ออกแบบเรซูเม่ เก๋ไม่ซ้ำใคร ด้วยการใส่ใจกับ Personal Branding by Find Your Job

ออกแบบเรซูเม่ไม่ซ้ำใคร ใส่ใจกับ Personal Branding

บอกเล่าเรื่องราวของคุณผ่านเรซูเม่ สร้าง Personal Branding ที่ทำให้คุณโดดเด่นท่ามกลางผู้สมัครนับร้อยนับพัน HR ก็จะยังจดจำคุณได้เสมอ

Personal Branding คือ การกำหนดภาพลักษณ์เฉพาะตัวให้เป็นที่จดจำของคนอื่น ซึ่งเกี่ยวข้องกับการสร้างชื่อเสียง หรือ ‘ภาพจำ’ ให้คนภายนอกเห็นอัตลักษณ์ ตัวตนที่แตกต่างของคุณ มันอาจจะฟังดูแย่ไปสักหน่อยหากมองตัวเราเหมือนกับแบรนด์สินค้าตัวหนึ่ง แต่ความจริงก็คือเราทุกคนล้วนมีแบรนด์เป็นของตัวเองทั้งสิ้น เพื่อนร่วมงานพูดถึงคุณว่ายังไง หัวหน้างานอธิบายการทำงานของคุณแบบไหน ดีหรือไม่ดี?

เรื่องราวของคุณถูกบอกเล่าโดยผู้อื่นตลอดเวลาผ่านสื่อออนไลน์ที่ควบคุมได้ยาก จะดีกว่าไหมถ้าวันนี้คุณเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง และปัดฝุ่น Personal Branding ของตัวเองใหม่ จัดการสร้างและเผยแพร่ภาพลักษณ์ที่ดี ชัดเจน เป็นตัวคุณในเวอร์ชั่นที่ดีที่สุด เพื่อเสริมสร้างคอนเนคชั่นที่แข็งแรง ให้เป็นที่รู้จักในวงการอุตสาหกรรมที่คุณทำงานอยู่ ง่ายต่อการหางานใหม่ในตลาดงานที่มีการแข่งขันสูงแบบนี้

เลือกอ่านเฉพาะหัวข้อ

ตัวอย่างเรซูเม่ที่ใช้ Personal Branding ในการออกแบบ

NuuNeol's Intereactive Profile
Credit : https://nuuneoi.com/profile

คุณ NuuNeol : Developer หนุ่มที่ไม่คุ้นชินกับการทำเรซูเม่บนกระดาษรูปแบบเดิมๆ เขาจึงใช้ทักษะด้านโปรแกรมคอมพิวเตอร์มาช่วยออกแบบเรซูเม่ซะใหม่ โดยมาในรูปแบบของเกมส์ 2D ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเกมส์ Rockman มีกิมมิคแบบไทยๆ เล่าเรื่องผ่านตัวละครผู้ชายที่เดินไปเรื่อยๆ ที่ดูแค่แว้บก็รู้เลยว่าเป็นเรซูเม่ของโปรแกรมเมอร์ เรียกว่า ใช้ความคิดสร้างสรรค์ นำเสนอภาพลักษณ์แบรนด์ตัวเองได้อย่างยอดเยี่ยม คลิ๊กที่นี่

behance.net - Krystian Kubicki
Credit : Behance.net - Krystian Kubicki

คุณ Krystian Kubicki : คอมพิวเตอร์กราฟฟิค & นักออกแบบอิสระ ที่นำเสนอเรซูเม่ได้อย่างน่าสนใจ ดูคล้ายกับป้ายโฆษณาซึ่งเป็นหนึ่งในความสามารถของเขาที่ถูกหยิบยกมานำเสนอตอกย้ำความเก่งนั่นเอง คลิ๊กที่นี่

ตัดภาพมาที่ตัวคุณตอนนี้ ในเมื่อพวกเขาสามารถสร้างอัตลักษณ์ที่ชัดเจนแบบนี้ได้ คุณเองก็สามารถทำได้เหมือนกัน ด้วยขั้นตอนการสร้าง Personal Branding ดังต่อไปนี้

Step 1 : หาตัวตนของคุณให้เจอ

การสื่อสารที่ดีที่สุดคือการสื่อสารที่ชัดเจนที่สุด คุณต้องมีความเข้าใจในตัวเองอย่างถ่องแท้อันจะสามารถส่งมอบตัวตน จุดแข็ง ที่เป็นจุดเด่นไม่เหมือนใครออกมาได้

