ฝึกภาษากายเป็นนิจ พิชิตใจผู้สัมภาษณ์

ใครจะรู้ว่าอวัจนภาษานั้นเป็นส่วนสำคัญในการส่งสารไปถึงผู้ฟังได้มากกว่าข้อความที่พูดจากปากเสียอีก ฝึกภาษากายให้ถูกต้องพาคุณผ่านสัมภาษณ์ไปอย่างง่ายดาย

ภาษากาย หรือ Body Language ของคุณจะเป็นตัวกำหนดว่า คุณเป็นใคร ทุกครั้งที่มีสื่อสาร ร่างกายของคุณจะส่งสัญญาณอะไรบางอย่างออกมาประกอบกับสิ่งที่คุณเพื่อให้การส่งสารนั้นสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น นั่นหมายความว่าหากคุณพูดอะไรบางอย่างอยู่ แต่ร่างกายของคุณมีการแสดงออกในสิ่งที่ต่างออกไปอาจทำให้ผู้ฟังเกิดความสับสนและไม่เข้าใจในสิ่งที่คุณต้องการจะสื่อภาษากายมักมีบทบาทสำคัญที่ทำให้คนอื่นมองเห็น รับรู้ เกิดการตีความและตัดสิน ว่า คุณเป็นคนอย่างไร ข่าวดีก็คือสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่เราสามารถฝึกฝนกันได้ คุณอยากให้ผู้สัมภาษณ์มองคุณอย่างไรหละ?

เช็คลิสต์​ คุณกำลังใช้ภาษากายแบบผิดๆ อยู่หรือเปล่า
❌ เล่นมือถือขณะนั่งรอสัมภาษณ์งาน
❌ เลือกไม่จับมือผู้สัมภาษณ์เพราะกลัวจะรู้ว่าเราตื่นเต้นจนมือเย็น
❌ พยายามทำตัวเป็นกันเองที่สุด เพื่อให้บรรยากาศผ่อนคลาย
❌ มองไปทิศทางอื่นเป็นครั้งคราว หลีกเลี่ยงปะทะสายตาผู้สัมภาษณ์โดยตรงเพราะกลัว
❌ นั่งนิ่งไม่ไหวติง หยิกหลังมือตัวเองบ่อยๆ เหมือนเป็นการย้ำว่า ‘ห้ามตื่นเต้นนะ!’ 

อย่างที่ทราบกันดีกว่า ภาษากายที่ไม่ถูกต้องสามารถส่งผลให้ภาพลักษณ์คุณดูย่ำแย่ไปด้วย ถึงเวลาแล้วที่คุณจะแสดงให้ผู้สัมภาษณ์เห็นว่า คุณเป็นคนที่มีความมั่นใจ คิดบวกและมีความสามารถด้วยวิธีการสุดแสนจะง่ายด่าย ดังต่อไปนี้

เลือกอ่านเฉพาะหัวข้อ

1. เริ่มนับตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้าประตู

อย่าเข้าใจผิดว่าการนับคะแนนจะจำกัดอยู่แค่ในช่วงระหว่างการสัมภาษณ์งานเท่านั้น เนื่องจากผู้สัมภาษณ์หลายคนเริ่มเก็บคะแนนตั้งแต่วินาทีแรกที่คนของเขาเห็นคุณ ดังนั้นการวางตัวที่ล็อบบี้จึงมีความสำคัญไม่แพ้การนั่งอยู่ต่อหน้าผู้สัมภาษณ์ คุณไม่รู้หรอกว่าพนักงานต้อนรับจะแชร์พฤติกรรมที่เธอเห็นให้กับฝ่ายบุคคลว่าอย่างไร จงเป็นคนที่ยิ้มแย้มแจ่มใส ปฏิบัติกับคนที่เดินผ่านไปมาอย่างเป็นมิตร รวมถึงรักษาอาการกระวนกระวายใจ หรือท่าทีที่ฟุ้งซ่าน ดูอิดโรยจากการเดินทาง

