่ะ เราก็เลยเอาเงินจำนวนนั้นวางกลับเข้าไปในช่องเหมือนเดิมและแจ้งหัวหน้างานให้ทราบ หลังจากนั้นพลอยก็ได้แนะนำให้มีการปรับตำแหน่งของลิ้นชักเก็บเงิน เพื่อทำให้แน่ใจว่าไม่มีใครสามารถขโมยเงินได้อีก”

จงหลีกเลี่ยงความผิดพลาดยอดฮิตอย่างการตอบคำถามแบบกำปั้นทุบดิน ว่า คุณไม่เคยเจอสถานการณ์แบบนี้มาก่อนในชีวิต หรือการด้นสดยกตัวอย่างเหตุการณ์แบบไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน เนื่องจากคำถามประเภทนี้ต้องอาศัยทักษะกระบวนการคิดแบบไตร่ตรองและใช้เวลา ทำให้เสี่ยงต่อการผิดพลาดและผู้สัมภาษณ์อาจจับได้ว่าคุณกำลังโกหก

ที่มา : Indeed, CareerAddict

แชร์บทความ :
Jitkarn Sakrueangrit

Jitkarn Sakrueangrit

Graphic & Web Designer, Content Creator,
Copywriter, Marketing Specialist

คุณน่าจะชอบเรื่องเหล่านี้

girl-working-sitting-thinking-workplace

“เดี๋ยวเราจะติดต่อกลับไป” คือการปฏิเสธจาก HR ใช่หรือไม่?

ที่ HR บอกว่าเดี๋ยวเราจะติดต่อกลับไป แปลอีกความหมายหนึ่งคือเราไม่ได้งานใช่ไหม? ไขข้อข้องใจ ทำไมถึงไม่พูดตรงๆ ว่าได้งานหรือไม่ได้ให้ชัดเจน

อ่านเลย »
How To ปฏิเสธงาน ยังไงไม่ผิดใจและไม่โดนแบล็คลิส by Find Your Job

How To ปฏิเสธงาน ยังไงไม่ผิดใจและไม่โดนแบล็คลิส

HR โทรมาแจ้งผลการสัมภาษณ์ว่าได้งาน แต่ใจเจ้ากรรมดันไม่อยากได้งานนี้ซะงั้น ใครจะอยากเป็นคนไม่ดีปฏิเสธงานให้เสียชื่อ รับมือยังไงดี?!?

อ่านเลย »

คุณรับทราบและยินยอมว่า การใช้งานเว็บไซต์นี้มีการเก็บข้อมูลคุ๊กกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ในการใช้บริการ อ่านข้อมูลเพิ่มเติม