6 สัญญาณ ถึงเวลาที่คุณต้องเปลี่ยนงานแล้ว
การเปลี่ยนงานแต่ละครั้งถือเป็นเรื่องใหญ่ที่มีผลกระทบต่อชีวิตเป็นอย่างมาก เพราะงานคือหนึ่งในสามของช่วงเวลาชีวิต เรามักตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่รู้ว่าควรจะทำอย่างไรดี การมองสิ่งต่างๆ รอบตัวให้เป็นเหมือนความท้าทายมาให้เราแก้และพุ่งชนเป้าหมาย เพื่อให้เราเติบโตเป็นคนที่ดีขึ้น เก่งขึ้น หรือควรแยกแยะว่างานที่ทำอยู่และปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้สลักสำคัญอะไร ซึ่งมันอาจจะดีกว่า ถ้าเราเดินหน้ามูฟออนไปหางานใหม่ที่ดีกว่าและใช่กว่า
เช็คลิสต์ ความรู้สึกที่คุณมีต่องาน
❌ ไม่อยากตื่นไปทำงาน
❌ เกลียดเช้าวันจันทร์
❌ ไม่อยากให้เพื่อนมาทำงานที่เดียวกัน
❌ ทุกสิ่งอย่างดูแย่ไปหมด หาข้อดีๆ ยากเหมือนงมเข็มในมหาสมุทร
❌ รู้สึกว่าต้องทำงานให้มันจบๆ ไปในแต่ละวันอย่างไม่มีจุดหมาย
❌ ต้องปลอบใจตัวเองบ่อยๆ ให้มองโลกในแง่บวก
ถ้าคุณมีความรู้สึกด้านลบในแทบจะทุกข้อกับบททดสอบเล็กๆ ที่เราหามาให้ บางทีนี่อาจถึงเวลาที่คุณต้องมานั่งจับเข่าคุยกับตัวเองแล้วว่า นี่อาจเป็นเวลาที่ต้องหางานใหม่อย่างจริงจังก่อนจะสายและชีวิตของคุณ ‘พัง’ ไปมากกว่านี้
เลือกอ่านเฉพาะหัวข้อ
เมื่อใดก็ตามที่คุณรู้สึกว่าบริษัทไม่เห็นคุณค่า
เหตุการณ์นี้ถือเป็นหนึ่งในเหตุผลลำดับต้นๆ ที่คนอยากลาออก เพราะแม้ว่าคุณจะทำอะไรหรือเสนออะไรไป กลายเป็นไม่มีคนฟังสิ่งที่เป็นประโยชน์เหล่านั้น ความหวังดีของคุณถูกมองข้ามบ่อยๆ และหลายครั้งคุณกลับได้รับมอบหมายงานที่ดูไม่สำคัญ ไม่มีความหมายหรือใช้ความสามารถแค่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์จากศักยภาพที่คุณมีอย่างล้นเหลือ นอกจากนี้ คำกล่าวที่ว่า ‘ทำดีเสมอตัว ทำชั่วผิดสองเท่า’ มักใช้กับกรณีของคุณได้บ่อยๆ เพราะบริษัทไม่ได้มีการ recognition หรือชื่นชมคุณเวลาสร้างผลงานที่น่าประทับใจ ราวกับว่าคุณค่าของคุณนั้นเลือนราง จนคุณเองเกิดความสงสัยในคุณค่าของตัวเอง ว่า “หรือจริงๆ แล้ว ผมมันไม่เอาไหนกันนะ”
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อมี Recruiter ที่อื่นติดต่อมาหา และคุณลองเปิดใจรับฟังข้อเสนอ ดันทราบอีก ว่า เรทเงินเดือนที่คุณได้นั้นต่ำกว่าท้องตลาด หรือเลวร้ายที่สุดไปรู้เงินเดือนของพนักงานที่เข้ามาใหม่ ในตำแหน่งเดียวกัน ซึ่งแน่นอนว่าเขาได้มากกว่าคุณ ในขณะเดียวกัน ประเมินผลงานรายปี คำมั่นสัญญาว่าจะขึ้นเงินเดือนถูกเมินเฉยหรือขึ้นเพียงไม่กี่สตางค์เท่านั้น บางทีสัญญาณเหล่านี้ มันชี้ชัดแล้วว่าคุณไม่ได้มีความสำคัญมากพอกับองค์กร
วัฒนธรรมองค์กรเลวร้าย
