ไขข้อข้องใจ แจ้งลาออกต้องบอกล่วงหน้า 30 วัน by Find Your Job

ไขข้อข้องใจ แจ้งลาออกต้องบอกล่วงหน้า 30 วัน

สิทธิที่คนทำงานต้องรู้ จำเป็นไหมที่การลาออกต้องแจ้งล่วงหน้า เพราะเมื่อได้งานใหม่แล้วใจก็ไม่อยากทนทำงานต่อและอยู่รอจนครบ 30 วัน

คำเตือน: บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาในการส่งเสริมให้พนักงานลาออกจากบริษัท จุดมุ่งหมาย คือ เพื่อให้พนักงานทุกคนรู้และเข้าใจสิทธิ์ในการลาออกอย่างครบถ้วนก่อนตัดสินใจแจ้งลาออก

คำถามค้างคาใจจากมนุษย์เงินเดือนที่ต้องการการลาออก
❓ หลังจากยื่นจดหมายลาออกแล้ว จำเป็นไหมต้องอยู่ให้ครบ 30 วัน
❓ อยู่ไม่ครบ 30 วัน บริษัทหักเงินหรือไม่จ่ายเงินเราได้ไหม
❓ ออกก่อน 30 วัน ผิดกฏหมายไหม
❓ อยากไปเริ่มงานใหม่เร็วๆ ลาออกแล้วไปเลยได้ไหม
❓ บริษัทขู่ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้รึเปล่า
❓ นายจ้างมีสิทธิไม่อนุมัติให้เราออกได้จริงหรือไม่
❓ บอกปากเปล่ากับหัวหน้า ถือว่าแจ้งลาออกแล้วใช่หรือไม่

หลายคนมีความกลัวปนกังวลใจที่จะต้องเผชิญหน้ากับ HR เวลาแจ้งลาออกจากงาน เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องซึ่งเป็นกฏหมายพื้นฐานที่ลูกจ้างทุกคนควรรู้ ป้องกันการถูกเอารัดเอาเปรียบจากการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม

เลือกอ่านเฉพาะหัวข้อ

สรุปแล้ว ต้องบอกล่วงหน้า 30 วันจริงหรือ?

จำให้ขึ้นใจว่า ‘กฎหมายแรงงานใหญ่กว่าสัญญาจ้าง’ นั่นหมายความว่าหากมีเรื่องฟ้องร้องเกิดขึ้น ทางศาลจะยึดเอากฏหมายแรงงานมาพิจารณาเป็นหลักและสัญญาจ้างเป็นรอง โดยการแจ้งลาออกที่ถูกต้อง นั้นขอแยกเป็น 3 กรณี ดังนี้

กรณีพนักงานประจำ

สัญญาจ้างแรงงานเป็นสัญญาที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาว่าต้องทำงานนานแค่ไหน ไม่มีวันสิ้นสุดสัญญาจ้างที่ชัดเจน ดังนั้น ทั้งนายจ้างและลูกจ้างสามารถบอกเลิกสัญญาเมื่อไหร่ก็ได้ แม้ในสัญญาจะระบุเอาไว้ว่าพนักงานที่ประสงค์จะลาออกต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วันก็ตามที พูดให้เข้าใจง่ายก็คือ คุณสามารถยื่นใบลาออกวันจันทร์และไม่ต้องมาทำงานในวันอังคารได้เลยโดยไม่ผิดกฏหมาย แต่ต้องเป็นการลาออกที่ไม่สร้างความเสียหาย ซึ่งอาจเป็นเหตุมาจากการจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง (อ้างอิงตามกฎหมายแรงงาน มาตรา 76) เช่น

  • คุณเป็นพนักงานหน้าร้านที่ต้องคอยเปิดร้านทุกวัน การลาออกกระทันหันเป็นเหตุให้นายจ้างไม่สามารถหาคนมาแทนได้ทัน เป็นเหตุให้วันดังกล่าวไม่สามารถเปิดร้านได้สูญเสียรายได้คิดออกมาเป็นตัวเลขได้อย่างชัดเจน
  • หายไปเฉยๆ โดยไม่บอกกล่าว เพราะคิดว่าไม่เป็นไร โดยกรณีนี้จะทำให้คุณถูกตัดสินว่าเป็นการ ‘ขาดงาน’ แทน

