แนวทางตอบคำถามสัมภาษณ์บุคลิกภาพ Personality Questions
Personality Questions คือ คำถามสัมภาษณ์งานที่ใช้วัดความความเข้ากันได้กับวัฒนธรรมองค์กร หรือทีมที่ต้องไปร่วมงานด้วย ซึ่งผู้สัมภาษณ์มักถามหลังจากที่ได้วัด Hard Skills (ทักษะความสามารถจริงๆ) ไปแล้ว พวกเขาต้องวัด Soft Skills ดูบ้าง เพื่อดูว่าบุคลิกภาพของเราสามารถส่งเสริมด้านการทำงานได้อย่างไร โดยคำถามดังกล่าวมักสะท้อน นิสัยด้านการทำงาน การประสานงาน หรือ การทำงานเป็นทีม ไปจนถึงความสนใจที่นอกเหนือจากงาน
เราไม่สามารถเฟคคำตอบขึ้นมาหลอกคณะกรรมการได้ หรือถ้าได้ก็อาจจะเวิร์คเพียงแค่รอบสัมภาษณ์เท่านั้น เพราะถ้าหากคุณโกหกไป พวกเขาสามารถจับสังเกตุได้ ส่งผลให้คุณไม่ผ่านโปรในที่สุด แนวทางการเตรียมตัวที่นำมาฝากวันนี้ จึงเป็นลักษณะการตีความคำถาม ว่า ผู้สัมภาษณ์ต้องการอะไร? คุณสามารถเรียบเรียงคำตอบอย่างไรให้ดูมีความน่าสนใจนั่นเอง
เลือกอ่านเฉพาะหัวข้อ
1. “ไอดอลของคุณคือใครและทำไม?”
คำถามจริง : คุณสมบัติอะไรของคนอื่นที่คุณ ‘ให้ค่า’
ไม่จำเป็นต้องคิดคำตอบให้วุ่นวาย เพราะคำตอบว่า ‘ใคร’ อาจไม่สำคัญเท่ากับ ‘ทำไม’ เทคนิคที่จะทำให้ผู้สัมภาษณ์อินไปกับคุณก็เพียงแค่เลือกคนที่คุณสามารถเชื่อมโยงกับงานที่สมัครได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่น สมัครงานตำแหน่งหัวหน้าทีม ไอดอลที่ควรเลือกต้องเป็นคนที่มีภาพลักษณ์ของความเก่งกาจในการเป็นผู้นำจัดการคน โดยคุณจะทำให้พวกเขาเห็นภาพชัดเจนขึ้นหากเป็นคนที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักอยู่แล้วในแวดวงสังคมนั้นๆ ซึ่งผู้สัมภาษณ์สามารถนึกภาพตามได้โดยง่าย แต่ต้องมั่นใจว่าคุณสามารถเชื่อมโยงประสบการณ์ของคนดังกล่าวกลับมาสะท้อนถึงค่านิยมส่วนตัวของคุณเอง
คำตอบที่เป็นไปได้ :
“ผมค่อนข้างประทับใจในตัวโทมัส เอดิสันครับ เขาใช้เวลาอยู่นานในการคิดค้นและประดิษฐ์หลอดไฟ ลองนึกดูนะครับว่า ถ้าเขาล้มเลิกในครั้งที่ 999 ก็คงดูไม่ต่างอะไรกับพวกขี้แพ้ที่พยายามเท่าไรก็ไม่ประสบผลสำเร็จ แต่เพราะความพยายามอย่างไม่ลดละจึงทำให้ครั้งที่ 1000 สำเร็จขึ้นมา ความเชื่อมั่นในตัวเองและความเพียรของเขา คือ สิ่งที่น่าชื่นชมมากครับ”
2. “รบกวนแชร์อะไรก็ได้ที่ไม่ได้เขียนบนเรซูเม่หน่อยครับ”
คำถามจริง : อยากรู้เรื่องส่วนตัว/เรื่องที่คุณไม่ได้เตรียมมา