ตั้งแต่วันแรกที่ย่างกรายเข้ามาทำงาน คุณมีความสงสัยเกี่ยวกับวัฒนธรรมของคนที่นี่แต่เลือกที่จะมองข้าม มองโลกในแง่ดีเพื่อปลอบใจตัวเองทั้งที่จริงแล้ว ลึกๆ คุณมีความเอ๊ะกับสิ่งที่พบเจอ คุณรู้ดีว่าบริษัทให้คุณค่ากับสิ่งที่คุณไม่เห็นด้วยเลย เช่น วัฒนธรรมการทำงานหนักแบบหามรุ่งหามค่ำ แม้ในใบสัญญาจ้างจะระบุรายละเอียดเอาไว้อย่างชัดเจน เข้าทำงาน 9 โมงเช้า เลิก 6 โมงเย็น แต่คนส่วนใหญ่ของที่นี่กว่า 99 เปอร์เซ็นต์ ยังคงนั่งทำงานต่อไปด้วยความรู้สึกผิดว่าถ้าเลิกงานตรงเวลาอาจถูกมองเป็นคนไม่ตั้งใจทำงาน หรือแม้กระทั่งวันหยุดเสาร์อาทิตย์ก็ยังต้องหอบงานกลับไปทำที่บ้าน
ตลอดเวลาที่ทำงานมา คุณรู้สึกไม่มีความสุขเอาซะเลย ทั้งที่พยายามปรับตัวแล้วแต่เหมือนคุณค่าด้านการทำงานของคุณและองค์กรไม่ได้มีความสอดคล้องกัน คุณให้ความสำคัญกับการจัดการเวลาที่ชาญฉลาดแทนการทำงานหนัก เลยใช้เวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดได้คุ้มค่าไม่ต้องอยู่เลทเหมือนคนอื่น แต่กลับถูกมองว่าไม่พยายาม และต้องทำงานหนักขึ้นไปอีกเหมือนคนอื่น
งานเริ่มกระทบกับชีวิตส่วนตัว
Work-Life Balance คือสิ่งที่คุณจะไม่มีวันได้สัมผัส มันคือฝันที่ไม่กล้าฝัน เพราะทุกวันนี้คุณแทบจะไม่มีเวลาดูแลคนรอบข้าง บทสนทนาที่มีกับครอบครัวและคนที่คุณรักหนีไม่พ้นหัวข้อเรื่องงาน บ่นเรื่องงานมากขึ้น หัวเสียใส่คนรอบข้างได้ง่ายขึ้น รวมถึงไม่มีเวลาแม้กระทั่งให้กับตัวเองได้หยุดพัก ในวันหยุดพักร้อนกับครอบครัวยังต้องแสตนด์บายรับสายจากลูกค้าหรือหัวหน้า เคสหนักหน่อยก็ต้องเปลี่ยนแผนชีวิตบ่อยๆ ด้วยงานต้องมาก่อนเป็นอันดับแรก เรียกว่าหายใจเข้าก็งาน หายใจออกก็งาน จนงานได้กลายเป็นส่วนใหญ่ในชีวิตของคุณไปแล้ว
การพบปะกับเพื่อนฝูงยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพื่อนๆ แทบจะไม่ได้เห็นหน้าคุณมาพักใหญ่ โดยการเจอกันในรอบหลายเดือนจะเป็นการขิงความไม่ดีที่เจอในที่ทำงานอย่างภาคภูมิใจว่า ที่ทำงานของใครแย่กว่ากัน โดยรวมแล้ว คุณมองเห็นว่างานกระทบกับความสัมพันธ์ของคุณและคนรอบข้างอย่างมากจนไม่ได้ใช้ชีวิตที่ตัวเองต้องการจริงๆ
สุขภาพกายและใจย่ำแย่
เมื่อถึงจุดที่แยกเรื่องเวลางานกับเรื่องส่วนตัวออกจากกันไม่ได้ เนื่องจากคุณแบกรับความเครียดสะสม ทับถมกันเป็นเวลานานจนเกินไป ทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านออกมาเป็นสัญญาณไม่ดีต่างๆ ทางร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นนอนไม่หลับ เหนื่อยแต่ข่มตานอนไม่ได้ สภาวะจิตใจไม่ปกติ หยุดคิดเรื่องงานไม่ได้เลย ซึ่งคุณมีความคิดที่อยากปรึกษาจิตแพทย์เพื่อบำบัดอาการป่วยเหล่านี้ บ่อยครั้งที่พบว่าตัวเองร้องไห้ระหว่างทางกลับบ้าน ครุ่นคิดว่านี่คือสิ่งที่คุณต้องแลกมากับเงินตราใช่หรือไม่
รวมทั้งสุขภาพกายที่เริ่มทรุดโทรมตามมา เริ่มมีอาการป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ หน้าตาดูไม่สดใส ดูเหมือนคนอมทุกข์มากกว่า ทั้งที่ปกติแล้วคุณเป็นคนที่มีร่างกายแข็งแรงดี แต่ตอนนี้กลับรู้สึกไม่อยากทำอะไรเลย เวลาว่างของคุณ คือ การนอนพักผ่อนแทนที่จะทำกิจกรรมที่ชอบ งานอดิเรกต่างๆ
เป็นตัวของตัวเองไม่ได้
