girl-working-sitting-thinking-workplace

“เดี๋ยวเราจะติดต่อกลับไป” คือการปฏิเสธจาก HR ใช่หรือไม่?

ที่ HR บอกว่าเดี๋ยวเราจะติดต่อกลับไป แปลอีกความหมายหนึ่งคือเราไม่ได้งานใช่ไหม? ไขข้อข้องใจ ทำไมถึงไม่พูดตรงๆ ว่าได้งานหรือไม่ได้ให้ชัดเจน

ความหมายที่แท้จริงของคำว่า “เดี๋ยวเราจะติดต่อกลับ” หรือ “ทางเราจะโทรกลับไปแจ้งผล” เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ที่ HR มักใช้คำนี้ในการปฏิเสธผู้สมัครที่ไม่ผ่านการคัดเลือกจริง เนื่องจากเป็นการถนอมน้ำใจขั้นสุดที่พวกเขาจะทำได้ ครั้นจะให้บอกไปตรงๆ ว่า “ไม่ผ่านการสัมภาษณ์ค่ะ กลับบ้านนะคะ” นอกจากจะดูใจร้ายแล้ว ยังเป็นการทำให้ภาพลักษณ์ของบริษัทเสียหายโดยตรง เพราะผู้สมัครจะมีความรู้สึกด้านลบกับแบรนด์ไปเลยและอาจคอมเม้นท์แก้เผ็ดบนสื่อโซเชียลด้วยการใส่สีตีไข่เพิ่มเชื้อไฟขึ้นไปอีก

ทางฝั่งของ HR แล้วในขั้นตอนการแจ้งผลสัมภาษณ์บางสถานการณ์มีเงื่อนไขและปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถแจ้งผลได้อย่างทันท่วงที จึงขอถ่วงเวลาเอาไว้ด้วยคำพูดดังกล่าว ยืดระยะเวลาขั้นตอนการพิจารณาออกไป แต่กลับเลือกแจ้งผลกับผู้สมัครที่ผ่านการคัดเลือกเท่านั้น ทำให้ “เดี๋ยวเราติดต่อกลับ” กลายเป็นคำปฏิเสธไปโดยปริยาย วันนี้เราจะมาเจาะลึกถึงเหตุผลที่เป็นไปได้กัน

เลือกอ่านเฉพาะหัวข้อ

ไม่มีความเป็นมืออาชีพ

จริงอยู่ที่ HR ใช้คำนี้เพราะมันคือความจริงที่พวกเขายังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาที่อาจกินเวลานานกว่าหนึ่งสัปดาห์ไปจนถึงหนึ่งเดือนแล้วแต่ความยากในการหาผู้ที่เหมาะสม แต่การแจ้งผลเฉพาะกับผู้สมัครที่ได้รับคัดเลือกโดยปล่อยให้คนที่เหลือรออย่างไร้จุดหมายถือเป็นความไม่โปรของ HR เอง บริษัทที่ดีจะมีระบบติดตามผู้สมัครที่สามารถส่งอีเมล์ปฏิเสธในกรณีที่ตกสัมภาษณ์ นำระบบเข้าเพื่อให้มั่นใจว่าแคนดิเดตทุกคนได้รับประสบการณ์ที่ดีในสัมภาษณ์งาน แม้จะไม่ผ่านการสัมภาษณ์ก็ตาม พวกเขารู้ดีว่า ความจริงที่เจ็บปวดนั้นดีกว่าการไม่รู้อะไรเลย ดังนั้นการที่ HR เงียบหายไปเสียเฉยๆ ถือว่าเป็นความบกพร่องในหน้าที่