2. ทักทายตามความเหมาะสม

มารยาทในการทักทายถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามเพราะมันสะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าในตัวคุณได้ชนิดที่คุณคาดไม่ถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าหากคุณกำลังสัมภาษณ์งานกับบริษัทที่มีวัฒนธรรมอนุรักษ์นิยมสุดขั่วอย่างบริษัทไทย คุณยิ่งต้องแสดงท่าทีที่อ่อนน้อม ยกมือไหว้บุคคลที่อาวุโสกว่าเพื่อแสดงความเคารพ ในขณะที่หากเป็นบริษัทต่างชาตินั้น การจับมือ (Shake-hands) จะเป็นการละลายพฤติกรรมสากลสุดคลาสสิค แต่ต้องระวังการจับมือที่เบาเกินไปซึ่งแสดงถึงความกลัวในจิตใจ หรือการจับมือที่แรงเกินไปก็จะถูกมองว่าเย่อหยิ่ง

เทคนิคสำคัญในการจับมือ คือ การที่คุณแวะเข้าไปล้างมือในห้องน้ำและใช้เครื่องเป่าลมร้อนเพื่อให้มือคุณที่เย็นเฉียบจากความตื่นเต้น อุ่นลงได้บ้าง เป็นการป้องกันไม่ให้พวกเขารู้ว่าคุณกำลังติ่นเต้น โดยคุณสามารถจับมือพวกเขาไปด้วยความมั่นใจ เหมือนเป็นการบอกว่า “ฉันพร้อมแล้ว” กับการสัมภาษณ์ครั้งนี้นั่นเอง

3. เดินด้วยความมั่นใจ

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าท่าทางการเดินของคุณก็ถูกใช้เป็นบรรทัดฐานในการเลือกคนด้วย! นาทีที่ หัวหน้างานเดินมารับคุณที่ล็อบบี้เพื่อพาไปยังห้องสัมภาษณ์งาน พวกเขาจะสังเกตปฏิกิริยาของคุณที่สะท้อนตัวตนของคุณออกมาโดยอัตโนมัติ การที่คุณเหนียมอาย เกร็งๆ หรือก้มลงมองที่พื้นอยู่บ่อยครั้งสามารถส่งสัญญาณออกมาเงียบๆ ว่า คุณมีความไม่สบายใจและขาดความมั่นใจอย่างมาก ในขณะที่ หากคุณเดินแบบอกผายไหล่ผึ่ง เชิดหน้าขึ้นเล็กน้อยจะไม่เพียงแต่สร้างภาพลักษณ์ของความมั่นใจให้แก่ผู้พบเห็นได้เท่านั้น หากแต่เป็นการสร้างบรรยากาศแวดล้อมแบบ ‘ใจดีสู้เสือ’ ที่จะทำให้ร่างกายคุณตื่นตัวและลดความกลัวไปเองได้อย่างน่าอัศจรรย์

4. นั่งอย่างถูกต้อง

เป็นไปได้ว่าบรรยากาศการสัมภาษณ์งานจะทำให้คุณรู้สึกตัวเล็ก แต่คุณไม่จำเป็นต้องห่อไหล่ กดตัวเองให้ดูต่ำต้อยลงไปอีกด้วยความกลัว แต่ในขณะเดียวกัน การเอนหลังพิงเก้าอี้ไปทั้งตัวกลับกลายเป็นการทำให้ผู้สัมภาษณ์คิดว่าคุณชิวเกิน ไม่จริงจังกับการสัมภาษณ์เท่าที่ควร ดังนั้น สิ่งสำคัญ คือ การหาพื้นที่ตรงกลางระหว่างสองท่านี้ให้เจอ ลองวางเท้าทั้งสองข้างราบไปกับพื้น หรือไขว้ข้อเท้าในกรณีที่ขายาวหรือกระโปรงสั้นเพื่อสงวนท่าที เราไม่แนะนำให้คุณนั่งไขว่ห้างที่ออกจะดูไม่สุภาพไปสักนิด รวมถึงหลีกเลี่ยงการกอดอก หรือวางสิ่งของไว้บนตักเพราะมันบ่งบอกว่ากลไกการป้องกันตัวเองของคุณทำงาน จากความกังวลใจที่เกิดขึ้นนั่นเอง