จริงอยู่ที่การลาออกแบบนี้ชอบด้วยกฎหมายแต่ไม่ถูกใจนายจ้างอย่างแรง! สาเหตุที่บริษัทต้องการให้แจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วันก็เพื่อให้ HR ได้มีเวลาในการหาพนักงานใหม่มาทำงานแทน รวมถึงกระบวนการถ่ายเทงาน เพื่อจะได้ไม่เป็นภาระให้เพื่อนร่วมงานคนอื่นต้องรับชะตากรรมจากการกระทำของเราเอง

👉 หากจำเป็นต้องออกก่อนควรปรึกษาพูดคุยกับ HR อย่างตรงไปตรงมา ใช้วันหยุดลาพักร้อนที่เหลืออยู่เพื่อร่นระยะเวลาวันทำงานวันสุดท้าย (Last Day) ให้มาถึงเร็วขึ้น

🔗 อ่านเพิ่ม ขอลาออกยังไงให้ดูเป็นมืออาชีพ

กรณีพนักงานชั่วคราว

สัญญาจ้างชั่วคราว หรือ Contract มักกำหนดระยะเวลาและระบุวันสิ้นสุดสัญญาไว้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นสัญญาจ้าง 6 เดือนหรือ 1 ปี เพราะฉะนั้นการลาออกก่อนสัญญาสิ้นสุดลงนั้นไม่สามารถทำได้ หรือถ้าทำได้จะต้องเป็นไปตามข้อตกลงที่มีระบุเอาไว้ในสัญญา อาทิ การจ่ายเงินชดเชยค่าเสียหาย คุณจึงต้องกลับไปอ่านทบทวนสัญญาจ้างให้ดีก่อนตัดสินใจทำอะไร

นอกจากนี้ ตามกฏหมายแรงงาน มาตรา 17 ที่กล่าวว่า “สัญญาจ้างย่อมสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดระยะเวลาในสัญญาจ้างโดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้า” หมายความว่า เมื่อครบกำหนดระยะเวลาในสัญญา พนักงานชั่วคราวไม่จำเป็นต้องแจ้งล่วงหน้า 30 วันและไม่ต้องเขียนใบลาออก ก็ถือเป็นการลาออกที่ถูกต้อง ครบถ้วน สมบูรณ์

กรณีอยู่ในช่วงทดลองงาน

หากอยู่ในช่วงทดลองงานและไม่ต้องการที่จะทำงานต่อสามารถบอกเลิกสัญญาจ้างได้เหมือนกัน (กรณีพนักงานประจำ) แต่ยังคงมองในมุมนายจ้างด้วยความเห็นใจ ไม่ออกก่อนเวลา ไม่ทิ้งปัญหาและสร้างศัตรู เคลียร์ทุกสิ่งอย่าง โอนถ่ายงานให้เรียบร้อยก่อนจะดีกว่า

อยากลาออก แต่หัวหน้าไม่ให้ออก

กฏหมายแรงงาน มาตรา 17 กล่าวเอาไว้ว่า “ในกรณีที่สัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลา นายจ้างหรือลูกจ้างอาจบอกเลิกสัญญาจ้าง โดยบอกกล่าวล่วงหน้า เป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ ในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใด เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากัน เมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็ได้ แต่ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเกินสามเดือน”

ตีความให้เข้าใจง่าย ก็คือ สัญญาจ้างแรงงานที่ทำขึ้นระหว่างนายจ้างและลูกจ้างนั้น สามารถบอกเลิกสัญญาได้แต่เพียงฝ่ายเดียวโดยไม่จำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งยินยอมตกลงหรืออนุมัติแต่อย่างใด การที่หัวหน้างานหรือบริษัทแจ้งกลับว่า ‘ไม่อนุมัติให้ลาออก’ จึงไม่สามารถกระทำได้ตามกฏหมาย

ทั้งนี้ทั้งนั้น แม้การพูดปากเปล่าจะว่าถือเป็นการแจ้งลาออกได้แต่นายจ้างอาจเล่นตุกติก เปลี่ยนแปลงสถานการณ์หาว่าเราขาดงานเกิน 3 วันจนถูกไล่ออกเพราะผิดกฏบริษัทชัดเจน หลีกเลี่ยงการจ่ายเงินค่าจ้างส่วนที่เหลือได้

✅ คุณควรเขียนหนังสือ (หรืออีเมล์) เป็นลายลักษณ์อักษรซึ่งสามารถใช้เป็นหลักฐานในชั้นศาลหากคดีพลิก ได้ดีกว่า มีน้ำหนักและน่าเชื่อถือมากกว่า โดยให้ระบุวันลาออกพร้อมด้วยเหตุผลในการลาออกประกอบการพิจารณาจากฝ่ายบุคคลและหัวหน้างาน แต่ต้องเผื่อใจสักนิดหากบริษัทมีข้อกำหนดตายตัวอื่นๆ เช่น การลาออกโดยไม่ได้รับการอนุมัติจากองค์กรจะไม่ได้รับค่าบำเหน็จ บำนาญ Provident Fund หรือแม้กระทั่งสวัสดิการอื่นๆ

ขอให้มีผลทันทีและอยู่ไม่ครบ 30 วัน นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง?!?

