ตอบยังไงดี คุณมีคำถาม อยากจะถามไหม by Find Your Job

ตอบยังไงดี “คุณมีคำถาม อยากจะถามไหม?”

เตรียมตัวตอบคำถามมาอย่างดีถึงกับไปไม่เป็นเมื่อผู้สัมภาษณ์ถามว่า ‘มีอะไรจะถามไหม?’ ในฐานะที่เป็นตัวเต็งจะตกม้าตายด้วยคำถามเบสิกแบบนี้ไม่ได้

เหมือนเป็นวัฒนธรรมของการสัมภาษณ์งานที่มักจะจบลงตรงที่ ผู้สัมภาษณ์เปิดโอกาสให้ผู้สมัครยิงคำถามกลับหลังถูกถามคำถามมาตลอด ซึ่งถือเป็นโอกาสทองที่ไม่เพียงแต่ใช้ในการเน้นย้ำความสนใจในตำแหน่งที่สมัคร แต่ยังเป็นการแสดงศักยภาพว่าคุณทำการบ้านมาดีแค่ไหน ดังนั้น อย่าพลาดโอกาสทองนี้ไป หรืออ้ำอึ้งเพราะไม่รู้จะถามอะไร จงรวบรวมสติของคุณและถามผู้สัมภาษณ์ไปอย่างมั่นใจด้วยคำถามต่อไปนี้

เลือกอ่านเฉพาะหัวข้อ

ถามเกี่ยวกับตัวงาน

ในกรณีที่ผู้สัมภาษณ์อธิบายรายละเอียดของงานไม่เคลียร์ เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน คุณอาจถามเกี่ยวกับตัวงานเพิ่มเติมได้ไม่ใช่เรื่องผิด เช่น 

  • “ลักษณะงานของตำแหน่งนี้ในแต่ละวันต้องทำอะไรบ้าง”
  • “ก่อนจะเริ่มงาน ต้องมีการอบรมหรือเตรียมความพร้อมอย่างไร”
  • “ถ้ามองถึงความก้าวหน้า คุณคิดอย่างไรกับ Career Path ของตำแหน่งนี้…ที่นี่”
  • “คุณคิดว่าความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของงานในตำแหน่งนี้คืออะไร”

เห็นได้ชัดว่า คำถามข้างต้นสามารถเปลี่ยนมุมมองของผู้สัมภาษณ์ที่มีกับเราไปอย่างมาก พวกเขาจะรับรู้ได้ว่าคุณมีความสนใจในตำแหน่งงานอย่างแท้จริง ไม่ใช่การทำงานไปวันๆ อย่างไร้จุดมุ่งหมาย แต่คุณตั้งคำถามกับตัวเองว่า คุณต้องทำหน้าที่อย่างเต็มที่ที่สุดเท่าที่พนักงานคนหนึ่งจะทำได้อย่างไร (Individual Goals) รวมไปถึงในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งขององค์กร คุณจะมีส่วนช่วยให้ทีมประสบความสำเร็จได้อย่างไร (Collective Goals)

ความคาดหวังของผู้สัมภาษณ์

เช็คระดับความคาดหวังและมุมมองของผู้สัมภาษณ์ที่มีต่อพนักงานที่จะทำตำแหน่งนี้ได้ ด้วยการถามคำถามเกี่ยวกับคุณสมบัติ ทักษะที่ต้องการ ไปจนถึงแพลนที่วางเอาไว้ อาทิ

  • “คุณคิดว่า อะไรคือคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดถ้าจะทำงานในตำแหน่งนี้”
  • “(อธิบาย) โปรเจคอะไรที่ต้องเริ่มดำเนินการทันทีหลังจากได้คนมาร่วมทีม”
  • “คุณคาดหวังว่าพนักงานจะต้องทำอะไรได้บ้างในช่วง 1 เดือนแรก/ ช่วงทดลองงาน/ ผ่านไปหกเดือนถึงหนึ่งปี”
  • “คุณมองตำแหน่งงานนี้ในอีก 6 เดือน หรือ 1 ปีข้างหน้าเป็นอย่างไร ลักษณะงานจะมีการเปลี่ยนแปลงไหม”

ไม่ใช่ทุกคนที่จะเปลี่ยนงานบ่อย เราทุกคนมีความตั้งใจจะทำงานอย่างน้อยหนึ่งปีในแต่ละที่ซึ่งเป็นแผนระยะยาวที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวพนักงานเพียงอย่างเดียว แต่มีปัจจัยอื่นอย่างหัวหน้างานด้วย คุณจำเป็นต้องเช็คความคาดหวังของเขา ว่า ในระยะยาวนั้นต้องการคนที่มีคุณลักษณะหรือความสามารถอย่างไรจึงจะช่วยเหลือทีมให้ประสบผลสำเร็จได้ เสมือนคู่มือในการเติบโตไปพร้อมๆ กับองค์กรที่คุณต้องปฏิบัติตาม

คำถามที่เกี่ยวข้องกับบริษัท

ถ้าคุณให้ความสำคัญกับการเติบโตไปพร้อมกับองค์กร การมองภาพในมุมกว้างอย่างการยิงคำถามที่เกี่ยวข้องกับบริษัทเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ คุณอาจถามว่า

  • “บริษัทมีเป้าหมาย/ ทิศทางของบริษัทจะเป็นอย่างไรในอีก 5 ปีข้างหน้า”
  • “อะไรที่คุณมองว่าเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของบริษัทในตอนนี้”
  • “คุณคิดว่าอะไรคือโอกาสสำคัญที่จะทำให้บริษัทเติบโตไปได้อีก”
  • “ใครคือคู่แข่งของบริษัทบ้าง เพราะอะไร ทำไมคุณถึงคิดแบบนั้น”
  • “ทำงานที่นี่…คุณชอบอะไรมากที่สุด/ วัฒนธรรมองค์กรของที่นี่เป็นอย่างไร”

