8 สิ่งที่ไม่ควรทำ เมื่อต้องไปสัมภาษณ์งาน by Find Your Job

8 สิ่งที่ไม่ควรทำ เมื่อต้องไปสัมภาษณ์งาน

หางานในยุคนี้ไม่ง่าย สมัครงานไปตั้งหลายที่กว่าจะถูกเรียกตัวไปสัมภาษณ์แต่ละครั้ง อย่าทำลายโอกาสด้วยการทำสิ่งที่ไม่ควรทำเมื่อต้องไปสัมภาษณ์

รู้หรือไม่ การสัมภาษณ์งานไม่ได้ขึ้นอยู่กับการตอบคำถามเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อการให้คะแนนอีกด้วย จงความผิดพลาดเหล่านี้ คือ สิ่งที่ผู้สัมภาษณ์ทุกคนไม่อาจให้อภัยคุณได้เมื่อทำผิด

เลือกอ่านเฉพาะหัวข้อ

1. ไม่เตรียมตัว

ข้อผิดพลาดที่ร้ายแรงที่สุดของการสัมภาษณ์งาน คือ การที่ผู้สมัครไม่ได้เตรียมตัวหรือเตรียมตัวมาไม่ดีพอ จนส่งผลกระทบต่อการตอบคำถามสัมภาษณ์โดยตรง แม้กับคำถามง่ายๆ ที่ต้องคุณรู้ว่าต้องถูกถามแน่ๆ ยังตอบแบบตะกุกตะกัก ยิ่งผู้สัมภาษณ์ถามถึงบริษัทแต่คุณดันไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับองค์กร คงเป็นการยากที่จะผ่านการสัมภาษณ์ไปได้ การไม่เตรียมตัวยังรวมไปถึงเอกสารสำคัญที่ไม่พร้อม เรซูเม่ที่ลืมปริ้นท์ออกมา ถ้าเรื่องแค่นี้ยังรับผิดชอบไม่ได้ แล้วจะไปรับผิดชอบเรื่องใหญ่ๆ ในบริษัทได้อย่างไร

2. มาสายหรือไปถึงเร็วเกิน

‘เวลาเป็นสิ่งมีค่า’ คำกล่าวนี้ยังใช้ได้เสมอในทุกยุคสมัย เพราะเพียงเสี้ยววินาทีก็อาจทำให้บริษัทสูญเสียรายได้ไปเป็นล้าน การกะเวลาผิดหรือไม่ได้สำรวจเส้นทางมาก่อนจนทำให้หลงทางจึงไม่สามารถเป็นข้อแก้ตัวที่ ‘ฟังขึ้น’ ได้ จะหนึ่งนาทีหรือสิบนาที สาย…ก็คือสาย ทางที่ดีคุณควรไปถึงที่สัมภาษณ์เพื่อแสตนด์บายก่อนเวลา 10-15 นาที กรณีเป็นการสัมภาษณ์แบบ Face-to-Face แต่หากเป็นการสัมภาษณ์ผ่านวิดีโอคอล คุณจำเป็นต้องตรวจสอบเครื่องมือให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้ โดยปกติแล้วโปรแกรมจะมีระบบล็อบบี้ให้ผู้สมัครแสตนด์บายรออนุมัติให้เข้าห้องสัมภาษณ์ และเวลาที่ดีจะอยู่ในช่วง 3-5 นาที 

ในทำนองเดียวกัน การไปถึงที่สัมภาษณ์เร็วเกินไปจนมีเวลาเหลือนั่งรอเกือบชั่วโมงไม่ได้ทำให้คุณดูเป็นคนตรงต่อเวลา แต่สะท้อนการบริหารจัดสรรเวลาไม่เป็น ซึ่งเป็นประเภทของคนที่บริษัทไม่อยากร่วมงานด้วย โดยเฉพาะบริษัทต่างชาติที่ให้ความสำคัญเรื่องการจัดการเวลา 