ยังไม่เจอผู้สมัครที่ใช่จริงๆ

สัมภาษณ์คุณผ่านไปอย่างสวยงาม คุณทำได้ดีนะ แต่พวกเขามีความรู้สึกว่า อาจมีคนที่ดีกว่า ใช่กว่า อยู่ในลำดับคิวสัมภาษณ์ที่ยังต้องดำเนินต่อไป พูดง่ายๆ ก็คือ ต้องการเปรียบเทียบคุณกับผู้เข้าสมัครคนอื่น ให้แน่ใจว่าคนที่จะจ้างนั้นเป็นคนที่ดีที่สุดแล้วจริงๆ ในแง่ของความสามารถ แพคเกจค่าตอบแทน ความเข้ากันได้กับทีมและวัฒนธรรมองค์กร (เป็นพวกเดียวกัน) เพราะฉะนั้นการสัมภาษณ์งานอาจต้องใช้เวลายาวนานมากขึ้นไปอีก ยิ่งถ้าเป็นตำแหน่งที่มีการแข่งขันสูง มีคนสมัครเยอะ ทำใจเสียแต่เนิ่นๆ ว่าอาจต้องรอไปอีกนานกว่าพวกเขาจะสัมภาษณ์ครบทุกคน ซึ่งถ้าเราดีจริงๆ ถึงมาตรฐานจริงๆ พวกเขาคงไม่เสียเวลาเปรียบเทียบกับคนอื่นหรอก

ขั้นตอนสัมภาษณ์งานและรับคนมีความยุ่งยาก

เหตุผลนี้จะยิ่งมีน้ำหนักถ้าคุณไปสมัครงานกับบริษัทที่มีวัฒนธรรมแบบไท้ไทย หน่วยงานรัฐ สถาบันการเงินใดใด ที่ต้องรอผู้มีอำนาจหลายฝ่ายลงนามเห็นด้วยในการรับใครสักคนหนึ่งเข้ามาทำงานโดยอาจกินเวลานานมากกว่าหนึ่งเดือนด้วยซ้ำกว่าจะรอให้ ‘ผู้ใหญ่’ ว่างตรงกัน ทั้งขั้นตอนการสัมภาษณ์ที่กินเวลา (เสียเวลาเพราะรอนี่แหละ) ทั้งการรอเซ็นรับทราบว่าจะจ้างใคร ความยุ่งยากที่น่ากระอักกระอ่วนใจของ HR นี้ไม่สามารถเร่งรัดกระบวนการให้เร็วได้ เหมือนอย่างที่เรารู้กันว่าองค์กรที่มีลำดับขั้นนั้น การที่ผู้น้อยเข้าหาผู้ใหญ่ไม่ถูกที่ถูกทาง อาจถูกมองเป็นการรบกวนและความก้าวร้าว

ความต้องการคนของแต่ละแผนกเอาแน่เอานอนไม่ได้

เหตุการณ์นี้มักจะเกิดขึ้นกับองค์กรสมัยใหม่อย่างสตาร์ทอัพหรือบริษัทเทคโนโลยีที่มักมีการตั้งกลุ่มการทำงานเฉพาะกิจรับมือกับโปรเจคต่างๆ ที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ไม่มีอะไรตายตัว ทำให้ระดับความต้องการคนไม่สามารถระบุได้ชัดเจน เช่น เดือนนี้แผนกไอทีมีแผนพัฒนาซอฟต์แวร์มือถือตัวใหม่ซึ่งต้องการกำลังคนมาช่วยออกแบบ เขียนโค้ดต่างๆ แต่ผ่านไปหนึ่งอาทิตย์ CEO เปลี่ยนแผนธุรกิจใหม่โดยเน้นพัฒนาของเดิมที่ยังมีปัญหา โครงการดังกล่าวจึงถูกพับเก็บไว้ชั่วคราวอย่างไม่มีกำหนด

ในสายตาของ HR แล้วการจะป่าวประกาศถึงความไม่แน่นอนในองค์กรเป็นการสร้างภาพลักษณ์ความไม่น่าเชื่อถือ จึงเลือกที่จะหยุดกระบวนการชั่วคราวโดยไม่แจ้งทั้งคนที่สัมภาษณ์ไปแล้วและผู้สมัครที่ส่งใบสมัครเข้ามา อีกทั้งส่วนนึงยังเป็นเพราะพวกเขาเกรงว่าถ้าปฏิเสธผู้สมัครทุกคนไปแล้ว หนึ่งอาทิตย์ต่อมาโปรเจคนั้นมีการรื้อขึ้นมาทำใหม่ก็จะได้ไม่เสียเวลาในการดำเนินการสัมภาษณ์ต่อนั่นเอง