คุณถูกผู้สัมภาษณ์พามาถึงจุดที่ต้องเลือก ว่า จะแชร์เรื่องส่วนตัวไปเลย หรือยังคง play safe พูดเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานให้ดูเป็นมืออาชีพเข้าไว้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว คำตอบที่เปิดเผยเรื่องส่วนตัวมักจะให้มุมมองที่สะท้อนตัวเราได้หลากหลายมากกว่า อาจเป็นการแชร์ประสบการณ์ที่เลวร้ายหรือที่คุณประทับใจและรู้สึกขอบคุณตัวเอง โดยเปิดเผยคาแรกเตอร์หรือบุคลิกภาพของคุณร่วมเข้าไปด้วย
คำตอบที่เป็นไปได้ :
“มีครั้งนึงที่พลอยไป Business Trip ที่ประเทศรัสเซียและติดอยู่ที่นั่นเพราะป่วย มีอาการคล้ายกับโควิด ทางรัสเซียจึงขอกักตัวเราไว้แต่ไม่มีหมอหรือพยายามคนไหนเลยที่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้เลย เราเอาตัวรอดด้วยการเปิดแอพหาคู่ เพื่อหาคนในพื้นที่ที่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้แต่ไม่ได้อยู่ในโรงพยาบาล ซึ่งเค้าช่วยเป็นนักแปลให้เราคุยกับหมอ และยังช่วยสอนภาษารัสเซีย ประโยคที่จำเป็นให้เราเอาชีวิตรอดในเวลาสั้นๆ การปรับตัวสำคัญมากจริงๆ ค่ะ”
3. “อะไรที่คุณไม่ชอบเกี่ยวกับตัวเอง”
คำถามจริง : คุณสมบัติใดที่คุณมองว่าเป็นจุดอ่อนของตัวเอง
คำถามประเภทนี้อาจมาในรูปแบบอื่นใด เช่น “อธิบายเกี่ยวกับตัวคุณหน่อยค่ะ” “ถ้าเราถามคนอื่นเกี่ยวกับคุณ พวกเขาจะตอบว่ายังไง” “ให้สามคำเกี่ยวกับตัวเอง” ไปจนถึง “คุณคิดว่าอะไรที่ทำให้คุณแตกต่างจากผู้สมัครท่านอื่น” แต่รูปแบบประโยคที่หยิบยกมานั้นค่อนข้างน่าสนใจกว่า เนื่องจากสร้างแรงกดดันได้มากกว่าเพราะเป็นคำถามเชิงลบ ซึ่งจะดึงด้านลบที่ซ่อนอยู่ของคุณออกมา เป็นการทดสอบความสามารถรับแรงกดดันไปในตัวอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังเป็นคำถามที่ใช้วัด ว่า คุณรู้จักตัวเองมากน้อยแค่ไหน การยืดอกยอมรับข้อผิดพลาดและนำไปสู่การพัฒนาตัวเองจะช่วยให้คุณได้คะแนนแบบ มงลง ดังนั้นคุณอาจตอบคำถามด้วยการแสดงทัศนคติเชิงบวก ซึ่งถ้าเรื่องที่หยิบยกมานั้นมีความสัมพันธ์กับตัวงาน ก็ให้แสดงแนวทางการแก้ไขไปเลย ว่าจะทำอย่างไร พัฒนาด้วยวิธีไหนไม่ให้ส่งผลกระทบกับงานในอนาคต
คำตอบที่เป็นไปได้ :
“ผมไม่ค่อยชอบตัวเองที่มักจะยัดทุกอย่างมาในตาราง To Do List ในแต่ละวัน แล้วไม่สามารถจัดการมันได้ทั้งหมด ในขณะที่บางวันผมทำทุกอย่างได้เสร็จก่อนเวลาเสียอีก มันทำให้ผมรู้ว่าตัวเองมีปัญหากับการจัดการเวลาและการเรียงลำดับความสำคัญของงาน ผมเลยแก้ด้วยการเขียนรายการสิ่งที่ต้องทำในแต่ละวันเอาไว้ล่วงหน้าก่อนนอน แยกประเภทความสำคัญก่อน-หลัง รวมถึงเวลาที่ใช้ในการทำให้เสร็จ เสียเวลาจัดตารางหน่อย เพื่อให้งานราบรื่น เป็นไปอย่างที่ใจต้องการครับ”
🔗 อ่านเพิ่ม ถูก HR ถามตอนสัมภาษณ์ว่า “ข้อเสียของคุณคืออะไร?”