1.1 คุณเป็นหรืออยากเป็นอะไร

อาชีพของคุณ คือ ตัวตนของคุณเอง! อย่ามองข้ามชื่อตำแหน่งของตัวเอง เพราะสิ่งนั้นจะบ่งบอกตัวตนของคุณได้ดีที่สุดในตอนนี้ อีกกรณีหนึ่ง คุณอาจลองจินตนาการในอีกห้าปีข้างหน้าคุณเห็นตัวเองเป็นแบบไหนหละ? เป้าหมายในอนาคตจะหล่อหลอมให้อัตลักษณ์ของคุณมีความเด่นชัดขึ้นตามกาลเวลา ยกตัวอย่างเช่น ปัจจุบันคุณคือนักออกแบบ (Graphic Design) และคุณเห็นตัวเองในอนาคตเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ คุณสามารถเลือกใช้คีย์เวิร์ดนี้ในการสร้างตัวตนของคุณได้เลย

1.2 สร้างคุณค่าให้แบรนด์

แบรนด์ที่คนจดจำ คือแบรนด์ที่สามารถแก้ปัญหานั้นๆ ให้คนอื่นได้ เช่น โค๊ก (Coke) ดับกระหายน้ำในวันที่อากาศร้อนจัด AirBnB ที่ช่วยเจ้าของคอนโดหาลูกค้ามาพักแบบรายวัน คุณอาจเริ่มต้นด้วยการหาว่า คุณเก่งเรื่องอะไร คนมักมาถามคุณเรื่องไหน และคุณสามารถแก้ปัญหาให้ใครได้บ้าง

1.3 บอกเล่าเรื่องราวในอดีต

กว่าจะเป็นคุณในวันนี้ต้องผ่านร้อนผ่านหนาวมาไม่รู้ตั้งเท่าไหร่ เรื่องราวที่คุณคิดว่าไม่น่าสนใจอาจเป็นเรื่องเดียวกันกับที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นได้ เขียนเล่าเรื่องราวในอดีตออกมาผ่านตัวอักษรณ์เหมือนอย่างที่คุณคุ้นเคยดีกับหน้า About us (เกี่ยวกับเรา) ในเว็บไซต์ แล้วคุณจะแปลกใจว่าความเป็นตัวตนของคุณอาจซ่อนอยู่ในเรื่องราวเหล่านั้นได้

1.4 สร้างบุคลิกลักษณะ

เพิ่มความชัดของบุคลิกลักษณะให้กับแบรนด์ของคุณ ถ้าในข้อ 1.3 คุณค้นพบว่าคุณฝ่าฟันกับปัญหามาตลอดและไม่เคยยอมแพ้ คำจำกัดความอย่าง ‘นักสู้’ อาจกลายเป็นบุคลิกลักษณะของคุณ หรือถ้าหากคุณมีผลงานในอดีตที่โดดเด่นในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้กับลูกค้าได้ในเวลาอันสั้น คุณอาจนิยามตัวเองว่าเป็น ‘นักแก้ปัญหาตัวยง’ ให้กับแบรนด์

1.5 กลั่นกรองออกมาเป็นข้อความของแบรนด์

เราเรียกข้อความนี้ว่า Brand Statement ที่เกิดจากการเอาข้อมูลที่ได้ทั้งหมดจาก 1.1 – 1.4 มาเขียนรวมกันสั้นๆ ในหนึ่งย่อหน้า ใคร-ทำอะไร-อย่างไร เป็นต้นว่า

  • โจแอน (1) ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบด้วย (3) ประสบการณ์ดีไซน์กราฟิกกว่า 10,000 ช้ิน รังสรรค์ผลงานครอบคลุม (2) ทุกสิ่งที่นักการตลาดต้องการทั้งชิ้นงานที่จับต้องได้และรูปแบบดิจิตอลออนไลน์ (4) ความสร้างสรรค์และการคิดนอกกรอบคือหัวใจสำคัญของงานออกแบบของเธอ

  • เควิน (1) พนักงานขาย (4) ผู้ไม่เคยยอมแพ้ (3) เริ่มต้นจากศูนย์สู่รางวัล Top Biller 3 ปีซ้อน (2) สร้างกำไรให้แบรนด์เสื้อผ้าชื่อดังมาแล้วหลายเจ้า

Step 2 : เลือกรูปแบบการนำเสนอที่ใช่

หลังจากที่คุณสร้างแบรนด์ของตัวเองแล้ว ในการสื่อสารใดใดจำต้องคำนึงถึงภาพลักษณ์ของแบรนด์ด้วยทุกครั้งเพื่อให้ Message ที่ส่งออกไปมีความสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับแบรนด์ โดยเริ่มจากการกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน คุณกำลังออกแบบเรซูเม่ให้กับใคร องค์กรนั้นๆ มีวัฒนธรรมหรือให้คุณค่าในเรื่องของอะไร มีวิธีการไหนที่คุณสามารถแสดงทักษะความสามารถของตัวเองผ่านการตกแต่งเรซูเม่ได้บ้าง

