รวม 7 ขั้นตอนที่คนอยากเปลี่ยนสายงานต้องอ่าน

เมื่อเปลี่ยนงานอย่างเดียวไม่ใช่ทางออกอีกต่อไป ก็เปลี่ยนสายงานไปเลยสิคะ เออ! พลิกชีวิตคนทำงานให้ปัง…เตรียมตัวอย่างไรหากต้องเปลี่ยนสายอาชีพ

เกือบจะทุกคนที่ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงในชีวิต เลยเลือกยึดติดกับ Comfort Zone อยู่อย่างนั้นจนกว่าจะมีอะไรมาบีบบังคับให้ต้องเปลี่ยน ยิ่งเป็นเรื่องที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตอย่าง การงาน ยิ่งแล้วใหญ่ การเปลี่ยนสายงานใหม่ก็เหมือนกับการเปลี่ยนเส้นทางชีวิตใหม่ไปเลย ซึ่งน่าแปลกใจที่คนมีแนวโน้มจะเปลี่ยนสายงานกันมากขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การเข้ามาแทรกแซงของเทคโนโลยีส่งผลให้เกิดความหลากหลายในเวลาอันสั้น ในขณะเดียวกัน หลักสูตรการเรียนการสอนไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ทันโลกสักเท่าไหร่ การเปลี่ยนสายงานจึงกลายเป็นเรื่องปกติที่ใครๆ ก็ทำกัน

เช็คลิสต์ ทำไมถึงอยากเปลี่ยนสายงาน
✅ เงินเดือนที่สูงกว่าทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
✅ สายงานปัจจุบันมีความเครียดเกินไป
✅ เพื่อ Work-Life Balance ที่ดีมากขึ้น
✅ ต้องการความท้าทายใหม่ๆ
✅ โอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงานมีมากกว่า
✅ หมดแพชชันจากสายงานที่ทำอยู่

หากวันนี้ คุณกำลังอยู่ในช่วงตัดสินใจเปลี่ยนสายงาน บทความนี้จะพาคุณไปไขคำตอบถึง เทคนิคและวิธีการเตรียมความพร้อมเสียแต่เนิ่นๆ เพื่อทำให้ความฝันของคุณเป็นจริงได้

เลือกอ่านเฉพาะหัวข้อ

1. ค้นหาว่าอะไรคือความพอใจ (ในงาน)

ก่อนจะตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง คุณจำเป็นต้องกลับมาทบทวนกับตัวเองอย่างจริงจังเพื่อหาเหตุผลมาสนับสนุนความคิดของคุณ อันเป็นแนวทางในการตั้งเป้าหมายในสายงานใหม่ที่ชัดเจนขึ้น ตอบคำถามพื้นฐานอย่าง ‘คุณชอบและไม่ชอบอะไรในงานปัจจุบัน?’ ไม่ว่าเหตุผลจะเป็นตัวงาน วัฒนธรรมองค์กร หรือเพื่อนร่วมงาน ก็สามารถนำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการค้นหาความพึงพอใจของงานใหม่ได้เสมอ นอกจากนี้ คุณควรใช้เวลาระหว่างนี้ในการประเมินความสนใจ ค่านิยม รวมไปถึงทักษะที่คุณมี ไตร่ตรองถึงบทบาทหน้าที่ ความสำเร็จในอดีต จากงานประจำ งานอาสาสมัคร โปรเจ็กต์ต่างๆ ที่เคยถือ เพื่อเป็นไกด์ไลน์ในการระบุเนื้องานและความคาดหวังของคุณในสายงานใหม่

2. กำหนดเป้าหมาย

เป้าหมายที่ปราศจากวิธีการก็อาจเป็นได้แค่ความฝัน ดังนั้นคุณจึงควรกำหนดวิธีการเปลี่ยนสายงานให้ชัดเจนด้วยการระดมความคิดกับทางเลือกที่มีอยู่ ณ ตอนนี้ สำหรับบางคนแล้วการเปลี่ยนสายงานหมายถึงการเริ่มต้นอาชีพใหม่ในขอบเขตอุตสาหกรรมใกล้เคียงหรือใหม่ทั้งหมด ในขณะที่คนอื่นๆ อาจเป็นการทำอาชีพใหม่ในอุตสาหกรรมเดิมก็ได้ 

