สัมภาษณ์ครั้งหน้า อย่าลืมถามเกี่ยวกับสถานการณ์ COVID-19

องค์กรที่ดีจะมีมาตรการรับมือความเสี่ยงได้อย่างเป็นระบบและทันเหตุการณ์ ถามผู้สัมภาษณ์ให้ชัวร์ ป้องกันโดนปลดฟ้าผ่า ลดความเสี่ยงตกงานอีกรอบ

อย่างที่ทราบกันดีว่า โควิดเข้ามามีบทบาทต่อความเป็นอยู่ของบริษัทต่างๆ เป็นเหมือนบททดสอบในการรับมือกับวิกฤต (Risk Management) ที่มีความผันผวนสูง เฉพาะผู้ที่แข็งแกร่งเท่านั้นจึงจะอยู่รอดตามกฎแห่งการคัดสรรโดยธรรมชาติ ในส่วนของการสัมภาษณ์งานที่ผู้สัมภาษณ์มักเปิดโอกาสให้คุณถามในตอนสุดท้าย คุณจึงสามารถใช้โอกาสนี้ในการตรวจสอบสถานะทางการเงิน นโยบายและวิสัยทัศน์ขององค์กรในการรับมือกับปัญหาใหญ่เหล่านี้ เพื่อทำนายอนาคตว่าบริษัทจะสามารถไปต่อได้หรือไม่ เป็นการป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นอย่างการปลดพนักงาน การลดเวลาการทำงาน ไปจนถึงความคาดหวังของพวกเขาที่มีต่อพนักงานในช่วงทำงานจากที่บ้าน

คำตอบที่คาดว่าจะได้รับ
ตรงไปตรงมา: สุขภาพและความมั่นคงในการทำงานถือเป็นเรื่องแรกๆ ที่บริษัทต้องให้ความสำคัญ​ คำตอบที่คลุมเครือหรืออ้อมๆ ไม่ตรงประเด็นนั้นอาจหมายถึงองค์กรไม่มีแผนรองรับสถานการณ์ความเสี่ยงแบบชัดเจน หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันผลกระทบก็จะตกไปที่พนักงานด้วย เช่น นโยบายการ WFH, การฉีดวัคซีน, มาตรการรักษาระยะห่าง, รวมไปถึงสิทธิ์การลาป่วยของพนักงาน เป็นต้น 
มีรายละเอียดครบ: ผู้สัมภาษณ์ควรจะสามารถลงรายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้ กลยุทธ์ใหม่ๆ และมาตรการป้องกันความปลอดภัยที่มีอยู่ขององค์กรได้ ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เพราะถ้าหากคุณได้รับเพียงคำตอบสั้นๆ นั่นแปลว่าพวกเขาไม่มีระบบการจัดการที่ดีพอ
การดำเนินการในปัจจุบัน: จากผลกระทบโควิดที่เปลี่ยนแปลงการทำงานในทุกมิติจนกลายเป็น New Normal เพราะหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าโรคนี้จะยังอยู่กับเราไปอีกนาน สิ่งที่ผู้สัมภาษณ์ควรตอบให้ได้คือ ในบริบทของธุรกิจแล้ว พวกเขามีการดำเนินการอย่างไรบ้างในปัจจุบันหรือแผนการในอนาคตที่จะปรับตัวให้ทันโลก ทันความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป อย่างน้อยคุณต้องได้รับไทม์ไลน์ หรือวิสัยทัศน์ที่จะช่วยสร้างความอุ่นใจว่าบริษัทจะยังไปต่อได้เรื่อยๆ

🔗 หัวข้อที่เกี่ยวข้อง : ตอบยังไงดี “คุณมีคำถาม อยากจะถามไหม?”

เลือกอ่านเฉพาะหัวข้อ

1. “บริษัทมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายเพื่อรักษาความปลอดภัยจากโควิดอย่างไรบ้าง”

มาตรการความปลอดภัยที่บริษัทใช้รับมือกับปัญหาสะท้อนความพร้อมและการเอาใจใส่ต่อพนักงานในฐานะที่เป็นทรัพยากรของบริษัทได้อย่างดีเยี่ยม พวกเขาควรมีการสนับสนุนสุขอนามัยและความสะอาดเพิ่มเติม หรือเข้มงวดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การเว้นระยะห่าง โต๊ะรับประทานอาหารที่มีฉากกั้น จัดสรรถุงมือและหน้ากากให้ในพื้นที่เสี่ยงอย่างห้องพักเบรคทานกาแฟ รวมไปถึงบริการเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ การวัดอุณหภูมิสำหรับคนนอกที่เข้ามาติดต่องานภายในบริษัท