อ้างอิงตามกฏหมายแรงงานมาตรา 76 ห้ามมิให้นายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด เว้นแต่เป็นการหักเพื่อ
          (1) ชำระภาษีเงินได้ตามจำนวนที่ลูกจ้างต้องจ่ายหรือชำระเงินอื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้
          (2) ชำระค่าบำรุงสหภาพแรงงานตามข้อบังคับของสหภาพแรงงาน
          (3) ชำระหนี้สินสหกรณ์ออมทรัพย์ หรือสหกรณ์อื่นที่มีลักษณะเดียวกันกับสหกรณ์ออมทรัพย์หรือหนี้ที่เป็นไปเพื่อสวัสดิการที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้างฝ่ายเดียวโดยได้รับความยินยอมล่วงหน้าจากลูกจ้าง
          (4) เป็นเงินประกันตามมาตรา 10 หรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายจ้างซึ่งลูกจ้างได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง
          (5) เป็นเงินสะสมตามข้อตกลงเกี่ยวกับกองทุนเงินสะสม
          การหักตาม (2) (3) (4) และ (5) ในแต่ละกรณีห้ามมิให้หักเกินร้อยละสิบ และจะหักรวมกันได้ไม่เกินหนึ่งในห้าของเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามกำหนดเวลาการจ่ายตามมาตรา 70 เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง

✅ สรุปก็คือ นายจ้างไม่สามารถยกเลิกการจ่ายค่าจ้างในวันที่เราทำงานไปแล้วได้ เช่น เงินเดือนออกทุกวันที่ 15 แจ้งลาออกวันที่ 20 โดยให้มีผลในวันถัดไป (วันทำงานวันสุดท้ายคือวันที่ 20) คุณจะยังได้รับค่าจ้างในวันที่มาทำงาน วันที่ 16-20 รวมแล้ว 5 วัน โดยที่นายจ้างไม่มีสิทธิ์หักค่าจ้างหรือไม่จ่ายได้

อย่างไรก็ตาม การลาออกจากงานที่ดีต้องรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับบริษัท เพราะเราไม่รู้ว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง อย่าดูถูกพลังของคอนเนคชั่นที่มองไม่เห็น ถ้าไม่มีความสุขกับงานใหม่ การกลับมาทำงานที่เก่าก็อาจพอเป็นไปได้และเป็นตัวเลือกที่ดีในยุคของความไม่แน่นอนนี้
แชร์บทความ :
Jitkarn Sakrueangrit

Jitkarn Sakrueangrit

Graphic & Web Designer, Content Creator,
Copywriter, Marketing Specialist

คุณน่าจะชอบเรื่องเหล่านี้

รอผลสัมภาษณ์งานแบบไม่เสียเวลาเปล่า by Find Your Job

รอผลสัมภาษณ์งาน…แบบไม่เสียเวลาเปล่า

สัมภาษณ์งานจบไปหลายวัน แต่ HR ยังไม่ติดต่อกลับมาแจ้งผลสัมภาษณ์สักที ยิ่งรอนาน นับวันยิ่งทรมาน ทำยังไงดี? รับมือกับการรอผลสัมภาษณ์นานขนาดนี้

อ่านเลย »
สัมภาษณ์ผ่านแล้ว แต่รอผลสัมภาษณ์จากอีกบริษัทหนึ่งอยู่ by Find Your Job

สัมภาษณ์ผ่านแล้ว แต่รอผลสัมภาษณ์จากอีกบริษัทหนึ่งอยู่

สัมภาษณ์ผ่านไปด้วยดีแต่อยากได้งานกับอีกที่มากกว่า ปัญหาหนักใจที่ไม่รู้ว่าต้องรับมือยังไง ถ้าพลาดขึ้นมาสุดท้ายอาจจะไม่ได้อะไรเลย

อ่านเลย »

คุณรับทราบและยินยอมว่า การใช้งานเว็บไซต์นี้มีการเก็บข้อมูลคุ๊กกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ในการใช้บริการ อ่านข้อมูลเพิ่มเติม