8 สิ่งที่ไม่ควรทำ เมื่อต้องไปสัมภาษณ์งาน
รู้หรือไม่ การสัมภาษณ์งานไม่ได้ขึ้นอยู่กับการตอบคำถามเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อการให้คะแนนอีกด้วย จงความผิดพลาดเหล่านี้ คือ สิ่งที่ผู้สัมภาษณ์ทุกคนไม่อาจให้อภัยคุณได้เมื่อทำผิด
เลือกอ่านเฉพาะหัวข้อ
1. ไม่เตรียมตัว
ข้อผิดพลาดที่ร้ายแรงที่สุดของการสัมภาษณ์งาน คือ การที่ผู้สมัครไม่ได้เตรียมตัวหรือเตรียมตัวมาไม่ดีพอ จนส่งผลกระทบต่อการตอบคำถามสัมภาษณ์โดยตรง แม้กับคำถามง่ายๆ ที่ต้องคุณรู้ว่าต้องถูกถามแน่ๆ ยังตอบแบบตะกุกตะกัก ยิ่งผู้สัมภาษณ์ถามถึงบริษัทแต่คุณดันไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับองค์กร คงเป็นการยากที่จะผ่านการสัมภาษณ์ไปได้ การไม่เตรียมตัวยังรวมไปถึงเอกสารสำคัญที่ไม่พร้อม เรซูเม่ที่ลืมปริ้นท์ออกมา ถ้าเรื่องแค่นี้ยังรับผิดชอบไม่ได้ แล้วจะไปรับผิดชอบเรื่องใหญ่ๆ ในบริษัทได้อย่างไร
2. มาสายหรือไปถึงเร็วเกิน
‘เวลาเป็นสิ่งมีค่า’ คำกล่าวนี้ยังใช้ได้เสมอในทุกยุคสมัย เพราะเพียงเสี้ยววินาทีก็อาจทำให้บริษัทสูญเสียรายได้ไปเป็นล้าน การกะเวลาผิดหรือไม่ได้สำรวจเส้นทางมาก่อนจนทำให้หลงทางจึงไม่สามารถเป็นข้อแก้ตัวที่ ‘ฟังขึ้น’ ได้ จะหนึ่งนาทีหรือสิบนาที สาย…ก็คือสาย ทางที่ดีคุณควรไปถึงที่สัมภาษณ์เพื่อแสตนด์บายก่อนเวลา 10-15 นาที กรณีเป็นการสัมภาษณ์แบบ Face-to-Face แต่หากเป็นการสัมภาษณ์ผ่านวิดีโอคอล คุณจำเป็นต้องตรวจสอบเครื่องมือให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้ โดยปกติแล้วโปรแกรมจะมีระบบล็อบบี้ให้ผู้สมัครแสตนด์บายรออนุมัติให้เข้าห้องสัมภาษณ์ และเวลาที่ดีจะอยู่ในช่วง 3-5 นาที
ในทำนองเดียวกัน การไปถึงที่สัมภาษณ์เร็วเกินไปจนมีเวลาเหลือนั่งรอเกือบชั่วโมงไม่ได้ทำให้คุณดูเป็นคนตรงต่อเวลา แต่สะท้อนการบริหารจัดสรรเวลาไม่เป็น ซึ่งเป็นประเภทของคนที่บริษัทไม่อยากร่วมงานด้วย โดยเฉพาะบริษัทต่างชาติที่ให้ความสำคัญเรื่องการจัดการเวลา
3. แต่งตัวไม่เหมาะ
จริงอยู่ที่การแต่งตัวไม่ได้มีสลักสำคัญอะไรในมากในยุคที่โลกเปิดกว้างนี้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกัน ว่า การแต่งตัวที่ดี ดูภูมิฐานดูจะมีเครดิตที่ดีกว่าและมีอิทธิพลต่อการสร้างความประทับใจแรก (First Impression) ทั้งยังเป็นการ ‘ให้เกียรติ’ ผู้สัมภาษณ์อีกด้วย ดังนั้นการเป็นตัวของตัวเองจนเกินงาม ใส่ Accessories หรือพร๊อพเยอะแบบจัดเต็ม..ตามใจฉัน อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีสักเท่าไหร่นัก
- อ่านบทความ “ผู้ชายแต่งตัวไปสัมภาษณ์ยังไง”
- อ่านบทความ “ผู้หญิงแต่งตัวไปสัมภาษณ์ยังไง”
4. พูดถึงนายจ้างเสียๆ หายๆ
แม้นายจ้างปัจจุบันจะทำไม่ดีกับคุณมากแค่ไหน สิ่งที่คุณพอจะทำได้คือการพูดถึงแต่เรื่องดีๆ ซึ่งเป็นการแสดงทัศนคติที่ดี การมองโลกในแง่บวก และการวางตัวที่ไม่ปล่อยให้ ‘อคติ’ มาทำให้คุณดูเลวร้าย การไม่พูดถึงนายจ้างแบบเสียๆ หายๆ ไม่ใช่การปกปิดข้อเท็จจริง แต่เป็นการที่คุณเลือกจะ move on ต่อการกระทำแย่ๆ แบบผู้มีการศึกษา