การตัดสินใจที่ถูกต้อง มักจะมาจากการเข้าใจตัวเองอย่างลึกซึ้ง คุณจึงควรใช้เวลาในการสะท้อนความต้องการของตัวเองให้มากที่สุดก่อน (ข้อ 1) เพื่อพิจารณาทางเลือกที่เป็นไปได้อันนำไปสู่การเลือกสิ่งที่เหมาะสมที่สุดให้กับตัวเอง ซึ่งต้องสอดคล้องกับค่านิยมหลักและทักษะของคุณ โดยคุณสามารถปรึกษาคนรอบข้าง เพื่อนร่วมงาน หัวหน้างานเก่า ที่คลุกคลีอยู่ด้วยกันมากพอที่จะให้คำแนะนำที่ดีกับคุณได้

3. ค้นหาทางเลือกที่ตอบโจทย์

รวมรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับตัวงานที่คุณสนใจเอาไว้ให้ได้มากที่สุดให้มีความหลากหลายทั้งประเภทตัวงานหรืออุตสาหกรรมที่มีความแตกต่างกัน เน้นไปที่การอ่านรายละเอียดงานอย่างลึกซึ้ง เพื่อค้นหางานที่ตรงใจมากที่สุด โดยคุณอาจเอาทักษะที่คุณสนใจเป็นที่ตั้งแทนการค้นหาจากชื่อตำแหน่งไปตรงๆ เนื่องจากตำแหน่งงานในปัจจุบันมีชื่อเรียกที่ไม่เหมือนกัน และบางตำแหน่งงานเป็นชื่อใหม่ในวงการที่เกิดจากการรวมหลายตำแหน่งเข้าด้วยกันนั่นเอง

หลังจากนั้น คุณอาจกรอบการค้นหาให้แคบลง ด้วยการเลือกประเภทงานที่น่าสนใจมากที่สุดมาเพียง 2-3 ประเภท เริ่มต้นศึกษาจริงจังถึงอุตสาหกรรม แนวโน้มการเติบโตในสายงาน Career Path ไปจนถึงความต้องการในท้องตลาด เพราะบางตำแหน่งงานนั้นมีความเป็นเอกเทศ มีความต้องการที่สูงมากแต่คู่แข่งก็มีเยอะมาก ซึ่งอาจทำให้โอกาสในการได้งานดังกล่าวน้อยตามลงไปด้วย กรณีนี้คุณอาจพิจารณาตำแหน่งงานใกล้เคียงหรือเป็นเลเวลรองลงมาแทน

🔗 อ่านเพิ่ม แบบทดสอบบุคลิกภาพ 16 Personalities กับการหางาน

4. วางแผนการเปลี่ยนสายงาน

แน่นอนว่า ไม่ใช่ทุกทักษะและความสามารถจากงานเดิมที่จะนำมาต่อยอดในสายงานใหม่ได้ คุณจึงต้องวางแผนที่จะปิดช่องโหว่ตรงนี้เพื่อไม่ให้เป็นที่ผิดสังเกตุกับฝ่ายบุคคล รวมถึงสร้างความมั่นใจให้กับผู้สัมภาษณ์ว่าแม้คุณจะไม่ได้มีประสบการณ์ตรงเหมือนผู้เข้าสมัครคนอื่นก็ตาม โดยสิ่งที่คุณควรทำ คือ การศึกษารายละเอียดงานใน Job Description และประกาศหางานในเว็บไซต์ต่างๆ ทำความเข้าใจว่า การจะไปถึงเป้าหมายของคุณนั้น ต้องใช้อะไรบ้าง คุณอยู่ส่วนไหนของกระบวนการ และต้องทำอย่างไร เพิ่มเติมตรงส่วนไหนถึงจะมีสิ่งที่พวกเขาต้องการได้

