ขอลาออกยังไงให้ดูเป็นมืออาชีพ by Find Your Job

ขอลาออกยังไงให้ดูเป็นมืออาชีพ

งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา ในที่สุดก็ต้องแจ้งลาออกกับบริษัทเดิมเพื่อไปตามล่าหาความฝัน ณ บริษัทใหม่ แต่จะขอลาออกยังไงไม่ให้ดูน่าเกลียดดีนะ

วัยทำงานใครว่าสนุก หนักใจกับการสัมภาษณ์ยังไม่พอ ยังต้อง ‘เป็นเครียด’ กับการหาเหตุผลไปบอกหัวหน้าว่าจะลาออกเพราะอะไรอีก ทำไมการได้งานที่ใหม่ที่ควรจะดีใจกลับถูกแทนที่ด้วยความกังวลใจในการไปขอลาออก? ถ้าวันนี้คุณอับจนหนทางไม่รู้ต้องเริ่มยังไงดี กลัวทำเสียเรื่อง ลองเทคนิคขอลาออกยังไงให้ดูเป็นมืออาชีพต่อไปนี้ดู

เลือกอ่านเฉพาะหัวข้อ

กลับไปอ่านสัญญาจ้างให้ละเอียดก่อนแจ้ง

เมื่อตัดสินใจดีแล้วว่าจะขอลาออกอย่างเป็นทางการ คุณควรกลับไปอ่านสัญญาจ้างที่เคยเซ็นตอนเริ่มงานทุกบรรทัด โดยเฉพาะกฏเกณฑ์ในส่วนของการแจ้งลาออก ซึ่งมักจะระบุเอาไว้ว่าต้องแจ้งล่วงหน้า 30 วัน เพื่อให้ HR สามารถหาคนมาแทนที่และคุณโอนถ่ายงานได้ทันก่อนวันทำงานวันสุดท้ายจะมาถึง

หัวใจสำคัญของการแจ้งลาออก คือ ความลับต้องเป็นความลับ ดังนั้น การบอกเพื่อนร่วมงานก่อนที่จะบอกหัวหน้าอาจทำเสียเรื่องได้ เนื่องจากเป็นเรื่องของความ ‘ไว้ใจ’ เรื่องสำคัญแบบนี้ หัวหน้าของคุณคาดหวังที่จะได้ยินเรื่องนี้จากปากคุณเป็นคนแรก อีกทั้งควรมีการพูดคุยกับหัวหน้าก่อนที่จะเขียนจดหมายลาออกเป็นลายลักษณ์อักษร สร้างความเข้าใจให้เขาทราบถึงเหตุผลในการตัดสินใจครั้งนี้ของคุณอย่างถ่องแท้ เพราะหลังจากยื่นซองขาวลาออก ผู้บริหารต้องพูดคุยกับหัวหน้าของคุณอย่างแน่นอน

ให้สัมภาษณ์ Exit Interview ที่เป็นประโยชน์

แน่นอนว่า หากพนักงานแจ้งความประสงค์ลาออกจะต้องมีการสัมภาษณ์ในทุกครั้ง การให้ฟีดแบกที่ดีจากมุมมองของพนักงานหนึ่งคนอาจสร้างการเปลี่ยนแปลงในองค์กรได้มหาศาล คุณไม่จำเป็นต้องใส่อารมณ์ หรือให้เหตุผลเพื่อโจมตีแต่เป็นการติเพื่อก่อ โดย HR สามารถนำความคิดเห็นเหล่านั้นไปปรับปรุง Employee Experience ขึ้นใหม่ เอื้อประโยชน์ต่อพนักงานในองค์กร 

นอกจากนี้ ในช่วงเวลาที่คุณสัมภาษณ์กับหัวหน้างาน อาจมีการขอฟีดแบกจากเขา นำเอาข้อแนะนำเหล่านั้นไปประยุกต์ใช้กับที่ทำงานใหม่ได้ อาจถือโอกาสนี้ขอให้หัวหน้าเขียนจดหมายแนะนำทั้งในรูปแบบเอกสารและข้อความบนลิงค์อิน (Recommendation Letter) เก็บไว้ใช้ในโอกาสต่อไป ในขณะเดียวกันนั้นคุณสามารถเขียนรีวิวบริษัทถึงประสบการณ์ดีๆ ที่ได้รับบนสื่อโซเชียลมีเดียอย่างเฟสบุ๊คเพจ เว็บไซต์ Glassdoor หรือ Google Business