ในขณะเดียวกัน ถ้าคุณแสดงความคิดเห็นเชิงลบ พูดจาสาดเสีย เทเสียใส่ ฝ่ายบุคคลสามารถเห็นถึงปัญหาที่จะตามมาหากรับคุณเข้าทำงาน โดยถ้าวันหนึ่งคุณลาออกขึ้นมา ชื่อเสียงของบริษัทก็คงจะโดนเหยียบย่ำเหมือนกันกับที่คุณได้ทำในวันนี้
5. โกหก
คำโกหกในขั้นตอนการสัมภาษณ์อาจทำให้คุณได้งานก็จริง แต่ลืมไปหรือเปล่าว่าสมัยนี้ การสืบเสาะหาความจริงนั้นง่ายและเร็วขึ้นมาก ฝ่ายบุคคลสามารถตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังจากนายจ้างเดิม หรือคนที่คุณเคยร่วมงานด้วยเพื่อขอข้อมูลอ้างอิง อาจจะไม่ใช่บุคคลอ้างอิงที่คุณใส่มาในเรซูเม่ แต่เป็นการติดต่อไปยังนายจ้างเดิมโดยตรง เพราะฉะนั้น ต้องมั่นใจว่าข้อมูลที่ใส่ในเรซูเม่นั้นถูกต้อง ไม่เกินจริง และทุกคำพูดในการสัมภาษณ์เป็นความจริง ไม่ได้ปรุงแต่งขึ้นมาเอาใจผู้สัมภาษณ์
6. มารยาทแย่
กาลเทศะคือคุณค่าที่คนส่วนใหญ่คาดหวังว่าทุกคนในสังคมต้องรู้ ทำให้การตีสนิทกับผู้สัมภาษณ์เกินไปถูกมองว่ามีความบกพร่อง ระวังการวางตัวและการใช้คำพูดของคุณให้ดี แม้บทสนทนาจะดูเป็นกันเองแต่ยังมีเส้นกั้นบางๆ ระหว่างคุณซึ่งเป็นคนนอกอยู่ รวมไปถึงการสบถคำหยาบในตอนที่ตัวเองลนและตอบคำถามได้ไม่ดี (F-word เหมือนในหนังฝรั่งที่เราเห็นประจำ) หรือเปิดโทรศัพท์ทิ้งไว้ มีเสียงแจ้งเตือนเป็นระยะๆ ทำลายบรรยากาศ/ คอยยกขึ้นมาเช็คอยู่บ่อยๆ จะทำให้ถูกมองว่าไม่ให้เกียรติผู้สัมภาษณ์และไม่ให้ความสำคัญในการสัมภาษณ์เอาซะเลย
7. พูดถึงเงินมากเกินไป
การมีเป้าหมายในชีวิตเป็นสิ่งที่ดี การที่คุณเป็นประเภท Money-driven เป็นสิ่งที่ดีโดยเฉพาะในตำแหน่งงานขายที่ต้องสร้างรายได้ให้บริษัท แต่การที่คุณเอาแต่พูดถึงเรื่องค่าตอบแทนและสวัสดิการที่จะได้รับบ่อยเกินไป จะสร้างบรรยากาศที่ไม่ดีในการสัมภาษณ์ เพราะผู้สัมภาษณ์จะรู้สึกว่าแทนที่คุณจะเข้า ‘มาช่วย’ กลับเข้า ‘มาเอา (ผลประโยชน์)’ จากบริษัทแทน
คุณจะเริ่มพูดถึงสวัสดิการพนักงานและค่าตอบแทนได้ก็ต่อเมื่อผู้สัมภาษณ์เริ่มถามก่อน (ในการสัมภาษณ์งานรอบแรก) หรือเป็นการสัมภาษณ์งานรอบลึกๆ
8. ขาดปฏิสัมพันธ์
จะเชื่อหรือไม่ก็ตาม ผู้สัมภาษณ์บางรายเลือกปฏิเสธผู้สมัครเพียงเพราะเขาไม่ active มากพอแม้โปรไฟล์จะเป็น ‘คนที่ใช่’ เขาให้เหตุผลที่น่าสนใจว่า เขารู้สีกถึงความไม่มีความกระตือรือร้นของผู้สมัคร ขาดปฏิสัมพันธ์ ไม่ถามคำถามใดๆ เป็นการสนทนาด้านเดียวคือ ถาม-แล้วตอบ ถ้ารับเข้ามา อาจมีปัญหากับทีมที่ต้องการคนที่มี DNA แบบแอคทีฟ ใฝ่รู้และมีพาสชั่นในการทำงานเพื่อขับเคลื่อนทีมไปสู่ความสำเร็จได้ในอนาคต
ที่มา : MichaelPage, MediaBistro
Jitkarn Sakrueangrit
Graphic & Web Designer, Content Creator,
Copywriter, Marketing Specialist
คุณน่าจะชอบเรื่องเหล่านี้
10 สัญญาณดีๆ ที่บอกว่าคุณจะได้งานนี้
เพิ่งจะสัมภาษณ์งานเสร็จไปให้พอมีเวลาได้หายใจเหมือนยกภูเขาออกจากอก ก็ต้องมาเครียดอีกว่าเขาจะรับเราเข้าทำงานไหม เช็คเลย! สัญญาณที่บอกว่าคุณจะได้งานแน่ๆ
เทคนิคสัมภาษณ์ แนวทางการตอบคำถามยากๆ
สิ่งที่น่ากลัวที่สุดในตอนสัมภาษณ์ คือ การที่ผู้สัมภาษณ์ยิงคำถามยากๆ จนไม่รู้จะตอบยังไงดี เทคนิคเหล่านี้จะช่วยให้คุณผ่านสถานการณ์ที่น่าอึดอัดใจนี้ไปได้แบบสวยงาม