9 ประโยคต้องห้ามในการสัมภาษณ์งาน by Find Your Job

9 ประโยคต้องห้ามในการสัมภาษณ์งาน

“พูดดีเป็นศรีแก่ตัว พูดชั่วพาตัวเสียหาย” สัมภาษณ์จะผ่านไปด้วยดีหรือไม่ คำพูดที่คุณใช้จะเป็นตัวตัดสิน ประโยคที่ทำให้คนไม่ตัดสินคุณแบบผิดๆ

คำพูดเป็นเหมือนดาบสองคม สามารถทำให้ผู้สัมภาษณ์ประทับใจได้ ซึ่งในขณะเดียวกัน ถ้าคุณใช้มันอย่างไม่ระมัดระวัง คำพูดเหล่านั้นจะกลายเป็นคมมีดที่ย้อนกลับมาทำร้ายคนพูดได้อย่างน่าใจหาย แม้ในการสื่อสาร เราจะใช้อวัจนะภาษา (การแสดงออกทางสีหน้า แววตา บุคลิก ฯลฯ) มากกว่า แต่คำพูดที่ไม่ผ่านสมองเพียงไม่กี่คำอาจทำลายภาพลักษณ์อันดีงามลงได้ทั้งหมดในชั่ววูบเดียว คุณคงไม่อยากให้ผู้สัมภาษณ์ตีความและตัดสินคุณจากประโยคที่ (คุณคิดว่า) สุดแสนจะธรรมดาที่ซ่อนพิษสงร้ายแรงเอาไว้ ใช่หรือไม่?

เลือกอ่านเฉพาะหัวข้อ

“รู้สึกตื่นเต้นมากเลยครับ”

ความจริงใจมันก็ดีอยู่หรอก แต่ในบริบทของการสัมภาษณ์งาน การสื่อสารความรู้สึกไปตรงๆ ว่าคุณมีอาการประหม่าอาจทำให้ผู้สัมภาษณ์คิดว่าคุณดูไม่โปรและยิ่งทำให้พวกเขาสังเกตอาการตื่นตระหนกของคุณได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ใช่แล้ว! ประโยคนี้คล้ายจะเป็นการบอกว่า “ผมกำลังตื่นเต้นอยู่ เห็นมั้ยครับ ดูสิ มือผมสั่นไปหมดเลย”

👉 เปลี่ยนใหม่เป็น “ผมรู้สึกแอคทีฟทุกครั้งที่ได้มาสัมภาษณ์งานครับ” แสดงความกระตือรือร้นเสมือนคุณแทบรอเวลาที่จะได้สัมภาษณ์งานนี้ไม่ไหวแล้ว เปลี่ยนโฟกัสให้ผู้สัมภาษณ์เห็นความตั้งใจของคุณแทน

“ไม่ทราบค่ะ”

จริงอยู่ที่ว่า ไม่ใช่ทุกคำถามที่คุณจะมีคำตอบให้ แต่การตัดจบด้วยคำตอบ ‘ใช่’ หรือ ‘ไม่ใช่’ โดยไม่มีคำอธิบายเพิ่มเติมนั้นให้ความรู้สึกที่แย่กว่ามาก ทันทีที่คุณตอบบรรยากาศในห้องสัมภาษณ์จะตกอยู่ในความเงียบ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ชวนให้กระอักกระอ่วนใจเสียเหลือเกิน อย่าคาดหวังว่าผู้สัมภาษณ์จะยินดีไปกับคำตอบที่ไม่น่าพิสมัยนี้เลย ในเมื่อพวกเขาทำได้เพียงแค่ “อ๋อ… ครับ… (Dead Air ไปต่อไม่ถูก)”