5. ควบคุมการใช้มือ

หลายครั้งที่เรามักแสดงอะไรออกไปโดยไม่รู้ตัว ซึ่งมักจะอยู่ในรูปแบบของการใช้มือ อย่าลืมจับสังเกตุมือของตัวเองในช่วงระหว่างการสัมภาษณ์ให้ดี ว่า คุณมีอาการเหล่านี้หรือไม่

  • มืออยู่ไม่นิ่ง : ไม่สามารถควบคุมอาการตื่นเต้นได้จนต้องระบายออกด้วยการเล่นกับสิ่งของรอบตัว อยู่ไม่เป็นสุข ต้องแคะ ต้องแงะ จิ้มนู่นนี่นั่นไปเรื่อย โดยหลังจากที่คุณตั้งสติได้แล้วรีบประกอบมือทั้งสองข้างเข้าด้วยกันจากนั้นกางออกเล็กน้องโดยให้ปลายนิ้วยังสัมผัสกันอยู่ ดูผิวเผินเหมือนรูปสามเหลี่ยมซึ่งมันจะช่วยให้คุณมีสมาธิจดจ่อมากขึ้น หรือหากยังไม่ได้ผลลองเอามือวางไว้บนตักหรือหน้าขานิ่งๆ จะช่วยให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย
  • ไม่ให้มีการใช้มือเยอะเกินไป : เวลาพูดด้วยอาการประหม่า บางคนจะใช้มือช่วยอธิบายแต่มันกลับดูเหมือนว่าคุณกระวนกระวายมากกว่าเดิม เนื่องจากมือไม่ได้หยุดพักแม้เพียงเสี้ยววินาที ทันทีที่คุณรู้ตัวรีบประสานมือไว้ด้วยกัน สูดลมหายใจเข้าลึกๆ จากนั้นค่อยเริ่มพูดต่อไปอย่างเป็นธรรมชาติ การเว้นระยะห่างประมาณ 1-2 นาที ต่อการใช้มือหนึ่งครั้งจะทำให้เกิดช่องว่างที่เหมาะสม ดูเป็นมือโปรมากกว่า

6. สายตาที่ทรงพลัง

วิธีการเพิ่มความน่าเชื่อถือในข้อความที่คุณส่งออกไปได้ดีที่สุด คือ การสบสายตาผู้สัมภาษณ์ไปตรงๆ เนื่องจากการเผชิญหน้าด้วยการไม่หลบสายตานั้นทรงอำนาจอย่างไม่น่าเชื่อ แม้มือของคุณจะเย็นเฉียบ หัวใจจะเต้นแรงจนจะหลุดออกมาจากอกอยู่แล้ว แต่การใช้สายตาจะทำให้คำพูดของคุณเต็มไปด้วยความมั่นใจ อีกทั้งยังทำให้พวกเขาเห็นว่าคุณกำลังฟังในสิ่งที่เขาพูดและมีส่วนร่วมไปกับการสนทนา ในขณะที่การหลบตานั้นสร้างภาพลักษณ์แบบเจ้าเล่ห์ ไม่จริงใจหรือประหม่า เพราะฉะนั้นเมื่อผู้สัมภาษณ์ถามคำถามอะไรก็ตาม คุณสามารถมองเข้าไปนัยน์ตาของพวกเขาอย่างตั้งใจ โฟกัสคำถาม และสบสายตาเวลาตอบไปด้วย

7. ให้ความสำคัญกับการหายใจ

เคยสังเกตุร่างกายตัวเองไหมว่า ในขณะที่คุณกำลังตื่นเต้นอยู่นั้น สภาวะร่างกายมีการตอบสนองที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างไร การฝึกฝนด้วยมองตัวเองอยู่บ่อยๆ จดจ่ออยู่กับลมหายใจของตัวเอง จะทำให้คุณรู้ทันว่าเกิดอะไรขึ้นอันนำไปสู่การป้องกันที่มีประสิทธิภาพกว่าเดิม โดยปกติแล้วการหายใจของคนเราจะสั้นถี่และตื้นเขินเมื่อรู้สึกประหม่า ส่งผลให้น้ำเสียงตอนพูดสั่นคลอนตามไปด้วย 