3. แต่งตัวไม่เหมาะ

จริงอยู่ที่การแต่งตัวไม่ได้มีสลักสำคัญอะไรในมากในยุคที่โลกเปิดกว้างนี้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกัน ว่า การแต่งตัวที่ดี ดูภูมิฐานดูจะมีเครดิตที่ดีกว่าและมีอิทธิพลต่อการสร้างความประทับใจแรก (First Impression) ทั้งยังเป็นการ ‘ให้เกียรติ’ ผู้สัมภาษณ์อีกด้วย ดังนั้นการเป็นตัวของตัวเองจนเกินงาม ใส่ Accessories หรือพร๊อพเยอะแบบจัดเต็ม..ตามใจฉัน อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีสักเท่าไหร่นัก

4. พูดถึงนายจ้างเสียๆ หายๆ

แม้นายจ้างปัจจุบันจะทำไม่ดีกับคุณมากแค่ไหน สิ่งที่คุณพอจะทำได้คือการพูดถึงแต่เรื่องดีๆ ซึ่งเป็นการแสดงทัศนคติที่ดี การมองโลกในแง่บวก และการวางตัวที่ไม่ปล่อยให้ ‘อคติ’ มาทำให้คุณดูเลวร้าย การไม่พูดถึงนายจ้างแบบเสียๆ หายๆ ไม่ใช่การปกปิดข้อเท็จจริง แต่เป็นการที่คุณเลือกจะ move on ต่อการกระทำแย่ๆ แบบผู้มีการศึกษา

ในขณะเดียวกัน ถ้าคุณแสดงความคิดเห็นเชิงลบ พูดจาสาดเสีย เทเสียใส่ ฝ่ายบุคคลสามารถเห็นถึงปัญหาที่จะตามมาหากรับคุณเข้าทำงาน โดยถ้าวันหนึ่งคุณลาออกขึ้นมา ชื่อเสียงของบริษัทก็คงจะโดนเหยียบย่ำเหมือนกันกับที่คุณได้ทำในวันนี้

5. โกหก

คำโกหกในขั้นตอนการสัมภาษณ์อาจทำให้คุณได้งานก็จริง แต่ลืมไปหรือเปล่าว่าสมัยนี้ การสืบเสาะหาความจริงนั้นง่ายและเร็วขึ้นมาก ฝ่ายบุคคลสามารถตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังจากนายจ้างเดิม หรือคนที่คุณเคยร่วมงานด้วยเพื่อขอข้อมูลอ้างอิง อาจจะไม่ใช่บุคคลอ้างอิงที่คุณใส่มาในเรซูเม่ แต่เป็นการติดต่อไปยังนายจ้างเดิมโดยตรง เพราะฉะนั้น ต้องมั่นใจว่าข้อมูลที่ใส่ในเรซูเม่นั้นถูกต้อง ไม่เกินจริง และทุกคำพูดในการสัมภาษณ์เป็นความจริง ไม่ได้ปรุงแต่งขึ้นมาเอาใจผู้สัมภาษณ์

6. มารยาทแย่

กาลเทศะคือคุณค่าที่คนส่วนใหญ่คาดหวังว่าทุกคนในสังคมต้องรู้ ทำให้การตีสนิทกับผู้สัมภาษณ์เกินไปถูกมองว่ามีความบกพร่อง ระวังการวางตัวและการใช้คำพูดของคุณให้ดี แม้บทสนทนาจะดูเป็นกันเองแต่ยังมีเส้นกั้นบางๆ ระหว่างคุณซึ่งเป็นคนนอกอยู่ รวมไปถึงการสบถคำหยาบในตอนที่ตัวเองลนและตอบคำถามได้ไม่ดี (F-word เหมือนในหนังฝรั่งที่เราเห็นประจำ) หรือเปิดโทรศัพท์ทิ้งไว้ มีเสียงแจ้งเตือนเป็นระยะๆ ทำลายบรรยากาศ/ คอยยกขึ้นมาเช็คอยู่บ่อยๆ จะทำให้ถูกมองว่าไม่ให้เกียรติผู้สัมภาษณ์และไม่ให้ความสำคัญในการสัมภาษณ์เอาซะเลย