2. “คุณมีมาตรการช่วยเหลือพนักงานอย่างไร กรณีลูกค้าปฏิเสธที่จะสวมใส่หน้ากากอนามัย”

หากคุณสัมภาษณ์งานในตำแหน่งที่ต้องเจอลูกค้าซึ่งๆ หน้าอย่างธุรกิจบริการ พนักงานขายยืนหน้าร้าน ที่มีลูกค้าเดินเข้าออกร้านอยู่ตลอดเวลา อาจต้องปวดหัวกับลูกค้าที่ไม่เคารพกฎเกณฑ์ของทางร้าน ดังจะเห็นได้จากข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์ของต่างประเทศ ลูกค้ายืนกรานที่จะไม่สวมหน้ากากอนามัย ซ้ำยังต่อว่าพนักงานแบบสาดเสีย เทเสีย คำถามนี้จึงเป็นเหมือนการสร้างความเข้าใจบริบทของเหตุการณ์ว่าบริษัทจะเข้าข้างพนักงานของตัวเองที่ทำตามกฎอย่างเคร่งครัด หรือเข้าข้างลูกค้าที่เป็นเหมือนพระเจ้ากันแน่ แผนการในการรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นด้วยความชัดเจนจะช่วยสร้างความสบายใจให้คุณมากขึ้น โดยคุณอาจถามผู้สัมภาษณ์ เพิ่มเติมได้ว่า

  • นายจ้างมีแนวทางใดบ้างในการช่วยพนักงานจัดการหรือลดความขัดแย้งของลูกค้าเกี่ยวกับหน้ากากอนามัยและกฎความปลอดภัยอื่นๆ
  • หากลูกค้าเริ่มมีปฏิกิริยาตอบโต้ที่รุนแรงและเป็นอันตราย พนักงานจะขอความช่วยเหลือได้อย่างไร จากใครได้บ้าง

3. “ถ้าวันนึง มีพนักงานติดโควิดขึ้นมา บริษัทจะทำอย่างไรให้พนักงานที่เหลือปลอดภัย”

เป็นหน้าที่ขององค์กรที่ไม่เพียงแต่จะหาวิธีป้องกันไม่ให้พนักงานที่อยู่ในความดูแลของพวกเขาเสี่ยงติดเชื้อเท่านั้น แต่ยังรวมถึงวิธีการรับมืออย่างเป็นลำดับขั้นตอน รวดเร็ว ฉับไว เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น เช่น กรณีที่มีพนักงานตรวจพบว่าเป็นโควิด พวกเขามีมาตรการช่วยเหลือพนักงานส่วนที่เหลืออย่างไรบ้าง สั่งให้กักตัวหรือไม่ ออกค่าใช้จ่ายให้ไปตรวจเชื้อหรือต้องรับผิดชอบชีวิตตัวเอง คุณคงไม่อยากเอาชีวิตไปแขวนอยู่บนเส้นด้าย กับการเสี่ยงตายในแต่ละวันโดยปราศจากแผนการช่วยเหลือรองรับหรอกนะ

4. “ต้องทำงานจากบ้าน หรือเวลาเข้างานที่ Flexible นานแค่ไหน”

คำถามนี้เคยถูกมองว่าเป็นคำถามที่ดูไม่สลักสำคัญอะไรเลย แต่หลังจากเกิดเทรนด์การทำงานแบบใหม่ที่คนส่วนใหญ่ถูกบังคับให้ทำงานจากที่บ้านจนกลายเป็นความคุ้นชินแบบใหม่ ทำให้ Work From Home และการเข้างานเวลาไหนก็ได้ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในสวัสดิการที่ช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตพนักงานให้อยู่ร่วมกับโรคระบาดได้อย่างไม่ต้องเป็นกังวลใจ แต่อย่างไรก็ตาม บางบริษัทอาจเปลี่ยนนโยบายเหล่านี้ที่ไม่ได้ถูกใช้ชั่วคราว แต่เป็นการใช้มันตลอดไป คุณควรยิงคำถามนี้กับผู้สัมภาษณ์งานไปตรงๆ ดูแนวโน้มว่าพวกเขามองวิธีการเหล่านี้เป็นอย่างไร เนื่องจากไม่ใช่ทุกคนที่จะชอบตารางงานที่ยืดหยุ่นแบบนี้ หรือทำงานจากบ้านตลอดไป