เตรียมวางแผนโอนถ่ายงาน

หลังการแจ้งลาออก คุณจะใช้เวลาในช่วง 2-3 วันแรก วางแผนเคลียร์งานที่คั่งค้าง รวมทั้งแจกแจงโอนถ่ายงานอย่างเป็นรูปธรรม เข้าใจได้และทำตามง่าย พร้อมกันนี้ คุณควรประสานงานกับ HR อธิบายถึงขอบเขตหรือลักษณะงานของคุณ ปรับปรุงรายละเอียดประกาศรับสมัครงานให้เป็นล่าสุด สามารถดึงผู้สนใจที่มีทักษะความสามารถตรงตามแบบมากที่สุดมาร่วมงาน

คุณอาจขอเป็นส่วนหนึ่งในการสัมภาษณ์งานร่วมกันกับหัวหน้า หากเป็นไปได้ โดยเผื่อเวลาสอนงานพนักงานใหม่ในช่วงอาทิตย์สุดท้ายก่อนไปเริ่มงานที่บริษัทใหม่

ทำงานหน้าที่ให้ดีที่สุดจนวินาทีสุดท้าย

จริงอยู่ที่การลาออกจะส่งผลให้คุณลดความสำคัญของงานปัจจุบันลง ด้วยเหตุผลอย่าง ’จะตั้งใจไปทำไม ไหนๆ ก็ออกแล้ว’ แต่ไม่ได้หมายความว่าไฟในการทำงานของคุณควรหมดไปพร้อมกับสัญญาจ้างเสียเมื่อไหร่ อยู่ให้เขารัก…จากให้เขาคิดถึง กลับไปอ่านแบบประเมินพนักงานครั้งล่าสุดของคุณ (Performance Review) แล้วใช้เวลาที่เหลือไปกับการทำตัวเองให้ดีขึ้นกันเถอะ ทำตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ มองในมุมใหม่ว่าคุณจะทำอะไรให้สำเร็จได้บ้างเมื่อเทียบกับเวลาที่เหลืออยู่ เป็นโอกาสสำคัญในการพิสูจน์ตัวเอง ว่า พวกเขาคิดผิดที่ปล่อยให้คุณไปง่ายๆ

อย่าลืมใช้สิทธิ์พนักงานให้ครบ

สิ่งที่พนักงานมักมองข้ามในช่วงลาออกจากงาน ก็คือ สิทธิ์ในการใช้วงเงินประกันสุขภาพให้ครบ มันคือสิ่งที่คุณสมควรได้รับแต่แรกอยู่แล้ว ไม่น่าเกลียดหากจะใช้สิทธิ์จนครบเต็มจำนวน อย่างการรักษาฟัน ตรวจสุขภาพประจำปี ฯลฯ

นอกจากนี้ยังรวมถึงวันลาพักร้อนที่ยังเหลืออยู่ คุณสามารถทำข้อตกลงกับ HR ถึงวันทำงานวันสุดท้ายโดยใช้วันลาพักร้อนที่เหลืออยู่เพื่อให้วัน Last Day มาถึงไวขึ้น มีเวลาไปเที่ยวพักผ่อนในวันธรรมดาที่คนเที่ยวน้อย ปรับสภาพจิตใจให้พร้อมก่อนเริ่มงานที่ใหม่

เคลียร์เอกสารให้เรียบร้อย

แล็ปท็อปบริษัทที่มีไฟล์ส่วนตัวอย่าลืมย้ายออกจากเครื่อง ไปจนถึงการบันทึกไฟล์งานตัวอย่างหรือเทมเพลตที่คุณสร้างเอาไว้ ไปใช้ในที่ทำงานใหม่ สะดวกในการต่อยอด ไม่ต้องเริ่มนับจากศูนย์ใหม่ แต่ต้องระวังให้ดีว่าคุณไม่ได้เอาข้อมูลที่เป็นทรัพย์สินของบริษัทติดออกไปด้วย นั่นอาจเป็นเหตุผลให้คุณถูกฟ้อง ขึ้นโรงขึ้นศาลได้ 