  • ลองทำสิ่งนั้น : ไม่ว่าจะเป็นงานอาสาสมัคร งานพาร์ทไทม์ หรืองานฟรีแลนซ์​ที่เกี่ยวข้อง คุณสามารถทดลองทำงานเหล่านั้นได้โดยตรง เพื่อทดสอบความสนใจของตัวเอง ย้ำเตือนว่าสิ่งที่คุณคิดนั้นถูกต้อง หรือแผนการมีอะไรที่ต้องแก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่
  • Shadow Job : มองหาเพื่อนเก่าที่ทำงานในสาขาที่คุณสนใจเพื่อสังเกตการทำงานได้โดยตรง  อาจใช้เวลาตั้งแต่สองสามชั่วโมงไปจนถึงสองสามวันในการประกบคนเหล่านั้น ซึ่งปกติแล้ว ส่วนช่วยเหลือนักศึกษา ณ มหาวิทยาลัยที่คุณจบมา มักจะมีโครงการหาอาสาสมัครศิษย์เก่าที่ยินดีเป็นผู้ดูแลในระหว่างนี้ได้
  • ลงเรียนคอร์สใหม่ : หนึ่งในตัวเลือกที่จับต้องได้และได้ผลที่สุด คือ การใช้เวลาลงทุนไปกับการศึกษาคอร์สเรียนใหม่ๆ ทั้งหลักสูตรระยะสั้นที่ได้ใบประกาศนียบัตรหรือหลักสูตรระยะยาว ปริญญาโทที่สามารถเป็นเครื่องการันตีความสามารถใหม่นี้ได้ รวมถึงติดต่อศูนย์ฝึกอาชีพของทางราชการที่มีกระจายอยู่แทบทุกทั่วภูมิภาค เป็นการอัพสกิลตัวเองให้ก้าวทันโลก

5. รีแบรนด์ตัวเองใหม่

เปลี่ยนสายงานใหม่ทั้งที ใช้โอกาสนี้ในการเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นคนใหม่ด้วยเลย! คล้ายกับการรีแบรนด์ครั้งใหญ่เนื่องจากคุณไม่สามารถใช้วิธีการสมัครงานแบบเดิมและคาดหวังผลลัพธ์ที่แตกต่างได้อีกต่อไป จงใส่ใจกับภาพลักษณ์ที่คุณนำเสนอต่อคนอื่นครอบคลุมในส่วนของ เรซูเม่ Cover Letter และโปรไฟล์บนสื่อโซเชียล คุณคือแบรนด์ เปลี่ยนหน้าร้านของคุณให้ดูมีความเป็นมืออาชีพและน่าสนใจมากยิ่งขึ้น รวมถึงการสลัดภาพลักษณ์เดิมที่ไม่สอดคล้องกับเป้าหมายใหม่ทิ้งไป

พิจารณาการปรับรูปแบบเรซูเม่ แฟ้มสะสมผลงาน สื่อโซเชียล ไปจนถึงการอัปเดตนามบัตร เว็บไซต์ส่วนตัว และข้อมูลติดต่อเพื่อสะท้อนถึงตัวตนใหม่ของคุณด้วย