4. “จงบอกงานอดิเรกหรือกีฬาอะไรที่คุณทำนอกเหนือจากงาน พร้อมเหตุผล”
คำถามจริง : ทักษะทางสังคมของคุณมีอะไรบ้าง
ผู้สัมภาษณ์อยากทราบว่าคุณมีทักษะการเข้าสังคมอย่าง การทำงานร่วมกับผู้อื่น การทำงานเป็นทีม รวมไปถึง ทักษะความเป็นผู้นำ อยู่ในระดับใด เนื่องจากพวกเขาอาจมีเรื่องกังวลถึงวัฒนธรรมองค์กร คำตอบของคุณอาจใช้ทำนายความเข้ากันได้กับทีมที่คุณต้องไปร่วมงานว่ามีมากน้อยแค่ไหน ดังนั้น หลีกเลี่ยงการพูดถึงคุณสมบัติอื่นๆ ที่ไม่เชื่อมโยงหรือเป็นสิ่งที่คุณสามารถพัฒนาด้วยตัวเองและเพื่อตัวเองได้อยู่แล้ว เช่น การอุทิศตนเพื่องาน การตัดสินใจแก้ปัญหา โดยเลือกงานอดิเรกที่คุณได้ใช้ทักษะที่ปรากฏอยู่ในรายละเอียดงาน (Job Description) อธิบายว่าทักษะเหล่านั้นจะช่วยให้คุณประสบความสำเร็จในบทบาทได้อย่างไร
คำตอบที่เป็นไปได้ :
“พลอยชอบเล่นวอลเล่ย์บอลมาก ถ้ามีจัดการแข่งขันทัวร์นาเม้นต์ที่ไหน ที่นั่นต้องมีเรา (หัวเราะ) รับบทเป็นกัปตันทีมคอยจัดการเตรียมเอกสารสมัคร จัดแจงทำเสื้อนักกีฬา ไปจนถึงวางแผนในช่วงการแข่ง ขอเวลานอก เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องและพาทีมไปสู่ความสำเร็จค่ะ”
5. “อะไรคือแรงกระตุ้น/แรงบันดาลใจของคุณ?”
คำถามจริง : สภาพแวดล้อมต้องเป็นอย่างไรถึงจะทำให้คุณอยากทำงาน
คำถามฟังดูคล้ายกับ “อะไรที่ทำให้คุณอยากมาทำงาน” เป็นไปได้ว่าผู้สัมภาษณ์ต้องการตรวจสอบว่าสิ่งที่พวกเขามีหรือสามารถส่งเสริมให้คุณทำงานได้เต็มประสิทธิภาพได้นั้นคืออะไร หรือแม้กระทั่งใช้วัดความคาดหวังของตัวคุณเองที่มีต่อบริษัท ในส่วนของ สภาพแวดล้อมการทำงาน อันประกอบด้วยเพื่อนร่วมงาน วิธีการทำงาน สภาพออฟฟิศ เครื่องมือที่บริษัทจัดหาให้ ฯลฯ คุณต้องไม่ลืมที่จะยกตัวอย่างเพื่อแสดงให้เห็นว่าปัจจัยในที่ทำงานใดบ้างที่มีส่วนช่วยให้คุณบรรลุเป้าหมายในการทำงานหรือทำงานได้อย่างราบรื่น ไร้กังวล
คำตอบที่เป็นไปได้ :
“ผมเป็นพนักงานขายครับ ออฟฟิศเก่าของผมจะมีการตีระฆังเมื่อมีใครสักคนปิดดีลได้ ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนอื่นเห็นว่า ถ้าเราพยายามมากกว่านี้ คนที่จะตีระฆังคนต่อไปได้ต้องเป็นเรา! อีกอย่างนึงหัวหน้าของผมมักชอบกำหนด Deadline แบบกระชั้นชิด คนอื่นอาจจะเครียดนะ แต่สำหรับผมแล้ว ผมมองว่ามันท้าทายความสามารถมาก บางทีก็ไม่คิดด้วยซ้ำว่าเราสามารถทำอะไรดีๆ ได้ภายในระยะเวลาอันสั้น”
โดยปกติแล้ว คำถามประเภทนี้ไม่สามารถที่จะเฟคมันขึ้นมาได้ เพราะเป็นตัวตนของเราจริงๆ ดังนั้นสิ่งที่หยิบยกมาในวันนี้ ก็เพื่อการเตรียมความพร้อมในการตอบคำถามรูปแบบต่างๆ เพื่อการสัมภาษณ์งานที่จะสร้างความประทับใจจนได้งาน
ที่มา : Reed.co.uk, Indeed
Jitkarn Sakrueangrit
Graphic & Web Designer, Content Creator,
Copywriter, Marketing Specialist
คุณน่าจะชอบเรื่องเหล่านี้
วิธีเขียนจดหมายขอบคุณหลังสัมภาษณ์
อย่าปล่อยโอกาสทองในการเรียกคะแนนครั้งสุดท้ายของคุณไปโดยเปล่าประโยชน์ ปิดการสัมภาษณ์งานของคุณแบบมืออาชีพด้วยการเขียนจดหมายขอบคุณผู้สัมภาษณ์ทุกคน
7 สัญญาณ คุณมีแนวโน้มไม่ผ่านการสัมภาษณ์
สัมภาษณ์เสร็จแล้วแต่รู้สึกตะขิดตะขวงใจว่าจะไม่ผ่านและไม่ได้งาน เช็คเลยสัญญาณอันตรายเหล่านี้ที่จะบอกว่าคุณอาจตกสัมภาษณ์ก็ได้