👉 ถ้าไม่เข้าใจคำถามอาจขอให้ผู้สัมภาษณ์อธิบายคำถามอีกครั้ง หรือคุณอาจเพิ่มเติมความคิดเห็นส่วนตัวลงไป เช่น “ไม่แน่ใจว่าเข้าใจถูกต้องไหม แต่ส่วนตัวแล้วคิดว่า …” เชื่อว่าพวกเขาจะต้องเห็นความพยายามในการตอบคำถามของคุณโดยไม่ยอมแพ้ไปง่ายๆ นี้อย่างแน่นอน

“ไม่มีคำถามครับ”

แม้ผู้สัมภาษณ์จะอธิบายสิ่งที่คุณจำเป็นต้องรู้อย่างละเอียดแล้ว แต่บางทีการที่คุณไม่มีคำถามนั้น พวกเขาอาจตีความได้ว่าคุณ ‘ขาดความสนใจ’ ในตำแหน่งงานที่สมัครไปเลยก็ได้ การแสดงศักยภาพและความอยากรู้อยากเห็นของคุณไม่เพียงจะทำให้พวกเขาเห็นความสนใจของคุณเท่านั้น ยังทำให้คุณ ‘ดูฉลาด’ หรือ ‘ทำการบ้านมาดี’ เวลาที่คุณถามคำถามลึกๆ ที่คาดไม่ถึง

👉 ศึกษาประวัติบริษัทให้ดี ธุรกิจเกี่ยวกับอะไร วิสัยทัศน์องค์กร ไปจนถึงวัฒนธรรมองค์กร ปัจจัยใดๆ ก็ตามที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน เตรียมลิสต์คำถามเผื่อเอาไว้ 8-10 คำถามกันเหนียว

🔗 อ่านเพิ่ม สมัครงานบริษัทนี้ดีไหม ดูที่อะไร?
🔗 อ่านเพิ่ม ตอบยังไงดี “คุณมีคำถาม อยากจะถามไหม?”

“เขียนไว้ในเรซูเม่อะค่ะ”

นอกจากเรื่องงานแล้วในแต่ละวันพวกเขาต้องสัมภาษณ์แคนดิเดตอีกหลายคน ผู้สัมภาษณ์ส่วนใหญ่จึงไม่ได้มีเวลามากพอที่จะอ่านหรือจำสิ่งที่คุณเขียนในเรซูเม่ได้ทั้งหมด แต่จะใช้วิธีการให้คุณเล่าลำดับเหตุการณ์ด้วยตัวเองแล้วจึงยิงคำถามที่อยากรู้ ดังนั้น การบอกให้พวกเขาอ่านในเรซูเม่ ก็ไม่คงไม่ต่างจากการต่อว่ากลายๆ ว่าถ้าพวกเขาสนใจเสียเวลาอ่านเรซูเม่ของคุณสักนิดคงไม่ถามคำถามโง่ๆ นี้ขึ้นมา

👉 ยิ้มรับและตอบคำถามไปด้วยความมั่นใจ ถือโอกาสนี้ในการอธิบายเพิ่มเติมถึงสิ่งที่คุณเขียนแต่ยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด ด้วยพื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัดในเรซูเม่ คำอธิบายอาจจะสื่อสารได้ดีกว่า ชัดเจนกว่า

“เอิ่ม...บริษัทเก่าหรอครับ แหะๆ xxx”

บางคำถามที่ผู้สัมภาษณ์ยิงมา ไม่ได้ต้องการจะรู้คำตอบจริงๆ หรอก แต่เป็นการเทส EQ และ IQ ในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า อย่าหลวมตัวแสดงทัศนคติเชิงลบ หรือพูดเรื่องไม่ดี สาดเสีย เทเสีย ทั้งที่มันเป็นเรื่องจริงก็ตาม เพราะพวกเขาจะตีค่าของคุณติดลบทันที