จำไว้เสมอว่า ‘ที่ไหนที่เป็นที่ของเรา…ตรงนั้นเราจะมีตัวตน’ คุณต้อง blend-in ปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อให้เข้ากับคนอื่นจนสูญเสียความเป็นตัวเองไปโดยปริยาย คุณรู้สึกว่าตัวเองถูกกดทับความสามารถ โดยแสดงอะไรออกมาได้ไม่เต็มที่ เพราะต้องพยายามเป็นเหมือนคนอื่น จะได้ถูกยอมรับ แม้มันจะขัดกับความต้องการในจิตใจก็ตาม ในเวลาที่คุณเป็นตัวของตัวเองที่มีความสุขและความมั่นใจ กลับถูกมองว่าเป็นตัวประหลาดที่ไม่เข้าพวก โดดเด่นเกินไป หิวแสง และถูกขอร้องให้ช่วยลดความเจิดจรัสลงมา ไม่ให้เกินหน้าเกินตาคนอื่น
บางทีนี่อาจเป็นสัญญาณว่าที่นี่นั้นไม่เหมาะกับคุณเอาซะเลย ถ้าคุณยังฝืนทนทำงานต่อไป แรงบันดาลใจ พาสชั่นในการทำงานจะมอดดับลงจนพาตัวเองไปสู่สภาวะ Burnout อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ท้ายที่สุดคุณก็ต้องมองหาที่ทำงานใหม่อยู่ดี
ไม่มีที่ให้เติบโต
คุณทำงานที่นี่มาพักใหญ่ จนเรียนรู้ทุกอย่างหมดแล้ว ให้หลับตาทำก็ยังได้ สภาวะอิ่มตัวนี้เองทำให้คุณรู้สึกว่าตัวเองกระหายความรู้เพิ่ม ร่างกายต้องการการปะทะด้วยความท้าทายใหม่ๆ เพราะสิ่งที่เผชิญหน้าในแต่ละวันนั้นขาดความน่าสนใจไปหมดแล้ว หรือคุณเอง มองไม่เห็นภาพของตัวเองในอนาคต…กับที่ทำงานปัจจุบัน มองไม่เห็น career path ที่ชัดเจนเหมือนทำงานไปวันๆ ไม่มีช่องว่างให้ได้เติบโตไปต่อ เรียกว่าอีก 5 ปีก็คงทำงานอยู่ที่เดิม ตำแหน่งเดิม เงินเดือนเท่าเดิมไม่ไปไหน
ปกติแล้วคนเราจะเติบโตก้าวหน้าได้อยู่สองวิธี หนึ่ง คือการเติบโตภายในองค์กรอย่างการเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง และสอง คือการออกไปเผชิญโลกกว้างที่มีสิ่งใหม่รออยู่ คนเรามักจะเลือกทางเลือกที่สองเสมอ เนื่องจากเป็นหนทางในเติบโตไวกว่าทางเลือกแรกมาก ทั้งในแง่ของความก้าวหน้าในสายงานและการปรับฐานเงินเดือนแบบก้าวกระโดด
อย่างไรก็ตาม ก่อนจะลาออกจากที่ทำงานทุกครั้ง จำเป็นอย่างยิ่งที่คุณจะต้องหางานให้ได้ก่อนค่อยแจ้ง อย่าออกจากงานโดยที่ยังไม่มีงานอื่นรองรับ เพราะไม่เพียงแต่งานจะหายากเท่านั้น แต่จะยิ่งเพิ่มความกดดันให้ตัวเองโดยไม่จำเป็น และเพิ่มความยากในการได้งานเนื่องจาก HR จะมองว่าคุณไม่มีความอดทน หรือมีปัญหาร้ายแรงเกิดขึ้น ทำให้พวกเขาตัดตัวเลือกคนที่กำลังว่างงานออกไปเป็นตัวเลือกแรกๆ
ที่มา : Huffspot, TheBalanceCareers, Indeed
Jitkarn Sakrueangrit
Graphic & Web Designer, Content Creator,
Copywriter, Marketing Specialist
คุณน่าจะชอบเรื่องเหล่านี้
แนะนำ 5 แอปพลิเคชันทำเรซูเม่ด้วยมือถือ (2021)
อยากทำเรซูเม่แต่ไม่มีโน๊ตบุ๊คหรือคอมพิวเตอร์ที่บ้าน? ปัญหานี้จะหมดไปด้วยแอปพลิเคชันทำเรซูเม่บนมือถือ สะดวก รวดเร็ว ฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย
สอนถ่ายรูปสมัครงานด้วยตัวเอง Step-by-Step
รูปสมัครงาน คือ ไอเทมสำคัญในการสมัครงานที่ขาดไม่ได้ แต่ค่าถ่ายรูปแพงจนทำให้การยื่นใบสมัครแต่ละที่ต้องคิดแล้วคิดอีกว่า คุ้มค่ากับการแนบรูปไปรึเปล่า