เทคนิคที่นิยมใช้ลดอาการเหล่านี้ คือ เทคนิค 4-7-8 ในช่วงก่อนการสัมภาษณ์ โดยที่คุณมีเวลาสูดลมหายใจไปในปอดเป็นเวลาสี่วินาที จากนั้นให้กลั้นหายใจเป็นเวลาเจ็ดวินาที และพ่นลมหายใจออกเป็นเวลาแปดวินาที เป็นการย้ายโฟกัสไปที่การหายใจแทนสิ่งที่กวนใจ ณ เวลานั้น อย่างไรก็ตามในช่วงระหว่างการสัมภาษณ์ คุณอาจหายใจเข้าลึกๆ เรียกสติตัวเองสองถึงสามครั้งให้ตัวเองสงบลง เรียกคืนน้ำเสียงที่แน่วแน่และมั่นใจของคุณกลับมาได้อีกครั้งในเวลาอันสั้น

8. ยิ้มสู้เข้าไว้

ตามหลักจิตวิทยา ใบหน้าคนยิ้มในนิตยสารสามารถดึงดูดใจให้ชวนมองได้มากกว่าสีหน้าที่เงียบขรึมและเคร่งเครียด นอกจากนี้ในเวลาที่คุณยิ้มร่างกายจะหลั่งสารเคมีที่ให้ความรู้สึกดีๆ ออกมาทำงานได้อย่างเต็มที่ เกิดความรู้สึกดีและผล่อนคลายตามมา – เราไม่สามารถเศร้าได้ ในสภาวะร่างกายที่เบิกบาน – ก่อนการสัมภาษณ์งาน ใช้เวลาอยู่กับตัวเองสักครู่ในห้องน้ำ ใจดีสู้เสือด้วยการสร้างรอยยิ้มที่จริงใจที่สุด ให้กำลังใจตัวเองว่าคุณจะทำมันอย่างตั้งใจที่สุด

สรุปก็คือ คุณจำเป็นต้องฝึกภาษากายให้มากที่สุด เหมือนอย่างที่คุณซ้อมตอบคำถามสัมภาษณ์งานนั่นแหละ เพื่อสร้างให้เกิดความเคยชินกับร่างกาย อันนำไปสู่การแสดงออกอย่างเป็นธรรมชาติ แม้ในตอนที่คุณรู้สึกประหม่าก็ตาม ด้วยการเอาชนะความกลัวเหล่านั้นด้วยสติสัมปชัญญะ คุณอาจฝึกฝนกับเพื่อนที่ไว้ใจ เตรียมความพร้อมทางด้านร่างกายอย่างเต็มที่ ปังไม่ไหวในวันสัมภาษณ์งาน

ที่มา : Flexjobs, The Balance Careers

แชร์บทความ :
Jitkarn Sakrueangrit

Jitkarn Sakrueangrit

Graphic & Web Designer, Content Creator,
Copywriter, Marketing Specialist

คุณน่าจะชอบเรื่องเหล่านี้

ขอลาออกยังไงให้ดูเป็นมืออาชีพ by Find Your Job

ขอลาออกยังไงให้ดูเป็นมืออาชีพ

งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา ในที่สุดก็ต้องแจ้งลาออกกับบริษัทเดิมเพื่อไปตามล่าหาความฝัน ณ บริษัทใหม่ แต่จะขอลาออกยังไงไม่ให้ดูน่าเกลียดดีนะ

อ่านเลย »
ทำไม HR ไม่ยอมแจ้งผลการสัมภาษณ์ by Find Your Job

ทำไม HR ไม่ยอมแจ้งผลการสัมภาษณ์

‘เดี๋ยวติดต่อกลับ’ ตกลงพี่จะรับหรือไม่รับกันแน่? HR ที่บอกว่าหลังจากสัมภาษณ์จะโทรมาแจ้งผล แต่รอแล้วรอเล่า ก็ไม่มีวี่แววว่าจะโทรกลับมาสักที

อ่านเลย »

คุณรับทราบและยินยอมว่า การใช้งานเว็บไซต์นี้มีการเก็บข้อมูลคุ๊กกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ในการใช้บริการ อ่านข้อมูลเพิ่มเติม