หากคุณมีความสามารถด้านเว็บไซต์​ WordPress หรือ Wix การนำเสนอเรซูเม่แบบเว็บไซต์ออนไลน์อาจเป็นตัวเลือกที่ดี แต่ถ้าคุณมีความสามารถด้านกราฟิกดีไซน์ คุณอาจออกแบบเรซูเม่ใหม่ ฉีกกฏรูปแบบดีไซน์ที่ซ้ำซากจำเจ บอกเล่าเรื่องราวในแบบเฉพาะของคุณ

Step 3 : ไม่ลืมเรื่องของ UI/UX Design

แค่ความสวยงามอาจไม่พอ คุณต้องทดลองดีไซน์หลายรูปแบบเพื่อค้นหาเวอร์ชั่นที่ดีที่สุด โดยการทดสอบประสิทธิภาพจากเพื่อนๆ ยื่นเรซูเม่ให้พวกเขาอ่าน แต่มีเวลาจำกัดเพียงแค่ 5-10 วินาทีเท่านั้น ถามถึงสิ่งที่พวกเขารับรู้หรือจำได้จากการดูเรซูเม่เพียงไม่กี่วินาที เรซูเม่ที่มีการออกแบบดี วาง Layout ได้อย่างถูกต้องจะช่วยให้ผู้อ่านโฟกัสสิ่งสำคัญได้อย่างตรงจุดในเวลาอันสั้น อย่าลืมขอความเห็นเพื่อในไปปรับปรุง เพราะบางครั้งการออกแบบไม่ใช่การที่คุณอยากให้คนอ่านเห็นอะไร แต่เป็นการที่คนอ่าน ‘อยากเห็นอะไร’ ร่วมด้วย ประสบการณ์ของผู้อ่าน (User Experience) จึงเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม

Step 4 : ปัดฝุ่นตัวตนออนไลน์ทั้งหมดใหม่

ไม่เพียงแต่เรซูเม่เท่านั้นที่คุณควรให้ความสนใจ แต่ยังรวมถึงสื่อออนไลน์ทุกอย่างของคุณด้วย ซึ่งต้องสื่อสารความเป็นคุณในทิศทางเดียวกันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น Facebook Twitter หรือ LinkedIn คุณอาจตรวจสอบตัวตนบนโลกออนไลน์ด้วยการพิมพ์ชื่อของตัวเองลงไปใน Google หาร่องรอยต่างๆ ที่ HR จะสืบสาวราวเรื่องมาถึงตัวคุณได้ แล้วเปลี่ยนมันเสียก่อนที่ใครจะมาพบมันเข้า หากสิ่งนั้นขัดกับภาพลักษณ์ของคุณ

  • Facebook : เปลี่ยนรูปโปรไฟล์ Cover พื้นหลัง และข้อความ Bio เป็น Brand Message ที่ได้จากขั้นตอนที่ 1 ระวังโพสต์ที่เป็นสาธารณะหรือการแสดงความคิดเห็นในเพจต่างๆ ที่ขัดต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์
  • LinkedIn : แพลตฟอร์มที่นักธุรกิจและคนทำงานต้องมี ปรับปรุงภาพลักษณ์และ Headline ให้เหมือนใหม่ บอกเล่าเรื่องราวของคุณด้วยการเขียน Article หรือแชร์เรื่องที่คุณสนใจ/ให้คุณค่า เป็นการแสดงจุดยืนของแบรนด์
  • Twitter : แม้ในประเทศไทยจะใช้ทวิตเตอร์เพื่อการธุรกิจน้อยเมื่อเทียบกับต่างชาติ แต่ถ้าคุณสมัครงานกับบริษัท International คุณต้องสร้างแบรนด์ที่ดีในทุกแพลตฟอร์มที่เป็นไปได้ด้วย

ที่มา : 99designs, Entrepreneur

แชร์บทความ :
Jitkarn Sakrueangrit

Jitkarn Sakrueangrit

Graphic & Web Designer, Content Creator,
Copywriter, Marketing Specialist

คุณน่าจะชอบเรื่องเหล่านี้

สมัครงานบริษัทนี้ดีไหม ดูที่อะไร by Find Your Job

สมัครงานบริษัทนี้ดีไหม ดูที่อะไร?

เปลี่ยนงานทั้งทีก็ต้องเลือกที่ที่ดีที่สุด แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าบริษัทที่สมัครไปนี้เป็นตัวเลือกที่ปังหรือโป๊ะ รู้ก่อนจะได้ไม่พลาดหนีเสือปะจรเข้

อ่านเลย »

คุณรับทราบและยินยอมว่า การใช้งานเว็บไซต์นี้มีการเก็บข้อมูลคุ๊กกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ในการใช้บริการ อ่านข้อมูลเพิ่มเติม