แม้จะเป็นเพียงฟันเฟืองเล็กๆ ขององค์กร แต่คุณไม่ได้มองข้ามเป้าประสงค์ที่ยิ่งใหญ่ของบริษัท คุณรู้ดีว่าการจะก้าวไปข้างหน้าในระดับองค์กรนั้น ทุกคนในบริษัทจะต้องมีทิศทางที่ชัดเจน…เหมือนกัน การรู้จุดอ่อนจะช่วยให้พนักงานพร้อมใจกันแก้ไข ในขณะเดียวกันก็เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับองค์กรยิ่งๆ ขึ้นไป นอกจากนี้ วัฒนธรรมองค์กรยังเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จอีกอย่างหนึ่ง ถ้าพนักงานสามารถมีความสุขได้และอินไปกับวัฒนธรรมของที่นี่ พวกเขาจะสามารถส่งมอบผลงานที่ดีที่สุดออกมา

กระบวนการสัมภาษณ์และจ้างงาน

ปิดท้ายการสัมภาษณ์ด้วยการถามถึงขั้นตอนการสัมภาษณ์และการจ้างงาน แสดงความกระตือรือร้นพร้อมพลังงานอันเหลือแหล่ในการสัมภาษณ์รอบต่อไปด้วยการถาม  

  • “ขั้นตอนต่อไปในการสัมภาษณ์งานเป็นอย่างไร”
  • “ถ้าเป็นไปได้ อยากให้แคนดิเดตเริ่มงานวันไหน”
  • “มีข้อมูลส่วนไหนที่ต้องการให้อธิบายเพิ่มเติม”
  • “มีเอกสารตัวไหนที่อยากได้เพื่อประกอบการพิจารณา”
  • “เมื่อไหร่ที่คุณสามารถติดตามผลการสัมภาษณ์งานได้”

คำตอบที่ได้จะทำให้คุณรู้ว่าอยู่ส่วนไหนของกระบวนการ เพื่อเตรียมความพร้อมในการสัมภาษณ์ไว้ล่วงหน้า อีกทั้งยังเป็นการวางกรอบเวลาให้ฝ่ายบุคคลแจ้งผลการสัมภาษณ์ และสะดวกต่อตัวคุณในการติดตามผลสัมภาษณ์ด้วยตัวเองหากเลยระยะเวลาที่กำหนด ไม่ต้องรออย่างเลื่อนลอยอีกต่อไป

อ่านเพิ่ม สิ่งที่ควรทำหลังสัมภาษณ์งาน
อ่านเพิ่ม เทคนิคการติดตามผลสัมภาษณ์

อย่างไรก็ตาม คุณควรหลีกเลี่ยงการถามคำถามที่คุณก็รู้คำตอบอยู่แล้วเพียงเพราะอยาก ‘ถามอะไรสักอย่างตามมารยาท’ เพราะคำถามที่ไม่ฉลาดอาจสะท้อนความไม่ใส่ในตำแหน่งงานของคุณ รวมไปถึงคำถามที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานอย่างการถามเรื่อง Gossip ในออฟฟิศหรือเรื่องส่วนตัวของผู้สัมภาษณ์เพื่อตีสนิทหรือลดความตึงเครียดลงซึ่งควรถามนอกเวลาสัมภาษณ์มากกว่า ส่วนการถามเกี่ยวกับเงินเดือและสวัสดิการโดยเฉพาะรอบแรกของการสัมภาษณ์อาจถูกมองว่าคุณโฟกัสแค่เรื่องผลประโยชน์เป็นหลักทางที่ดีควรถามในการสัมภาษณ์รอบลึกๆ

ที่มา : Biginterview, Thebalancecareers

แชร์บทความ :
Jitkarn Sakrueangrit

Jitkarn Sakrueangrit

Graphic & Web Designer, Content Creator,
Copywriter, Marketing Specialist

คุณน่าจะชอบเรื่องเหล่านี้

สัมภาษณ์ผ่านแล้ว แต่รอผลสัมภาษณ์จากอีกบริษัทหนึ่งอยู่ by Find Your Job

สัมภาษณ์ผ่านแล้ว แต่รอผลสัมภาษณ์จากอีกบริษัทหนึ่งอยู่

สัมภาษณ์ผ่านไปด้วยดีแต่อยากได้งานกับอีกที่มากกว่า ปัญหาหนักใจที่ไม่รู้ว่าต้องรับมือยังไง ถ้าพลาดขึ้นมาสุดท้ายอาจจะไม่ได้อะไรเลย

อ่านเลย »
ทำไม HR ไม่ยอมแจ้งผลการสัมภาษณ์ by Find Your Job

ทำไม HR ไม่ยอมแจ้งผลการสัมภาษณ์

‘เดี๋ยวติดต่อกลับ’ ตกลงพี่จะรับหรือไม่รับกันแน่? HR ที่บอกว่าหลังจากสัมภาษณ์จะโทรมาแจ้งผล แต่รอแล้วรอเล่า ก็ไม่มีวี่แววว่าจะโทรกลับมาสักที

อ่านเลย »

คุณรับทราบและยินยอมว่า การใช้งานเว็บไซต์นี้มีการเก็บข้อมูลคุ๊กกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ในการใช้บริการ อ่านข้อมูลเพิ่มเติม