สมัครงานบริษัทนี้ดีไหม ดูที่อะไร?
สมัครงานที่ไหน สำคัญพอๆ กับการเลือกเรียนมหาวิทยาลัยอะไร คุณคงไม่อยากย้ายงานบ่อยๆ จนเสียประวัติการทำงาน แต่หลายครั้งก็ต้องเสี่ยงเลือกทำงานในบริษัทโดยไม่รู้ว่าตัดสินใจถูกหรือไม่ ปัจจัยดังต่อไปนี้ คือ หัวข้อยอดฮิตที่คนสมัครงานส่วนใหญ่คำนึงถึง เช็คเลย!
สถานะการเงินของบริษัทไม่ติดลบ
ความแน่นอน คือ ความไม่แน่นอน เหมือนกับเหตุการณ์โควิดที่เกิดขึ้นมาแบบไม่ทันตั้งตัว จนหลายบริษัทต้องปิดตัวลงอย่างกระทันหัน ส่งผลให้คนตกงานกันนับหมื่นนับแสนคน อันดับแรกที่คุณต้องเช็คคือ งบการเงินของบริษัทว่าหลังจากโควิด มีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นหรือแย่ลง รวมไปถึงสถานะบริษัทว่ามีการลงทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฏหมาย ผ่านทาง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ด้วยวิธีการ ดังต่อไปนี้
เข้าเว็บไซต์ https://datawarehouse.dbd.go.th/index
- พิมพ์ชื่อบริษัท (ได้ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ) หรือเลข Tax ID – โดยปกติแล้วจะยึดชื่อบริษัทจากเว็บไซต์ของบริษัทเอง หรือที่ปรากฏในประกาศรับสมัครงาน
- หากบริษัทมีการลงทะเบียนกับทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้าไว้อย่างถูกต้องตามกฏหมาย จะปรากฏรายชื่อตรงซึ่งสามารถดูสถานะบริษัทว่ายังดำเนินกิจการอยู่ได้ตรงส่วนนี้ จากนั้นคลิกที่รายชื่อบริษัทนั้นๆ
- เลื่อนลงมาด้านล่าง ตรงแถบ ข้อมูลประกอบการเบื้องต้น (ปีงบประมาณ 256x) คือ ข้อมูลงบการเงินที่บริษัทได้ทำการส่งข้อมูลไปยังกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ประกอบด้วย รายได้รวม และ กำไรสุทธิ ในปีล่าสุด
- คลิกดู งบการเงิน 3 ปีย้อนหลัง สามารถเลือกได้จากแถบที่อยู่ทางซ้ายมือ (เข้าจากคอมพิวเตอร์) หรือด้านบนสุด (เข้าจากมือถือ)
ข้อมูลที่ปรากฏเบื้องต้น สามารถใช้ทำนายผลประกอบการและแนวโน้มการเติบโตของบริษัทได้ในอนาคตอันใกล้ แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทสตาร์ทอัพที่เพิ่งจะก่อตั้ง มักมีงบการเงินติดลบในระยะแรกๆ เนื่องจากเป็นการลงทุนในระยะยาว ผลกำไรจึงยังไม่ปรากฏชัดเจน
ประเภทธุรกิจของบริษัทมีประโยชน์ในระยะยาว
‘หากจะฝากชีวิตไว้กับใครสักคน ให้ดูว่าเขามีอนาคตพอที่เราจะฝากชีวิตไว้หรือเปล่า’ คุณจึงควรเกาะติดสถานการณ์โลก ดูแนวโน้มหรือเทรนด์ตลาดว่า นอกจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซ/ ไอที แล้ว ยังมีธุรกิจใดอีกบ้างที่สามารถเติบโตต่อไปได้ในการ Disrupt ของเทคโนโลยี และธุรกิจประเภทไหนที่กำลังจะตายในไม่ช้า
นอกจากนี้หากมองในมุมของตัวเอง คุณอาจต้องตั้งคำถามว่า คุณสามารถเติบโตไปพร้อมกับบริษัทได้หรือไม่ การทำงานที่นี่จะส่งผลดีต่อตัวคุณเองในอนาคตอย่างไรในแง่ของการทำงานที่นี่และออกไปทำงานที่อื่นในอนาคต