👉 หลีกเลี่ยงการอธิบายยืดยาว ใครผิด ใครถูก ใครดี ใครไม่ดี แต่ตอบแบบเป็นกลางที่สุด สั้นที่สุด และแม้ในสถานการณ์ที่เลวร้าย โชว์กึ๋นไปเลยว่าคุณก็ยังสามารถเห็นสิ่งดีๆ ที่ซ่อนอยู่ คุณได้เรียนรู้อะไรเหตุการณ์เหล่านั้น เป็นต้นว่า “ที่บริษัทเก่ามีเกมส์การเมืองครับ ซึ่งมันทำให้ผมรู้ว่าต้องระมัดระวังในการทำงาน ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด อย่ายุ่งเกี่ยวกับดราม่า แล้วผลงานจะเป็นตัวปกป้องเราเอง”

“ใช่ค่ะ เป็นตัวเต็งของบริษัท”

ความมั่นหน้า มั่นโหนก อวดตัวไม่เคยทำให้คุณดูดีขึ้นมาได้ ตรงกันข้ามมันจะยิ่งทำให้ผู้สัมภาษณ์ หมั่นไส้ สัมผัสได้ถึงความ Insecure ของคุณจนต้องพยายามแสดงออกแบบสุดโต่ง ค่านิยมที่สังคมส่วนใหญ่ให้ คือ การถ่อมตัวแม้คุณจะเก่งเป็นแชมป์อันดับโลกก็ตาม ไม่จำเป็นต้องป่าวประกาศให้คนอื่นรู้ว่าคุณเก่ง แต่คนอื่นจะเป็นคนบอกเองว่าคุณดี 

👉 หลีงเอาไว้ว่า การอ่อนน้อม ถ่อมตัว จะยิ่งทำให้คุณเป็นที่รัก จงทำตัวเป็นแก้วน้ำที่ว่างเปล่าพร้อมเปิดรับสิ่งใหม่อยู่เสมอ คนเราไม่ได้รู้ไปทุกเรื่องยังมีอีกหลายล้านเรื่องที่เราไม่รู้

“ที่นี่ให้วันหยุดกี่วันอะครับ”

การถามสวัสดิการพนักงานแบบ ผิดที่ ผิดเวลา อาจทำให้ชวดในการสัมภาษณ์งานเอาได้ คุณจะถูกมองว่าเป็นพวกเห็นประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม ไม่เหมาะกับวัฒนธรรมองค์กรที่ต้องทำงานเป็นทีม เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรโฟกัสที่ ‘คุณจะได้อะไร’ แต่เป็น ‘คุณสามารถให้อะไร’ กับบริษัทนี้ต่างหากที่สำคัญ

👉 คุณจะสามารถถามคำถามนี้ได้ก็ต่อเมื่อได้คุยกับ HR ในรอบลึกๆ และเขากำลังอธิบายค่าตอบแทน สวัสดิการพนักงานอยู่ แต่ตกหล่นในบางเรื่องไป คำถามนี้จะถูกกาลเทศะและดูไม่น่าเกลียดในช่วงเวลาดังกล่าว

“บริษัทนี้ทำอะไร/ตำแหน่งนี้เกี่ยวกับอะไรอะคะ”

พลาดหัวข้ออื่นยังพอทน พลาดหัวข้อนี้ คือ โทษประหารชีวิต มันสะท้อนถึงการที่คุณไม่มีการเตรียมตัวมาเลย เหมือนตื่นนอนแล้วถูกแม่บังคับให้มาสัมภาษณ์งานที่คุณเองก็ไม่รู้รายละเอียดอะไร รู้แค่ว่าต้องมาสัมภาษณ์เท่านั้นซึ่งไม่ใช่เรื่องดี ตามหลักการสัมภาษณ์แล้วคุณจำเป็นต้องรู้และการพูดคุยในครั้งนี้เป็นการ ‘ขายตัวเอง’ ให้บริษัทสนใจและซื้อตัวคุณไปร่วมงานเพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้ไปข้างหน้า ถ้าคุณไม่รู้อะไรเกี่ยวกับพวกเขาเลย คงเสียเวลาเปล่าที่ต้องมาสอนงานโดยเริ่มต้นใหม่จากศูนย์