ป้องกันดราม่าที่อาจเกิดขึ้น

ในตำแหน่งที่มีอัตราการ Turnover สูงมาก พนักงานลาออกบ่อย การจะจ้างใครสักคน HR ยังต้องมานั่งลุ้นอีกว่าพวกเขาจะอยู่ทนจนผ่านช่วงทดลองงานไปได้หรือไม่ ซึ่งถ้าพนักงาน A ที่จ้างมาดันทำงานได้เพียง 2 อาทิตย์แล้วลาออก ต่อมาจึงติดต่อพนักงาน B ที่เคยแจ้งผลว่าบริษัทปฏิเสธไปแล้วนั้น อาจเกิดดราม่าได้ เช่น พนักงาน B มีความรู้สึกแย่จากการถูกปฏิเสธเมื่อสองอาทิตย์ก่อน ทั้งที่เขาเป็นผู้สมัครอีกคนที่มีความสามารถทดแทนพนักงาน A ได้ มันจะทำให้ HR ทำงานยากขึ้นไปอีกและอาจต้องเริ่มกระบวนการสัมภาษณ์ใหม่หมดกับคนอื่น

มันอาจจะดีกว่าก็ได้ที่ HR ไม่แจ้งพนักงาน B เลยสักอย่าง ถ้าเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น การโทรกลับไปแจ้งว่าพนักงาน B ผ่านการสัมภาษณ์ก็ดูสมเหตุสมผล บางทีการไม่รู้เรื่องอะไรนั้นดีที่สุดแล้ว

ในกรณีที่ HR แจ้งว่าจะติดต่อกลับโดยไม่ได้แจ้งไทม์ไลน์ไว้อย่างชัดเจน คุณต้องถามกลับไปว่า ‘เมื่อไหร่’ ที่พวกเขาจะติดต่อกลับหรือสะดวกให้คุณติดตามผลด้วยตัวเองเป็นวันไหน นอกจากจะเป็นการวางเดดไลน์ให้ HR แล้วยังเป็นข้ออ้างที่ดีที่คุณจะใช้ติดตามผลสัมภาษณ์ (อ่านเพิ่ม) กรณีที่พวกเขาหายไปอีกด้วย

แชร์บทความ :
Jitkarn Sakrueangrit

Jitkarn Sakrueangrit

Graphic & Web Designer, Content Creator,
Copywriter, Marketing Specialist

คุณน่าจะชอบเรื่องเหล่านี้

สัมภาษณ์ไม่ผ่าน ทำอย่างไรต่อไปดี

สัมภาษณ์ไม่ผ่าน ทำอย่างไรต่อไปดี?

สัมภาษณ์งานมาหลายรอบแต่ไม่ผ่านเลยสักรอบ ตกสัมภาษณ์ไปเสียทุกครั้งจนทำเอาท้อในการหางาน รับมืออย่างไรในวันที่หัวใจอ่อนล้า

อ่านเลย »
How To ปฏิเสธงาน ยังไงไม่ผิดใจและไม่โดนแบล็คลิส by Find Your Job

How To ปฏิเสธงาน ยังไงไม่ผิดใจและไม่โดนแบล็คลิส

HR โทรมาแจ้งผลการสัมภาษณ์ว่าได้งาน แต่ใจเจ้ากรรมดันไม่อยากได้งานนี้ซะงั้น ใครจะอยากเป็นคนไม่ดีปฏิเสธงานให้เสียชื่อ รับมือยังไงดี?!?

อ่านเลย »

คุณรับทราบและยินยอมว่า การใช้งานเว็บไซต์นี้มีการเก็บข้อมูลคุ๊กกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ในการใช้บริการ อ่านข้อมูลเพิ่มเติม