มีชื่อเสียงมากกว่าชื่อเสีย
เว็บไซต์ที่แชร์ความคิดเห็นอย่าง Pantip จะเป็นตัวช่วยที่มีประโยชน์ในการค้นหาข้อดี-ข้อเสียของบริษัท และเห็นมุมมองจากประสบการณ์ตรงของผู้ที่เคยเกี่ยวข้อง หรือมีข้อมูลเชิงลึกที่เราไม่ทราบมาก่อน เช่น ชื่อเสียงในแวดวงธุรกิจ ในมุมของพนักงาน รวมไปถึงในมุมมองจากบุคคลภายนอก เพราะถ้ามีชื่อเสียมากกว่าชื่อเสียง คุณคงไม่อยากเอาอนาคตของตัวเองไปเสี่ยง จริงไหม
วัฒนธรรมองค์กรตอบโจทย์
ทำการศึกษาวัฒนธรรมองค์กรของบริษัทให้ดี ว่า มีความเหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของตัวคุณ โดยที่คุณไม่จำเป็นต้องสูญเสียตัวตนเพื่อให้ดูกลมกลืนกับผู้อื่น เพราะนั่นเป็นหนึ่งในสาเหตุของภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout) ได้ในอนาคต เช่น คุณเป็นคนชอบแต่งตัวแบบ Casual ทำงานแบบชิวๆ เหมือนอยู่บ้านที่จะเข้ากี่โมง เลิกงานกี่โมงก็ทำได้ แต่บริษัทที่สมัครดันตรงกันข้ามเกือบทุกอย่าง จะมีความสุขในการทำงานจริงๆ หรอ?
ทุกที่มีปัญหาหมด ไม่มีที่ไหนดี 100% อยู่ที่ว่าคุณพอใจจะยอมรับกับปัญหาเหล่านั้นได้มากน้อยแค่ไหนเท่านั้น
สวัสดิการพนักงานไม่แย่
สวัสดิการพนักงานที่ดีสะท้อนความคิดที่ผู้บริหารที่ให้คุณค่าและความสำคัญกับพนักงาน เพราะเขารู้ดีว่าทรัพยากรมนุษย์เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะทำให้บริษัทขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างมั่นคง ถ้าสวัสดิการแย่ ไม่มีโบนัส ไม่มีโอที (มีแต่โอฟรี) วันหยุดลาพักร้อนได้น้อยนิด ประกันก็ไม่มีให้ เชื่อขนมกินได้เลยว่า ที่ทำงานนี้มีอัตราคนเข้าออกที่สูงมาก
การเดินทางไปที่ทำงานไม่ยุ่งยาก
ทำงานว่าเหนื่อยแล้ว อย่าให้การเดินทางไปทำให้เหนื่อยคูณสอง ในตอนนี้คุณอาจจะคิดว่าไหว แต่ลองจินตนาการว่าวันนี้เป็นวันที่เลวร้ายที่สุดในที่ทำงาน คุณเลิกงานดึกมากเพราะต้องเคลียร์งานกองโตเท่าภูเขา หลังเลิกงานต้องมานั่งรอรถเมล์ในวันฝนตก รถติดอยู่บนทางด่วนเป็นชั่วโมง ถ้าต้องเป็นแบบนี้บ่อยๆ กำลังใจที่เข้มแข็งก็อาจหมดลงได้ในสักวัน
Jitkarn Sakrueangrit
Graphic & Web Designer, Content Creator,
Copywriter, Marketing Specialist
คุณน่าจะชอบเรื่องเหล่านี้
คำถามสัมภาษณ์ประเด็นทางจริยธรรมที่ยากต่อการตัดสินใจ Ethical Dilemma
หนึ่งในคำถามที่ตอบยากที่สุดในตอนสัมภาษณ์ เพราะไม่มีตายตัว คำตอบจึงต้องพลิกแพลงไปตามบริบทสภาพแวดล้อมที่ผู้สัมภาษณ์เป็นอยู่ รับมือยังไงดี?
แนะนําตัวสัมภาษณ์งานให้ประทับใจ HR เล่าครบจบใน 3 นาที!
ใครเล่าเรื่องเก่ง…คนนั้นชนะ! เรียนรู้เทคนิคการตอบคำถามสัมภาษณ์งานเมื่อถูกขอให้ ‘แนะนำตัวเอง’ เล่าประวัติงานยังไงให้ดูไม่น่าเบื่อดีนะ