👉 เป็นหน้าที่ของคุณที่ต้องศึกษาประวัติบริษัท รวมถึงรายละเอียดของตำแหน่งงานอย่างลึกซึ้ง ก่อนยื่นใบสมัคร คุณต้องรู้ดีว่างานในตำแหน่งนี้เหมาะสมกับโปรไฟล์ของตัวเองหรือเปล่า มีทักษะหรือความสามารถใดที่คุณจะใช้ทำงานให้สำเร็จลุล่วงไปได้ อันนำไปสู่ขั้นตอนการนำเสนอข้อดีของตัวเองให้ผู้สัมภาษณ์เลือก

“เชี่ย… อุ๊ย ขอโทษครับ”

ไม่จำเป็นต้องซื้อหนังสือคุณสมบัติผู้ดีที่ควรทราบมาอ่านให้เสียเวลา เพราะตามหลักสากลแล้ว คำหยาบคาย คำแสลง คำอุทานที่ไม่สุภาพและคำศัพท์วัยรุ่น (คำศัพท์เฉพาะกลุ่ม) ไม่อนุญาติให้ใช้ในการสัมภาษณ์ด้วยประการทั้งปวง ยิ่งเป็นการสัมภาษณ์ในตำแหน่งที่ต้องการความน่าเชื่อถือ หรือสัมภาษณ์กับบริษัทของทางรัฐบาลที่ต้องการการวางตัวที่ดี สุขุม รอบคอบ ด้วยแล้ว คุณจำเป็นต้องระวังคำพูดมากยิ่งๆ ขึ้นไป 

👉 Practice makes perfect – การฝึกจะนำมาซึ่งความสมบูรณ์แบบ เปลี่ยนวิธีการพูดของคุณในช่วงระหว่างการหางานใหม่แม้พูดกับเพื่อน เสริมสร้างนิสัยใหม่ที่พึงประสงค์จะได้ไม่หลุดคำพูดแย่ๆ ในช่วงสัมภาษณ์งานภายหลัง

มีคำเปรียบเปรยที่น่าสนใจเกี่ยวกับคำพูดที่อยากจะฝากทิ้งท้ายเอาไว้ “ก่อนพูดเราเป็นนาย เมื่อพูดแล้วมันเป็นนายเรา” อย่าพูดออกไปโดยไม่ยั้งคิด จงมีสติและคิดก่อนพูดเสมอ

ที่มา : Indeed, Glassdoor

แชร์บทความ :
Jitkarn Sakrueangrit

Jitkarn Sakrueangrit

Graphic & Web Designer, Content Creator,
Copywriter, Marketing Specialist

คุณน่าจะชอบเรื่องเหล่านี้

work-from-home-child-mom-caretaker

สัมภาษณ์ครั้งหน้า อย่าลืมถามเกี่ยวกับสถานการณ์ COVID-19

องค์กรที่ดีจะมีมาตรการรับมือความเสี่ยงได้อย่างเป็นระบบและทันเหตุการณ์ ถามผู้สัมภาษณ์ให้ชัวร์ ป้องกันโดนปลดฟ้าผ่า ลดความเสี่ยงตกงานอีกรอบ

อ่านเลย »
สัมภาษณ์งาน-วิดีโอคอล-ออนไลน์

เตรียมตัวสัมภาษณ์ออนไลน์ วิดีโอคอลผ่าน Zoom/Team ก็เอาอยู่

บริษัทอยากให้สัมภาษณ์งานออนไลน์แทนการสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัว ลดการสัมผัสและส่งเสริม Social Distancing แต่ไม่คุ้นเคยและกลัวพัง ทำยังไงดีนะ?

อ่านเลย »

คุณรับทราบและยินยอมว่า การใช้งานเว็บไซต์นี้มีการเก็บข้อมูลคุ๊กกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ในการใช้บริการ อ่านข้อมูลเพิ่มเติม