ยิ่งไปกว่านั้น ถึงเวลาเก็บโต๊ะทำงานที่เต็มไปด้วยกองเอกสารมานานแรมปี อันไหนทิ้ง อันไหนเก็บ จัดการให้ดีก่อนที่จะสายเกินไป หลังจากวันทำงานวันสุดท้ายคุณจะกลายเป็นคนนอกทันที แม้จะลืมอะไรก็ตามที่เคยเป็นของคุณ ก็ไม่สามารถเรียกร้องและกลับเข้ามาในออฟฟิศได้เหมือนแต่ก่อน ดังนั้นจงเตรียมตัวเสียแต่เนิ่นๆ

เก็บคอนเนคชั่นเอาไว้

มันไม่จำเป็นเลยที่จะตัดความสัมพันธ์ที่มีมายาวนานกับบริษัทนี้ไปอย่างไม่ใยดี อย่าดูถูกพลังของคอนเนคชั่นที่คุณมีอยู่ในมือเป็นอันขาด คุณไม่มีทางรู้หรอกว่าอนาคตจะเป็นยังไง วันหนึ่ง HR อาจย้ายไปประจำบริษัทใหม่ที่คุณอยากเข้า หัวหน้าเก่าอาจเป็นลูกค้ารายใหญ่ของบริษัทใหม่ก็ได้ ทางที่ดีคุณควรรักษาความสัมพันธ์อันดีงามนี้เอาไว้ ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบเป็นครั้งคราว ไม่แน่…หากคุณไม่มีความสุขในที่ทำงานใหม่ การกลับมาที่ทำงานเดิมอาจจะเป็นเรื่องหมูๆ แค่บอกความต้องการของคุณกับที่เก่า

อย่าลาออกจากงานโดยที่ยังไม่ได้งานหรือยังไม่มีแผนรองรับเด็ดขาด เพราะนอกจากงานจะหายากแล้วยังทำให้การสัมภาษณ์งานกับที่ใหม่มีความยุ่งยากตามไปด้วย HR อาจคิดว่าคุณออกจากงานเนื่องจากเกิดปัญหาขึ้นจนพาลมีความรู้สึกด้านลบ ไม่อยากรับคุณเข้ามาทำงานให้เสียเวลา

ที่มา : TheMuse, Thebalancecareers

แชร์บทความ :
Jitkarn Sakrueangrit

Jitkarn Sakrueangrit

Graphic & Web Designer, Content Creator,
Copywriter, Marketing Specialist

คุณน่าจะชอบเรื่องเหล่านี้

สัมภาษณ์ไม่ผ่าน ทำอย่างไรต่อไปดี

สัมภาษณ์ไม่ผ่าน ทำอย่างไรต่อไปดี?

สัมภาษณ์งานมาหลายรอบแต่ไม่ผ่านเลยสักรอบ ตกสัมภาษณ์ไปเสียทุกครั้งจนทำเอาท้อในการหางาน รับมืออย่างไรในวันที่หัวใจอ่อนล้า

อ่านเลย »
โดนรั้งด้วย Counter Offer ควรรับหรือไม่ by Find Your Job

โดนรั้งด้วย Counter Offer ควรรับหรือไม่

กำลังทำเรื่องลาออกจากที่ทำงานเพื่อไปเริ่มต้นชีวิตใหม่กับที่ทำงานใหม่ โดนรั้งด้วย Counter Offer ขึ้นเงินเดือนให้ชุดใหญ่ไฟกระพริบ รับดีมั้ย

อ่านเลย »

คุณรับทราบและยินยอมว่า การใช้งานเว็บไซต์นี้มีการเก็บข้อมูลคุ๊กกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ในการใช้บริการ อ่านข้อมูลเพิ่มเติม