🔗 อ่านเพิ่ม เขียนเรซูเม่สำหรับคนที่ไม่มีประสบการณ์

6. ใช้เครือข่ายให้เป็นประโยชน์

แน่นอนว่ายิ่งคุณรู้จักคนมาก คุณยิ่งมีโอกาสมาก จงอย่าลืมที่จะทักไปหากลุ่มคนที่คุณเชื่อมต่อถึงบนลิงค์อิน หรือคนรู้จักที่คุณเคยได้นามบัตรมาแต่ไม่เคยติดต่อไปสักครั้ง นี่เป็นเวลาที่คุณจะใช้ประโยชน์จากเครือข่ายเหล่านั้น ว่าพวกเขามีโอกาสหรือรู้จักใครสักคนที่สามารถหยิบยื่นมันให้กับคุณได้ จงอย่าลังเลที่จะส่งโทรศัพท์ไปขอความช่วยเหลือ หรือเป็นข้อความ inbox ไปโดยตรงก็ได้ นอกจากนี้ คุณอาจหาโอกาสในเวลาว่างเพื่อเข้าร่วมงานสัมมนา อีเว้นท์ต่างๆ รวมถึง Coworking Space ที่เหล่าพนักงานฟรีแลนซ์และสตาร์ทอัพมักจะรวมตัวกันทำงาน ทำความรู้จักพวกเขาในช่วงเวลาพักเบรคในตอนบ่าย อย่างน้อยถ้าเพื่อนใหม่เหล่านี้อาจเป็นสะพานให้คุณเข้าไปเจอสังคมใหม่ โลกการทำงานใหม่ๆ หรือแม้แต่แนะนำคนที่คุณสามารถเข้าไปคุยเรื่องโอกาสในการทำงานได้โดยตรง

7. สร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเองเสมอ

การสร้างแรงจูงใจในช่วงระหว่างการเปลี่ยนงานนั้นสำคัญ​ เพราะต้องอาศัยกำลังใจที่มากพอในยุคงานหายากนี้ คุณอาจเริ่มจดบันทึกเหตุการณ์สำคัญคล้ายกับการเขียนไดอารี่ประจำวันเป็นหลักฐานความก้าวหน้าว่าคุณกำลังเดินไปสู่อนาคตอย่างมั่นคง แม้จะดูเป็นก้าวที่ช้าไปสักหน่อยก็ตาม…แต่คุณไม่เคยหยุดเดิน เพราะฉะนั้นการติดตามความคืบหน้าเป็นประจำจะสะท้อนชัยชนะเล็กๆ เพื่อเติมแรงใจตลอดเส้นทางของการเปลี่ยนสายงานที่จะทำให้คุณรู้สึกว่าเข้าใกล้ความสำเร็จมากขึ้นทุกทีๆ นั่นเอง

และเมื่อคุณพร้อมที่จะเปลี่ยนงานแล้วหละก็ อย่าลืมเขียนจดหมายปะหน้า Cover Letter ที่จะช่วยให้ฝ่ายบุคคลเข้าใจความเป็นมาของการเปลี่ยนสายงานครั้งนี้ พร้อมกับแนบเรซูเม่แบบไฮบริดที่เน้นทักษะความสามารถมากกว่าประวัติการทำงานที่ไม่สอดคล้องกับตำแหน่งที่สมัคร ขอให้คุณโชคดี

ที่มา : Indeed, The Balance Career

แชร์บทความ :
Jitkarn Sakrueangrit

Jitkarn Sakrueangrit

Graphic & Web Designer, Content Creator,
Copywriter, Marketing Specialist

คุณน่าจะชอบเรื่องเหล่านี้

woman-silhouette-dream

หา Passion ในการทำงานสู่การค้นพบ ‘งานที่ใช่’

กำลังมองหาสิ่งที่ใช่ งานในฝันที่คุณจะรู้สึกชอบและรักจนอยากจะตื่นมาทำงานทุกวันด้วยพลังใจที่เต็มเปี่ยมอยู่ใช่ไหม นี่คือเคล็ดลับที่คุณต้องอ่าน!

อ่านเลย »
ตามยังไง ถ้าส่งเรซูเม่สมัครงานไปแล้วเงียบ by Find Your Job

ตามยังไง? ถ้าส่งเรซูเม่สมัครงานไปแล้วเงียบ

ส่งใบสมัครไปนาน ผ่านไปหลายวัน HR ก็ยังเงียบเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น หรือนี่จะเป็นคำปฏิเสธอ้อมๆ กันแน่นะ ตามใบสมัครงานยังไงให้ดูไม่น่าเกลียด?

อ่านเลย »

คุณรับทราบและยินยอมว่า การใช้งานเว็บไซต์นี้มีการเก็บข้อมูลคุ๊กกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ในการใช้บริการ อ่านข้อมูลเพิ่มเติม