5. “ในช่วงแรกเริ่มของการระบาด บริษัทมีการจัดการอย่างไร? พนักงานทั้งหมดยังต้องมาทำงานที่ออฟฟิศอยู่ไหม? ถ้าใช่ อะไรเป็นตัวกำหนดว่าใครต้องเข้ามาที่ออฟฟิศและมาเมื่อไหร่”

คำถามนี้จะสะท้อนข้อมูลเชิงลึก ว่า บริษัทให้ความสำคัญกับความปลอดภัยเป็นอันดับแรกหรือไม่ และผู้นำให้ความไว้วางใจแก่พนักงานของตัวหรือเปล่าตอนที่ทุกคนต้องปรับตัวทำงานจากที่บ้านในช่วงการระบาดใหญ่ทั่วประเทศ การตัดสินใจดังกล่าวนั้นเป็นเพราะสังคมบีบบังคับหรือเป็นเพราะผู้บริหารต้องการปกป้องพนักงานจริงๆ การเลือกให้ใครต้องเข้าออฟฟิศนั้นมีความเป็นกลางมากกว่าความคิดเห็นส่วนตัวไม่ใช่สองมาตรฐานหรือ ‘ลูกรักลูกชัง’ รวมไปถึงตรรกะของผู้นำที่มีต่อสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน (Work-Life Balance) ด้วย

6. “บริษัทมีการปรับตัวอย่างไรให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด”

คำถามนี้สามารถบอกใบ้เกี่ยวกับความมั่นคงในงานที่คุณสมัคร อันเป็นผลพวงมาจากการปรับกลยุทธ์และเอาตัวรอดจากสภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบ จนหลายบริษัทเกิดปัญหาขาดกระแสเงินสดอย่างรุนแรง ต้องพิจารณาการลดจำนวนชั่วโมงการทำงาน การให้หยุดงานโดยไม่จ่ายค่าจ้าง การยุบทีม หรือปลดพนักงานบางส่วนเพื่อรักษาธุรกิจเอาไว้ ดังนั้น หากบริษัทไม่ได้คิดเลยว่าต้องมีการปรับตัว เหมือนพวกเขาพึ่งพาโชคชะตาหรือเอาแต่โทษอย่างอื่น นี่อาจเป็นสัญญาณกลายๆ ถึงอนาคตของที่นี่

7. “มีการแจ้งข่าวสารให้พนักงานทราบแบบเรียลไทม์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายในช่วงที่เกิดโรคระบาดอย่างไรบ้าง”

ปัญหาที่เห็นได้ชัดในช่วงที่เกิดโควิดใหม่ๆ คือ ระบบการสื่อสารและการรับข้อมูลที่อาจจะยังไม่ทั่วถึงและไม่ทันท่วงที เป็นหน้าที่ของฝ่ายบุคคลที่จะต้องกระจายข่าวสารให้พนักงานในองค์กรรับทราบเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่มีความแน่นอนจากทางภาครัฐ คำถามนี้จึงเป็นเหมือนการเช็คระบบการสื่อสารในองค์กรในภาวะปกติไปในตัว พวกเขามีวิธีการอัพเดทและสร้างความชัดเจนให้แก่พนักงานอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดจากการบริโภคข้อมูลที่มีอยู่รอบตัว การสื่อสารที่ล่าช้าจากการตัดสินใจของผู้บริหารยังแสดงถึง ‘การฟัง’ ว่าบริษัทนี้มีโครงสร้างการทำงานแบบ Flat Organization ที่ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นได้ หรือเป็นแบบ Bureaucracy ที่พนักงานระดับล่างๆ ต้องทำตามคำสั่งเท่านั้น

8. “คุณสนับสนุนพนักงานที่กำลังเผชิญกับความท้าทายใหม่ในชีวิต ช่วงโรคระบาดอย่างไร?”