7. พูดถึงเงินมากเกินไป

การมีเป้าหมายในชีวิตเป็นสิ่งที่ดี การที่คุณเป็นประเภท Money-driven เป็นสิ่งที่ดีโดยเฉพาะในตำแหน่งงานขายที่ต้องสร้างรายได้ให้บริษัท แต่การที่คุณเอาแต่พูดถึงเรื่องค่าตอบแทนและสวัสดิการที่จะได้รับบ่อยเกินไป จะสร้างบรรยากาศที่ไม่ดีในการสัมภาษณ์ เพราะผู้สัมภาษณ์จะรู้สึกว่าแทนที่คุณจะเข้า ‘มาช่วย’ กลับเข้า ‘มาเอา (ผลประโยชน์)’ จากบริษัทแทน

คุณจะเริ่มพูดถึงสวัสดิการพนักงานและค่าตอบแทนได้ก็ต่อเมื่อผู้สัมภาษณ์เริ่มถามก่อน (ในการสัมภาษณ์งานรอบแรก) หรือเป็นการสัมภาษณ์งานรอบลึกๆ

8. ขาดปฏิสัมพันธ์

จะเชื่อหรือไม่ก็ตาม ผู้สัมภาษณ์บางรายเลือกปฏิเสธผู้สมัครเพียงเพราะเขาไม่ active มากพอแม้โปรไฟล์จะเป็น ‘คนที่ใช่’ เขาให้เหตุผลที่น่าสนใจว่า เขารู้สีกถึงความไม่มีความกระตือรือร้นของผู้สมัคร ขาดปฏิสัมพันธ์ ไม่ถามคำถามใดๆ เป็นการสนทนาด้านเดียวคือ ถาม-แล้วตอบ ถ้ารับเข้ามา อาจมีปัญหากับทีมที่ต้องการคนที่มี DNA แบบแอคทีฟ ใฝ่รู้และมีพาสชั่นในการทำงานเพื่อขับเคลื่อนทีมไปสู่ความสำเร็จได้ในอนาคต

เราเข้าใจดีว่า ความพยายามในควบคุมการสัมภาษณ์ให้ออกมาอย่างดีที่สุด อาจทำให้คุณรู้สึกไม่เป็นตัวของตัวเองและอึดอัดในบางครั้ง แต่ในเมื่อคุณกำลังเล่นเกมส์ที่คุณไม่ได้สร้าง คุณต้องพยายามหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดเหล่านี้ให้ดี เพื่อการสัมภาษณ์งานที่น่าประทับใจจนฝ่ายบุคคลเจ้าตัดสินใจว่าจ้าง

ที่มา : MichaelPage, MediaBistro

แชร์บทความ :
Jitkarn Sakrueangrit

Jitkarn Sakrueangrit

Graphic & Web Designer, Content Creator,
Copywriter, Marketing Specialist

คุณน่าจะชอบเรื่องเหล่านี้

girl-working-sitting-thinking-workplace

“เดี๋ยวเราจะติดต่อกลับไป” คือการปฏิเสธจาก HR ใช่หรือไม่?

ที่ HR บอกว่าเดี๋ยวเราจะติดต่อกลับไป แปลอีกความหมายหนึ่งคือเราไม่ได้งานใช่ไหม? ไขข้อข้องใจ ทำไมถึงไม่พูดตรงๆ ว่าได้งานหรือไม่ได้ให้ชัดเจน

อ่านเลย »
โดนรั้งด้วย Counter Offer ควรรับหรือไม่ by Find Your Job

โดนรั้งด้วย Counter Offer ควรรับหรือไม่

กำลังทำเรื่องลาออกจากที่ทำงานเพื่อไปเริ่มต้นชีวิตใหม่กับที่ทำงานใหม่ โดนรั้งด้วย Counter Offer ขึ้นเงินเดือนให้ชุดใหญ่ไฟกระพริบ รับดีมั้ย

อ่านเลย »

คุณรับทราบและยินยอมว่า การใช้งานเว็บไซต์นี้มีการเก็บข้อมูลคุ๊กกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ในการใช้บริการ อ่านข้อมูลเพิ่มเติม