พนักงานหลายคนได้รับผลกระทบโดยตรง ติดเชื้อและต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาลสนาม สูญเสียคนในครอบครัว หรือมีความรู้สึกเครียด โดดเดี่ยวและเหงาหงอย ตลอดจนความท้าทายครั้งใหญ่สำหรับผู้ปกครองที่มีบุตรหลานซึ่งต้องเรียนออนไลน์จากที่บ้าน บริษัทมีวิธีจัดการกับความท้าทายดังกล่าว หรือช่วยนับสนุนอย่างไรบ้าง คำถามนี้สามารถเปิดเผย ว่า นายจ้างมองเห็นพนักงานของตัวเองเป็นเพื่อนร่วมโลก หรือเพียงแค่ลูกจ้างเท่านั้น ตัวอย่างเช่น บริษัท A ส่งโวชเชอร์สนับสนุนค่าอินเตอร์เน็ตในช่วงทำงานจากบ้าน บริษัท B เชิญพนักงานร่วมกิจกรรมตอบคำถามผ่าน Zoom ชิงโวชเชอร์จาก Grab เพื่อสั่งอาหารกลางวันฟรี บริษัท C ส่งพนักงานทั้งหมดไปตรวจหาเชื้อทันทีหลังจากที่ทราบว่ามีพนักงานติดเชื้อ

นอกจากนี้ คุณอาจยิงคำถามที่เกี่ยวข้องกับสิทธิ์การลาป่วยของพนักงานเพิ่มเติม เช่น จะเกิดอะไรขึ้นหากคุณติดโควิดหรือจำเป็นต้องถูกกักตัว? จงขอให้ผู้สัมภาษณ์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายเหล่านี้อย่างละเอียด จะได้ทราบว่าคุณต้องทำอย่างไรบ้างเมื่อมีความเสี่ยงในอนาคต

9. “คุณจะแน่ใจได้อย่างไร ว่า พนักงานมีทุกอย่างพร้อมสำหรับการทำงานจากบ้าน”

โน๊ตบุ๊คที่มีศักยภาพเพียงพอ อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือมุมทำงานในบ้านที่เงียบสงบ หากผู้นำของบริษัทใช้เวลาและใส่ใจ ว่า พนักงานมีสิ่งที่จำเป็นเหล่านี้ ก็อาจแสดงให้คุณเห็น ว่า พวกเขาเข้าใจสถานการณ์ต่างๆ ที่จะส่งผลต่อพนักงานโดยตรง และในขณะเดียวกันก็พยายามอย่างเต็มที่เพื่อสนับสนุนพวกเขาในฐานะนายจ้างคนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม บางองค์กรอาจไม่มีงบประมาณเพียงพอในการจัดหาทรัพยากรให้กับพนักงานที่ทำงานจากที่บ้านได้ แต่อย่างน้อยพวกเขาต้องไม่ทำให้คุณลำบากมากกว่าเดิมหรือต้องเจียดเงินเก็บส่วนตัวมาช่วยให้ทำงานได้

จำเป็นอย่างยิ่งที่คุณต้องรับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับบริษัทให้ครบถ้วนก่อนตกลงรับข้อเสนอเข้าทำงาน เพราะการเปลี่ยนงานแต่ละครั้งไม่ใช่เรื่องง่ายและคุณคงไม่อยากเปลี่ยนงานบ่อยๆ เป็นแน่ ทั้งที่ลาออกเองหรือถูกปลดเนื่องจากบริษัทมีการปรับโครงสร้างใหม่ด้วยสถานการณ์การเงินที่ฝืดเคืองขององค์กร การรู้ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้คุณทำนายอนาคตของตัวเองและบริษัทได้อย่างถูกต้อง

ที่มา : Indeed, The Muse, Understood.org

แชร์บทความ :
Jitkarn Sakrueangrit

Jitkarn Sakrueangrit

Graphic & Web Designer, Content Creator,
Copywriter, Marketing Specialist

คุณน่าจะชอบเรื่องเหล่านี้

ผู้ชาย เครียด นั่งเครียด กุมขมับ

7 สัญญาณ คุณมีแนวโน้มไม่ผ่านการสัมภาษณ์

สัมภาษณ์เสร็จแล้วแต่รู้สึกตะขิดตะขวงใจว่าจะไม่ผ่านและไม่ได้งาน เช็คเลยสัญญาณอันตรายเหล่านี้ที่จะบอกว่าคุณอาจตกสัมภาษณ์ก็ได้

อ่านเลย »
ขอลาออกยังไงให้ดูเป็นมืออาชีพ by Find Your Job

ขอลาออกยังไงให้ดูเป็นมืออาชีพ

งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา ในที่สุดก็ต้องแจ้งลาออกกับบริษัทเดิมเพื่อไปตามล่าหาความฝัน ณ บริษัทใหม่ แต่จะขอลาออกยังไงไม่ให้ดูน่าเกลียดดีนะ

อ่านเลย »

คุณรับทราบและยินยอมว่า การใช้งานเว็บไซต์นี้มีการเก็บข้อมูลคุ๊กกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ในการใช้บริการ อ่านข้อมูลเพิ่มเติม